ดูดวงตามราศี กับ ลัคนา เคยสงสัยไหมว่าทั้งสองแบบเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วเราควรดูแบบไหนดี
เวลาอ่านบทความดูดวงตามหน้าเพจ เว็บไซต์ นิตยสาร เราก็ต้องมองหา "ราศี" ของตัวเองเพื่ออ่านคำทำนายใช่ไหมคะ เช่น คนที่มีราศีเมษก็ต้องอ่านคำทำนายของราศีเมษ แต่ในบางตำรา ผู้ทำนายก็ใช้คำว่า "ลัคนาเมษ" แล้วแบบนี้คนราศีเมษจะต้องอ่านคำทำนายของ "ลัคนาเมษ" หรือเปล่า ?
มาดูความแตกต่างของ 2 คำนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกันดีกว่า จะได้ไม่สับสนเวลาดูดวงอีกต่อไป
ตามหลักโหราศาสตร์แล้ว การดูดวงตาม "ราศี" จะยึดเอาตำแหน่งที่ดาวอาทิตย์ (ดวงอาทิตย์) สถิตอยู่ ณ วันที่เราเกิดเป็นเกณฑ์แบ่งราศี โดยดาวอาทิตย์จะโคจรเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ วันละประมาณ 1 องศา เมื่อครบ 30 องศา หรือ 30 วัน (1 เดือน) โดยประมาณ ก็จะย้ายไปสู่ราศีถัดไป รวมแล้วใช้เวลา 12 เดือน (1 ปี) จึงโคจรครบ 12 ราศี ได้แก่ ราศีเมษ, พฤษภ, มิถุน, กรกฎ, สิงห์, กันย์, ตุลย์, พิจิก, ธนู, มกร, กุมภ์ และมีน
อย่างเช่น ในโหราศาสตร์ไทย ดาวอาทิตย์จะโคจรอยู่ในราศีเมษ ช่วงประมาณวันที่ 13 เมษายน - 13 พฤษภาคม* ดังนั้นใครที่เกิดในช่วงวันดังกล่าวนี้ จะถือว่าอยู่ในราศีเมษ ส่วนคนที่เกิดในช่วงประมาณวันที่ 17 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน* เป็นช่วงที่ดาวอาทิตย์โคจรอยู่ในราศีตุลย์ ก็จะถือว่าเป็นคนราศีตุลย์ เป็นต้น
(* หมายเหตุ : เป็นวันที่โดยประมาณ เนื่องจากในแต่ละปี ดาวจะย้ายเข้าสู่ราศีต่าง ๆ ไม่ตรงกัน ถ้าอยากทราบตำแหน่งดาวที่แน่นอน ต้องนำวัน-เดือน-ปีเกิดไปผูกดวง)
อย่างไรก็ตาม หากเป็นโหราศาสตร์แขนงอื่น เช่น โหราศาสตร์สากล หรือแม้แต่โหราศาสตร์ไทยด้วยกันที่อาจใช้ระบบปฏิทินแตกต่างกัน จะมีช่วงเวลาที่ดาวอาทิตย์สถิตอยู่ตามราศีต่าง ๆ แตกต่างกันไปด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมดูดวงในเว็บนี้บอกว่าเราอยู่ราศีเมษ แต่พอไปดูดวงอีกเพจหนึ่งกลับบอกว่าเราอยู่ราศีพฤษภซะอย่างงั้น
สรุปว่า ถ้าเราดูดวงที่ใช้ "ราศี" เป็นคำทำนาย ก็ให้ยึดตามวันเกิดของเราได้เลย ไม่ว่าตำรานั้นใช้ปฏิทินแบบไหนก็ตาม
คำว่า "ลัคนา" หรือ "ลัคน์" ก็คือตำแหน่งของขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก แต่ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ลัคนาเป็นจุดตัวตนของเรา ซึ่งจะต้องนำเวลาตกฟากหรือเวลาเกิดมาคำนวณผูกดวง ถึงจะทราบว่าตัวเองมีลัคนาสถิตอยู่ในราศีอะไร
ทั้งนี้ ลัคนามีความสำคัญต่อการพยากรณ์แบบจักรราศีอย่างมาก หากใครไปให้หมอดูที่ใช้วัน-เดือน-ปีเกิดในการทำนายทายทักก็มักจะต้องถามหาเวลาเกิดแทบทุกราย เพราะต้องนำมาใช้ในการตั้งเรือนชะตาเพื่อออกคำทำนาย โดยราศีที่มีลัคนาสถิตอยู่จะนับเป็นภพตนุ (ตัวตนของเจ้าชะตา) แล้วไล่เรือนภพไปจนครบ 12 เรือนชะตา
ทีนี้ ถ้าถามว่าคนราศีเมษ จำเป็นต้องมีลัคนาเมษหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า "ไม่จำเป็น" เพราะอย่างที่บอกว่า "ราศี" จะใช้ตำแหน่งที่ดาวอาทิตย์สถิตอยู่ในช่วงเวลานั้นมาทำนาย ซึ่งอาทิตย์จะสถิตอยู่ในราศีนั้น ๆ เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
ในขณะที่ลัคนาจะโคจรย้ายราศีทุก ๆ 2 ชั่วโมงโดยประมาณ ดังนั้น ใน 1 วัน ลัคนาจะโคจรวนไปจนครบ 12 ราศี เท่ากับว่าคนที่เกิดวัน-เดือน-ปีเดียวกัน แต่เวลาต่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แม้จะมีดาวอาทิตย์อยู่ราศีเดียวกัน แต่จะมีลัคนาอยู่คนละราศีแน่นอน
ตัวอย่างเช่น
- คนแรก เกิดวันที่ 1 มกราคม 2550 เวลา 10.00 น. ตามปฏิทินโหราศาสตร์ไทยถือเป็นคนราศีธนู (เพราะวันนี้ดาวอาทิตย์จรอยู่ในราศีธนู) ในขณะที่ลัคนาสถิตราศีมีน เท่ากับว่าคนนี้มีลัคนามีน
- คนที่ 2 เกิดวันที่ 1 มกราคม 2550 เวลา 20.00 น. ตามปฏิทินโหราศาสตร์ไทยถือเป็นคนราศีธนู (เพราะวันนี้ดาวอาทิตย์จรอยู่ในราศีธนู) แต่ลัคนาเคลื่อนไปยังราศีสิงห์แล้ว แสดงว่าคนนี้มีลัคนาสิงห์
ดูดวงตามลัคนา หรือราศี แบบไหนแม่นกว่า
จริง ๆ แล้วการดูดวงที่ละเอียดแม่นยำจะต้องใช้ "ลัคนา" เพราะลัคนาเป็นตัวกำหนดเรือนภพต่าง ๆ ซึ่งจะบอกได้ว่าเรามีดาวอะไรเป็นดาวประจำตัว หรือดาวการเงิน ดาวความรักของเราในปัจจุบันโคจรในมุมดีหรือเสียกับดวงชะตา ซึ่งถ้าไม่ทราบลัคนาก็จะไม่สามารถหาดาวประจำตัว หรือดาวต่าง ๆ เพื่อทำนายได้ตรงกับชีวิตจริง
ส่วนการทำนายด้วยราศีที่เราเจอบ่อย ๆ นั้น เป็นเพียงการทำนายแบบกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะบุคคล ก็เพื่อให้คนที่ไม่ทราบเวลาเกิดของตัวเอง หรือไม่เคยผูกดวงหาลัคนามาก่อน สามารถดูดวงได้คร่าว ๆ ซึ่งก็จะมีความแม่นยำในระดับหนึ่งเช่นกัน (แต่น้อยกว่าลัคนา) เพราะอาทิตย์ก็ถือเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในดวงชะตา ดังนั้นแม้จะเป็นคำทำนายกว้าง ๆ แต่ก็มีบางส่วนที่ตรงได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการคำทำนายที่แม่นยำมากขึ้น ควรดู "ลัคนา" เป็นหลัก แล้วอ่านคำทำนายตาม "ราศี" เสริมด้วยก็ไม่ผิดค่ะ
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่