อดทนมานานแล้ว เกินจะทนแล้ว ต้องทนทุกข์ขนาดไหน ถึงจะตัดสินใจ ‘ลาออก’ เสียที

The Momentum

Stay curious, be open.

          อดทนมานานแล้ว เกินจะทนแล้ว ต้องทนทุกข์ขนาดไหน ถึงจะตัดสินใจ ‘ลาออก’ เสียที
มนุษย์เงินเดือนลาออกดีไหม

          “เหนื่อยขนาดนี้ ลาออกดีกว่า”

          “ฉันทนไม่ไหวแล้ว ขอใบลาออกด่วนๆ”

          “อะไรนักหนาวะ มีแต่เรื่องงี่เง่า” 

          การตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ๆ เพื่อไปเติบโตที่อื่น ถือเป็นเรื่องสุดคลาสสิกที่ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศทั่วไปพบเจอได้เป็นประจำ โดยเฉพาะหากไม่ได้ทำงานประจำที่มั่นคงสุดยอด มีรายรับหลายหมื่นหลายแสน หรือไม่ได้มีสวัสดิการที่ดีแบบรัฐวิสาหกิจ แบบข้าราชการ ยิ่งในโลกแห่งความผันผวน วันหนึ่งอยู่ๆ ก็มีวิกฤตเศรษฐกิจ วันหนึ่งอยู่ๆ ก็มีโรคระบาด เดือดร้อนกันทั่วโลก ธุรกิจที่ว่าแน่ก็ปลดคนเป็นร้อยเป็นพันคน การที่พนักงานจะเลือกลงหลักปักฐานอยู่กับองค์กรต่อไปนานๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
          เชื่อว่าในบรรดาคุณๆ ที่อ่านอยู่ขณะนี้ มีจำนวนไม่น้อยตกอยู่ภายใต้สถานะ ‘สองจิตสองใจ’ จะออกดีหรือไม่ และหากออกไปแล้วจะเจอชีวิตแบบไหน เจอชีวิตที่แย่กว่า เจอหัวหน้าที่เฮงซวยกว่า หรือเจอองค์กรที่ปฏิบัติกับพนักงานเยี่ยงทาส แต่ถ้าอยู่ต่อไปก็ต้องพบเจอกับปัญหาซ้ำเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าหากเปลี่ยนอะไรได้บ้าง ก็อยากคิดทบทวน ลองเปลี่ยนจากภายใน
          เอาเข้าจริงการตัดสินใจลาออกไม่สามารถพูดได้บ่อยๆ และหากตัดสินใจพลาดไปแล้ว บางครั้งก็ยากที่จะย้อนเวลากลับคืน วันนี้ Work Tips รวบรวมแนวทางการตัดสินใจก่อน ‘ลาออก’ เพื่อให้ตัดสินใจได้รอบด้านขึ้น ก่อนจะผลีผลามเดินไปบอกหัวหน้า และตัดสินใจพูด ‘คำนั้น’ ออกไป

1. งานหนักเกินไปไหม

          งานหนักนั้นเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่มักจะมีขนาดองค์กรที่ Lean เล็ก มีคนทำงานให้น้อยที่สุด เพื่อประหยัดค่าจ้างพนักงาน และการที่คุณมีงานมากขึ้น ย่อมหมายถึงประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น และมีความรับผิดชอบต่างๆ เพิ่ม
          แต่บางครั้งก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น… สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คืองานที่หนักนั้นเป็นงานที่หนักแบบมีเหตุผล คือเป็นงานชั่วคราวในระหว่างที่องค์กรขาดคน เป็นงานเฉพาะกิจเพื่อช่วยทีมให้ลุล่วง เป็นงานที่น่าจะเป็น ‘บททดสอบ’ คุณให้ก้าวขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป หรือเป็นงานไร้สาระชวนให้ประสาทเสีย เป็นงานที่ทำแล้วสร้างความขัดแย้งกับคนมากขึ้น โดยที่สุดท้ายแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แล้วสุดท้ายก็ได้ค่าตอบแทน ได้สวัสดิการเท่าเดิม
          แต่เรื่องนี้ สิ่งที่ควรทำอันดับแรกก็คือปรึกษาผู้รับผิดชอบโดยตรงเป็นลำดับแรกว่า คุณกำลังเจองานหนักที่ไร้เหตุผล และสามารถเกลี่ยไปให้คนอื่นได้
          แต่หากพูดไปแล้วเหมือนพูดกับกำแพง ก็จงทดเรื่องนี้ไว้ในกระดาษเสีย

2. ความทุกข์ทรมานนั้นมีคนรับฟังไหม

          เพื่อนร่วมงานดีมีชัยไปกว่าครึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ผิดนัก ในองค์กรที่ดี เพื่อนร่วมงานมักแชร์ทั้งช่วงเวลาที่มีความสุขและทุกข์ไปด้วยกัน แน่นอนว่าเวลาที่คุณมีปัญหางานหนักเกินไป ได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจจากงาน จากหัวหน้าหรือลูกค้า เพื่อนร่วมงานมักจะเป็นด่านแรกที่คุณเข้าไปปรึกษา ระบายอารมณ์ หรือช่วยแบ่งเบาภาระงานจากคุณ หากถึงขั้นรับไม่ไหวจริงๆ

          แต่ถ้าองค์กรที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานเป็นพิษ เล่นการเมืองภายใน คอยขัดขากัน แทงข้างหลังจนแผลเหวอะหวะ ประเภทที่คุณบ่นถึงบุคคลที่สาม แต่เรื่องนั้นกลับเผยแพร่ไปทั่วออฟฟิศ ทั้งยังถูกใส่สีตีไข่จนเกินเลย สถานการณ์ภาพรวมก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง อาจเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจบางอย่างได้เร็วขึ้น

3. หัวหน้าเลวร้ายไหม

          อันที่จริง หัวหน้าเลวร้ายอาจปรากฏกายได้หลายรูปแบบ บางคนอาจเป็นพวกใช้อารมณ์ ด่ากราดอย่างไม่มีเหตุผล บางคนอาจเป็นพวกสร้างขุมกำลัง สร้างพรรคพวก เพื่อขยายฐานอำนาจตัวเองสำหรับเล่นการเมืองภายใน บางคนอาจหมั่นไส้ เหม็นขี้หน้าคุณอย่างไร้ต้นตอ และบางคนอาจเป็นพวกนั่งอยู่เฉยๆ เป็นหัวหน้า กินเงินเดือนแพงกว่าคนอื่น แต่ไม่ทำอะไรเลยก็มี
          ในวันที่คุณทนทุกข์ทรมาน หัวหน้าที่ดีจะรับฟังคุณแล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ หัวหน้าจะให้กำลังใจคุณ หากทำงานได้ดี และหัวหน้าที่ดีจะส่งเสริมให้คุณเติบโตขึ้น หากเห็นว่าคุณรับผิดชอบงานที่ใหญ่ขึ้นได้
          แต่หากคุณตัดสินใจเลือกจะ ‘ไม่สู้’ ลาออกจากงานไปยังที่ใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้างานที่เจอจะดีกว่าที่เจออยู่ ความเสี่ยงก็คือคุณอาจยังเจอหัวหน้าที่เลวร้าย หรืออาจเจอหัวหน้าที่แย่กว่าเก่า เป็นที่รู้กันว่าองค์กรที่ติดอันดับน่าทำงานด้วย 1-20 หรือบริษัทเจ้าสัวที่รวยติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ก็มักจะมีหัวหน้างาน มีผู้บริหารเจ้าอารมณ์ ปฏิบัติกับเจ้านายอย่างหนึ่ง ปฏิบัติกับลูกน้องเยี่ยงทาสก็มี
          แต่หากทุกข์ทรมานแล้วยังเจอกับหัวหน้าเลวร้าย บ้าอำนาจ ไม่ยอมรับฟัง ไม่คิดแก้ปัญหา ไม่ได้คิดจะบริหารทีม ไม่ได้หวังจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแรง การเลือกขยับขยายตัวเองไปหางานใหม่ก็เป็นโอกาสที่ดีเช่นกัน

4. เงินเดือน-สวัสดิการ เพียงพอกับปัญหาที่เจอไหม

          ว่ากันว่าเงินเดือนส่วนหนึ่ง 10-20% นอกจากจะได้เพื่อตอบแทนกับ คุณภาพ-ปริมาณงานที่ทำแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือเพื่อตอบแทนปัญหางี่เง่าที่คุณอาจต้องประสบพบพาน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณงานที่อาจเพิ่มขึ้นกะทันหัน หรือเรื่องการบริหารทีมที่อยู่ดีๆ ก็อาจมีการขยายทีมกะทันหัน เป็นเรื่องไร้สาระ-น่าปวดหัว ที่อาจทำให้คุณต้องลงทุนลงแรงกับการบริหารสุขภาพร่างกาย ลงทุนลงแรงกับ ‘การพักผ่อน’ ที่มากกว่าเดิม
          หากงานยิ่งมากขึ้น เงินเดือนยิ่งน้อย สวัสดิการคงที่ หรือไม่มีเลย ก็เป็นตัวเลือกที่ดี หากจะตัดสินใจขยับขยายไปทำงานที่ใหม่ เจอกับความท้าทายใหม่ๆ มากกว่าจะจมอยู่กับที่เดิมต่อไปเรื่อยๆ

5. ประเมินดีๆ ว่ายังมีโอกาสเติบโต หรือมีอนาคตกับสิ่งที่ทำอยู่หรือไม่

          สิ่งสำคัญของหลายองค์กรก็คือการต้องเซ็ต ‘เส้นทางก้าวหน้า’ หรือ Career Path ให้พนักงานเห็นชัดว่าหากทำงานต่อไปแล้วมีคะแนนการประเมินที่อยู่ในระดับ ‘ดี’ หรือ ‘ดีเยี่ยม’ จะได้ขึ้นเงินเดือนกี่เปอร์เซ็นต์ หากทำงานกี่ปีแล้วจะมีโอกาสเลื่อนลำดับเป็น ‘ซีเนียร์’ หรือหากทำงานได้ดี จะมีโอกาสขึ้นเป็นหัวหน้างาน มีโอกาสเติบโตในสายงาน ฉะนั้น หน้าที่นี้ ผู้บริหาร-หัวหน้างานจึงควรสื่อสารกับทีมอยู่สม่ำเสมอว่าการทำงานนั้นทำไปเพื่ออะไร และเราจะได้อะไรจากงานนั้นๆ
          หากเจอเรื่องทุกข์ทรมาน เจอปัญหารุมเร้า แต่ยังไม่เห็นหนทางก้าวหน้า จะต้องจมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีโอกาสเติบโต ก็มีสิทธิ์ที่คุณจะคิดย้ายตัวเองออกไปจากที่เดิม จากปัญหาเก่าๆ แล้วไปหาโอกาสอื่นๆ ดีกว่า

6. ตื่นเช้ามาแต่ละวันแล้วยังรู้สึกอยากทำงานอยู่ไหม

          Passion ในการทำงานส่วนหนึ่งคือการ ‘อยาก’ มาทำงาน บางคนอาจเป็นเรื่องเงิน บางคนอาจเป็นเรื่องการท้าทายศักยภาพตัวเอง บางคนอาจเป็นเรื่องการทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนั่นทำให้แต่ละวัน คุณอยากตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง
          แต่หากมีบางชั่วขณะที่ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอหน้าใครเลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า ก็หมายความว่าคุณหมด Passion หรืออาจเรียกเป็นภาษาทันสมัยยุคนี้ว่าคุณหมดไฟ คุณ Burnout ไปเรียบร้อย ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญว่าถึงเวลาลาออก อาจจะเป็นได้ทั้งเปลี่ยนงาน หรืออาจออกไปพักผ่อน เที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวต่างประเทศสักระยะหนึ่ง
          หากประเมินทั้งหมดนี้ นั่งลองเช็ก คิดหน้า-คิดหลัง ดีๆแล้ว เห็นโอกาสอันเรืองรองอยู่ข้างหน้า ก็ลองไปคุยกับหัวหน้าดู หากไม่เจอหัวหน้าเลวร้ายเหมือนกับข้อ 3 และองค์กรที่ทำงานใหม่ ดูจะเป็นองค์กรที่ดีกว่าที่เดิมแล้ว ก็อย่าลังเลใจที่จะตัดสินใจลาออก
          เพราะการเปลี่ยนแปลง การขยับขยาย ในหลายครั้งถือเป็น ‘โอกาส’ ที่ดีเสมอ
  • นักเขียน : THE MOMENTUM TEAM
  • นักวาดภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ The Momentum
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดทนมานานแล้ว เกินจะทนแล้ว ต้องทนทุกข์ขนาดไหน ถึงจะตัดสินใจ ‘ลาออก’ เสียที อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 09:52:39 8,329 อ่าน
TOP