‘กลางคืนอย่างห้าว ตอนเช้าอย่างง่วง’ เมื่อความง่วงคืออุปสรรคระหว่างวัน ทำอย่างไรดี เมื่อเกิดง่วงในที่ทำงาน
‘ความง่วง’ ไม่ใช่เรื่องแปลก มันคือกลไกทางร่างกายที่ส่งเสียงเตือนว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว แต่หากความง่วงเจ้ากรรมดันมาทำงานในระหว่างที่เราอยู่ออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นช่วงเวลากลางวัน นั่นอาจไม่ใช่เรื่องปกตินัก เพราะมันอาจรบกวนสมาธิในการจดจ่อกับงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และพาลไปถึงเรื่องของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน
เมื่อความง่วงอาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน เราควรมาเริ่มต้นดูกันก่อนว่า เจ้าความง่วงนี้มีสาเหตุจากอะไร ?
เว็บไซต์ทางการแพทย์ระบุว่า สาเหตุของการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน มักเกิดจาก 3 ข้อ คือ รูปแบบการใช้ชีวิต ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพร่างกาย ซึ่งแต่ละข้อก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
- รูปแบบการใช้ชีวิต หมายถึง วิธีที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวันล้วนส่งผลถึงอาการง่วงนอนระหว่างวันไม่มากก็น้อย ลองนึกภาพว่า เราเป็นนักย่ำราตรีที่กลับบ้านหัวถึงหมอนเกือบเช้าทุกวัน หรือนอนดึกเพราะเล่นเกม ดูซีรีส์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเบียดเบียนเวลาปกติของร่างกายในการพักผ่อนทั้งสิ้น และแน่นอนว่ามันย่อมส่งผลต่อเวลากลางวันที่เรากลับมาใช้ชีวิตปกติ ยังไม่นับเรื่องของการบริโภคคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไปในระหว่างวันด้วย
- ปัญหาสุขภาพจิต หมายถึง เรื่องของอารมณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึก ทั้งความเบื่อหน่าย ความกังวล ไปจนถึงเรื่องของภาวะซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันได้ทั้งสิ้น
- ปัญหาสุขภาพร่างกาย หมายถึง โรคต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคลมหลับ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันได้เช่นกัน
ทว่าในเมื่อเรายังต้องลุกจากเตียงไปทำงานทุกวัน สิ่งที่เราทำได้ (ยกเว้นเรื่องของปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายที่ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด) คือการพยายาม ‘ปรับรูปแบบชีวิต’ ให้มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือ ‘เปลี่ยนพฤติกรรม’ ต่างๆ เช่น เรื่องของอาหารการกิน และการออกกำลังกาย
แต่หากความพยายามในการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก (ก็มันจะไปง่ายอย่างนั้นได้ไงล่ะ) และความง่วงยังคงตามหลอกหลอนในช่วงเวลากลางวันที่อยู่ออฟฟิศหรือที่ทำงาน วิธีที่ง่ายที่สุดคือการมองหาเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ เพื่อ ‘เติม’ พลังให้กับร่างกายเบื้องต้นก่อนได้ ดังนี้
- สัก ‘ช็อต’ ก่อนไหม?
หากเริ่มมีอาการง่วงในที่ทำงาน การดื่มคาเฟอีนสักช็อตก็อาจเป็นการ ‘บูส’ พลังงานเร่งด่วนให้คุณได้ เพื่อจัดการงานที่จำเป็นให้เสร็จเรียบร้อย เพราะคาเฟอีนจะเป็นตัวกระตุ้นเพิ่มกิจกรรมในสมองและระบบประสาท ช่วยต่อสู้กับความง่วงนอนได้ แต่ข้อควรระวังก็คือ อย่าบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป เพราะมันอาจส่งผลตรงข้ามทำให้เกิดอาการ ‘กระวนกระวาย’ ใจได้เช่นกัน
- งีบสั้นๆ 20 นาที
ไม่ต้องกังวลว่า ‘การงีบหลับ’ ในที่ทำงานจะส่งผลเสีย เพราะมีการวิจัยที่ระบุว่า พนักงานที่นอนพักกลางวันเป็นระยะเวลาสั้นๆ (Power nap) มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น และการงีบหลับ 20 นาทีต่อวันช่วงระหว่างเวลาบ่ายโมงถึงบ่ายสาม จะช่วยเสริมพลังได้ เพราะเหมือนเป็นการเพิ่มพลังอีกครั้งก่อนกลับมาลุยงานต่อ แต่ข้อควรระวังก็คือ อย่างีบนานเกิน 20 นาที จนกลายเป็น ‘การนอน’ ไปเสียล่ะ
- ลองลุกจากโต๊ะไปป่วนคนอื่น
การนั่งอยู่กับที่นานๆ ไม่ส่งผลดี ทั้งในแง่ของอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ต่างๆ ที่อาจผลัดเปลี่ยนแวะเวียนมาถามหา รวมถึงการทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนได้เช่นกัน ทางที่ดีลองหาเวลาลุกเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินเล่น ทักทาย หรือแวะไปป่วนเพื่อนที่แผนกอื่นสักหน่อย (ดูหัวหน้าให้ดีๆ ก่อนล่ะ) เพราะจะทำให้ระบบเลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดีขึ้น และเป็นการเพิ่มความตื่นตัวให้กับการทำงานของเราได้ นอกจากนี้ การเดินไปรอบๆ ที่ทำงานอาจทำให้เราเกิด ‘ปิ๊ง’ ไอเดียใหม่ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
- ฟังเพลงจากเพลย์ลิสต์โปรดหน่อยไหม
บรรยากาศของการทำงานที่เงียบสงบอาจส่งผลต่อสมาธิได้ก็จริง แต่หากมันสงบจนกลายเป็นสงัดราวกับอยู่วัด ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงได้ การปลุกสมองด้วยบทเพลงที่เราชอบ จังหวะดนตรีที่คึกคัก ก็เป็นทางเลือกที่ดีให้เรากระปรี้กระเปร่าขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออย่าให้มันเสียงดังจนไปรบกวนเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ ล่ะ หูฟังก็มี ใส่ซะ โดนเพื่อนด่าจะหาว่าไม่เตือน
- ทำให้พื้นที่นั่งทำงาน ‘สว่าง’ เพียงพอ
‘แสง’ ส่งผลต่อความรู้สึกฉันใด ก็ส่งผลต่อความง่วงในที่ทำงานได้ฉันนั้น การปล่อยให้พื้นที่นั่งทำงานของคุณมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลในแง่ความรู้สึกให้เกิดอาการง่วงระหว่างวันได้ ดังนั้น หากโต๊ะทำงานของเราอยู่ใกล้หน้าต่าง การเปิดม่านให้แสงสว่างส่องเข้ามาเพิ่มเติมจากเพียงแค่แสงจากหลอดไฟในออฟฟิศ จะสามารถเพิ่มความตื่นตัวในการทำงานได้
อ้างอิง
นักเขียน : THE MOMENTUM TEAM
นักวาดภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่