ชื่อมณฑลจีนบอกอะไรเราได้บ้าง... สำรวจความหมายที่ซ่อนอยู่จากแผนที่แดนมังกร

Histofun Deluxe

Histofun Deluxe เพจที่นำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน

          ชื่อในแต่ละมณฑลของจีนมีความหมายอะไรบ้าง?
ประวัติศาสตร์จีน 22 ชื่อมณฑลจีน

          สาธารณรัฐประชาชนจีนประกอบไปด้วย 22 มณฑล (การอ้างสิทธิ์เหนือไต้หวันจะถือเป็น 23 มณฑล) 5 เขตปกครองตนเอง 4 เทศบาลนคร และ 2 เขตบริหารพิเศษ
          แน่นอนว่าชื่อของเขตปกครองภายในประเทศจีน ต่างก็มีที่มาและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ดังนั้นแอดมินเลยขอรวมรวบในบทความนี้ครับ
  • มณฑลเฮยหลงเจียง (Heilongjiang 黑龍江)

          เมืองเอก : ฮ่าเออปิน

          ในภาษาจีนแปลว่า แม่น้ำมังกรดำ มาจากชื่อของแม่น้ำที่แบ่งเขตแดนระหว่างจีนกับรัสเซียตั้งแต่ปี 1858 ในสนธิสัญญาไอกุน (Treaty of Aigun) ขณะที่รัสเซียเรียกแม่น้ำเฮยหลงเจียงว่า แม่น้ำอามูร์ (Amur)

  • มณฑลจี๋หลิน (Jilin 吉林)

          เมืองเอก : ฉางชุน

          จี๋หลินมาจากคำภาษาแมนจู girin ula แปลว่าตามแม่น้ำใหญ่ หมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซ่งฮวา (Songhua)

  • มณฑลเหลียวหนิง (Liaoning 遼寧)

          เมืองเอก : เฉินหยาง

          เหลียวมาจากแม่น้ำเหลียว ส่วนหนิงแปลว่าสงบ

  • มณฑลเหอเป่ย (Hebei 河北)

          เมืองเอก : สือเจียจวง

          แปลว่าทางทิศเหนือของแม่น้ำ หมายถึงแม่น้ำเหลืองหรือฮวงโห แม่น้ำสายเลือดสำคัญที่ก่อร่างอารยธรรมจีน

  • มณฑลเหอหนาน (Henan 河南)

          เมืองเอก : เจิ้งโจว

          แปลว่าทางทิศใต้ของแม่น้ำเหลือง

  • มณฑลซานซี (Shanxi 山西)

          เมืองเอก : ไท้เอวี๋ยน

          แปลว่าทางทิศตะวันตกของภูเขา หมายถึงพื้นที่ทางตะวันตกของเทือกเขาไท่หาง (Taihang)

  • มณฑลซานตง (Shandong 山東)

          เมืองเอก : จี้หนาน

          แปลว่าทางทิศตะวันออกของเทือกเขาไท่หาง

  • มณฑลหูหนาน (Hunan 湖南)

          เมืองเอก : ฉางซา

          แปลว่าทางทิศใต้ของทะเลสาบต้งถิง (Dongting)

  • มณฑลหูเป่ย (Hubei 湖北)

          เมืองเอก : อู่ฮั่น

          แปลว่าทางทิศเหนือของทะเลสาบต้งถิง

  • มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang 浙江)

          เมืองเอก : หังโจว

          มาจากชื่อแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang) หรือในอดีตเรียกว่าแม่น้ำเจ้อ (เจียงแปลว่าแม่น้ำ)

  • มณฑลเจียงซี (Jiangxi 江西)

          เมืองเอก : หนานซาง

          แปลว่าทางทิศตะวันตกของแม่น้ำก้าน (Gan) แม้ว่าในปัจจุบันแม่น้ำก้านจะไหลผ่านพื้นที่ตรงกลางของมณฑล

  • มณฑลส่านซี (Shaanxi 陝西)

          เมืองเอก : ซีอาน

          แปลว่าแผ่นดินทางทิศตะวันตกของส่าน ส่านในที่นี้เป็นชื่อโบราณของช่องเขาที่แม่น้ำเหลืองไหลผ่านจากที่ราบสูงดินลมหอบ (Loess Plateau) ไปสู่พื้นที่ราบจีนตอนเหนือ

  • มณฑลอันฮุย (Anhui 安徽)

          เมืองเอก : เหอเฟ่ย

          มณฑลอันฮุยเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง จากการรวมกันของสองพื้นที่คืออันชิง (Anqing) กับฮุยโจว (Huizhou)

  • มณฑลเจียงซู (Jiangsu 江蘇)

          เมืองเอก : หนานจิง

          คล้ายกับมณฑลอันฮุย เพราะมณฑลเจียงซูเกิดจากการรวมตัวของเมืองเจียงหนิง (Jiangning) กับซูโจว (Suzhou)

  • มณฑลกานซู (Gansu 甘肅)

          เมืองเอก : หลานโจว

          มณฑลกานซูเกิดจากการรวมกันของเมืองกานโจว (Ganzhou) กับเมืองซูโจว (ปัจจุบันคือเมืองจิ่วฉวน Jiuquan คนละที่กับซูโจวของเจียงซู)

  • มณฑลกุ้ยโจว (Guizhou 貴州)

          เมืองเอก : กุ้ยหยาง

          ที่มาของชื่อไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามาจากภูเขากุ้ย

  • มณฑลเสฉวน (Sichuan 四川)

          เมืองเอก : เฉิงตู

          เสฉวนหรือซื่อชวนในสำเนียงจีนกลางแปลว่าแม่น้ำสี่สาย ที่ประกอบด้วยแม่น้ำเจียหลิง (Jialing) จินซา (Jinsha) หมิน (Min) และโถ่ว (Tuo)

  • มณฑลยูนนาน (Yunnan 雲南)

          เมืองเอก : คุนหมิง

          แปลว่าทางทิศใต้ของหยุน โดยหยุนในที่นี้ก็คือเทือกเขาหยุนหลิง (Yunling) ที่มีความหมายว่าภูเขาเมฆหมอก หรืออีกทฤษฎีแปลว่า อยู่ใต้ก้อนเมฆ

  • มณฑลฝูเจี้ยน (Fujian 福建)

          เมืองเอก : ฝูโจว

          เกิดจากการรวมกันของสองพื้นที่คือฝูโจว (Fuzhou) กับเจี้ยนโจว (Jianzhou)

  • มณฑลชิงไห่ (Qinghai 青海)

          เมืองเอก : ซีหนิง

          แปลว่าทะเลสาบสีเขียว หมายถึงทะเลสาบชิงไห่

  • มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong 廣東)

          เมืองเอก : กว่างโจว

          ในอดีตมณฑลกวางตุ้งกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เคยรวมตัวกันในชื่อเหลียงกวง (Liangguang) ก่อนจะแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยกวางตุ้งแปลว่าพื้นที่กว้างทางทิศตะวันออก

  • มณฑลไห่หนาน (Hainan 海南)

          เมืองเอก : ไหโข่ว

          มณฑลไห่หนานหรือไหหลำ เป็นมณฑลที่แยกจากมณฑลกวางตุ้งในปี 1988 ชื่อมีความหมายว่า ทะเลที่อยู่ทางทิศใต้

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi 廣西)

          เมืองเอก : หนานหนิง

          กวางตุ้งกับกว่างซีแยกจากกันในปี 1952 และกว่างซีเป็นดินแดนปกครองตนเองของชาวจ้วง (Zhuang) ในปี 1958 ชื่อของกว่างซีแปลว่า พื้นที่กว้างทางทิศตะวันตก

  • เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia 內蒙古)

          เมืองเอก : ฮูเหอเฮ้าเท่อ

          การแบ่งพื้นที่มองโกเลียในและมองโกเลียนอกย้อนกลับไปได้ในยุคราชวงศ์ชิง โดยมองโกเลียในคือพื้นที่ตอนใต้ของทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ส่วนมองโกเลียนอกก็คือประเทศมองโกเลียหรือสาธารณรัฐมองโกเลียในปัจจุบัน

          สาธารณรัฐจีนในยุคของเจียงไคเช็ค มีความพยายามในการอ้างสิทธิ์เหนือมองโกเลียนอก แต่หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนครองอำนาจ ภายใต้นโยบายของเหมาเจ๋อตงที่อยู่ฝั่งสหภาพโซเวียต ทำให้จีนรับรองความเป็นรัฐของมองโกเลียนอก

  • เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (Ningxia 寧夏)

          เมืองเอก : หยินชวน

          ก่อตั้งขึ้นในปี 1928 โดยเป็นเขตปกครองตนเองของชาวหุย (Hui) คำว่าหนิงเซี่ยมาจากสองคำคือ หนิงที่มาจากเมืองอันหนิง (Anning) ส่วนเซี่ยมาจากชื่อราชวงศ์เซี่ย (Xia Dynasty) ราชวงศ์ที่เชื่อว่าเป็นราชวงศ์แรกของจีน ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่

  • เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang 新疆)

          เมืองเอก : อุรุมชี (อูหลู่มู่ฉี)

          ซินเจียงตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่ปี 1759 ในยุคราชวงศ์ชิง ซินเจียงมีความหมายว่า พรมแดนใหม่ (ของจีน)

  • เขตปกครองตนเองทิเบต (Tibet 西藏)

          เมืองเอก : ลาซา

          สาธารณรัฐประชาชนจีนทำการผนวกทิเบตในปี 1951 และก่อตั้งเขตปกครองตนเองทิเบตในปี 1965 ตั้งแต่ปลายยุคราชวงศ์ชิง จีนเรียกทิเบตว่า ซีจ้าง (Xizang 西藏) ขณะที่ชาวทิเบตเรียกชนชาติของพวกเขาว่า โบด์ (bod)

  • ปักกิ่ง (Beijing 北京)

          หรือเป่ย์จิงตามสำเนียงจีนกลาง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ชื่อของปักกิ่งมีความหมายว่า เมืองหลวงทางทิศเหนือ

  • เทียนจิน (Tianjin 天津)

          หรือในอดีตเรียกว่าเทียนสิน ชื่อมีความหมายว่า ท่าเรือแห่งจักรพรรดิ

  • เซี่ยงไฮ้ (Shanghai 上海)

          หรือซ่างไห่ตามสำเนียงจีนกลาง ความหมายของชื่อแปลว่าบนทะเล หมายถึงที่ตั้งของเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก

  • ฉงชิ่ง (Chongqing 重庆)

          ฉงชิ่งมีความหมายว่า ความสุขหรือการเฉลิมฉลองเป็นสองเท่า มาจากการเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิซ่งกวังจงแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ในปี 1189

  • เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong 香港)

          หรือเซียงกั่งตามสำเนียงจีนกลาง ฮ่องกงมีความหมายว่า ท่าเรือหอม จากการที่ฮ่องกงเป็นแหล่งค้าเครื่องหอม

  • เขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Macau 澳門)

          หรือเอ้าเหมินตามสำเนียงจีนกลาง มาเก๊ามีความหมายว่า ประตูอ่าวหรือประตูท่าเรือ

ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe

อ้างอิง

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Histofun Deluxe
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชื่อมณฑลจีนบอกอะไรเราได้บ้าง... สำรวจความหมายที่ซ่อนอยู่จากแผนที่แดนมังกร อัปเดตล่าสุด 17 กรกฎาคม 2568 เวลา 10:35:07 1,010 อ่าน
TOP