เปิดตำนานการล่มสลายของรัสเซีย จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มานานหลายศตวรรษ

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          การล่มสลายของ “จักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire)”
จักรวรรดิรัสเซีย

          เป็นเวลานานหลายศตวรรษที่ “จักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire)” เป็นดินแดนมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ เป็นชาติที่หลายๆ ประเทศต้องเกรงกลัว
          หากแต่เมื่อถึงช่วงเวลาของ “สงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI)” รัสเซียก็เริ่มจะกระท่อนกระแท่น และนำไปสู่ความล่มสลายของราชสำนักรัสเซียที่ปกครองรัสเซียมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ
          อะไรคือเหตุผลที่ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลาย?
          เหตุผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียงอย่างเดียวจริงหรือ?
          ผมจะเล่าให้ฟังครับ
          ก่อนจะเข้าใจสาเหตุแห่งการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย เราต้องย้อนเวลากลับไปในสมัยศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาของ “สงครามไครเมีย (Crimean War)” ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างค.ศ.1853-1856 (พ.ศ.2396-2399)
          หลังจากความพ่ายแพ้ของ “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” แห่งฝรั่งเศสในปีค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) รัสเซียก็ได้กลายเป็นมหาอำนาจแห่งยุโรป และภาพลักษณ์ผู้ยิ่งใหญ่นี้ก็ติดตัวรัสเซียเรื่อยมา ไร้ผู้ท้าทาย จนกระทั่งการมาถึงของสงครามไครเมีย ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัสเซีย
          ความพ่ายแพ้ของผู้ยิ่งใหญ่อย่างรัสเซีย ทำให้รัสเซียเริ่มจะเป็นรองชาติอื่นๆ ในยุโรป
          “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander II of Russia)“ พระประมุขแห่งรัสเซีย ทรงทราบดีถึงความจริงข้อนี้ และทรงหวังว่าหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามไครเมีย เมื่อความสงบตามมา บางทีความสงบนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ
          ในปีค.ศ.1861 (พ.ศ.2404) ก็ได้มีการปฏิรูปการปลดปล่อยทาสชาวนา ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ชาวรัสเซียคำนึงมาเป็นเวลานาน
          ทาสชาวนา หรือก็คือทาสติดที่ดินนั้น อยู่คู่กับรัสเซียมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องทาสชาวนาเป็นประเด็นที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
          หากแต่การปลดปล่อยทาสชาวนาและช่วยเหลือทาสชาวนา ก็ค่อนข้างจะมีปัญหา เนื่องจากแทนที่จะให้ทาสชาวนาเป็นอิสระพร้อมด้วยที่ดินซักผืนเพื่อทำกิน แต่ทาสชาวนาได้รับอิสรภาพโดยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ทำให้สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นซักเท่าไรนัก
          ราคาที่ดินก็สูงลิบลิ่ว ดังนั้นเหล่าทาสชาวนาและชาวนาที่ยากจนก็ไม่สามารถซื้อได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องเป็นชุมชน หมู่บ้านต่างๆ ที่ระดมเงินมาเพื่อซื้อที่ดินจากพวกขุนนาง หากแต่ก็มีปัญหา ความไม่ลงตัวต่างๆ ในชุมชน
          แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของทาสชาวนาเท่านั้น
          ราชสำนักและรัฐบาลรัสเซียก็ตระหนักดีว่าหากต้องการจะให้รัสเซียยังคงรักษาสถานะมหาอำนาจของตนไว้ อุตสาหกรรมของรัสเซียจำเป็นต้องขยาย ทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองใหญ่และชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีปัญหามากกว่าและแก้ปัญหาได้ยากกว่าเหล่าทาสชาวนาซะอีก
          ที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ที่เหล่าทาสชาวนาลุกฮือขึ้นก่อจลาจล แต่รัฐบาลก็มักจะสามารถปราบปรามได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากชุมชนชาวนานั้นไม่มีองค์กรที่เป็นเรื่องเป็นราวที่จะสามารถต่อกรกับภาครัฐได้ อีกทั้งยังมักจะอยู่ในชนบทห่างไกล ไม่สามารถทำอะไรได้มาก
          แต่สำหรับกลุ่มแรงงานนั้น ส่วนมากอยู่ในเมือง ทำให้สามารถกดดันรัฐบาลได้ง่ายดาย อีกทั้งแรงงานส่วนมากยังมีการศึกษาดีกว่าเหล่าชาวนาชาวไร่ มีระบบการจัดการในกลุ่มได้เป็นระบบกว่า สามารถสไตร์ค คือนัดหยุดงานได้เรื่อยๆ สร้างความกดดันให้ภาครัฐได้สูง
          ส่วนกลุ่มที่สาม ก็คือเหล่าชนชั้นสูงที่มีการศึกษา ก็เริ่มจะตั้งคำถามกับการบริหารงานของรัฐบาลแบบเอกาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ในมือผู้นำเพียงคนเดียว
          ปัญหายังไม่หมดเท่านี้ เนื่องจากหากพิจารณา จะเห็นได้ว่าจักรวรรดิรัสเซียนั้นประกอบด้วยผู้คนหลายชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ก็จ้องหาโอกาสที่จะได้รับอิสรภาพและแยกตัวออกจากรัสเซีย
          ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นำพาไปสู่ความรุนแรงจนเกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติรัสเซียครั้งที่ 1 (Russian Revolution of 1905)” ในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) หากแต่ราชสำนักก็ยังคงรอดพ้นมาได้
          “จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II)” พระประมุขแห่งรัสเซีย ทรงตกลงยินยอมตามข้อเรียกร้องของประชาชนในบางเรื่อง เช่น การก่อตั้งรัฐสภาแห่งรัสเซีย หากแต่พระองค์ก็ยังคงมีอำนาจที่จะยกเลิกได้ทุกเมื่อ
          นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าอำนาจสูงสุดยังคงเป็นของพระองค์
          แต่ถึงจะมีอุปสรรคมากมาย แต่เศรษฐกิจรัสเซียก็ยังคงเติบโต และหากไม่มี “สงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI)” ราชสำนักก็อาจจะยังรอดพ้นมาได้ก็เป็นได้
          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียไม่มั่นใจว่าจะเผชิญหน้ากับเยอรมนีเพียงลำพังได้จริงหรือไม่ รัสเซียจึงต้องหาพันธมิตร และก็ได้รับคำมั่นจากฝรั่งเศสว่าหากเยอรมนีโจมตี ฝรั่งเศสก็จะเข้าร่วมสงครามโดยอยู่ข้างรัสเซีย
          อันที่จริง ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพรัสเซียก็ยิ่งใหญ่เกรียงไกรอยู่แล้ว เป็นหนึ่งในชาติที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบบคมนาคม ทั้งถนนและทางรถไฟก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขนส่งกำลังคนและเสบียงสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
          แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมสงครามของรัสเซียนั้นไม่มีความพร้อมและเพียงพอต่อกองทัพขนาดใหญ่โต โดยในช่วงปีค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) แม่ทัพรัสเซียได้ยอมรับต่อฝ่ายฝรั่งเศสว่าในสงครามที่สู้รบกันในด้านแนวหน้าฝั่งตะวันออก บางหน่วยนั้นทหารกว่า 1 ใน 3 ไม่มีปืนที่จะใช้สู้รบ
          นอกจากนั้น ในช่วงปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) ที่เป็นปีแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียก็ได้สูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไปมาก ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงอีก
          ชีวิตของทหารในสงครามนั้นยากลำบาก แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตประชาชนก็เริ่มจะลำบากเช่นกัน ชายหนุ่มนับล้านถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมกับกองทัพ ทำให้แรงงานในภาคการเกษตรขาดแคลน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พิมพ์เงินจำนวนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ กำไรที่ได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรแทบไม่เหลือ
          ผลลัพธ์ต่อมาก็คือภาคการเกษตรเริ่มมีการผลิตน้อยลง ทำให้ตามเมืองใหญ่ๆ ขาดแคลนอาหาร ยิ่งทำให้ประชาชนในเมืองลำบากและไม่พอใจ
          สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักเข้าไปอีกเมื่อจักรวรรดิอ็อตโตมันเข้าร่วมสงครามในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) โดยเข้ากับฝ่ายเยอรมนี และได้ปิดเส้นทางเส้นหนึ่ง ซึ่งเส้นทางนั้นคือเส้นทางที่ใช้ขนส่งเสบียงของรัสเซีย
          เมื่อสถานการณ์แย่สุดขีด จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงความเป็นผู้นำด้วยการเสด็จไปยังแนวหน้าเพื่อบังคับบัญชาการศึกด้วยพระองค์เอง หากแต่นี่คือการตัดสินพระทัยที่ผิดพลาด
          ที่ผ่านมา หากกองทัพพ่ายแพ้ ก็ยังพอจะโทษแม่ทัพที่เป็นผู้ควบคุมทัพได้ อ้างว่าเป็นความผิดแม่ทัพ แต่ในเมื่อองค์จักรพรรดิเสด็จไปบังคับบัญชากองทัพด้วยพระองค์เอง ดังนั้นจะโยนความผิดให้ใครไม่ได้เลยนอกจากต้องโทษองค์จักรพรรดิ
          จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ในการรบ
          และในช่วงที่จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เสด็จไปบัญชาการกองทัพ ก็ต้องมีผู้สำเร็จราชการ ควบคุมรัฐบาลในช่วงที่องค์จักรพรรดิไม่อยู่ และคนผู้นั้นก็คือ “จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)”
          จักรพรรดินีอเล็กซานดราไม่ทรงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเท่าไรนัก อีกทั้งยังให้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับ “กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin)” ผู้อ้างตนเป็นผู้วิเศษ เป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวนาชาวไร่ หากแต่เป็นที่เกลียดชังของเหล่าขุนนางและชนชั้นสูง
          รัสปูตินถูกสังหารในเดือนธันวาคม ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) และจุดจบของราชวงศ์รัสเซียก็กำลังจะมาถึง
          ทางด้านแนวหน้า สถานการณ์การรบฝั่งรัสเซียก็ไม่ดีเลย ความพ่ายแพ้ตามมาเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ทางเมืองหลวงก็เกิดการลุกฮือขึ้นจลาจล
          รัฐบาลคิดจะหาทางแก้ปัญหาการลุกฮือของประชาชนด้วยวิธีการที่บ้องตื้นที่สุด นั่นคือเกณฑ์เหล่าผู้นำชนชั้นแรงงานที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องและขับเคลื่อนสังคม เกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพ โดยหวังว่าเมื่อขาดผู้นำแล้ว กลุ่มชนชั้นแรงงานจะอ่อนกำลังเนื่องจากขาดผู้นำ
          แต่ผลที่ได้กลับไม่คุ้มค่าเลย เนื่องจากเหล่าผู้นำแรงงานนี้เมื่อเข้าไปในกองทัพ ก็ไปก่นด่าและชักชวนเหล่าทหารในกองทัพให้ต่อต้านรัฐบาล ทำให้ทหารในกองทัพซึ่งขวัญกำลังใจไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งต่อต้านรัฐบาลและราชสำนักหนักกว่าเดิม
          นอกจากนั้น ยังเกิดการลุกฮือขึ้นก่อกบฏในเอเชียกลาง โดยชุมชนมุสลิมลุกขึ้นต่อต้านรัสเซียในปีค.ศ.1916 (พ.ศ.2459)
          เหล่าชนชั้นสูงในรัสเซียก็เริ่มจะลุกขึ้นต่อต้านจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 มีการวางแผนจะโค่นราชบัลลังก์และให้เชื้อพระวงศ์องค์อื่นขึ้นครองราชย์แทน
          ฟางเส้นสุดท้ายมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) เมื่อเหล่าคนงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กลุกฮือขึ้นก่อจลาจล รัฐบาลจึงส่งทหารไปสลายการชุมนุม แต่กลับกลายเป็นว่าทหารที่ส่งไปดันไปเข้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม
          เมื่อข่าวมาถึงพระกรรณของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พระองค์ก็รีบเสด็จกลับทันที แต่ระหว่างทางไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รถไฟพระที่นั่งก็ถูกสกัด และรัฐบาลใหม่ชั่วคราวก็ได้ทูลพระองค์ว่าพระองค์ต้องสละราชสมบัติ
          จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ตรัสอะไรไม่ออก พระองค์ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว กลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์ก็แทบไม่เหลือ พระองค์จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทรงยินยอมลงพระนามสละราชสมบัติ
          หลังจากจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ ก็มีการถวายราชสมบัติแก่ “แกรนด์ดยุกไมเคิล อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย (Grand Duke Michael Alexandrovich of Russia)“ พระราชอนุชาองค์เล็กในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2
          หากแต่เจ้าชายไมเคิลก็ทรงลังเลพระทัย และทรงปฏิเสธราชบัลลังก์ ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมายาวนานกว่า 300 ปีต้องจบสิ้นลง และเป็นจุดล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย
References:
ต้นฉบับ:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตำนานการล่มสลายของรัสเซีย จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่มานานหลายศตวรรษ อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2567 เวลา 11:11:54
TOP