“สเกินเดร์เบอู (Skanderbeg)” วีรบุรุษแห่งแอลเบเนีย หลายคนน่าจะไม่ค่อยได้ยินชื่อของประเทศแอลเบเนียเท่าไรนัก และน่าจะมีน้อยคนที่รู้จักบุรุษนามว่า “สเกินเดร์เบอู (Skanderbeg)” แอลเบเนีย เป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบคาบสมุทรบอลข่าน โดยในสมัยศตวรรษที่ 15 แอลเบเนียคือหนึ่งในฐานที่มั่นของชาวคริสต์ในยุโรป ใช้เป็นที่มั่นเพื่อสู้รบกับกองทัพอ็อตโตมัน สเกินเดร์เบอู คือขุนศึกผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะต่างๆ และในปัจจุบัน สเกินเดร์เบอูก็ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษประจำชาติแอลเบเนีย และธงประจำตัวของสเกินเดร์เบอู ก็กลายเป็นธงชาติแอลเบเนีย เรื่องราวของสเกินเดร์เบอูเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ สเดินเดร์เบอู มีนามเดิมว่า “เจร์จ กัสตรีออตี (Gjergj Kastrioti)” โดยบิดาของเขาเป็นลอร์ดในดินแดนเล็กๆ ในแอลเบเนีย และด้วยความที่บิดาของเขาถือว่าเป็นเจ้าเมืองภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอ็อตโตมัน บิดาจึงถูกบังคับให้ส่งตัวสเกินเดร์เบอูและพี่น้องไปเป็นตัวประกันยังราชสำนักอ็อตโตมันที่เมืองเอเดอเน การที่ราชสำนักอ็อตโตมันให้เจ้าเมืองต่างๆ ส่งบุตรหลานมาอาศัยยังราชสำนักอ็อตโตมัน ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมืองต่างๆ จะไม่กล้าก่อกบฏ ไม่กล้าแข็งเมือง บุตรหลานของเจ้าเมืองต่างๆ จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี โดยสเกินเดร์เบอูก็ได้รับการฝึกฝนวิชาทหารตั้งแต่เยาว์วัย สเกินเดร์เบอูนั้นฉายแววความเป็นนักการทหารที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่วัยเยาว์ และก็สามารถไต่เต้า มียศสูงขึ้นเรื่อยๆ ในกองทัพอ็อตโตมัน แสดงความสามารถด้านการเป็นแม่ทัพที่ชำนาญศึกให้ผู้คนได้พบเห็น โดยจากบันทึกประวัติศาสตร์ กล่าวว่าสเกินเดร์เบอูนั้นมีรูปร่างสูง และมีเสียงทุ้มต่ำ ทรงอำนาจ สเกินเดร์เบอูร่วมสู้รบในกองทัพอ็อตโตมันเป็นเวลากว่า 20 ปี สร้างชื่อเสียงให้ตนเองมากมาย ค.ศ.1439 (พ.ศ.1982) บิดาของสเกินเดร์เบอูเสียชีวิต และสเกินเดร์เบอูก็คาดหวังว่าตนจะได้รับสืบทอดอำนาจในดินแดนของบิดา แต่กลับกลายเป็นว่า ดินแดนที่คาดหวังว่าจะได้ กลับตกเป็นของจักรวรรดิอ็อตโตมัน สร้างความโกรธแค้นแก่สเกินเดร์เบอูเป็นอันมาก สเกินเดร์เบอูไม่อยู่เฉย และตัดสินใจจะสู้เพื่อสิทธิที่ตนควรจะได้ ค.ศ.1443 (พ.ศ.1986) สเกินเดร์เบอูได้หนีออกมาจากกองทัพอ็อตโตมัน โดยหนีมาพร้อมกับทหารอีก 300 นาย และก่อนจะหนีออกมา สเกินเดร์เบอูได้บังคับให้อาลักษณ์ของสุลต่านเขียนจดหมาย มอบอำนาจครอบครองเมืองครูเยอ ซึ่งเป็นเมืองในแอลเบเนีย แก่ตน นั่นทำให้สเกินเดร์เบอูได้เมืองครูเยอไปโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ จากนั้น สเกินเดร์เบอูก็ได้ทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิอ็อตโตมันมาโดยตลอด เป็นเวลา 25 ปีหลังจากนั้น สเกินเดร์เบอูสามารถเอาชนะกองทัพอ็อตโตมันและเหล่าศัตรูได้เรื่อยๆ โดยกองทัพของสเกินเดร์เบอูมักจะมีกำลังพลระหว่าง 10,000-15,000 นาย และมักจะสู้รบกับกองทัพศัตรูที่มีกำลังพลมากกว่ามาก ว่ากันว่าชื่อเสียงของสเกินเดร์เบอูนั้นเป็นที่น่าเกรงขามมาก มากซะจนเพียงแค่ปรากฏตัวในสนามรบ ขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายศัตรูก็ลดฮวบ สเกินเดร์เบอูมักจะใช้ยุทธวิธีการรบแบบสงครามกองโจร ซุ่มโจมตี ใช้ภูมิประเทศของป่าเขาให้เป็นประโยชน์ สร้างความเสียหายแก่กองทัพศัตรูได้มาก นอกจากนั้น สเกินเดร์เบอูยังเป็นนักการทูตที่เก่งกาจ เขารู้ตัวดีว่าเพียงกำลังที่ตนมีนั้น ย่อมไม่สามารถต้านทานกองทัพอ็อตโตมันได้แน่ ดังนั้นต้องหาพันธมิตร สเกินเดร์เบอูสามารถเจรจา และได้กำลังสนับสนุนจากองค์พระสันตะปาปา สาธารณรัฐเวนิส และราชอาณาจักรนาโปลี ซึ่งเป็นใหญ่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิตาลี เหล่าพันธมิตร ต่างช่วยเหลือด้วยการส่งทั้งกำลังทหารและเสบียงมาช่วยเหลือสเกินเดร์เบอู ค.ศ.1444 (พ.ศ.1987) กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวน 18,000 นาย สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 25,000 นายได้ ค.ศ.1445 (พ.ศ.1988) กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวน 3,500 นาย สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 15,000 นาย ค.ศ.1446 (พ.ศ.1989) กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวน 5,000 นาย สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 15,000 นาย และเปลี่ยนค่ายอ็อตโตมันให้กลายเป็นลานประหาร ค.ศ.1448 (1991) สเกินเดร์เบอูต้องรบกับเวนิสและอ็อตโตมัน ซึ่งต่างก็โจมตีมาจากหลายทิศทาง โดยเริ่มแรก สเกินเดร์เบอูต้องจัดการกองทัพเวนิส โดยใช้กำลังทหารเพียง 9,000 นาย บดขยี้กองทัพเวนิสกว่า 15,000 นาย ทำให้กองทัพเวนิสต้องยอมเจรจาสงบศึก ก่อนที่กองทัพของสเกินเดร์เบอูจะใช้กำลังทหารอีก 6,000 นายทำลายกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 15,000 นาย หลังจากได้รับชัยชนะ สเกินเดร์เบอูก็นำทัพ มุ่งตรงไปยังโคโซโว โปลเย หากแต่ว่าสายไปแล้ว กองทัพครูเสดของฮังการีได้ถูกกองทัพศัตรูบดขยี้ ซึ่งกองทัพของสเกินเดร์เบอูอยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 32 กิโลเมตรเท่านั้น ความพ่ายแพ้ของชาวคริสต์ในครั้งนี้ ทำให้ขวัญกำลังใจของกองทัพยุโรปตกต่ำ และทำให้กองทัพอ็อตโตมันสามารถปิดล้อมเมืองคอนสแตนติโนเปิลได้ในปีค.ศ.1453 (พ.ศ.1996) และทำให้คอนสแตนติโนเปิลแตกในที่สุด ค.ศ.1450 (พ.ศ.1993) “สุลต่านมูรัดที่ 2 (Murad II)” สุลต่านแห่งอ็อตโตมัน ได้ทำการปิดล้อมเมืองครูเยอของสเกินเดร์เบอู โดยสเกินเดร์เบอูได้ทิ้งทหารจำนวน 4,000 นายไว้ป้องกันเมือง ส่วนตัวเขานำกำลังทหาร 8,000 นายไปโจมตีค่ายศัตรู ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนปีนั้น ฝ่ายตั้งรับก็สามารถรับมือการโจมตีจากศัตรูได้ตลอด ส่วนสเกินเดร์เบอูก็ทำการโจมตีค่ายศัตรูได้ตลอด ทำให้กองทัพศัตรูต้องเสียกำลังพลเป็นอันมาก ค่ำคืนหนึ่ง สเกินเดร์เบอูได้ปล่อยฝูงแพะเข้ามาก่อกวนในค่ายตุรกี โดยได้ติดตั้งเทียนไว้บนเขาแพะ ทำให้ทหารตุรกีเข้าใจว่าศัตรูกำลังจะบุกโจมตี เกิดความวุ่นวายไปทั่วค่าย ท่ามกลางความวุ่นวาย สเกินเดร์เบอูก็นำกำลังทหารเข้าโจมตีและฆ่าฟันกองทัพศัตรู พฤศจิกายน ค.ศ.1450 (พ.ศ.1993) หลังจากเสียกำลังทหารไปกว่า 40,000 นาย กองทัพอ็อตโตมันก็ต้องถอยทัพ แต่อย่างไรก็ตาม การโจมตีอย่างหนักของกองทัพอ็อตโตมันที่ผ่านมา ผนวกกับการเพาะปลูกที่ล้มเหลว ทำให้เกิดภาวะอดอยาก และทำให้อาณาจักรของสเกินเดร์เบอูแทบจะล่มสลาย ในท่ามกลางวิกฤตนี้เอง “พระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 แห่งอารากอน (Alfonso V of Aragon)” กษัตริย์แห่งนาโปลี ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่สเกินเดร์เบอู โดยพระองค์ได้พระราชทานทั้งกำลังทหาร เงิน และเสบียงแก่กองทัพสเกินเดร์เบอู บุญคุณครั้งนี้ คือสิ่งที่สเกินเดร์เบอูจะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต ค.ศ.1453 (พ.ศ.1996) “สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 (Mehmed II)” ได้ขึ้นครองบัลลังก์แทนสุลต่านมูรัดที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดา และทรงตัดสินพระทัยจะกำจัดสเกินเดร์เบอูให้สิ้นซาก พระองค์ทรงจัดทัพอ็อตโตมันจำนวน 27,000 นาย เดินทัพรุกรานแอลเบเนีย หากแต่กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวนเพียง 14,000 นายก็สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันได้อีกครั้ง ในปีเดียวกันนี้ สเกินเดร์เบอูสามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันอีกด้าน ซึ่งมีกำลังพล 14,000 นาย และยังสังหารผู้นำฝ่ายอ็อตโตมันได้อีกด้วย ชัยชนะครั้งสำคัญมาถึงในปีค.ศ.1457 (พ.ศ.2000) สเกินเดร์เบอู พร้อมด้วยกำลังทหาร 8,000 นาย ได้พิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวนกว่า 80,000 นายจนย่อยยับ และทำให้สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ต้องเจรจาพักรบชั่วคราวเป็นเวลาสามปี ในปีค.ศ.1461 (พ.ศ.2004) “พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งนาโปลี (Ferdinand I of Naples)” พระราชโอรสในพระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 แห่งอารากอน ได้ทรงทำศึกเพื่อชิงบัลลังก์นาโปลี สเกินเดร์เบอูยังจำได้ถึงบุญคุณที่พระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 ทรงมีต่อตน จึงได้ตัดสินใจ ถวายความช่วยเหลือและสนับสนุนพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 อย่างเต็มที่ โดยกองทัพของสเกินเดร์เบอูซึ่งมีกำลังทหารจำนวน 3,000 นาย ได้ช่วยพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 พิชิตศัตรูได้ในที่สุด ค.ศ.1463 (พ.ศ.2006) สเกินเดร์เบอูได้พิชิตกองทัพอ็อตโตมันที่ยกทัพมารุกรานถึงสามทัพ และทำให้สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ต้องทรงยอมเจรจาพักรบเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ทัพของสเกินเดร์เบอูก็ได้โจมตีกองทัพอ็อตโตมันในหลายพื้นที่ ในปีค.ศ.1465 (พ.ศ.2008) กองทัพของสเกินเดร์เบอูก็สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 18,000 นาย หากแต่กองทัพอ็อตโตมันก็สามารถจับตัวทหารฝ่ายสเกินเดร์เบอูได้จำนวนมาก หลังจากจับเชลยจากกองทัพสเกินเดร์เบอูได้ สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ก็รับสั่งให้ถลกหนังเชลยเหล่านี้ทั้งเป็นเป็นเวลากว่า 15 วัน และให้เอาหนังของทหารเชลยไปเป็นอาหารสุนัข ข่าวการถูกทรมานจนตายของทหารตนทำให้สเกินเดร์เบอูพิโรธอย่างหนัก และตั้งใจจะล้างแค้นให้ได้ ในปีเดียวกันนั้น กองทัพอ็อตโตมันได้เข้าโจมตีอีกครั้ง หากแต่กองทัพสเกินเดร์เบอูก็ยังคงเอาชนะได้อีกครั้ง และครั้งนี้ สเกินเดร์เบอูสั่งให้ประหารเชลยทั้งหมดเพื่อเป็นการแก้แค้นให้ทหารของตนที่ถูกสังหาร ค.ศ.1466 (พ.ศ.2009) สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงยกทัพจำนวน 30,000 นายมาล้อมเมืองโครเยอด้วยพระองค์เอง หากแต่ก็ล้มเหลว ก่อนที่จะนำทัพกลับมาโจมตีอีกครั้งในปีต่อมา แต่ก็ยังคงล้มเหลวอีก ค.ศ.1468 (พ.ศ.2011) สเกินเดร์เบอูล้มป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกวางยาพิษ ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1468 (พ.ศ.2011) ด้วยวัย 62 ปี ที่ยุโรปตะวันตก สเกินเดร์เบอูได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ และสเกินเดร์เบอูคือชาวยุโรปรายแรกๆ ที่สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมัน และทำให้ประชาชนเชื่อว่ากองทัพอ็อตโตมันไม่สามารถพิชิตพวกตนได้ ในทุกวันนี้ สเกินเดร์เบอูคือวีรบุรุษประจำชาติแอลเบเนีย และนามของเขา ก็ยังเป็นที่เล่าขานจนถึงทุกวันนี้ https://short-history.com/skanderbeg-28571a7b01e1... https://www.britannica.com/biography/Skanderbeg https://warfarehistorynetwork.com/.../skanderberg.../ https://www.historytoday.com/his.../skanderbeg-man-our-times
แสดงความคิดเห็น