ชื่อในแต่ละมณฑลของจีนมีความหมายอะไรบ้าง? สาธารณรัฐประชาชนจีนประกอบไปด้วย 22 มณฑล (การอ้างสิทธิ์เหนือไต้หวันจะถือเป็น 23 มณฑล) 5 เขตปกครองตนเอง 4 เทศบาลนคร และ 2 เขตบริหารพิเศษ แน่นอนว่าชื่อของเขตปกครองภายในประเทศจีน ต่างก็มีที่มาและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ดังนั้นแอดมินเลยขอรวมรวบในบทความนี้ครับ มณฑลเฮยหลงเจียง (Heilongjiang 黑龍江) เมืองเอก : ฮ่าเออปิน ในภาษาจีนแปลว่า แม่น้ำมังกรดำ มาจากชื่อของแม่น้ำที่แบ่งเขตแดนระหว่างจีนกับรัสเซียตั้งแต่ปี 1858 ในสนธิสัญญาไอกุน (Treaty of Aigun) ขณะที่รัสเซียเรียกแม่น้ำเฮยหลงเจียงว่า แม่น้ำอามูร์ (Amur) มณฑลจี๋หลิน (Jilin 吉林) เมืองเอก : ฉางชุน จี๋หลินมาจากคำภาษาแมนจู girin ula แปลว่าตามแม่น้ำใหญ่ หมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซ่งฮวา (Songhua) มณฑลเหลียวหนิง (Liaoning 遼寧) เมืองเอก : เฉินหยาง เหลียวมาจากแม่น้ำเหลียว ส่วนหนิงแปลว่าสงบ มณฑลเหอเป่ย (Hebei 河北) เมืองเอก : สือเจียจวง แปลว่าทางทิศเหนือของแม่น้ำ หมายถึงแม่น้ำเหลืองหรือฮวงโห แม่น้ำสายเลือดสำคัญที่ก่อร่างอารยธรรมจีน มณฑลเหอหนาน (Henan 河南) เมืองเอก : เจิ้งโจว แปลว่าทางทิศใต้ของแม่น้ำเหลือง มณฑลซานซี (Shanxi 山西) เมืองเอก : ไท้เอวี๋ยน แปลว่าทางทิศตะวันตกของภูเขา หมายถึงพื้นที่ทางตะวันตกของเทือกเขาไท่หาง (Taihang) มณฑลซานตง (Shandong 山東) เมืองเอก : จี้หนาน แปลว่าทางทิศตะวันออกของเทือกเขาไท่หาง มณฑลหูหนาน (Hunan 湖南) เมืองเอก : ฉางซา แปลว่าทางทิศใต้ของทะเลสาบต้งถิง (Dongting) มณฑลหูเป่ย (Hubei 湖北) เมืองเอก : อู่ฮั่น แปลว่าทางทิศเหนือของทะเลสาบต้งถิง มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang 浙江) เมืองเอก : หังโจว มาจากชื่อแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang) หรือในอดีตเรียกว่าแม่น้ำเจ้อ (เจียงแปลว่าแม่น้ำ) มณฑลเจียงซี (Jiangxi 江西) เมืองเอก : หนานซาง แปลว่าทางทิศตะวันตกของแม่น้ำก้าน (Gan) แม้ว่าในปัจจุบันแม่น้ำก้านจะไหลผ่านพื้นที่ตรงกลางของมณฑล มณฑลส่านซี (Shaanxi 陝西) เมืองเอก : ซีอาน แปลว่าแผ่นดินทางทิศตะวันตกของส่าน ส่านในที่นี้เป็นชื่อโบราณของช่องเขาที่แม่น้ำเหลืองไหลผ่านจากที่ราบสูงดินลมหอบ (Loess Plateau) ไปสู่พื้นที่ราบจีนตอนเหนือ มณฑลอันฮุย (Anhui 安徽) เมืองเอก : เหอเฟ่ย มณฑลอันฮุยเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง จากการรวมกันของสองพื้นที่คืออันชิง (Anqing) กับฮุยโจว (Huizhou) มณฑลเจียงซู (Jiangsu 江蘇) เมืองเอก : หนานจิง คล้ายกับมณฑลอันฮุย เพราะมณฑลเจียงซูเกิดจากการรวมตัวของเมืองเจียงหนิง (Jiangning) กับซูโจว (Suzhou) มณฑลกานซู (Gansu 甘肅) เมืองเอก : หลานโจว มณฑลกานซูเกิดจากการรวมกันของเมืองกานโจว (Ganzhou) กับเมืองซูโจว (ปัจจุบันคือเมืองจิ่วฉวน Jiuquan คนละที่กับซูโจวของเจียงซู) มณฑลกุ้ยโจว (Guizhou 貴州) เมืองเอก : กุ้ยหยาง ที่มาของชื่อไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามาจากภูเขากุ้ย มณฑลเสฉวน (Sichuan 四川) เมืองเอก : เฉิงตู เสฉวนหรือซื่อชวนในสำเนียงจีนกลางแปลว่าแม่น้ำสี่สาย ที่ประกอบด้วยแม่น้ำเจียหลิง (Jialing) จินซา (Jinsha) หมิน (Min) และโถ่ว (Tuo) มณฑลยูนนาน (Yunnan 雲南) เมืองเอก : คุนหมิง แปลว่าทางทิศใต้ของหยุน โดยหยุนในที่นี้ก็คือเทือกเขาหยุนหลิง (Yunling) ที่มีความหมายว่าภูเขาเมฆหมอก หรืออีกทฤษฎีแปลว่า อยู่ใต้ก้อนเมฆ มณฑลฝูเจี้ยน (Fujian 福建) เมืองเอก : ฝูโจว เกิดจากการรวมกันของสองพื้นที่คือฝูโจว (Fuzhou) กับเจี้ยนโจว (Jianzhou) มณฑลชิงไห่ (Qinghai 青海) เมืองเอก : ซีหนิง แปลว่าทะเลสาบสีเขียว หมายถึงทะเลสาบชิงไห่ มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong 廣東) เมืองเอก : กว่างโจว ในอดีตมณฑลกวางตุ้งกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เคยรวมตัวกันในชื่อเหลียงกวง (Liangguang) ก่อนจะแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยกวางตุ้งแปลว่าพื้นที่กว้างทางทิศตะวันออก มณฑลไห่หนาน (Hainan 海南) เมืองเอก : ไหโข่ว มณฑลไห่หนานหรือไหหลำ เป็นมณฑลที่แยกจากมณฑลกวางตุ้งในปี 1988 ชื่อมีความหมายว่า ทะเลที่อยู่ทางทิศใต้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi 廣西) เมืองเอก : หนานหนิง กวางตุ้งกับกว่างซีแยกจากกันในปี 1952 และกว่างซีเป็นดินแดนปกครองตนเองของชาวจ้วง (Zhuang) ในปี 1958 ชื่อของกว่างซีแปลว่า พื้นที่กว้างทางทิศตะวันตก เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia 內蒙古) เมืองเอก : ฮูเหอเฮ้าเท่อ การแบ่งพื้นที่มองโกเลียในและมองโกเลียนอกย้อนกลับไปได้ในยุคราชวงศ์ชิง โดยมองโกเลียในคือพื้นที่ตอนใต้ของทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ส่วนมองโกเลียนอกก็คือประเทศมองโกเลียหรือสาธารณรัฐมองโกเลียในปัจจุบัน สาธารณรัฐจีนในยุคของเจียงไคเช็ค มีความพยายามในการอ้างสิทธิ์เหนือมองโกเลียนอก แต่หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนครองอำนาจ ภายใต้นโยบายของเหมาเจ๋อตงที่อยู่ฝั่งสหภาพโซเวียต ทำให้จีนรับรองความเป็นรัฐของมองโกเลียนอก เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (Ningxia 寧夏) เมืองเอก : หยินชวน ก่อตั้งขึ้นในปี 1928 โดยเป็นเขตปกครองตนเองของชาวหุย (Hui) คำว่าหนิงเซี่ยมาจากสองคำคือ หนิงที่มาจากเมืองอันหนิง (Anning) ส่วนเซี่ยมาจากชื่อราชวงศ์เซี่ย (Xia Dynasty) ราชวงศ์ที่เชื่อว่าเป็นราชวงศ์แรกของจีน ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang 新疆) เมืองเอก : อุรุมชี (อูหลู่มู่ฉี) ซินเจียงตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่ปี 1759 ในยุคราชวงศ์ชิง ซินเจียงมีความหมายว่า พรมแดนใหม่ (ของจีน) เขตปกครองตนเองทิเบต (Tibet 西藏) เมืองเอก : ลาซา สาธารณรัฐประชาชนจีนทำการผนวกทิเบตในปี 1951 และก่อตั้งเขตปกครองตนเองทิเบตในปี 1965 ตั้งแต่ปลายยุคราชวงศ์ชิง จีนเรียกทิเบตว่า ซีจ้าง (Xizang 西藏) ขณะที่ชาวทิเบตเรียกชนชาติของพวกเขาว่า โบด์ (bod) ปักกิ่ง (Beijing 北京) หรือเป่ย์จิงตามสำเนียงจีนกลาง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ชื่อของปักกิ่งมีความหมายว่า เมืองหลวงทางทิศเหนือ เทียนจิน (Tianjin 天津) หรือในอดีตเรียกว่าเทียนสิน ชื่อมีความหมายว่า ท่าเรือแห่งจักรพรรดิ เซี่ยงไฮ้ (Shanghai 上海) หรือซ่างไห่ตามสำเนียงจีนกลาง ความหมายของชื่อแปลว่าบนทะเล หมายถึงที่ตั้งของเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก ฉงชิ่ง (Chongqing 重庆) ฉงชิ่งมีความหมายว่า ความสุขหรือการเฉลิมฉลองเป็นสองเท่า มาจากการเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิซ่งกวังจงแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ในปี 1189 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong 香港) หรือเซียงกั่งตามสำเนียงจีนกลาง ฮ่องกงมีความหมายว่า ท่าเรือหอม จากการที่ฮ่องกงเป็นแหล่งค้าเครื่องหอม เขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Macau 澳門) หรือเอ้าเหมินตามสำเนียงจีนกลาง มาเก๊ามีความหมายว่า ประตูอ่าวหรือประตูท่าเรือ X http://bit.ly/3AfKmf2 Blockdit https://bit.ly/4e25dQX LINE TODAY https://bit.ly/48uQvRp Website https://bit.ly/4fnCVBB YouTube https://bit.ly/3YEkhzB Lotus Travel. How each Chinese province got its name. JOYFUL JAYLYN. มณฑลจีน | ไขรหัสลับที่มา + ความหมายของชื่อ 23 มณฑลจีน รับรองเข้าใจประเทศจีนมากขึ้นเยอะ!. กระทรวงการต่างประเทศ. สาธารณรัฐประชาชนจีน.
แสดงความคิดเห็น