10 ทริคเที่ยวต่างประเทศให้สนุกด้วยงบประหยัด

Content นี้เขียนขึ้นมาจากแนวคิดเที่ยวแบบประหยัด แต่ไม่ลำบาก เหมาะสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นเที่ยวเอง เงินไม่เยอะ แต่อยากไปเที่ยวต่างประเทศ กลับมาแล้วไม่ล้มละลาย
หรือคนที่อยากเที่ยวบ่อย ปีละ 2-3 ครั้ง แต่งบไม่พอที่จะจัดเต็มได้กับทุกทริป จะต้องบริหารเงินยังไง?
มาครับ...เรามาดูว่า เราจะบริหารจัดการงบจุดไหนได้บ้าง?
- จุดที่ 1: ค่าที่พัก
- จุดที่ 2: ค่าเดินทาง
- จุดที่ 3: ค่ากิน
- จุดที่ 4: ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว
- จุดที่ 5: ค่าตั๋วเครื่องบิน
- จุดที่ 6: การเดินทางข้ามคืน
- จุดที่ 7: ไม่ซื้อของฝาก
- จุดที่ 8: แลกเงินสดไปพอประมาณ
- จุดที่ 9: ทยอยชำระค่าใช้จ่าย
- จุดที่ 10: ใช้เท่าที่งบมี
จุดที่ 1: ที่พัก
- เลือก bnb, hostel หรือ รร 1-3 ดาวครับ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เยอะมาก เลือกที่ปลอดภัย และรีวิวดี (ถ้าอโกด้า หรือบุคกิ้ง ต้อง 7.5 คะแนนขึ้น) และจะประหยัดไปอีก ถ้าพักแบบนอนรวม
- เลือกที่พักที่ฟรีอาหารเช้า จะประหยัดมื้อเช้าไปได้ กินข้างนอกเฉพาะมื้อเที่ยง ส่วนมื้อเย็น กลับมาทำกินเองที่ รร สรุปเราจะเสียค่าอาหารเพียงวันละ 1 มื้อเท่านั้น
จุดที่ 2: การเดินทาง
- เช่ารถ เหมาะกับไปหลายคนเท่านั้น แต่ถ้าคนเดียว ไม่แนะนำ งบจะบานปลาย เพราะมันจะมีทั้งค่าเช่า ค่าประกัน ค่าน้ำมัน ค่าที่จอด
- พาสเหมา คุ้มสุด และคุมงบได้ แนะนำ เช่น สวิสพาส, โรมพาส หรือ 1 day pass, 7 day pass สำหรับ นทท ในเมืองต่างๆ
- เดินเท้า ถ้าเมืองนั้น แหล่งท่องเที่ยวไม่ไกลกัน เดินเถอะคับ คุณจะได้เห็นความสวยงามของ 2 ข้างทางได้ดีที่สุด แถมไม่เสียเงินด้วย
- เดินทางต่างเมืองด้วยบัส รถไฟ ให้ซื้อล่วงหน้า ราคาถูกมาก (ยกเว้น บัสหรือรถไฟท้องถิ่น ไปซื้อเอาหน้างานเลยก็ได้ เพราะราคาไม่ต่างกัน)
- เที่ยวต่างเมืองที่ต่อบัส/ รถไฟยาก ให้ซื้อ local tour ไปจอยกับคนอื่นๆ ราคาจะไม่แพง และเที่ยวครบตามโปรแกรมที่เค้าขาย มีทั้งแบบเดย์ทัวร์ หรือ 2-3 วันแบบไปนอนค้างใน รร ที่เค้าจัดให้
จุดที่ 3: ค่ากิน
- ซื้อของกินในซุปเปอร์มาทำกินเอง ถ้าไปคนเดียว และกินง่ายๆ ก็ซื้อผัก ไข่ไก่มาต้มกินกับมาม่าก็ประหยัดไปได้เยอะมาก แต่เราต้องแบกหม้อหุงข้าว (ใบเล็กๆไปนะครับ)
- ไม่กินในร้าน บางแห่งคิดราคาเพิ่มกว่า take away บางประเทศคิด service charge เพิ่ม หรือใครจะลองกิน street food night market ก็ได้ อิ่มและไม่แพง
- ติดของกินจากไทยไปบ้าง เช่น กล้วยตาก ถั่วโก๋แก่ หมึกเบนโตะ กินระหว่างเที่ยว ไม่ต้องไปเสียเงินค่าของกินรองท้องเวลาเดินเที่ยว (ตรวจสอบประเภทอาหารที่สามารถนำเข้าได้ในแต่ละประเทศให้ดีด้วย)
จุดที่ 4: ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เช่น สวนดอกไม้, มิวเซียม, สวนสนุก, กระเช้า
ถ้ามีบัตร นศ หรือผู้สูงอายุ ยื่นตอนซื้อตั๋วเลย ได้ลดราคาแน่ และการจองล่วงหน้า หรือซื้อผ่านเอเจ้นอาจถูกกว่า แต่เลือกเฉพาะที่เราอยากเข้าเท่านั้น
!!!!..อย่าเห็นแก่คำว่า "ใครๆเค้าก็เข้ากัน" ถ้าเราไม่อยากเข้า อย่าเข้า มันเสียดายเงิน ถ้ามีพาสเหมา ก็ให้ลองคำนวณดูว่า สถานที่ที่อยากเข้าครอบคลุมในพาสมั๊ย? เวลาเที่ยวทันรึป่าว? เพราะพาสเหมาอาจไม่คุ้มเสมอไป
จุดที่ 5: ตั๋วเครื่องบิน
ชั้นอีโค่ และซื้อตอนโปรเท่านั้น..!!
สำหรับแอด ไม่กำหนดว่าต้องซื้อล่วงหน้ากี่เดือน แต่ต้องซื้อตอนโปรเท่านั้น และจะถูกลงไปอีกถ้าซื้อแบบเปลี่ยนวันเดินทางไม่ได้ คืนเงินไม่ได้ เปลี่ยนชื่อไม่ได้ อันนี้รวมถึงบินภายในประเทศของเค้าด้วย
ผมเคยเขียน content เกี่ยวกับเทคนิคการเลือกซื้อตั๋วเครื่องบิน ตามลิงค์นี้ไปเลยครับ
จุดที่ 6: เดินทางข้ามคืน
ด้วยการนอนบนบัส/ รถไฟข้ามคืนก็ไม่เลว เป็นการเดินทางไปพร้อมๆกับนอนไปด้วยกัน เท่ากับว่าเราประหยัดค่านอนไปเลย 1 คืน
หากร่างกายไม่ไหว แนะนำให้เดินทางด้วยรถไฟนอน เช่นที่อิตาลี นั่งจากเกาะซิซิลีไปโรม 12 ชม ก็ซื้อแบบนอนไปเลย นอนแบบนอนยาวห้องส่วนตัว ฟิน..!!
จุดที่ 7: ไม่ซื้อของฝาก
ถ้าจำเป็น ให้ซื้อแบบห่อเดียวมีหลายชิ้น
จุดที่ 8: แลกเงินสดไปพอประมาณ
เพราะถ้าเหลือ แล้วแลกคืนจะไม่คุ้ม เราจะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แอดแนะนำให้ใช้ travel card แทน นอกจากไม่เสียเรทความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว เศษสตางค์ใดๆ ยังอยู่ครบ สามารถแลกคืนในวันที่เรทดีๆได้จากแอพ
จุดที่ 9: ทยอยชำระค่าใช้จ่าย
ถ้าเราวางแผนล่วงหน้า เราจะทยอยจ่ายได้ เช่น อีก 3 เดือนจะไปเที่ยว ให้วางแผนดังนี้
- เดือนที่ 1 ชำระค่าตั๋วเครื่องบิน
- เดือนที่ 2 ชำระค่าที่พัก (บางส่วน) บางส่วนไปชำระวันเช็คอิน และบางส่วนให้ตัดบัตรเครดิต เราค่อยกลับไปชำระหลังจบทริป
- เดือนที่ 3 ชำระค่าเดินทางล่วงหน้า เช่น ตั๋วรถไฟ สวนสนุก หรือ local tour ต่างๆ
- เดือนที่เดินทางจริง เป็น pocket money ของกิน ของชอป
วิธีนี้เราจะไม่จุก เพราะทยอยจ่ายทีละนิดหน่อย เผลอๆ จบทริปกลับมา เราไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเลยด้วยซ้ำ พร้อมทำแพลนทริปถัดไปได้เลย
จุดที่ 10: ใช้เท่าที่งบมี
อันนี้สำคัญสุด..!! อย่าเที่ยวประหนึ่งชีวิตนี้จะไม่ได้เที่ยวอีกแล้ว มีเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น กลับไปทำงาน เก็บเงินใหม่ แล้วค่อยมาอีก เที่ยวแล้ว "เงินในกระเป๋าต้องไม่ติดลบ" ต้องไม่มีปัญหาด้านการเงินหลังจบทริป..
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่