ย้อนชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          สาเหตุของ “สงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI)”
สงครามโลกครั้งที่ 1

          “สงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI)” เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ได้เกิดชาติเกิดใหม่หลายชาติ รวมทั้งลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิฟาสซิสต์ในยุโรป
          แต่สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1
          อะไรคือเหตุผลที่ทำให้สงครามนี้เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล ลองมาหาคำตอบกันครับ
          ในปีค.ศ.1878 (พ.ศ.2421) “จักรวรรดิออสเตรียฮังการี (Austria-Hungary)” ได้เข้ายึดครอง “บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina)” ก่อนที่จะผนวกบอสเนียได้อย่างสมบูรณ์ในปีค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) สร้างความโกรธแค้นแก่ประชาชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนนั้น
          กลุ่มชาตินิยมเซอร์เบียนั้นก็โกรธแค้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อ “อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria)” องค์รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรียฮังการี ได้มีแผนที่จะเสด็จเยือนซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) กลุ่มคนหนุ่มผู้รักชาติชาวบอสเนียจึงวางแผนปลงพระชนม์
          เวลาประมาณ 10:00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการได้โยนระเบิดใส่ขบวนรถยนต์พระที่นั่ง ทำให้หนึ่งในขบวนเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
          อีกราวหนึ่งชั่วโมงต่อมา “กัฟรีโล ปรินซิป (Gavrilo Princip)” หนึ่งในผู้ก่อการ ได้สามารถบุกเข้าไปใกล้กับรถยนต์พระที่นั่ง และยิงปืนสังหารท่านอาร์ชดยุกและพระชายา ทำให้ทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์
          การปลงพระชนม์นี้จะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงเป็นลูกโซ่ในเวลาต่อมา
          เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมเหตุการณ์ความรุนแรงในแถบบอลข่าน ถึงลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกได้ ลองมาดูกันครับ
          ก่อนอื่นต้องย้อนไปตั้งแต่ปีค.ศ.1882 (พ.ศ.2425) เยอรมนี จักรวรรดิออสเตรียฮังการี และอิตาลี ได้จับมือเป็นพันธมิตรและก่อตั้ง “ไตรพันธมิตร (Triple Alliance)”
          ตามข้อตกลงของกลุ่มไตรพันธมิตร หากหนึ่งในสมาชิกไตรพันธมิตรถูกโจมตี อีกสองชาติก็ต้องเตรียมกองทัพ พร้อมให้ความช่วยเหลือ
          ทางด้านฝรั่งเศสและรัสเซียก็ทำอย่างเดียวกัน และยังมีการพ่วงสหราชอาณาจักรเข้ามาด้วย ได้ทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรในปีค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) และก่อตั้ง “ไตรภาคี (Triple Entente)” ในปีค.ศ.1907 (พ.ศ.2450)
          ภายหลังการปลงพระชนม์ท่านอาร์ชดยุกและพระชายา จักรวรรดิออสเตรียฮังการีก็ประกาศสงครามต่อเซอร์เบียทันที ทำให้รัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของเซอร์เบีย ประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออสเตรียฮังการี
          ทางด้านเยอรมนี ด้วยความที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของไตรพันธมิตร ก็จำต้องเข้าร่วมในสงครามสู้รบกับรัสเซีย และก็ทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
          จากข้อมูลเหล่านี้ อาจจะสรุปได้ว่า ด้วยความที่ชาติต่างๆ เป็นพันธมิตรกัน ทำให้แต่ละชาติถูกดึงเข้ามาอยู่ในความขัดแย้งนี้อย่างช่วยไม่ได้
          อีกสาเหตุก็คือ “ลัทธิทหาร (Militarism)”
          ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ลัทธิทหารกำลังเบ่งบาน โดยในช่วงยุคค.ศ.1870 (พ.ศ.2413-2422) อังกฤษคือชาติที่มีกองทัพเรือที่ใหญ่และเกรียงไกรที่สุดในยุโรป
          “จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II, German Emperor)” พระประมุขแห่งเยอรมนี ก็ทอดพระเนตรความยิ่งใหญ่ของกองทัพเรืออังกฤษอย่างไม่ค่อยจะไว้วางพระทัยนัก
          พระองค์ทรงเกรงว่าความยิ่งใหญ่ของกองทัพเรืออังกฤษจะเป็นภัยต่อเยอรมนี พระองค์จึงรับสั่งให้สร้างและปรับปรุงกองทัพเรือเยอรมันขนานใหญ่
          ทางด้านอังกฤษ เมื่อเห็นเยอรมนีปรับปรุงกองทัพเรือเป็นการใหญ่ ก็ไม่ยอมแพ้ มีการทุ่มงบประมาณแก่กองทัพเรืออย่างมหาศาล มีการสร้าง “เรือเดรดนอต (Dreadnought)” ซึ่งเป็นเรือรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปในเวลานั้น
          นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเยอรมนีจะปรับปรุงกองทัพเรืออย่างไร ก็ไม่สามารถเทียบกับกองทัพเรืออังกฤษได้
          ความขัดแย้งทางการทหารนี้ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียด มีการทุ่มงบประมาณในการทหารและอาวุธ ทำให้การทำสงครามในอนาคตจะรุนแรงยิ่งกว่าสงครามที่ผ่านมา
          ปัจจัยต่อมาคือ “ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism)”
          ในการประชุมที่เบอร์ลิน ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) แอฟริกาได้ถูกแบ่งให้แก่มหาอำนาจต่างๆ ในยุโรป ซึ่งชาติหลักๆ ก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม
          แต่ถึงแม้จะดูเหมือนว่าแบ่งกันได้ลงตัวแล้ว แต่ก็ยังมีความขัดแย้งตามมา
          เยอรมนีนั้นไม่ได้มีฐานที่มั่นที่มั่นคงนักในแอฟริกา ดังนั้น จึงมุ่งไปที่การทำให้อำนาจของฝรั่งเศสในแอฟริกาเสื่อมลง
          31 มีนาคม ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ได้เสด็จเยือนโมร็อคโค ซึ่งในเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส และพระองค์ก็ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงสนับสนุนให้โมร็อคโคได้รับอิสรภาพ
          หลังจากนั้นไม่นาน ท่านสุลต่านแห่งโมร็อคโคก็ได้เริ่มขัดขืนฝรั่งเศส ทรงปฏิเสธนโยบายของฝรั่งเศสหลายข้อ
          นี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และถึงแม้เยอรมนีจะตกลงที่จะหยุดการก้าวก่ายในดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศส หากแต่ก็ทำให้ชาติต่างๆ เริ่มไม่ไว้วางใจกันและกัน ต่างเฝ้ามองกันอย่างหวาดระแวง
          เหตุผลสุดท้ายก็คือ “ลัทธิชาตินิยม (Nationalism)”
          ในปีค.ศ.1871 (พ.ศ.2414) เยอรมนีและอิตาลีได้ควบรวมกันเป็นดินแดนเดียว ทำให้กระแสลัทธิชาตินิยมแพร่หลายไปทั่วยุโรป
          ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ตามมา เกิดการกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันอย่างแพร่หลาย
          นี่ก็เป็นสาเหตุบางส่วนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นสงครามที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล

References:

ต้นฉบับ:

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2566 เวลา 13:23:32 16,311 อ่าน
TOP