ถ้าเมืองไทยดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปขายแรงงานต่างประเทศ? เหตุผลเบื้องหลัง และความจริงอันเจ็บปวด

The Momentum

Stay curious, be open.

          ถ้าเมืองไทยดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปขายแรงงานต่างประเทศ? เหตุผลเบื้องหลัง และความจริงอันเจ็บปวด
บทวิเคราะห์

          หลังเกิดสงครามระหว่าง อิสราเอล–ปาเลสไตน์ ตัวเลขของแรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอล สร้างความประหลาดใจให้กับคนไทยหลายคน 2.6 หมื่นคน คือตัวเลขแรงงานถูกกฎหมายที่ ‘กรมการจัดหางาน’ กระทรวงแรงงานส่งไป และในบรรดาแรงงานไทยที่ออกไปทำงานทั้งหมดในต่างประเทศ แรงงานไทยในอิสราเอลคิดเป็นกว่า 1 ใน 5 ของแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศทั้งหมด
          ที่น่าสนใจก็คือแม้จะมีไฟสงครามอันร้อนระอุ มีการโจมตีโดยจรวด มีระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน และมีแรงงานไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับแรงงานชาติอื่น ถูกจับเป็นตัวประกันก็อีกไม่น้อย คนไทยที่แจ้งความประสงค์อยากกลับบ้านก็ยังมีราว 7,000 คน เท่านั้น แรงงานส่วนใหญ่ยังประสงค์ที่จะทำงานต่อไปในอิสราเอล แม้จะต้องเสี่ยงกับภัยสงคราม และความไม่แน่นอนก็ตาม
          คลิปแรงงานไทยใน TikTok ปรากฏภาพแรงงานไทยไลฟ์สด เผยให้เห็นจรวดของกลุ่มฮามาสที่ยิงเข้ามาในดินแดนอิสราเอล และเสียงไซเรนวุ่นวายเบื้องหลัง พร้อมกับเสียงบรรยายเป็นภาษาอีสานว่า “ต้องอดทนเอาเน้อ” เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะหาเงินกลับบ้าน สร้างเนื้อสร้างตัวได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นภาพที่สุดแสนจะสะเทือนใจ
          เพราะอะไร แรงงานไทยจากที่ราบสูงภาคอีสาน จากภาคเหนือบางส่วน จึงเลือกที่จะออกไปขายแรงงานต่างประเทศ ยอมเสี่ยงชีวิตกับกระสุน ระเบิด ผู้ก่อการร้าย แทนที่จะทำงานอยู่ในประเทศ อยู่กันพร้อมหน้ากับครอบครัว?

1. “จะมีโทรทัศน์ วิทยุ สเตอริโอ บ้านตึกหลังโตๆ โอ้ฮะโอ นั่งกินนอนกิน”

          เสียงเพลง ‘ซาอุดร’ ของคาราบาว เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วลอยมา เมื่อเจอข่าวแรงงานไทยใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในอิสราเอล
          เงินเดือนขั้นต่ำของแรงงานไทยในอิสราเอลนั้นอยู่ที่ 5.5 หมื่นบาท โดยนายจ้างหาที่อยู่-ที่พักให้ คุณสมบัติก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่อายุ 23-39 ปี ไม่จำกัดเรื่อง ‘การศึกษา’ เป็นการเข้าไปทำงานโดยถูกกฎหมาย โดยอิสราเอลจ้างแบบ ‘รัฐต่อรัฐ’ นั่นหมายความว่า อิสราเอลจ้างมา แล้วกระทรวงแรงงานก็รับสมัคร จัดหาแรงงานไปให้ แต่ละครั้งแรงงานเหล่านี้สามารถอยู่ทำงานได้ 5 ปี โดยงานส่วนใหญ่เป็นงานด้านการเกษตร
          ด้วยรายได้ขนาดนี้ แน่นอนว่ามากกว่าในประเทศไทยราว 3-4 เท่า… แรงงานไทยในอุดรธานี ร้อยเอ็ด หรือกาฬสินธุ์นั้น อาจได้เงินเดือนราว 1-1.5 หมื่นบาทเท่านั้น หากอายุราว 23-30 ปี เป็นเด็กจบใหม่ อาจจบสายอาชีพ หรือจบปริญญาตรีก็แล้วแต่ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยเงินเดือนจำนวนเท่านี้ ไม่มีทางสร้างตัวได้
          ขณะเดียวกัน หากเอาตัวเงินเดือน 5.5 หมื่นบาท เป็นตัวตั้ง เงินเท่านี้มักจะหาได้คือระดับ ‘หัวหน้างาน’ หรือ ‘ผู้จัดการ’ ในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องมีอายุงานราว 10-15 ปี จนจะได้เงินเท่านี้ หากเทียบกับระดับข้าราชการ ก็ต้องเป็นระดับ ‘อาวุโส’ หรือ ซี 8 ด้วยซ้ำ ถึงจะได้เงินในระดับนี้ 
          ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ‘รายได้ขั้นต่ำ’ ไม่ว่าจะเป็นในภาคของ ‘ค่าแรง’ หรือ ‘เงินเดือน’ ก็ดี ไม่สามารถโตทันอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในลำดับท้ายๆ ของภูมิภาค ไม่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่พอ ไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมาได้ในระดับที่น่าพอใจ
          เพราะฉะนั้น 5.5 หมื่นบาท จึงมีความหมายมากสำหรับแรงงานไทยไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ

2. ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตลอดกาล…

          เป็นที่รู้กันว่าแม้ประเทศอิสราเอลจะมีเนื้อที่เพียง 2.2 หมื่นตารางกิโลเมตร เนื้อที่ส่วนใหญ่แม้จะไม่ได้เหมาะกับการเพาะปลูก ด้วยเป็นทะเลทราย มีปัญหาเรื่องดินเค็ม น้ำจืดก็มีไม่มากนัก และก่อตั้งประเทศมาเพียงไม่กี่ทศวรรษ แต่ความสามารถด้าน ‘การเกษตร’ นั้นกลับเป็นเลิศไม่แพ้ชาติใด 
          หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ อิสราเอลเริ่มใช้ระบบชลประทานทันสมัย โดยการลำเลียงน้ำจากทะเลสาบ กาลิลี (Galilee) ทางเหนือของประเทศ ลำเลียงมายังทางใต้ของประเทศ จนประสบความสำเร็จนับตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งทำให้อิสราเอลมีปัญหาเรื่อง ‘น้ำแล้ง’ น้อยมาก
          นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นต้นกำเนิดของระบบ ‘ชลประทานน้ำหยด’ ด้วยการใช้น้ำหยดลงบริเวณโคนรากต้นไม้โดยตรง ซึ่งอิสราเอลระบุว่าวิธีนี้ สามารถทำให้ต้นไม้สามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้กว่า 95% และดีกว่ารดน้ำต้นไม้แบบทั่วไปแน่นอน
          เป็นการจัดการการเกษตรโดยที่ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างคุ้มค่า เมื่อผลิตผลออกสม่ำเสมอ ก็สามารถทำตลาดได้ สามารถนำผลิตผลการเกษตรไปแปรรูป สร้างมูลค่าได้ กระทั่งบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยในอิสราเอล ปัจจุบันสามารถแปลงร่างไปเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตรได้ นำผู้บริโภค-เกษตรกรเข้าหากัน
          ตัดกลับมายังประเทศไทย เรื่องน่าเศร้าก็คือ ประเทศไทยนั้นเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร แต่ไม่เคยแก้โจทย์เรื่องน้ำแล้ง-น้ำท่วมได้ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาที่เจอทุกปี เมื่อราคาสินค้าเกษตรไม่แน่นอน ก็กระทบกับรายได้ของแรงงานภาคการเกษตรโดยตรง
          ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมเรื่องการ ‘ถือครองที่ดิน’ เมื่อที่ดินส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นของเกษตรกร หากแต่เป็นของนายทุน ผลสำรวจเมื่อ 10 ปีก่อน พบว่าคนไทยกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเกษตร เป็นความลักลั่นอันมิอาจจะให้อภัยได้
          โง่-จน-เจ็บ จึงเป็นวัฏจักรซ้ำๆ ของแรงงานในภาคการเกษตรไทย

3. การ ‘กระจายอำนาจ’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

          ปัญหาสำคัญว่าด้วยการเติบโตของประเทศนี้ก็คือ ไม่เคยสนใจการ ‘กระจายอำนาจ’ ปล่อยให้แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่อยู่กันตามยถากรรม
          หากสังเกตพื้นที่ที่มีค่าแรงสูง มูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จะพบว่าเป็นพื้นที่ที่ ‘รัฐส่วนกลาง’ และ ‘นายทุน’ ให้ความสนใจ เป็นต้นว่า กรุงเทพฯ​ และปริมณฑล นั้นเจริญเติบโตทิ้งห่างจังหวัดอื่นๆ อย่างก้าวกระโดด เพราะส่วนราชการสำคัญอยู่ที่นี่ ศูนย์กลางธุรกิจอยู่ที่นี่ ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกอันเป็นผลพวงของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ต่อเนื่องมาถึงโครงการ EEC ก็จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะในเรื่องถนนหนทาง นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบิน หรือ การท่องเที่ยว รัฐพร้อมทุ่มงบประมาณให้
          แตกต่างกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ ในภาคอีสาน ที่แรงงานส่วนใหญ่ต้องอพยพเข้ากรุง หรือไปขายแรงงานต่างประเทศ ล้วนไม่เคยมีโอกาสทัดเทียมกัน ทุนที่อยู่ได้ในจังหวัดเหล่านี้ คือทุนที่ค้าขายข้ามจังหวัด หรือข้ามภูมิภาค หรือพุ่งเป้าไปยังการหารายได้จากการท่องเที่ยว
          จะดีกว่าหรือไม่ หาก ‘กระจายอำนาจ’ ให้จังหวัดแต่ละจังหวัดทำแผนของตัวเอง มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ของตัวเองเพื่อสะท้อนความต้องการว่าคนในจังหวัดต้องการอะไร เลิกคิดว่าแต่ละจังหวัดต้องเติบโตแบบที่รัฐอยากให้เป็นเท่านั้น 
          แต่เรื่องนี้อาจไม่ง่ายนัก และอาจต้องใช้เวลาอีกนานนับสิบปี

4. ‘การเมือง’ ต้องนิ่งพอ

          เรื่องสำคัญก็คือ นอกจากแรงงานเกษตรที่ไปทำงานต่างประเทศแล้ว แรงงานคุณภาพสูงในประเทศไม่ว่าจะสายการเงิน สายเทค หรือวิศวกรรมชั้นสูง ต่างก็เลือกไปทำงานต่างประเทศเพราะรายได้สูงกว่าในประเทศ 3-4 เท่า เช่นกัน
          ไม่เพียงเท่านั้น คนทำงาน White Collar ในองค์กรต่างๆ ก็รู้สึกเช่นกันว่า การทำงานในสภาพเศรษฐกิจ-การเมืองแบบนี้ ไม่เอื้อให้เขาเติบโตเท่ากับไปทำงานในต่างประเทศ หลายคนจึงรู้สึกว่าไปทำงานเสิร์ฟอาหาร-ล้างจาน-ทำงานร้านนวดไทย ในออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ หรือจับสลาก Lotto Green Card ของสหรัฐอเมริกา ยังมีโอกาสเติบโตมากกว่าทำงานออฟฟิศในประเทศไทย
          เป็นวิกฤตที่ทั้งคนที่มีโอกาสและคนที่ไม่มีโอกาสต่างก็อยากออกไปข้างนอก เพราะรู้สึกมี ‘โอกาส’ มากกว่า
          ทั้งหมด กลับมาที่ปัญหาเดิมก็คือทำอย่างไรให้การเมืองนั้น ‘นิ่ง’ พอ คือรัฐบาลมีนโยบายที่สามารถพาประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีส่วนร่วมกับนโยบายนั้นๆ สามารถกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศยาวๆ ได้ แล้วพาประเทศเติบโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่กระจุกอยู่จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว สามารถสร้างรายได้จากนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าจะ ‘ขายของเก่า’ แล้วแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ อย่างรายได้ ความเหลื่อมล้ำ ไปทีละเปลาะ
          เรื่องสำคัญก็คือต้อง ‘วาดภาพอนาคต’ ให้ได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแบบไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้า แล้วต้องเป็นภาพที่ทุกคนเห็นร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ภาพที่ นายทุน-นักการเมือง-ชนชั้นนำ เห็นแต่เพียงอย่างเดียว
          มิเช่นนั้น เราจะเป็นประเทศที่ต้องขายแรงงานต่อไปเรื่อยๆ แล้วคนเก่งๆ จะออกไปขายแรงงานต่างประเทศหมด เหลือแต่คนที่ ‘ไม่มีที่ไป’ ที่อยู่กันอย่างแห้งเหี่ยว บนดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

          นักเขียน : THE MOMENTUM TEAM

          นักวาดภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ The Momentum
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถ้าเมืองไทยดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปขายแรงงานต่างประเทศ? เหตุผลเบื้องหลัง และความจริงอันเจ็บปวด อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 23:46:19
TOP