รู้จัก คเณศจตุรถี เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลององค์พระพิฆเนศ วิธีการบูชา ข้อห้ามต่าง ๆ และฤกษ์ดีวันไหว้พระพิฆเนศ
สวัสดี ! นี่เจ้าหนูรถตู้เอง เชื่อว่าสายมูทั้งหลายที่ศรัทธาในพระพิฆเนศคงคุ้นหูกับคำว่า เทศกาลคเณศจตุรถี หรือวันคล้ายวันประสูติของพระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จทั้งปวง กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในปี 2567 นี้ เทศกาลนี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7-17 กันยายน 2567 แต่เอ ! แล้วเทศกาลคเณศจตุรถีนี่คืออะไร เขาต้องทำอะไรในวันนี้กันบ้าง มีข้อห้ามอะไรที่ห้ามทำในช่วงนี้บ้าง รวมถึงนอกจากเทศกาลคเณศจตุรถีแล้ว ยังมีวันที่มีฤกษ์ดีในการไหว้พระพิฆเนศอีกมั้ย วันนี้เจ้าหนูหาคำตอบมาให้เพื่อน ๆ แล้ว
เทศกาลคเณศจตุรถี คืออะไร ?
วันคเณศจตุรถี 2567 หรือวันคล้ายวันประสูติพระพิฆเนศตามตำราอินเดีย ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนภัทรบท หรือเดือน 10 ขึ้นอยู่กับปฏิทินของแต่ละที่ ในปีนี้ตรงกับวันที่ 7 กันยายน 2567 เป็นเทศกาลของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ขององค์พระพิฆเนศ ผู้ที่นับถือพระพิฆเนศมีความเชื่อกันว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่จะได้ใกล้ชิดกับองค์พระคเณศมากที่สุด เพราะพระองค์จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพร ประทานความโชคดี ปลดหนี้ ช่วยเหลือมนุษย์
เทศกาลคเณศจตุรถี ปี 2567
เทศกาลคเณศจตุรถีนี้ ใน 1 ปีมีเพียงครั้งเดียว โดยจะเกิดขึ้นในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และ แรม 4 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี ซึ่งในปี 2567 เทศกาลนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 และยาวไปถึงวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 ตลอด 10 วัน นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ถ้าได้ขอพรองค์พระพิฆเนศตรงกับวันที่พระองค์ลงมาอยู่ในโลกมนุษย์ จะเหมือนได้กระซิบขอพรกับองค์พระพิฆเนศด้วยตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้ ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนไม่สะดวกไปไหว้หรือทำพิธีในวันที่ 7 กันยายน ก็สามารถประกอบพิธีในวันใดวันหนึ่ง ภายใน 10 วันนี้ได้ และในวันสุดท้ายของเทศกาลคือ วันอังคารที่ 17 นิยมสรงน้ำองค์พระพิฆเนศด้วยน้ำสะอาด เพื่อเป็นการส่งพระองค์ขึ้นยังสรวงสวรรค์ ทั้งนี้ ที่ประเทศอินเดีย จะมีพิธีที่เรียกว่า Ganesha Visarjan เป็นขบวนแห่องค์พระพิฆเนศของแต่ละเมือง อัญเชิญพระองค์ท่านมายังแม่น้ำคงคา เพื่อลอยส่งพระองค์ท่านขึ้นสู่สรวงสวรรค์
การบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลคเณศจตุรถี ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
ตลอดเวลาช่วง 10 วันของเทศกาลคเณศจตุรถี ตามวัดหรือเทวสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจะมีการจัดพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศ เช่น วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) โบสถ์พราหมณ์ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในแต่ละวันจะมีการสวดมนต์ ทำพิธี ถวายสิ่งของต่าง ๆ ทั้งพวงมาลัย ดอกไม้ ผลไม้ ขนมหวาน และหญ้าแพรก เป็นต้น
พิธีการบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลคเณศจตุรถี
- จัดเตรียมเทวรูป
ทำความสะอาดเทวรูปที่มีประดิษฐานอยู่ในบ้านทั้งหมด หากเทวรูปองค์ไหนใช้น้ำล้างได้ก็ล้างให้สะอาด ใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง หากองค์ไหนอาจเสียหายจากการถูกน้ำ ให้ใช้ผ้าหรือแปรงปัดฝุ่นให้เรียบร้อย จากนั้นเลือกเทวรูปพระพิฆเนศ 1 องค์ ให้มาเป็น “องค์บูชา” โดยเลือกองค์ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก ทำจากวัสดุที่โดนน้ำได้ เช่น หินแกะสลัก ทองเหลือง สำริด เรซิน ไม่ควรเป็นเทวรูปไม้แกะสลัก เทวรูปปูนปั้น ดินปั้น หรือเทวรูปที่มีการตกแต่งประดับด้วยคริสตัลเพชรพลอย เพราะอาจทำให้เสียหาย หากไม่มีองค์สำหรับสรงน้ำได้ ให้เพียงถวายน้ำเป็นแก้ว ๆ โดยไม่ต้องสรงก็ได้
- จัดเตรียมอุปกรณ์
- ธูป หรือ กำยาน / พร้อมกระถางธูป หรือโถกำยาน
- เทียน 2 เล่ม หากมีตะเกียงน้ำมันก็จัดเตรียมไว้
- โต๊ะ 2 ตัว
- ตัวแรก เป็นโต๊ะประดิษฐานสำหรับตั้งเทวรูป และถวายของ
- ตัวที่สอง เป็นโต๊ะเตรียมของเพื่อวางของถวายเตรียมถวายไปที่โต๊ะตัวแรก
- อ่าง หรือ ชามใบใหญ่ หรือ ถาด เพื่อนำเทวรูปองค์บูชาประดิษฐานลงไป รอรับการสรงน้ำ
- จัดเตรียมเครื่องสังเวย
- น้ำปัญจอมฤต ได้แก่ นมจืด โยเกิร์ต น้ำผึ้ง เนยกี น้ำอ้อย
- ผลไม้มงคล ตามแต่จัดหามา เน้นกล้วยหรือมะพร้าว รวมกันให้ได้ 5 ชนิดขึ้นไป บรรจุใส่ถาด ถ้วย จาน ชาม จะใส่รวมกันหรือแยกภาชนะก็ได้
- ขนมหวาน เช่น ขนมลาดู โมทกะ ขนมต้ม ขนมชั้น ไม่ใช้ขนมที่มีส่วนผสมของไข่ จัดมาอย่างน้อย 5 อย่างขึ้นไป ใส่ถ้วยให้เรียบร้อย ไม่ต้องมีช้อน
- น้ำดื่มสะอาด เปิดขวดใหม่ จำนวน 2 ขวด
- ขวดแรก ใช้ถวายทั้งขวด เปิดฝาแล้ววางถวายได้เลย
- ขวดที่สอง ใช้สำหรับสรงสนาน โดยต้องมีแก้วน้ำเปล่าหนึ่งใบ และมีช้อนเล็ก ๆ ใส่ลงในแก้วด้วย เพื่อใช้ตักน้ำและสรงที่องค์เทวรูป
- ดอกไม้ (ดาวเรือง มะลิ กุหลาบ ดอกบัว ฯลฯ)
- เมล็ดข้าวสาร บรรจุใส่จานเตรียมไว้
- เมล็ดถั่วต่าง ๆ บรรจุใส่จานเตรียมไว้
ขั้นตอนการประกอบพิธีบูชาพระพิฆเนศ เนื่องในคเณศจตุรถี แบบย่อ สามารถทำที่บ้านได้
- ทำความสะอาดหิ้งพระ และห้องบูชา
- จัดโต๊ะบูชาเล็ก ๆ แยกจากหิ้งพระ ปูด้วยผ้าสีแดง จากนั้นอัญเชิญเทวรูปองค์พระพิฆเนศมาประทับไว้ (ควรเป็นองค์ที่ทำมาจากโลหะหรือหิน ไม่ควรใช้เทวรูปที่เป็นไม้ ดิน หรือเทวรูปเขียนสีตกแต่งเพชรพลอย หรือปิดทอง เพราะอาจจะเกิดความเสียหายได้)
- เริ่มพิธีสรงน้ำพระพิฆเนศ เริ่มตั้งแต่น้ำเปล่า นม โยเกิร์ต เนยกี และน้ำผึ้ง
- จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์เทวรูป ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี
- ถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม คล้องสร้อยประดับตกแต่ง ใช้ผงจุ่มเจิมที่เทวรูป หรือนำน้ำหอมประพรมที่เทวรูป
- ถวายมาลัยดอกไม้ ธูปหอม กำยาน เครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน หมาก พลู หญ้าแพรก โดยวางไว้หน้าองค์เทวรูป
บทสวดคาถาบูชาพระพิฆเนศ (แบบสั้น)
โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ (3, 5, 7, 9 จบ สวดตามสะดวก)
บทสวดคาถาบูชาพระพิฆเนศ
โองการพินธุนาถัง อุปปันนัง
พรหมาสะ หะปะตินามะ อาทิกัปเป
สุอาคะโต ปัญจะ ปะทุมังทิสวา
นะโมพุทธายะวันทะนัง โอมอิด พิฆเนศวรอิ
จะมหาพรหมา มหิตทิเดชา สรรพเสน่หา ประสิทธิเม
พรหมาสะ หะปะตินามะ อาทิกัปเป
สุอาคะโต ปัญจะ ปะทุมังทิสวา
นะโมพุทธายะวันทะนัง โอมอิด พิฆเนศวรอิ
จะมหาพรหมา มหิตทิเดชา สรรพเสน่หา ประสิทธิเม
อย่างไรก็ตาม พิธีขั้นตอนทั้งหมดนี้ หากเราหาของไหว้ได้ทั้งหมดก็ดี แต่หากหาไม่ได้ทั้งหมดไม่ต้องเครียด ตามแต่เราหาได้และตั้งจิตมั่นให้บริสุทธิ์ ขั้นตอนต่าง ๆ สามารถลดและเพิ่มได้ตามสะดวกโดยจะทำทุกวันจนครบทั้ง 10 วัน หรือจะทำเพียงวันแรก และวันสุดท้ายก็ได้ และเมื่อครบกำหนด อัญเชิญพระพุทธรูปกลับขึ้นหิ้งดังเดิมเป็นอันเสร็จพิธี
ข้อห้ามวันคเณศจตุรถี
ไม่ควรใช้องค์พระพิฆเนศที่เราบูชาอยู่ทุก ๆ วันมาประกอบพิธีคเณศจตุรถีจะดีที่สุด เพราะเชื่อกันว่า พิธีสรงน้ำพระพิฆเนศจะเป็นการคืนพลังให้กับองค์ท่าน แต่หากนำมาบูชาแล้ว ก็สามารถทำได้ และเราไม่จำเป็นต้องนำองค์ท่านเข้าสู่พิธีวิสารชัน (การนำไปลอยน้ำ คืนพลังสู่องค์ท่าน) เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ให้เราอัญเชิญองค์ท่านกลับขึ้นหิ้งได้ดังเดิม แล้วบูชาต่อได้
ฤกษ์ดีในการไหว้ขอพรองค์พระพิฆเนศ
- ฤกษ์ดีประจำเดือน : ในทุก ๆ เดือนจะมีวันฤกษ์ดีที่เหมาะแก่การไหว้ขอพรพระพิฆเนศจำนวน 2 ครั้ง คือ
- วันขึ้น 4 ค่ำ หรือ วันวินายักจตุรถี
- วันแรม 4 ค่ำ หรือวันสันคสติจตุรถี (สังกัษฏีจตุรถี) แต่ถ้าเดือนใด วันแรม 4 ค่ำ ตรงกับวันอังคาร จะเรียกว่า วันอังการกีสันคสติจตุรถี ซึ่งคล้ายกับวันพระใหญ่ในศาสนาพุทธ
- วันคเณศชยันตี หรือวันเกิดองค์พระพิฆเนศ ปกติแล้วจะตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ ตามปฏิทินฮินดู ในช่วงกลางเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งในปี 2567 คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
- คเณศจตุรถี เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองให้องค์พระพิฆเนศ และเป็นวันที่เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จมายังโลกมนุษย์ จัดเต็ม 10 วัน 10 คืน โดยในปี 2567 จะอยู่ในระหว่างวันที่ 7-17 กันยายน 2567
ขอบคุณข้อมูลจาก : kachaganesh.com, siamganesh.com
รูปประกอบทั้งหมดในเนื้อหา : เจ้าหนูรถตู้ (ผู้เขียน)
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่