#คุยสั้นๆถึงหนังสือในตู้ #หนังสือที่รัก#เรื่องราวระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก #ห้องอาหารนกนางนวล #มูเระโยโกะ วันนี้ถ่ายภาพปกหนังสือแปลเล่มเล็กๆบางๆ หนาเพียง 148 หน้า เป็นวรรณกรรมแปลจากภาษาญี่ปุ่น ผู้เขียนชื่อ มูเระ โยโกะ เป็นนามปากกาของนักเขียนชาวโตเกียวโดยกำเนิดที่ชื่อว่า คิฮาระ ฮิโรมิ ที่มีผลงานในสไตล์การเขียนเหมือนบันทึกเล่าเรื่องแบบเบาสบาย เรื่องก่อนหน้านี้ที่เป็นที่รู้จักในบ้านเราคือ เรื่อง วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว จะสังเกตได้ว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานักอ่านรุ่นใหม่หนุ่มสาวจะนิยมอ่านเรื่องราวแปลจากวรรณกรรมของญี่ปุ่น เกาหลี จะเห็นในตลาดหนังสือตีพิมพ์ออกมาเยอะมาก สำหรับตัวเองสนใจศึกษาหามาอ่านเพื่อสังเกตการณ์ความเป็นไปในตลาดหนังสือบ้านเรา สำหรับเรื่องนี้จัดว่าเป็นนวนิยายขนาดสั้น ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตหญิงสาวชาวญี่ปุ่นสามคนที่บังเอิญมาพบกันที่ฟินแลนด์ ความเหมือนกันคือทั้งสามไม่ใช่คนในวัยหนุ่มสาวต้นๆที่อยากเผชิญโลก ซาจิเอะ เป็นหญิงสาววัยสามสิบแปดที่ตัดสินใจย้ายมาตั้งรกรากเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ฟินแลนด์ ด้วยการเปิดร้านอาหารเล็กๆ ตั้งชื่อร้านอาหารว่า ห้องอาหารนกนางนวล ชีวิตที่ฟินแลนด์แปลกใหม่ ซาจิเอะในวัยสามสิบแปด แต่ความที่รูปร่างเล็กเธอจึงถูกคนพื้นถิ่นมองว่าเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวไปมาในร้านอาหารคนเดียว ช่วงแรกยังไม่มีใครกล้าเข้าร้าน จนกระทั่งลูกค้าคนแรกคือเด็กหนุ่มชาวฟินแลนด์ที่สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นและอยากให้เธอช่วยหาเนื้อเพลงในแอนิเมชั่นเรื่องโปรดเรื่องกัชชาแมนให้ ชีวิตที่ฟินแลนด์เริ่มต้นมีชีวิตชีวาขึ้นเมื่อต่อมาเธอได้พบมิตรชาติเดียวกันอย่าง "มิโดริ" นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยความบังเอิญ และ "มาซาโกะ" ที่เดินทางมาฟินแลนด์แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ในนวนิยายของญี่ปุ่นเกาหลียุคใหม่ที่ได้อ่านในช่วงสองสามปีนี้จึงเป็นรูปแบบงานเขียนแนวใหม่ที่เพิ่งจะได้อ่านและพบว่ามีลักษณะคล้ายเรื่องเล่าชีวิตสั้นๆ บรรยายเรื่องราวไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีจุดพีคที่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกแบบลึกซึ้งรุนแรง แต่จะให้ความรู้สึกเหมือนอ่านไดอารี่ชีวิตแนวฟิลด์กู๊ดเบาๆ ที่เน้นการสะท้อนมุมมองชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางตามหาความฝันไปทั่วโลก บางเล่มอาจสะท้อนบาดแผลในชีวิต บางเล่มก็สะท้อนให้เห็นความเหงาและโดดเดี่ยวในแบบคนรุ่นใหม่ สำหรับตัวเองเป็นคนรุ่นผู้ใหญ่ที่เคยชินกับการอ่านงานยุคคลาสสิคจนถึงยุคกลางเก่ากลางใหม่ พอมาอ่านงานใหม่ๆ ก็คิดว่าช่วยทำให้เราเข้าใจสภาพสังคมชีวิตและมุมมองของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น อย่างที่ทราบกันว่าในหนังสือทุกเล่มล้วนสะท้อนชีวิตผ่านตัวอักษร เล่มนี้ก็เช่นกัน เป็นการเปิดโลกทัศน์อีกแบบผ่านหนังสือค่ะ บันทึกไว้เมื่อ 10 กรกฎาคม 2565
แสดงความคิดเห็น