ย้อนรอยชีวิต ฌอน เบเกอร์ — เบื้องหลังความสำเร็จของผู้กำกับอินดี้คือเส้นทางที่ล้มลุกคลุกคลาน (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า)

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก The Academy | Photo Credit Matt Sayles
หลังจากสร้างประวัติศาสตร์คว้าออสการ์คนเดียว 4 สาขาจากผลงานเรื่อง Anora (2024) ชื่อของ ฌอน เบเกอร์ ก็กลายเป็นที่พูดถึงกว้างขวางไปโดยปริยาย ชายผู้ดั้นด้นทำหนังอินดี้อยู่กว่า 30 ปี จนกระทั่งได้รับการยอมรับอย่างเบ็ดเสร็จด้วยรางวัลทรงเกียรติไกลเกินฝัน ฟังดูเป็นเรื่องราวบันดาลใจที่น่าทึ่ง กระนั้น หลังม่านจริงๆ ไม่ได้มีความสวยหรูสำหรับเส้นทางทำหนังอิสระ ต้องขัดสน จนกรอบ กระเสือกกระสนวนเวียนอยู่อย่างนั้น
“มีบางครั้งนะที่ผมคิดในใจ ‘คนทำหนังรุ่นเดียวกับเราได้ก้าวไปจับงานระดับ 30 ล้านหรือ 100 ล้านกันหมดแล้ว’ ผมที่ยังไปไม่ถึงไหนก็ถามตัวเองว่า ‘นี่เราผิดพลาดตรงไหนนะ’ แต่แล้วผมก็คิดต่อว่า ‘เออ ช่างมันวะ ถึงมีงบน้อยก็จะทำหนังต่อไปอยู่ดี’ อาชีพของผมคงเป็นแบบนี้จริงๆ ยอมรับสิ่งที่มันเป็นไป ยอมรับทุนก้อนเล็กๆ” เบเกอร์เปิดใจ
สำหรับเขาแล้ว อาชีพทำหนังคือเป้าหมายเดียวตั้งแต่จำความได้ เมื่อตอนหกขวบ เบเกอร์มีโอกาสได้ดูบรรดาหนังอสุรกายคลาสสิคในห้องสมุดท้องถิ่นที่คุณแม่ชอบพาไป จำพวก Dracula, The Creature from the Black Lagoon และ Frankenstein แล้วนับจากวันนั้น เบเกอร์ก็บอกกับแม่ว่า “ผมอยากทำหนังครับ”
แต่ถามว่า อยู่ๆ เกิดปณิธานอยากทำหนังอิสระอย่างแรงกล้าเลยรึเปล่า คำตอบคือ ไม่
เบเกอร์ก็เหมือนกับใครหลายคน เขาโตมากับหนังบล็อกบัสเตอร์, Star Wars, Die Hard, สตีเว่น สปีลเบิร์ก ตั้งใจว่าสักวันจะได้ทำหนังใหญ่ ฝากชื่อเสียงในวงการเฉกเช่นฮีโร่ในดวงใจ และก็เหมือนคนทำหนังรุ่นราวเดียวกันอีกมากมาย เบเกอร์เริ่มทำหนังโฮมเมดด้วยกล้อง Super 8 พอเข้าไฮสคูลก็กลายเป็นตากล้องถ่ายวิดีโอรุ่น ก่อนจะเลือกเรียนเอกภาพยนตร์เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
ระหว่างนั้น รสนิยมการดูหนังของเบเกอร์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป หันเหไปชมชอบคนทำหนังนอกกระแสอย่าง สไปค์ ลี, จิม จามูสช์, เค็น โลช, ไมค์ ลีห์ สนใจการเล่าเรื่องเรียบง่ายในชีวิตประจำวันของคนธรรมดา กระทั่งเรียนจบหมาดๆ เบเกอร์ตระหนักแล้วว่าหนังเรื่องแรกของตนเองคงไม่มีทางเป็นอะไรแบบ Die Hard การปันใจรักหนังอินดี้ได้นำเขาไปสู่เส้นทางอีกสาย พลางตั้งเป้าหมายทำนองว่า “สไปค์ ลี ทำหนังเรื่องแรกตอนอายุยี่สิบเจ็ด งั้นผมอยากเอาชนะ สไปค์ ลี ผมจะทำหนังเรื่องแรกตอนยี่สิบห้า”

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
หากมีอะไรสักอย่างที่แสดงถึงความแน่วแน่ ก็คงเป็นการที่เบเกอร์สัญญากับตัวเองว่าจะทำงานเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เสมอ ต่อให้อยู่ห่างคนละโยชน์ เช่น ตัดต่อวิดีโองานแต่ง เบเกอร์ขอแค่ได้ทำอะไรที่ข้องเกี่ยวเพื่อฝึกฝีมือไปเรื่อยๆ รอวันที่พร้อมได้ทำหนัง แม้กระทั่งปั๊มหนังเถื่อนขายเพื่อหารายได้ “ซึ่งหลายครั้งผมรู้แก่ใจว่า นี่มันค้าประเวณีฉบับวงการหนังชัดๆ” เจ้าตัวสารภาพ
สุดท้าย เบเกอร์ได้งานถ่ายโฆษณาในบริษัทสิ่งพิมพ์และสามารถเก็บเงินก้อนจำนวน 50,000 ดอลลาร์สำหรับสร้างหนังยาวเรื่องแรกชื่อ “Four Letter Words” พร้อมประเดิมร่วมงานกับ การ์เร็น การากูเลียน นักแสดงชาวอาร์เมเนียน-อเมริกันซึ่งกลายเป็นคนคู่บุญทำงานด้วยกัน 9 เรื่องจวบจนปัจจุบันซึ่งประสบความสำเร็จถึงไหนต่อไหน แต่สำหรับหนังเรื่องแรก มันคือการลองผิดลองถูกของเบเกอร์ เริ่มด้วยหัวข้อง่ายๆ ที่ตนคุ้นเคย นั่นคือนำเรื่องส่วนตัวมาเขียนบทเกี่ยวกับชีวิตหนุ่มวัยรุ่นชานเมือง ถ่ายเสร็จก็พยายามปลุกปล้ำในขั้นตอนตัดต่อ ซึ่งแรกๆ ออกจะยุ่งเหยิง หนังถูกแช่อีกเป็นปี
อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญจริงๆ ที่ฉุดรั้งในตอนนั้นไม่ใช่ทักษะทำหนัง แต่เป็นเพราะเบเกอร์ติดยาอย่างรุนแรง พาให้หนังก็ไม่เสร็จ แถมถูกไล่ออกจากการคุมงานซีรีส์คอเมดี้ Greg the Bunny นั่นเป็นช่วงตกต่ำที่สุดของเขา จวนจะเสียคน ต้องต่อสู้กับตัวเองอย่างหนักกว่าจะกลับมาตั้งสติได้อีกครั้ง
“ปีนั้นทั้งปี ผมต้องไปอยู่บ้านพ่อแม่” เขากล่าว “อายุผมปาไปยี่สิบแปด ดองหนังห่วยๆ เอาไว้เรื่องนึง ส่วนเพื่อนฝูงไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว ผมยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยจริงๆ”
หลังจากชะล้างอาการเสพติด เบเกอร์ตัดสินใจกลับไปเรียนใหม่เพื่องานตัดต่อโดยเฉพาะขณะที่ยุคนั้นกำลังเปลี่ยนผ่านจากฟิล์มสู่ดิจิทัล ส่วนโปรดักชั่น Greg the Bunny ก็ยินดีอ้าแขนรับเขากลับไป ชีวิตค่อยๆ กลับมาเข้าที่เข้าทาง แถมโชคดีได้รู้จักกับโปรดิวเซอร์หญิง โซว ชิห์ ชิง ที่ประทับใจหนังของเบเกอร์ เธอกลายเป็นพาร์ทเนอร์ที่ล่มหัวจมท้ายช่วยโปรดิวซ์งานกำกับของเขาไปอีก 5 เรื่อง
ในที่สุด เบเกอร์ใช้เวลา 4 ปีทำหนังเรื่องแรก Four Letter Words (2000) เสร็จสมบูรณ์จนพอใจ แล้วสามารถส่งฉายเทศกาล South by Southwest “ผมนี่แบบ ‘ว้าว อยู่ๆ หนังที่เราทำเมื่อสี่ปีก่อนก็ดีพอได้ฉายที่เซาธ์บายแล้วเว้ย พอใจล่ะ’ ผมเลิกยาสำเร็จ ชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ ถึง Four Letter Words จะไม่ได้ช่วยเปิดประตูโอกาสอะไร แต่ก็รู้สึกดีที่มันได้ฉายซะที”
การเดินทางก้าวแรกของเบเกอร์ได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
ทีนี้ คำถามถัดมาก็คือ “เอาไงต่อ?” เบเกอร์ไม่มีเงินก้อนสำหรับหนังเรื่องที่สอง ไม่มีใครให้ทุน มีเพียงสาวโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่อยากทำหนังด้วยกัน บังเอิญช่วงก่อนหน้านั้นเกิดการเคลื่อนไหวในการวงการภาพยนตร์เดนมาร์กที่เรียกว่า “Dogme 95” ซึ่งมีผู้กำกับ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ และ โธมัส วินเทอร์เบิร์ก เป็นตัวตั้งตัวตี สนับสนุนการทำหนังเล็กๆ ซึ่งเน้นไปที่คุณค่าเนื้อหาสาระโดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์แพงๆ หรือใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ คล้ายมีเสียงกระซิบจูงใจเบเกอร์ว่า “เฮ้ เราไม่ต้องการเงินมากมาย ขอแค่มีกล้องวิดีโอสักตัวก็ถ่ายหนังได้แล้ว”
ฉะนั้น สิ่งที่เบเกอร์ทำก็คือคว้ากล้อง MiniDV และควักเงิน 3,000 เหรียญเพื่อทำหนังเรื่องที่สอง “นี่คือจุดที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง” เจ้าตัวกล่าว “เพราะไม่เพียงนำเราสู่เส้นทางเสาะสำรวจเรื่องราวหัวข้อใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่คุ้นเคย อย่างได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิต สังคม ประเด็นการเมืองแบบอื่นๆ แต่มันยังมอบอิสระให้เราเข้าถึงความเป็น ‘อินดีเพนเดนท์’ จริงๆ”
กลายมาเป็นหนังที่ชื่อว่า Take Out (2004) งานดราม่าซ้อนทับชีวิตจริงเล่าเรื่องกิจวัตรของคนส่งอาหารชาวจีนที่อาศัยในนิวยอร์กโดยไม่มีเอกสาร ต้องพยายามหาเงินจ่ายหนี้นอกระบบที่ใช้พาตัวเองลักลอบเข้าเมือง งานนี้เป็นความบังเอิญที่เบเกอร์กำลังอาศัยอยู่ตึกเดียวกับร้านอาหารจีนในนิวยอร์กแล้วมีโอกาสรู้จักพนักงานส่งอาหารคนหนึ่ง เกิดไอเดียส่องชีวิตชาวนิวยอร์กผ่านสายตาคนส่งอาหาร ได้เห็นโลกใบอื่นๆ ชั่วครู่ผ่านทุกๆ ห้องที่แง้มประตูรับหีบห่อของกิน ไปพร้อมกับสำรวจสภาพการใช้ชีวิตของตัวเอกซึ่งเป็นผู้อพยพ คอยหลบอยู่ใต้เรดาร์ของทางการ
สำหรับทุน 3,000 ดอลลาร์ เบเกอร์ถ่ายเรื่องนี้โดยมีทีมงานหลักๆ เพียง 2 คน ซึ่งคือตัวเขาและโซว คอยถือกล้องตามถ่าย ชาร์ลส์ จาง ตัวเอกที่เป็นคนส่งอาหารจริงๆ เสมือนกึ่งสารคดีที่แม้กำหนดทิศทางสคริปต์ แต่ภาพที่บันทึกมานั้นคือสถานการณ์จริงที่สุดแล้วแต่จะเกิดเป็นช่วงเวลาต่างๆ โดยอาศัยผู้คนบนท้องถนนเป็นตัวประกอบที่ไม่ต้องเสียเงินจ้าง ส่วนบางครั้งคนเป็นพระเอกก็ต้องช่วยทำหน้าที่เป็นทีมงานคนที่สาม
“ค่าใช้จ่ายจริงๆ ของเรามีแค่ค่าอาหาร ค่ารถใต้ดิน ค่าฮาร์ดไดรฟ์ และค่าวิดีโอเทปเปล่า” เบเกอร์อธิบาย “ด้วยเงินสามพัน เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย นอกจากปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปและตามถ่ายเอาไว้ แต่เราก็มีนักแสดงที่กำลังสวมบทบาท เป็นกึ่งจริงกึ่งแสดงอยู่ตลอด เรามักเก็บภาพลูกค้าที่เข้าไปสั่งอาหารที่ร้าน ตั้งกล้องไว้ด้านหลัง พวกเขาไม่ค่อยรู้ตัวหรอก นักแสดงก็โต้ตอบกับพวกเขาไป พวกเขามารู้ตัวก็ตอนที่เราวิ่งตามหลังพวกเขาบนทางเท้าเพื่อบอกว่า ‘เรากำลังทำหนังอินดี้เรื่องนึงครับ เราอยากให้คุณช่วยเซ็นสัญญาอนุญาตให้เผยแพร่เพื่อที่เราจะใส่คุณไว้ในหนังได้ครับ’ ”
งานนี้ถือเป็นการยกระดับอีกขั้น เมื่อเบเกอร์สามารถส่ง Take Out ฉายในเทศกาลฝั่งยุโรป มีโอกาสได้เดินทางออกนอกประเทศ ลำพังพาหนังไปฉายยังเมืองฟริบูร์ก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็รู้สึกเนื้อเต้น แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ได้ตระหนักว่าตนเองยังต้องเรียนรู้กลไกเทศกาลหนัง โดยเฉพาะวิธีเลือกเฟ้นรอบพรีเมียร์ในงานใหญ่ๆ เพื่อสร้างความสนใจ กวักมือเรียกผู้จัดจำหน่ายนำไปส่งฉายโรง เพราะบางครั้ง หนังดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้กลยุทธ์นำเสนอ

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
“สมัยนั้นเราแค่กางแผ่นพับดูรายชื่อเทศกาลหนังนานาชาติแล้วก็จิ้มเลือก พอเห็นชื่อ ฟริบูร์ก ก็คิดว่าน่าสนุกดี” เบเกอร์บรรยาย “ตอนเราไปถึงที่นั่น ผู้คนบอกว่า ‘หนังของคุณใช้ได้เลยนะ แต่ทำไมคุณไม่ไปฉายที่เบอร์ลินล่ะ’ เราเลยบอก ‘เราไม่ได้คิดไว้เลย’ พวกเขาก็ตกใจแบบ ‘อะไรนะ!?’ ถึงจุดนั้น ผมรู้ซึ้งแล้วว่าต้องเข้าใจวงจรเทศกาลหนังให้ดี ผมบอกกับตัวเองว่า ‘จากนี้ เราจะยังไม่ทำหนังเรื่องต่อไปหากยังไม่เจอลู่ทางฉายมันให้ได้เสียก่อน’ ”
มีผู้จัดจำหน่ายรายย่อยรับ Take Out ไปฉาย แต่ทีแรกการเงินพวกเขาสะดุด หนังถูกดองไปอีก 3 ปีกว่า กระทั่งได้ฉายจำกัดโรงแคบของแคบจำนวน 1-2 โรงในปี 2008 หนังทำเงินได้ราว 69,000 ดอลลาร์
แม้ผลงานยังไม่อาจพาเขาก้าวไปไหน เบเกอร์ก็เริ่มค้นพบแนวทางตัวเอง เรื่องราวของผู้คนรากหญ้า ชายขอบ ซอกหลืบสังคม เล่าเรียบง่ายในรูปแบบกิจวัตรประจำวัน ถ่ายทำแบบสายสตรีท เน้นอิสระ ปล่อยไหลไปตามสถานการณ์ หาแคสต์นักแสดงบนท้องถนน มีทุนแค่ไหนแค่นั้น นั่นคือช่วงเวลาที่เขากำลังมั่นใจ ชีวิตกลับมาเข้าที่เข้าทาง มีงานถ่ายซีรีส์เป็นรายได้หลัก เบเกอร์ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินไปอีก 1 ปีสำหรับทุนทำหนังเรื่องที่สาม
เขากลับมาด้วยงานที่ชื่อว่า Prince of Broadway (2008) พร้อมควักทุนเองอีกครั้งด้วยงบ 46,000 ดอลลาร์ เล่าเรื่องของผู้อพยพจากกานาที่หากินด้วยการขายแบรนด์เนมปลอมแล้วอยู่ๆ ก็รับรู้ว่าตัวเองมีลูกชายแบเบาะ คราวนี้สิ่งที่ท้าทายที่สุดในกระบวนการก็คือต้องตามจีบนักแสดงนำที่ใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ ให้ยอมตกลงเล่น
“เราใช้เวลาเดือนแล้วเดือนเล่าในย่านนั้นเพื่อพยายามชนะใจผู้อพยพแอฟริกันซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเอกสาร” ผู้กำกับอธิบาย “หากเราทำตัวเหมือนตำรวจหรือนักข่าวตามตื๊อ พวกเขาคงไม่มีทางให้เราเข้าไปยุ่งด้วย และในระหว่างที่ตระเวนสัมภาษณ์พูดคุยในชุมชน ทุกคนก็พูดถึงผู้ชายที่ชื่อ ปรินซ์ ซึ่งยินดีร่วมงานกับเรา เพราะเขาอยากเป็นดารา พอได้เจอกัน เขาบอกผมว่า ‘ถ้าคุณให้ผมเป็นพระเอก ผมจะพาคุณท่องวิถีชีวิตคนแอฟริกันจริงๆ ในแมนฮัตตัน ผมจะช่วยคุณหานักแสดง หาโลเคชั่น ทุกอย่างเลย’ วันนั้นผมกลับออกมาพลางคิดในใจ ‘โห นี่มันอัศจรรย์ ได้เจอคนที่ยินดีร่วมงานกับเราขนาดนี้’ ”
เบเกอร์มั่นใจกับ Prince of Broadway ถึงขนาดเสี่ยงไปอีกขั้น เพราะไม่เพียงควักเงิกทำหนังเอง เขายังลงเงินอีก 100,000 ดอลลาร์เพื่อส่งฉายโรง รวมถึงลงโฆษณาโปรโมต แม้รู้ว่าบ้าสุดโต่งที่ลงทุนมากมายก่ายกอง ทว่าเบเกอร์เชื่อเป็นมั่นเป็นเหมาะหลังจากหนังไปได้สวยตามเทศกาล มีคิวฉายตามโรงหนังใหญ่ๆ นี่คงเป็นโอกาสสร้างชื่อซะที
“แต่ผมคิดผิดถนัด” เจ้าตัวยอมรับ

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
Prince of Broadway ที่ลงทุนรวมๆ เกือบ 150,000 ดอลลาร์ มีรายรับกลับมาเพียง 28,000 เป็นการลงทุนที่เลวร้าย “ตกต่ำจริงๆ” เบเกอร์เปิดใจ “ผมกลับไปสูบบุหรี่อีกรอบ ในใจคิดว่า ‘แม่ง เหลือจะเชื่อ ทั้งที่ทุ่มเทเวลาและความพยายามขนาดนี้ ไปไม่ถึงไหนเลย’ ผมย่ำอยู่กับที่ ใช้เงินหมดเกลี้ยงไม่เหลือ คิดจริงๆ นะว่านั่นคือจุดจบอาชีพการทำหนังของผม”
กระนั้น ในเรื่องร้ายยังมีแง่มุมดีๆ ความพยายามของเบเกอร์ไม่ได้เสียเปล่า หนังอาจล้มเหลวรายรับ แต่การลงทุนฉายวงกว้างก็ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้น มีนักวิจารณ์หลายรายเขียนรีวิวชื่นชม ตลอดจนได้เข้าชิงรางวัลสายอินดี้ที่มีความบังเอิญเกิดขึ้นในเวทีใหญ่ Independent Spirit Award ปี 2008 เมื่อเบเกอร์มีหนังเข้าชิงพร้อมกัน 2 เรื่อง
ประเด็นคือผลงานก่อนหน้าอย่าง Take Out ที่ถูกดอง 3 ปีนั้นดันได้ฉายโรงปีเดียวกับ Prince of Broadway แล้วก็ได้ชิงสาขาเดียวกัน ผู้คนพากันชื่นชมเบเกอร์ที่ท็อปฟอร์ม มีงานสองต่อ สื่อบางสำนักถึงกับเขียนบทความจั่วหัวเท่ๆ ทำนอง “Sean Baker: One-Two Punch!” หารู้ไม่ เรื่องหนึ่งถูกดองอยู่ 3 ปีจนมาฉายไล่เลี่ยกับอีกเรื่องที่เพิ่งทำเสร็จ “แต่ผมก็เออออ ตามน้ำไปกับเขา” เจ้าตัวเผย
กลับกลายเป็นว่าด้วยคะแนนวิจารณ์ดีเยี่ยมและการชิงชัยรางวัลของ Prince of Broadway ช่วยดึงดูดนักลงทุนที่เสนอเงินให้เบเกอร์ทำหนังเรื่องต่อไปด้วยทุน 250,000 ดอลลาร์ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาไม่ต้องควักเนื้อเพื่อทำหนังของตัวเอง แถมได้นักแสดงสาว ดรี เฮมิงเวย์ ผู้เป็นลูกของ มาเรียล เฮมิงเวย์ และเหลนของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เสนอตัวรับบทนำเพราะประทับใจ Prince of Broadway
“สุดท้าย ไอ้การเสี่ยงลงทุนบ้าๆ ของผมก็ผลิดอกออกผลด้วยวิธีแปลกๆ” เบเกอร์กล่าว
คราวนี้ Starlet (2012) ที่ว่าด้วยมิตรภาพต่างวัยระหว่างหญิงชรากับสาวรุ่น ดูมีสิทธิ์เป็นผลงานเชิดหน้าชูตาหลังจากกลับเข้าชิงเวที Independent Spirit Award อีกครั้งแถมคว้า 1 สาขา การเปิดตัวที่เทศกาล South by Southwest ก็ราบรื่น ผู้คนคุ้นชื่อของเบเกอร์อย่างดีแล้ว ทำเอาเจ้าตัวอดฝันไม่ได้อีกครั้ง “นี่คงเป็นหนังที่เปิดประตูทุกบานซะที”
แต่ก็ยังคงได้แค่ฝัน ด้วยเหตุที่มีฉากเซ็กซ์โจ๋งครึ่ม ส่งผลให้ Starlet ถูกจัดเรต NC-17 และไม่ค่อยดึงดูดนายทุนหรือผู้จัดจำหน่ายสักเท่าไหร่ ช่วงนั้นหนังเก็บยอดฉายโรงได้ราว 146,000 ดอลลาร์ ไม่มีใครทำเงินจากงานนี้ ถึงขนาดเบเกอร์ยอมรับในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2022 ว่าหนังเรื่องนี้เพิ่งถึงจุดคุ้มทุนไม่กี่เดือนก่อนหน้า “แล้วคิดดู เราทำหนังเรื่องนี้ในปี 2012 โน่นแน่ะ”
ภาพที่วาดฝันไว้ว่าเรื่องถัดไปคงได้ทุนสัก 15 ล้านหรืออย่างต่ำ 2.5 ล้าน มีอันพังทลาย เบเกอร์หาทุนก้อนไม่ได้ “ตอนนั้นอายุอานามผมสี่สิบแล้ว” เขากล่าว “ยังต้องขอยืมเงินพ่อแม่อยู่ตั้ง 3 เดือน นี่เป็นก้าวถอยหลังจริงๆ ผมรู้สึกแย่มากๆ ไปต่อไม่ถูก”
แต่ความหวังยังไม่มอดดับ สิ่งที่เขาทุ่มเทลงไปให้กับศิลปะภาพยนตร์นั้นยังมีผู้คนมองเห็น วันดีคืนดี ดาวดังสายอินดี้อย่าง มาร์ค ดูพลาสส์ ก็หยิบยื่นเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ให้ทำหนัง เบเกอร์ไม่ถึงกับออกอาการลิงโลด ใจหนึ่งรู้สึกว่าทุนลดน้อยต่ำลง วนอยู่กับที่ไม่ไปไหน ส่วนอีกใจก็ครุ่นคิดไม่ตก จะทำหนังยาวยังไงกับเงินแสนเหรียญ ชั่ววูบหนึ่ง เบเกอร์ก็คิดขึ้นมาว่า “งั้นถ่ายด้วยไอโฟนละกันวะ”

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
ณ เทศกาลซันแดนซ์ 2015 ได้เกิดเสียงอื้ออึงถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ถ่ายด้วยไอโฟนทั้งเรื่องก่อนจะเป็นกระแสฮือฮาต่อเนื่องอีกหลายระลอก หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า Tangerine (2015) คอเมดี้วายป่วงตามติดโสเภณีข้ามเพศที่จับได้ว่าแฟนหนุ่มแอบนอกใจ นำไปสู่ความอลหม่านซ่องแตกในคืนคริสต์มาส นี่คือก้าวสำคัญที่ส่งเบเกอร์กลับไปอยู่ในจุดที่มีความหวังอีกครั้ง
อันที่จริงเขาไม่ได้คาดคิดไว้เลยว่าลำพังการถ่ายด้วยไอโฟน 5s จะเป็นตัวเรียกกระแส เพราะเหตุผลดั้งเดิมที่ถ่ายด้วยไอโฟนไม่ใช่เชิงโฆษณา แต่เพราะแค่อยากประหยัดงบจำกัดจำเขี่ย “เพราะนี่เป็นทางเดียวที่พวกเราจะยังพอได้เงินติดกระเป๋าสักคนละห้าพัน” ผู้กำกับแถลงไข “เหตุผลที่ถ่ายด้วยไอโฟนมีแค่นี้จริงๆ”
อีกทั้งเบเกอร์คาดการณ์ไว้ว่าปีนั้นคงไม่ได้มีแค่หนังของเขาเรื่องเดียวที่ถ่ายด้วยไอโฟน เพราะการมาของเทคโนโลยีอุปกรณ์ใหม่ๆ คุณภาพกล้องโทรศัพท์ที่สามารถถ่ายภาพ HD พร้อมแอปพลิเคชั่นสนับสนุนดีๆ ถือเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสม คงมีอีกหลายคนริเริ่มทำ “แปลกมากตรงที่ผมคิดผิด” เจ้าตัวกล่าว “ผมไปซันแดนซ์ปีนั้น ปักใจเชื่อว่าคงมีอีกหลายเรื่องทำแบบเรา แต่ปรากฏว่ามีเราเพียงเรื่องเดียวที่ถ่ายด้วยไอโฟน แถมยิ่งฮือฮาเพราะนำเสนอตัวละครที่เป็นทรานส์”
ต้องขอบคุณงานเรื่องก่อนอย่าง Starlet ซึ่งมีตัวละครเอกเป็น Sex Worker นำพาให้เบเกอร์สนอกสนใจเสาะสำรวจอาชีพผู้ค้าบริการทางเพศอย่างจริงจัง ศึกษาทำความเข้าใจ รับรู้สภาพความเป็นจริง และได้ผูกมิตรกับผู้คนแวดวงนี้ ส่งอิทธิพลให้การทำหนัง 5 เรื่องหลังสุดของเขามีตัวละครเป็น Sex Worker ทั้งสิ้น
Tangerine กลายเป็นผลงานที่กวาดความสำเร็จล้นหลามที่สุดของเบเกอร์ ณ เวลานั้น ด้วยรายรับ 840,000 ดอลลาร์และการเข้าชิงเวทีรางวัลกว่า 40 สถาบัน หากเทียบมาตรฐานเมนสตรีมฮอลลีวูด ตัวเลขนี้ถือว่าเล็กจ้อยน้อยนิด แต่สำหรับคนทำหนังอินดี้ที่ไม่เคยสัมผัสเงินหลักล้าน นับเป็นผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง
ในที่สุด เบเกอร์สามารถหางบ 2 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นทุนทำ The Florida Project (2017) โครงการที่เขาตั้งใจสานก่อนหน้านั้น 3-4 ปีแต่ไม่มีใครให้เงิน ประเด็นหนังยังคงเกาะติดชีวิตคนชายขอบ เล่าเรื่องชนชั้นรากหญ้าแห่งชุมชนโมเต็ลซึ่งถูกบดบังอยู่ใต้เงาของสวนสนุกใหญ่ยักษ์อย่างดิสนีย์แลนด์ มีหลายองค์ประกอบที่บ่งบอกการยกระดับของเบเกอร์ หนังได้จัดจำหน่ายโดยค่าย A24 ได้ดาวดัง วิลเล็ม เดโฟ มาร่วมแสดง และแน่นอน ได้ทำหนังทุนหลักล้านเสียที

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
คราวนี้ความสำเร็จยิ่งเพิ่มพูน The Florida Project ทำเงินได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์ พลางติดโผเข้าชิงรางวัลเวทีใหญ่ทั้งออสการ์, บาฟตา, ชมรมนักวิจารณ์, ลูกโลกทองคำ ตลอดจนเวทีสายอินดี้และเทศกาลเมืองคานส์ นี่คือช่วงเวลาที่เบเกอร์ตั้งตารอ เขาหวังไว้ว่าเรื่องหน้าคงได้อัพเกรดมีทุนสัก 10-15 ล้าน วางโปรเจกต์เอาไว้พร้อมสรรพ อยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนติดยา มีความเป็นส่วนตัว ดึงเอาประสบการณ์ชีวิตมาถ่ายทอด
แต่… มันต้องมีคำว่า ‘แต่’ เสมอสำหรับเบเกอร์ ระหว่างเดินเรื่องขออนุมัติทุนหนังใหม่ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงโควิดระบาดหนัก แผนการพัง ไม่มีใครให้เงิน ต้องยอมถอยไปทำโปรเจกต์อื่นและได้งบเต็มที่ 1.1 ล้านดอลลาร์ “ผมขอเพิ่มไม่ได้แม้แต่เซ็นต์เดียว” เบเกอร์ยืนยัน “รู้สึกเซ็งมาก” ซึ่งแน่นอนว่าเขายอมรับทุนก้อนนั้นไปทำหนังอยู่ดี
“ผมเคยคิดว่าการมีทุนที่เยอะขึ้นจะทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น” เขาว่าต่อ “แต่ผมได้เรียนรู้ว่าต่อให้มีทุนเท่าไหร่ เราก็รู้สึกว่าเงินมันไม่เคยพอ ถึงปัจจัยต่างๆ จะตึงมือ แค่เรารู้จักรับผิดชอบ คุมให้ทุกอย่างอยู่ในงบ”
ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เบเกอร์สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อ Red Rocket (2021) ว่าด้วยพระเอกหนังโป๊ตกอับ ระเห็จกลับบ้าน กระเสือกกระสนหมายจะคัมแบ็กวงการ คราวนี้หนังได้ชิงปาล์มทองคำเมืองคานส์ พร้อมส่งให้อดีตพระเอก Scary Movie อย่าง ไซมอน เร็กซ์ ติดโผลุ้นรางวัลมากมายด้วยฝีมือเล่นดราม่า แต่เหนืออื่นใด ทุกคนได้ตระหนักว่า ฌอน เบเกอร์ คือผู้กำกับที่คุณภาพคงเส้นคงวา หนำซ้ำยังหาลูกเล่นใหม่ๆ ประเคนผู้ชมเสมอ
กล่าวได้ว่าในความล้มลุกคลุกคลาน สิ่งที่เบเกอร์ได้สั่งสมอยู่ตลอดก็คือประสบการณ์ หนังทุกเรื่องที่ทำได้มอบการเรียนรู้บางอย่าง บ่มเพาะเขาให้เฉียบคมกับเนื้อหานำเสนอ ยืดหยุ่นปรับตัวกับการทำหนังทุนต่ำรัดกุม รู้วิธีงัดศักยภาพนักแสดงโนเนมหรือคนที่ไม่ใช่มืออาชีพ กำกับเอง เขียนบทเอง ตัดต่อเอง หลายปีที่ย่ำอยู่กับที่ หมดเงินไปมากโขกับอาชีพทำหนัง มันไม่ได้เสียเปล่าเลย
กระนั้น นี่คือความจริงของคนทำหนังอิสระ เส้นทางขรุขระเสมอ ต่อให้เป็นระดับเบเกอร์ที่พิสูจน์ตัวมาไม่น้อยก็ยังต้องดิ้นรนทุกครั้งในยามทำหนังเรื่องใหม่ๆ หนำซ้ำ ตลอด 3 ทศวรรษในสายอินดี้ กว่าจะอยู่ในจุดที่การเงินมั่นคง ไม่ต้องรู้สึกพะวงเรื่องปากท้องอยู่ตลอด ก็ปาไปตอนอายุเกือบจะห้าสิบ หรือพูดได้ว่าเรื่องราวดิ้นรนในหนังของเขาก็สะท้อนการดิ้นรนของเขาเอง

ภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies
ในที่สุด การดั้นด้นทำหนังอิสระทุนน้อยๆ อย่างไม่ทดท้อได้นำพาเบเกอร์ไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กับ Anora ถูกมองเป็นหมุดหมายชัยชนะของสายอินดี้ แต่ทว่า การเฉลิมฉลองอาจไม่ได้สำคัญไปกว่าการฉวยโอกาสใช้พื้นที่ที่คนหมู่มากให้ความสนใจเพื่อพูดสิ่งที่ต้องพูด เมื่อความน่าประทับใจภายใต้ชัยชนะของ Anora จริงๆ นั้นคือการที่เบเกอร์เป็นกระบอกเสียงบอกเล่าชะตากรรมแวดวงหนังอิสระ บรรดาคนทำหนังตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครมองเห็น ไม่ได้โชคดีก้าวขึ้นมาสู่พื้นผิว อุทิศตัวทำงานสร้างสรรค์แต่ผลตอบแทนไม่พอยาไส้ เบเกอร์ที่เคยประสบพบเจอมาหมดแล้วรู้ซึ้งดีว่าเป็นอย่างไร
ซึ่งก็เหมือนกับเนื้อหาในหนังของเขาที่เจาะจงฉายแสงไปยังเรื่องราวกลุ่มคนชายขอบซึ่งไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับรู้การมีตัวตน อาศัยโทนคอเมดี้ฉาบความสนุกสนานเฮฮาแต่สอดไส้รสขมของโลกความเป็นจริงที่ไม่สวยหรู ปราศจากเทพนิยาย ด้วยความหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิม ให้ดีกว่าการมีเรื่องราวสู้ชีวิตของนักทำหนังที่รอดมาได้เพียงคนเดียวท่ามกลางเพื่อนร่วมอุดมการณ์นับร้อยนับพันที่อยู่ในเงามืดเบื้องหลัง
และแน่นอน หลังจาก 30 ปีที่รอนแรม การเดินทางของ ฌอน เบเกอร์ ในการอุทิศตัวสร้างสรรค์และเชิดชูคุณค่าของภาพยนตร์ (ซึ่งไม่อาจถูกนิยามด้วยปริมาณเม็ดเงินหรือชื่อเสียง) ยังไม่ได้จบลงเท่านี้
ขอบคุณภาพจาก : อินสตาแกรม @bakermovies, เฟซบุ๊ก The Academy
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่