สเกินเดร์เบอู ชายผู้พลิกประวัติศาสตร์แอลเบเนีย จากจักรวรรดิออตโตมัน

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          “สเกินเดร์เบอู (Skanderbeg)” วีรบุรุษแห่งแอลเบเนีย
สเกินเดร์เบอู วีรบุรุษผู้กอบกู้แอลเบเนีย

          หลายคนน่าจะไม่ค่อยได้ยินชื่อของประเทศแอลเบเนียเท่าไรนัก และน่าจะมีน้อยคนที่รู้จักบุรุษนามว่า “สเกินเดร์เบอู (Skanderbeg)”

          แอลเบเนีย เป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในแถบคาบสมุทรบอลข่าน โดยในสมัยศตวรรษที่ 15 แอลเบเนียคือหนึ่งในฐานที่มั่นของชาวคริสต์ในยุโรป ใช้เป็นที่มั่นเพื่อสู้รบกับกองทัพอ็อตโตมัน

          สเกินเดร์เบอู คือขุนศึกผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะต่างๆ และในปัจจุบัน สเกินเดร์เบอูก็ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษประจำชาติแอลเบเนีย และธงประจำตัวของสเกินเดร์เบอู ก็กลายเป็นธงชาติแอลเบเนีย

          เรื่องราวของสเกินเดร์เบอูเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ

          สเดินเดร์เบอู มีนามเดิมว่า “เจร์จ กัสตรีออตี (Gjergj Kastrioti)” โดยบิดาของเขาเป็นลอร์ดในดินแดนเล็กๆ ในแอลเบเนีย และด้วยความที่บิดาของเขาถือว่าเป็นเจ้าเมืองภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอ็อตโตมัน บิดาจึงถูกบังคับให้ส่งตัวสเกินเดร์เบอูและพี่น้องไปเป็นตัวประกันยังราชสำนักอ็อตโตมันที่เมืองเอเดอเน

          การที่ราชสำนักอ็อตโตมันให้เจ้าเมืองต่างๆ ส่งบุตรหลานมาอาศัยยังราชสำนักอ็อตโตมัน ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมืองต่างๆ จะไม่กล้าก่อกบฏ ไม่กล้าแข็งเมือง

          บุตรหลานของเจ้าเมืองต่างๆ จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี โดยสเกินเดร์เบอูก็ได้รับการฝึกฝนวิชาทหารตั้งแต่เยาว์วัย

          สเกินเดร์เบอูนั้นฉายแววความเป็นนักการทหารที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่วัยเยาว์ และก็สามารถไต่เต้า มียศสูงขึ้นเรื่อยๆ ในกองทัพอ็อตโตมัน แสดงความสามารถด้านการเป็นแม่ทัพที่ชำนาญศึกให้ผู้คนได้พบเห็น โดยจากบันทึกประวัติศาสตร์ กล่าวว่าสเกินเดร์เบอูนั้นมีรูปร่างสูง และมีเสียงทุ้มต่ำ ทรงอำนาจ

          สเกินเดร์เบอูร่วมสู้รบในกองทัพอ็อตโตมันเป็นเวลากว่า 20 ปี สร้างชื่อเสียงให้ตนเองมากมาย

          ค.ศ.1439 (พ.ศ.1982) บิดาของสเกินเดร์เบอูเสียชีวิต และสเกินเดร์เบอูก็คาดหวังว่าตนจะได้รับสืบทอดอำนาจในดินแดนของบิดา

          แต่กลับกลายเป็นว่า ดินแดนที่คาดหวังว่าจะได้ กลับตกเป็นของจักรวรรดิอ็อตโตมัน สร้างความโกรธแค้นแก่สเกินเดร์เบอูเป็นอันมาก

          สเกินเดร์เบอูไม่อยู่เฉย และตัดสินใจจะสู้เพื่อสิทธิที่ตนควรจะได้

          ค.ศ.1443 (พ.ศ.1986) สเกินเดร์เบอูได้หนีออกมาจากกองทัพอ็อตโตมัน โดยหนีมาพร้อมกับทหารอีก 300 นาย และก่อนจะหนีออกมา สเกินเดร์เบอูได้บังคับให้อาลักษณ์ของสุลต่านเขียนจดหมาย มอบอำนาจครอบครองเมืองครูเยอ ซึ่งเป็นเมืองในแอลเบเนีย แก่ตน

          นั่นทำให้สเกินเดร์เบอูได้เมืองครูเยอไปโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

          จากนั้น สเกินเดร์เบอูก็ได้ทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิอ็อตโตมันมาโดยตลอด

          เป็นเวลา 25 ปีหลังจากนั้น สเกินเดร์เบอูสามารถเอาชนะกองทัพอ็อตโตมันและเหล่าศัตรูได้เรื่อยๆ โดยกองทัพของสเกินเดร์เบอูมักจะมีกำลังพลระหว่าง 10,000-15,000 นาย และมักจะสู้รบกับกองทัพศัตรูที่มีกำลังพลมากกว่ามาก

          ว่ากันว่าชื่อเสียงของสเกินเดร์เบอูนั้นเป็นที่น่าเกรงขามมาก มากซะจนเพียงแค่ปรากฏตัวในสนามรบ ขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายศัตรูก็ลดฮวบ

          สเกินเดร์เบอูมักจะใช้ยุทธวิธีการรบแบบสงครามกองโจร ซุ่มโจมตี ใช้ภูมิประเทศของป่าเขาให้เป็นประโยชน์ สร้างความเสียหายแก่กองทัพศัตรูได้มาก

          นอกจากนั้น สเกินเดร์เบอูยังเป็นนักการทูตที่เก่งกาจ เขารู้ตัวดีว่าเพียงกำลังที่ตนมีนั้น ย่อมไม่สามารถต้านทานกองทัพอ็อตโตมันได้แน่ ดังนั้นต้องหาพันธมิตร

          สเกินเดร์เบอูสามารถเจรจา และได้กำลังสนับสนุนจากองค์พระสันตะปาปา สาธารณรัฐเวนิส และราชอาณาจักรนาโปลี ซึ่งเป็นใหญ่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิตาลี
          เหล่าพันธมิตร ต่างช่วยเหลือด้วยการส่งทั้งกำลังทหารและเสบียงมาช่วยเหลือสเกินเดร์เบอู
  • ค.ศ.1444 (พ.ศ.1987) กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวน 18,000 นาย สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 25,000 นายได้
  • ค.ศ.1445 (พ.ศ.1988) กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวน 3,500 นาย สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 15,000 นาย
  • ค.ศ.1446 (พ.ศ.1989) กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวน 5,000 นาย สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 15,000 นาย และเปลี่ยนค่ายอ็อตโตมันให้กลายเป็นลานประหาร
  • ค.ศ.1448 (1991) สเกินเดร์เบอูต้องรบกับเวนิสและอ็อตโตมัน ซึ่งต่างก็โจมตีมาจากหลายทิศทาง โดยเริ่มแรก สเกินเดร์เบอูต้องจัดการกองทัพเวนิส โดยใช้กำลังทหารเพียง 9,000 นาย บดขยี้กองทัพเวนิสกว่า 15,000 นาย ทำให้กองทัพเวนิสต้องยอมเจรจาสงบศึก ก่อนที่กองทัพของสเกินเดร์เบอูจะใช้กำลังทหารอีก 6,000 นายทำลายกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 15,000 นาย

          หลังจากได้รับชัยชนะ สเกินเดร์เบอูก็นำทัพ มุ่งตรงไปยังโคโซโว โปลเย หากแต่ว่าสายไปแล้ว กองทัพครูเสดของฮังการีได้ถูกกองทัพศัตรูบดขยี้ ซึ่งกองทัพของสเกินเดร์เบอูอยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 32 กิโลเมตรเท่านั้น

          ความพ่ายแพ้ของชาวคริสต์ในครั้งนี้ ทำให้ขวัญกำลังใจของกองทัพยุโรปตกต่ำ และทำให้กองทัพอ็อตโตมันสามารถปิดล้อมเมืองคอนสแตนติโนเปิลได้ในปีค.ศ.1453 (พ.ศ.1996) และทำให้คอนสแตนติโนเปิลแตกในที่สุด

          ค.ศ.1450 (พ.ศ.1993) “สุลต่านมูรัดที่ 2 (Murad II)” สุลต่านแห่งอ็อตโตมัน ได้ทำการปิดล้อมเมืองครูเยอของสเกินเดร์เบอู โดยสเกินเดร์เบอูได้ทิ้งทหารจำนวน 4,000 นายไว้ป้องกันเมือง ส่วนตัวเขานำกำลังทหาร 8,000 นายไปโจมตีค่ายศัตรู

          ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนปีนั้น ฝ่ายตั้งรับก็สามารถรับมือการโจมตีจากศัตรูได้ตลอด ส่วนสเกินเดร์เบอูก็ทำการโจมตีค่ายศัตรูได้ตลอด ทำให้กองทัพศัตรูต้องเสียกำลังพลเป็นอันมาก

          ค่ำคืนหนึ่ง สเกินเดร์เบอูได้ปล่อยฝูงแพะเข้ามาก่อกวนในค่ายตุรกี โดยได้ติดตั้งเทียนไว้บนเขาแพะ ทำให้ทหารตุรกีเข้าใจว่าศัตรูกำลังจะบุกโจมตี เกิดความวุ่นวายไปทั่วค่าย

          ท่ามกลางความวุ่นวาย สเกินเดร์เบอูก็นำกำลังทหารเข้าโจมตีและฆ่าฟันกองทัพศัตรู

          พฤศจิกายน ค.ศ.1450 (พ.ศ.1993) หลังจากเสียกำลังทหารไปกว่า 40,000 นาย กองทัพอ็อตโตมันก็ต้องถอยทัพ

          แต่อย่างไรก็ตาม การโจมตีอย่างหนักของกองทัพอ็อตโตมันที่ผ่านมา ผนวกกับการเพาะปลูกที่ล้มเหลว ทำให้เกิดภาวะอดอยาก และทำให้อาณาจักรของสเกินเดร์เบอูแทบจะล่มสลาย

          ในท่ามกลางวิกฤตนี้เอง “พระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 แห่งอารากอน (Alfonso V of Aragon)” กษัตริย์แห่งนาโปลี ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่สเกินเดร์เบอู โดยพระองค์ได้พระราชทานทั้งกำลังทหาร เงิน และเสบียงแก่กองทัพสเกินเดร์เบอู

          บุญคุณครั้งนี้ คือสิ่งที่สเกินเดร์เบอูจะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต

          ค.ศ.1453 (พ.ศ.1996) “สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 (Mehmed II)” ได้ขึ้นครองบัลลังก์แทนสุลต่านมูรัดที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดา และทรงตัดสินพระทัยจะกำจัดสเกินเดร์เบอูให้สิ้นซาก

          พระองค์ทรงจัดทัพอ็อตโตมันจำนวน 27,000 นาย เดินทัพรุกรานแอลเบเนีย หากแต่กองทัพของสเกินเดร์เบอูจำนวนเพียง 14,000 นายก็สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันได้อีกครั้ง

          ในปีเดียวกันนี้ สเกินเดร์เบอูสามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันอีกด้าน ซึ่งมีกำลังพล 14,000 นาย และยังสังหารผู้นำฝ่ายอ็อตโตมันได้อีกด้วย

          ชัยชนะครั้งสำคัญมาถึงในปีค.ศ.1457 (พ.ศ.2000) สเกินเดร์เบอู พร้อมด้วยกำลังทหาร 8,000 นาย ได้พิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวนกว่า 80,000 นายจนย่อยยับ และทำให้สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ต้องเจรจาพักรบชั่วคราวเป็นเวลาสามปี

          ในปีค.ศ.1461 (พ.ศ.2004) “พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งนาโปลี (Ferdinand I of Naples)” พระราชโอรสในพระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 แห่งอารากอน ได้ทรงทำศึกเพื่อชิงบัลลังก์นาโปลี

          สเกินเดร์เบอูยังจำได้ถึงบุญคุณที่พระเจ้าอัลฟองโซที่ 5 ทรงมีต่อตน จึงได้ตัดสินใจ ถวายความช่วยเหลือและสนับสนุนพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 อย่างเต็มที่ โดยกองทัพของสเกินเดร์เบอูซึ่งมีกำลังทหารจำนวน 3,000 นาย ได้ช่วยพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 1 พิชิตศัตรูได้ในที่สุด

          ค.ศ.1463 (พ.ศ.2006) สเกินเดร์เบอูได้พิชิตกองทัพอ็อตโตมันที่ยกทัพมารุกรานถึงสามทัพ และทำให้สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ต้องทรงยอมเจรจาพักรบเป็นเวลากว่า 10 ปี

          แต่อย่างไรก็ตาม ทัพของสเกินเดร์เบอูก็ได้โจมตีกองทัพอ็อตโตมันในหลายพื้นที่

          ในปีค.ศ.1465 (พ.ศ.2008) กองทัพของสเกินเดร์เบอูก็สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมันจำนวน 18,000 นาย หากแต่กองทัพอ็อตโตมันก็สามารถจับตัวทหารฝ่ายสเกินเดร์เบอูได้จำนวนมาก

          หลังจากจับเชลยจากกองทัพสเกินเดร์เบอูได้ สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ก็รับสั่งให้ถลกหนังเชลยเหล่านี้ทั้งเป็นเป็นเวลากว่า 15 วัน และให้เอาหนังของทหารเชลยไปเป็นอาหารสุนัข

          ข่าวการถูกทรมานจนตายของทหารตนทำให้สเกินเดร์เบอูพิโรธอย่างหนัก และตั้งใจจะล้างแค้นให้ได้

          ในปีเดียวกันนั้น กองทัพอ็อตโตมันได้เข้าโจมตีอีกครั้ง หากแต่กองทัพสเกินเดร์เบอูก็ยังคงเอาชนะได้อีกครั้ง และครั้งนี้ สเกินเดร์เบอูสั่งให้ประหารเชลยทั้งหมดเพื่อเป็นการแก้แค้นให้ทหารของตนที่ถูกสังหาร

          ค.ศ.1466 (พ.ศ.2009) สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ทรงยกทัพจำนวน 30,000 นายมาล้อมเมืองโครเยอด้วยพระองค์เอง หากแต่ก็ล้มเหลว ก่อนที่จะนำทัพกลับมาโจมตีอีกครั้งในปีต่อมา แต่ก็ยังคงล้มเหลวอีก

          ค.ศ.1468 (พ.ศ.2011) สเกินเดร์เบอูล้มป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกวางยาพิษ ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1468 (พ.ศ.2011) ด้วยวัย 62 ปี

          ที่ยุโรปตะวันตก สเกินเดร์เบอูได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ และสเกินเดร์เบอูคือชาวยุโรปรายแรกๆ ที่สามารถพิชิตกองทัพอ็อตโตมัน และทำให้ประชาชนเชื่อว่ากองทัพอ็อตโตมันไม่สามารถพิชิตพวกตนได้

          ในทุกวันนี้ สเกินเดร์เบอูคือวีรบุรุษประจำชาติแอลเบเนีย และนามของเขา ก็ยังเป็นที่เล่าขานจนถึงทุกวันนี้

References:

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สเกินเดร์เบอู ชายผู้พลิกประวัติศาสตร์แอลเบเนีย จากจักรวรรดิออตโตมัน อัปเดตล่าสุด 8 เมษายน 2568 เวลา 15:18:01 1,296 อ่าน
TOP