ชวนเที่ยวกรุงเทพฯ ไปกับพิกัดสายมู เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ (สำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง) หรือ โบสถ์พราหมณ์ ที่มีอายุกว่า 200 ปี สวัสดี ! นี่เจ้าหนูรถตู้เอง ถ้าพูดถึงย่านเสาชิงช้า ย่านที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในเขตพระนคร กรุงเทพฯ ใคร ๆ ก็คงจะคิดถึงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า ศาลเจ้าพ่อเสือ หรือของกินอร่อย ๆ ที่มีให้เลือกมากมาย แต่ช้าก่อน ! เจ้าหนูไม่ได้พาไปเที่ยวอะไรที่พูดมาหรอก เพราะวันนี้เจ้าหนูจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวและมูกันที่ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ไปสักการะองค์เทพแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ศักดิ์สิทธิ์และอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มานานกว่า 200 ปีกัน เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ หรือสำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า โบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เช่น พิธีโล้ชิงช้า พิธีตรียัมปวาย และพิธีโกนจุก เป็นต้น ซึ่งเทวสถานแห่งนี้นับเป็นสถานที่สำคัญที่บ่งบอกถึงการมีอยู่อย่างยาวนานของศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทยสำหรับสายมูเตลูทั้งหลาย เมื่อเดินทางไปถึงและผ่านประตูเข้าไป บริเวณด้านหน้าจะเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม ตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ โดยด้านหลังนั้นจะเป็นอาคารทรงไทย 3 หลัง ดังนี้ สถานพระอิศวร เป็นโบสถ์หลังใหญ่ของที่แห่งนี้ ภายในมีเทวรูปพระอิศวร ประทับเป็นพระประธานอยู่ตรงกลางแท่น แท่นรองลงมาเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปของพระอุมาเทวี พระพรหม และพระอิศวร รวมทั้งมีรูปปั้นโคนนทิ ขนาบอยู่ทั้ง 2 ข้างของแท่น ถัดไปด้านข้างของอาคารหลังนี้ยังมีเทวาลัยพระศิวลึงค์อยู่ด้วย สถานพระมหาวิฆเณศวร (พระคเณศ) โบสถ์หลังกลาง ภายในมีเทวรูปพระพิฆเนศวรห้าองค์ ทั้งหมดทำด้วยหิน คือ หินแกรนิต 1 องค์ หินทราย 1 องค์ หินเขียว 2 องค์ และสำริด 1 องค์ สถานพระนารายณ์ ภายในประดิษฐานบุษบกสามองค์เคียงกัน ประกอบด้วยเทวรูปพระลักษมี (บุษบกองค์ซ้ายมือ) พระนารายณ์ (บุษบกองค์กลาง) และพระภูมิเทวี (บุษบกองค์ขวามือ) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม สำหรับใช้ประกอบพิธีช้าหงส์ หรือ กล่อมหงส์ ซึ่งเป็นพิธีสรงน้ำเทพเจ้า ในพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย นอกจากนี้ ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้ยังมี หอเวทย์วิทยาคม ซึ่งจัดเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ เก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่าง ๆ เกี่ยวกับวรรณคดี พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ใครที่สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาฮินดูได้เลย ลำดับที่ 1 เริ่มจากการสักการะพระพิฆเนศวร ที่เทวสถานพระมหาวิฆเณศวร (พระคเณศ) ก่อน เพราะพระคเณศนับเป็นองค์ประธานของหมู่เทพนั่นเอง ลำดับที่ 2 สักการะพระพรหม ที่เทวาลัยพระพรหม ด้านหน้าทางเข้า ลำดับที่ 3 สักการะพระนารายณ์ ที่เทวสถานพระนารายณ์ ด้านในสุด ลำดับที่ 4 สักการะพระศิวลึงค์ ที่เทวาลัยพระศิวลึงค์ ลำดับที่ 5 สักการะพระอิศวร ที่เทวสถานพระอิศวร ** ภายในโบสถ์พราหมณ์มีร้านค้าขายเครื่องสักการบูชาและดอกไม้ธูปเทียน หรือใครจะนำมาเองก็ตามสะดวกเลย ** เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อสถานที่ และแก่ตนเอง ขอให้ทุกท่านที่เดินทางมาสักการะภายในเทวสถาน ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ ห้ามจุดธูป และเทียนภายในอาคาร ห้ามบันทึกภาพ และวิดีโอภายในโบสถ์ทั้งสาม ห้ามเข้าทรง ห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามสวมหมวก ห้ามสวมรองเท้า ห้ามรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถสาธารณะได้ แต่ไม่แนะนำรถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากไม่มีที่จอดรถ โดยสามารถเดินทางด้วยรถประจำทางสาย 12, 42 ลงที่ป้ายศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หรือบริการขนส่งมวลชนอื่น ๆ เช่น Grab Bike หรือ Grab Car ได้เช่นกัน แต่ในวันที่เจ้าหนูไป เจ้าหนูเลือกใช้บริการ รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามยอด ทางออก 3 จากนั้นเดินเลี้ยวขวาไปทางถนนอุณากรรณ ผ่านวัดสุทัศน์ และเสาชิงช้า ประมาณ 700 เมตร ก็ถึงแล้ว ที่อยู่ : 268 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. โทรศัพท์ : 0-2222-6951 เว็บไซต์ : เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นที่ที่แสดงให้เห็นถึงลัทธิศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย ซึ่งพิธีหลายอย่างได้เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตของคนไทยตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางมาสักการะที่นี่ แนะนำแต่งกายสุภาพในการเข้าชมกันด้วยนะขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์รูปประกอบทั้งหมดในเนื้อหา : เจ้าหนูรถตู้ (ผู้เขียน)
แสดงความคิดเห็น