ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ฉบับรวบรัด
เนื้อหาในบทความนี้ จะนำเสนอในรูปแบบของไทม์ไลน์เวลา ดังนั้นในบางเหตุการณ์ที่มีความละเอียดซับซ้อน อาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในไทม์ไลน์นี้
เนื้อหาจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาคหลักคือ
- ภาค I ประวัติศาสตร์อิสราเอลแบบคร่าว ๆ
- ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล
- ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน
ภาค I ประวัติศาสตร์อิสราเอลแบบคร่าว ๆ
อับราฮัม (Abraham) นำชาวฮีบรู (Hebrew) เดินทางอพยพจากดินแดนเมโสโปเตเมียเข้ามาในดินแดนคานาอัน (Canaan) หรือดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promise Land) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้กับชาวฮีบรู
ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ชาวฮีบรูตัดสินละทิ้งดินแดนคานาอันและอพยพไปยังอียิปต์ แต่พวกเขาก็ได้กลายเป็นทาสที่อียิปต์ยาวนานหลายร้อยปี
โมเสส (Moses) ได้ช่วยเหลือและอพยพชาวฮีบรูออกจากอียิปต์ เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างเอ็กโซดัส (Exodus) ที่โมเสสได้แยกทะเลแดงเพื่อให้ชาวฮีบรูสามารถหลบหนีจากทหารอียิปต์ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) เพื่อให้โมเสสใช้สั่งสอนแก่ชาวฮีบรู
เมื่อชาวฮีบรูอพยพมาถึงดินแดนคานาอัน ปรากฏว่าในขณะนั้นดินแดนคานาอันได้ตกเป็นของชาวฟิลิสไตน์ (Philistine) ซึ่งชื่อฟิลิสไตน์ก็เป็นที่มาของคำว่า "ปาเลสไตน์" (Palestine) ด้วยเหตุนี้ชาวฮีบรูจึงต้องทำสงครามกับชาวฟิลิสไตน์เพื่อแย่งชิงดินแดนคานาอัน
ซาอูล (Saul) ผู้นำของชาวฮีบรูได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาวฮีบรู
ในช่วงเวลาเดียวกันเด็กหนุ่มนามว่า เดวิด (David) ก็ได้สร้างวีรกรรมในการสังหารแม่ทัพโกไลแอธ (Goliath) ของฟิลิสไตน์ จนเป็นที่เลื่องลือของชาวฮีบรู
ซาอูลสิ้นพระชนม์ ชาวฮีบรูได้เลือกเดวิดเป็นกษัตริย์ สถาปนาอาณาจักรอิสราเอล (Kingdom of Israel) โดยมีกรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) เป็นเมืองหลวง ชาวฮีบรูเอาชนะชาวฟิลิสไตน์ได้อย่างเด็ดขาด
- 970 ถึง 931 ปีก่อนคริสตกาล
อาณาจักรอิสราเอลรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) มีการก่อสร้างมหาวิหารโซโลมอน (Solomon's Temple) อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวฮีบรู
หลังโซโลมอนสิ้นพระชนม์เกิดความแตกแยกภายในหมู่ชาวฮีบรู จนทำให้อาณาจักรอิสราเอลแตกออกเป็น 2 ส่วน คืออาณาจักรอิสราเอลเดิมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงซามาเลีย (Samalia) กับอาณาจักรยูดาห์หรือยิว (Kingdom of Judah) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครเยรูซาเล็ม
อาณาจักรอิสราเอลล่มสลายจากการบุกโจมตีของจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่
อาณาจักรยูดาห์ล่มสลายจากการบุกโจมตีของจักรวรรดิบาบิโลนใหม่ มหาวิหารโซโลมอนถูกทำลาย ชาวฮีบรูถูกกวาดต้อนไปที่กรุงบาบิโลน
จักรวรรดิเปอร์เซียขยายอำนาจและยึดครองบาบิโลน พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) กษัตริย์เปอร์เซียทรงปลดปล่อยชาวฮีบรูในบาบิโลนให้เดินทางกลับมายังดินแดนบ้านเกิด
ชาวฮีบรูได้ฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็ม และก่อสร้างมหาวิหารเฮรอด (Herod's Temple) เพื่อทดแทนมหาวิหารโซโลมอนที่ถูกทำลายไป
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งจักรวรรดิมาชิโดเนียบุกยึดครองอิสราเอล
โรมันได้ผนวกอิสราเอลให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมันในชื่อแคว้นยูเดีย (Judea) ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง ที่ชาวฮีบรูได้ถูกเรียกโดยโรมันว่า ชาวยิว
ช่วงชีวิตของพระเยซู (Jesus) ศาสดาของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ในแคว้นยูเดีย
ชาวยิวในแคว้นยูเดียก่อกบฏเพื่อต่อต้านอำนาจของโรมันแต่ไม่ประสบความสำเร็จ กรุงเยรูซาเล็มและมหาวิหารเฮรอดถูกเผาทำลาย ชาวยิวถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก
ชาวยิวพยายามก่อกบฏต่อต้านโรมันอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ในช่วงเวลานี้เองที่ชาวยิวได้เริ่มอพยพออกจากแคว้นยูเดีย และเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรป
ดินแดนอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ มีการปราบปรามชาวยิวครั้งใหญ่ ทำให้ชาวยิวอพยพออกจากอิสราเอลมากยิ่งขึ้น
ดินแดนอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอิสลาม ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามเริ่มอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนอิสราเอล ซึ่งพวกเขาจะกลายมาเป็นชาวปาเลสไตน์ในเวลาต่อมา ดินแดนอิสราเอลเริ่มถูกเรียกชื่อเป็นดินแดนปาเลสไตน์
นครเยรูซาเล็มและดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามครูเสด
ดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน
ชาวยิวที่กระจัดกระจายทั่วทั้งยุโรป (รวมไปถึงทั่วโลก) ก็ได้ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก พวกเขาอยู่อย่างเร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง และเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป (โดยเฉพาะกับชาวคริสต์)
หลังจากที่พวกเขาต้องร่อนเร่กว่าพันปี นั่นจึงทำให้มีชาวยิวบางกลุ่มต้องการที่จะเดินทางกลับมายังดินแดนอิสราเอล (หรือดินแดนปาเลสไตน์) อันเป็นดินแดนที่พวกเขาจากมา
ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล
ชาวออสเตรียเชื้อสายยิวนามว่า ธีโอดอร์ เฮิร์ตเซิล (Theodor Herzl) ได้ก่อตั้งขบวนการไซออนิสต์ (Zionist) องค์กรที่มีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งรัฐของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์
ปฏิญญาบัลฟอร์ (Balfour Declaration) อังกฤษสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ในการก่อตั้งรัฐชาวยิวในปาเลสไตน์
ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันในภูมิภาคตะวันออกกลางตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษและฝรั่งเศส โดยดินแดนปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในสถานะรัฐอารักขา
ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้น
ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น ทางการอังกฤษพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย และออกนโยบายจำกัดจำนวนของชาวยิวที่จะอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์
- ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945)
ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปถูกนาซีเยอรมันจับเข้าค่ายกักกันและถูกสังหาร เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ที่ทำให้มีชาวยิวล้มตายมากกว่า 6 ล้านคน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ชาวยิวนับล้านคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์ ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นอีกครั้ง
ทางการอังกฤษไม่สามารถยุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อทางสหประชาชาติเพื่อให้เป็นผู้แก้ไขปัญหา
สุดท้ายสหประชาชาติก็มีมติให้แบ่งดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วนคือ ดินแดนของชาวยิวกับดินแดนของชาวปาเลสไตน์ โดยกรุงเยรูซาเล็มจะอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ
วันที่ 14 พฤษภาคม ดินแดนของชาวยิวในปาเลสไตน์ประกาศก่อตั้งรัฐอิสราเอล (State of Israel) โดยมี เดวิด เบนกูเรียน (David Ben Gurian) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล
การก่อตั้งประเทศอิสราเอลได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ ดังนั้นกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งประกอบไปด้วย อียิปต์, ซีเรีย, จอร์แดน, เลบานอน และอิรัก จึงได้ก่อตั้งสันนิบาตอาหรับ (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล
สันนิบาตอาหรับส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอล เกิดเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1 ปรากฏว่าอิสราเอล (ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ) สามารถเอาชนะกองทัพของสันนิบาตอาหรับได้
แม้ว่าสันนิบาตอาหรับจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่สันนิบาตอาหรับก็สามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของอิสราเอลได้
โดยอียิปต์เข้ายึดครองดินแดนที่เรียกว่า 'ฉนวนกาซ่า' (Gaza Strip) ส่วนจอร์แดนก็เข้ายึดครองดินแดน 'เวสต์แบงก์' (West Bank)
นอกจากนี้กรุงเยรูซาเล็มยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เยรูซาเล็มตะวันตกเป็นของอิสราเอล และเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นของจอร์แดน
ผลของสงครามในครั้งนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพออกจากดินแดนปาเลสไตน์ที่บัดนี้กลายเป็นของอิสราเอล ไปยังดินแดนประเทศอาหรับรอบ ๆ ข้างแทน
เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 2 อังกฤษและฝรั่งเศสสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับอียิปต์ แต่ชัยชนะในสงครามตกเป็นของอียิปต์
ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต (Yasser al-Arafat) ผู้นำของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้งองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือขบวนการ PLO เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว
ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน
PLO ก่อเหตุวินาศกรรมและก่อการร้ายภายในอิสราเอล
สงครามหกวัน (Six Day War) หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 3 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงคราม และยึดครองฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้ นอกจากนี้อิสราเอลยังยึดครองแหลมไซนาย (Sinai) ซึ่งเป็นดินแดนของอียิปต์ได้อีกด้วย
ที่สำคัญอิสราเอลยังยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออกที่เป็นของจอร์แดนได้ เยรูซาเล็มทั้งหมดจึงตกเป็นของอิสราเอล ก่อนที่ในปี 1980 อิสราเอลจะประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศ
สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงครามและยึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์
อิสราเอลและอียิปต์ทำข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิด (Camp David Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง
อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปในเลบานอนเพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ในเลบานอน ชาวเลบานอนบางส่วนจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล
กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขับไล่กองทัพอิสราเอลให้ออกไปจากเลบานอนได้สำเร็จ นับแต่นั้นฮิซบอลเลาะห์จะกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในเลบานอน
วันที่ 15 พฤศจิกายน ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต ประกาศก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine) อาราฟัตประกาศยุติการก่อร้ายของ PLO และจะใช้สันติวิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอล
PLO ยังก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า กลุ่มฟะตะห์ (Fatah) ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี ทำให้มีชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจและก่อตั้งกลุ่มฮามาส (Hamas) ที่เน้นใช้ความรุนแรงในการต่อสู้
อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำสนธิสัญญาสันติภาพออสโล (Oslo Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ โดยฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จะตกเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ โดยมีเมืองรามัลเลาะห์ (Ramallah) ในเวสต์แบงก์เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์
แม้ว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพมาแล้วหลายรอบด้วยกัน แต่ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เท่านั้น เพราะภายในปาเลสไตน์เองก็ได้เกิดความแตกแยกกันเองเช่นกัน
โดยภายในปาเลสไตน์ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยบริเวณฉนวนกาซ่าอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มฮามาส ส่วนบริเวณเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มฟะตะห์ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่กินเวลายาวนานกว่า 70 ปี (จริง ๆ อาจจะเรียกว่าพันปีก็ได้) ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ สงคราม ความสูญเสีย และความเกลียดชังก็ยังคงมีอยู่ในดินแดนแห่งนี้
ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ความขัดแย้งก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้ง เมื่อกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซ่าทำการโจมตีอิสราเอล เช่นเดียวกับทางการอิสราเอลที่ทำการตอบโต้กลุ่มฮามาสเช่นกัน นับเป็นเหตุความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี
หวังเพียงว่า สันติภาพจะนำพาความสงบสุขกลับคืนสู่ดินแดนแห่งนี้ในสักวันหนึ่ง ...
References
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่