10 บทเรียนชีวิตให้สู้ ๆ จากหนังสือ กัมบัตเตะ! ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          10 บทเรียนให้ชีวิตสู้ ๆ จากวิธีคิดแบบกัมบัตเตะ จากหนังสือ กัมบัตเตะ! ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง
บทเรียนชีวิต

1. กัมบัตเตะ หมายถึง “ทำให้ดีที่สุด” “อย่ายอมแพ้” “ยืนหยัดเข้าไว้” “พยายามปรับปรุงแก้ไข” “บากบั่นอดทน”

          ปกติคนญี่ปุ่นจะใช้เป็นคำอวยพรให้อีกคนที่เราพูดด้วย โชคดีในการสอบ โชคดีในการเดินทาง หรือโชคดีกับชีวิตใหม่ หรือแม้แต่ใช้เวลาบอกลาครอบครัวไปทำงาน หรือไปโรงเรียน และยังใช้เป็นคำให้กำลังใจอีกฝ่ายให้สู้ ๆ เวลาเพื่อนจะไปแข่งกีฬา หรือประสบภัยพิบัติต่าง ๆ 

2. กรอบความคิดแบบกัมบัตเตะ

          กรอบความคิดแบบกัมบัตเตะเป็นเหมือนการผสมให้เราลงมือทำ อดทน และอย่ายอมแพ้ ตรงกันข้ามกับกรอบความคิดแบบเฉื่อยชาและผัดวันประกันพรุ่ง
          เช่น “ฉันจะเริ่มลงมือทำ แม้ไม่ค่อยอยากทำ”
          “ถ้าฉันยังไม่ได้ลองพยายามดู ก็จะไม่รู้ว่าคุ้มค่าหรือไม่”
          “ฉันจะเปลี่ยนวิธีจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ และลองพยายามใหม่อีกครั้ง”
          “ฉันจะทำให้ดีที่สุด เทพเจ้าแห่งความโชคดีจะอยู่ข้างฉัน”
          “ความสำเร็จไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เป็นการได้เรียนรู้ระหว่างการเดินทาง”

3. ชีวิตมักมอบรางวัลให้ผู้อดทนรอคอย และลงโทษผู้ที่รีบร้อน

          หลายครั้งในชีวิต เมื่อเราเจอปัญหา เรามักพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด จนเป็นการบุ่มบ่ามทำไปให้เสร็จ ๆ และต้องมาหงุดหงิดท้อใจเมื่อเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา บางครั้งนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง หากแต่เราต้องอดทน แล้วค่อย ๆ พิจารณาสถานการณ์ เราอาจแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ เหมือนที่ อาจารย์มักสอนศิษย์เสมอว่า ให้ใจเย็น และอดทน คอยฟังสิ่งรอบตัวดี ๆ ก่อนตัดสินใจแก้ปัญหา

4. บางครั้งทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การยอมแพ้ ไม่ใช่ดิ้นรนเอาชนะ

          แพ้ คือ ชนะในหลายครั้ง
          หากเพียงเรามองให้ไกลไปกว่าผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นในทันที
          เช่น ถ้าเราเถียงแพ้ลูกบ้าง ลูกก็อาจมีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
          ถ้าเรายอมเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจบ้าง เราก็อาจได้คู่ค้าที่สร้างสัมพันธ์กันในระยะยาว
          ถ้าเรายอมให้คนรักเราชนะบ้าง เราก็อาจได้ความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว
          ถ้าเรายอมทิ้งไอเดียตัวเองบ้าง เราก็อาจได้พันธมิตรมาช่วยงานเพิ่มขึ้น

          ดังนั้นจงลดอัตตา และการอยากเอาชนะของตัวเองลง

5. กฎกัมบัตเตะ 10 ข้อของนักธุรกิจ 

          1) ลงมือทำเดี๋ยวนี้ อย่ารอพรุ่งนี้ !
          2) แม้ไม่มีประสบการณ์ก็จงลงมือทำ ค่อย ๆ เรียนรู้ไป
          3) มองความผิดพลาดให้เป็นการเรียนรู้
          4) จงแน่วแน่ แต่ยืดหยุ่น ถ้าทำแล้วไม่เวิร์ค ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์
          5) ตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ดีที่สุด
          6) แวดล้อมด้วยคนที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกัน
          7) แม้ประสบความสำเร็จแล้ว ก็จงอย่าหยุดเรียนรู้
          8) อดทนรอคอย
          9) ให้โลกเห็นผลงาน อย่าอาย แต่จงโอบรับคำติชม
         10) หมั่นฟังเสียงหัวใจตัวเอง เราย่อมรู้จักงานของเราดีกว่าใคร

6. กัมบัตเตะ กับ วะบิ ซะบิ

          แนวคิด วะบิ ซะบิ คือแนวคิดที่เลียนธรรมชาติในระดับที่ว่า
          ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ
          ไม่มีสิ่งใดครบถ้วน
          ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร
          เมื่อนำไปรวมกับแนวคิดกัมบัตเตะจึงหมายถึง การที่เราต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และโอบรับความเปลี่ยนแปลง อย่าอยู่เฉย ๆ และนิ่งนอนใจไปกับความขี้เกียจ เพราะเราทุกคนล้วนต้องเปลี่ยนแปลง เราจะค่อยเติบโตไปเรื่อย ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ๆ ตามแนวคิดกัมบัตเตะ ไม่มีวันที่เราจะสมบูรณ์แบบและหยุดเติบโต ทั้งแนวคิด วะบิ ซะบิ และกัมบัตเตะจึงใช้ได้ตลอดชีวิต

7. กัมบัตเตะ กับกฎแรงดึงดูด

          กฎแรงดึงดูดฉบับญี่ปุ่น ปรากฏขึ้นในเรื่องราวของ มาเนกิ เนโกะ (แมวกวัก) ที่พ่อค้าแม่ค้ามักจะนำมาตั้งอยู่หน้าร้านเพื่อเรียกลูกค้า 

          กฎนี้มีจะทำงานตาม 4 ขั้นตอนสำคัญคือ
          1) ค้นให้พบว่าตัวเองต้องการอะไร และขอสิ่งนั้นจากจักรวาล
          2) จดจ่อความคิดไปกับสิ่งที่ปรารถนา
          3) ประพฤติราวกับเราได้รับสิ่งนั้นแล้ว
          4) เปิดใจเพื่อรับสิ่งนั้น

          ตามหลักการของมาเนกิ เนโกะแล้ว เราต้องเริ่มจากการเปิดใจที่จะรับก่อน จากนั้นก็ต้องทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับสิ่งนั้น ซึ่งเรื่องนี้เองที่สอดคล้องกับ กัมบัตเตะ เพราะถ้าเรากล้าขอ และร้องเรียกซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง สุดท้าย เราก็จะได้รับสิ่งนั้นเอง 

8. หลักการ “ชูฮาริ” เพื่อเป็นสุดยอดผู้ชำนาญการ

          หลักการชูฮาริ มาจากการฝึกศิลปะป้องกันตัว พิธีชงชา และการเรียนรู้ศิลปะอื่น ๆ เป็นหลักสำคัญตามแนวคิดกัมบัตเตะที่ศิษย์จะเรียนรู้ได้จากอาจารย์ และสร้างตัวเองขึ้นเป็นผู้ชำนาญการ

          หลักสำคัญของชูฮาริคือ 
          1) ชู: เข้าใจพื้นฐานของศาสตร์และศิลป์ เราต้องเริ่มจากการเชื่อฟังอาจารย์ เพื่อรู้ถึงธรรมเนียมแบบแผนและนำไปต่อยอดทีหลัง
          2) ฮา: เริ่มออกสำรวจว่าเราจะเบี่ยงเบนออกจากพื้นฐานที่เราเรียนรู้มาได้อย่างไรบ้าง พยายามตั้งคำถามกับพื้นฐานเหล่านั้น
          3) ริ: คือการก้าวขึ้นไปให้เหนือกว่าเดิม เริ่มเป็นตัวของตัวเองและทำในแบบที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งจะต้องอาศัยการหลอมรวมของศาสตร์และศิลป์ขั้นสูง

          การเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือดนตรี เราต้องเริ่มมาจาก การทำพื้นฐานให้แน่นก่อน ถึงจะต่อยอดได้ ศิษย์หลายคนมักอยากข้ามขั้นไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเร็ว ๆ ซึ่งตรงนี้ต้องนำแนวคิด กัมบัตเตะ หรือการอดทนรอคอย และการต้านไม่ให้ตัวเองก้าวเร็วเกินไปเข้ามาใช้ เพราะเราจะเรียนรู้และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญได้เมื่ออยู่ในสภาวะไหลลื่น (Flow) ซึ่งถ้าเราก้าวเร็วเกินไป โดยพื้นฐานไม่แน่น เราจะไม่สามารถเข้าไปในสภาวะไหลลื่นได้ 

9. ปรัชญาสโตอิกและกัมบัตเตะ

          พื้นฐานสำคัญของปรัชญาสโตอิกคือ การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ตามแบบที่มันเป็น โดยไม่ปล่อยให้ตัวเองเอนเอียงไปตามอารมณ์ และความปรารถนา

          ปรัชญาสโตอิกและแนวคิดกัมบัตเตะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เราก้าวข้ามสิ่งกีดขวางและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เจอได้ดังนี้

          1) สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้สึกถึงหัวใจของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา ระวังอย่าให้อารมณ์ด้านลบมาควบคุมการตัดสินใจ
          2) หากเจอโชคร้าย หรืออุปสรรค ให้เอาหลักกัมบัตเตะมาใช้ อย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรค แต่จงหาวิธีก้าวเดินต่อไป
          3) ถ้าปัญหานั้นควบคุมได้ ก็ให้ กัมบัตเตะ ! ต่อไป แต่ถ้าเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ เราก็ควรเลิกกังวลได้แล้ว

10. กฎกัมบัตเตะ 10 ข้อเพื่อความรักที่ยืนยาว

          1) ไตร่ตรองให้ดี ๆ ก่อนจะเลือกคู่ และผูกมัดชีวิตกับใคร
          2) รักด้วยวิถีไคเซ็น ค่อย ๆ รัก แต่มั่นคงและยั่งยืนเหมือนการวิ่งมาราธอน
          3) อย่าชะล่าใจ แม้จะเป็นแฟนกันแล้ว แต่เราต้องพยายามเหมือนเดิมในทุก ๆ วัน
          4) ระวังคำพูดของตัวเอง เพราะอาจทำให้เรื่องบานปลายได้
          5) ระลึกไว้เสมอว่าอะไรนำพาเรา 2 คนมาคู่กัน
          6) ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของอีกฝ่าย 
          7) สร้างแผนการใหม่ ๆ อยู่เสมอ
          8) เคารพพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย 
          9) ชื่นชมอีกฝ่ายอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะเรื่องความสำเร็จ หรือเรื่องเล็ก ๆ ใด ๆ ก็ตาม
         10) หมั่นหัวเราะด้วยกัน แม้จะเป็นเรื่องชวนเศร้า แต่เมื่อผ่านกาลเวลาไป ก็มักจะทำให้ขำได้เสมอ

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

          หนังสือเสนอแนวคิดญี่ปุ่นที่อ่านสนุกมาก กัมบัตเตะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องจริง ๆ และเป็นหลักสำคัญที่ทำให้เราสร้างชีวิตตามใจปรารถนาได้ในระยะยาว ใครชอบอ่านแนวคิดญี่ปุ่น เล่มนี้พลาดไม่ได้ครับ
          แนะนำสั่งซื้อหนังสือ กัมบัตเตะ! ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน: โนบูโอะ ซูซูกิ
  • ผู้แปล: เขมลักษณ์ ดีประวัติ
  • จำนวนหน้า: 184 หน้า
  • สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 3/2022
  • ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Ganbatte!
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 บทเรียนชีวิตให้สู้ ๆ จากหนังสือ กัมบัตเตะ! ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2565 เวลา 14:41:25 1,943 อ่าน
TOP