จากมี มิลลี่ อัลค็อก เป็นไม้แรกนำร่องหว่านเสน่ห์ให้ผู้ชมยอมรับตัวละครเมื่อวัยเด็ก ภารกิจแรกสำหรับเอ็มม่าคงเป็นการสร้างความรู้สึกที่ต่อเนื่องเมื่อดำเนินสู่อีกวัย ถึงแม้นักแสดงเปลี่ยนคน ก็ไม่ทำให้ตะขิดตะขวงมากนัก รับรู้ได้ว่ายังคงเป็นเรนีร่าคนเดิม
แต่ขณะเดียวกัน ในเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา ก็ต้องถ่ายทอดให้เห็นว่าคนคนเดิมนั้นมีบางสิ่งเปลี่ยนไปแล้ว บางอย่างที่คนดูต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตัวละครกันใหม่ วุฒิภาวะ ระดับความจริงจังที่เพิ่มขึ้น และเหนืออื่นใด คือการขยายให้เห็นบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในเกมการเมืองแบบเวสเตอรอส ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการอุ้มท้องและให้กำเนิดทายาท
แม้ว่า House of the Dragon จงใจทำฉากคลอดลูกให้เห็นจังๆ เยอะเป็นพิเศษจนชวนหวาดเสียวหรือกระอักกระอ่วนไปบ้าง แต่นั่นเองประเด็น การเน้นย้ำชะตากรรมของผู้หญิงในระบบนี้ที่การสืบสายเลือด คงไว้ซึ่งวงศ์ตระกูลสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด ทีนี้เอง การคลอดจึงดุเดือดไม่แพ้การทำสงครามของบุรุษ โอกาสเป็นตายพอกัน เพื่อเป้าหมายแล้ว ผู้หญิงต้องยอมสละทุกอย่างจนดูไม่ต่างกับเครื่องสังเวย และด้วยการแสดงของเอ็มม่านี่เองที่ช่วยตอกย้ำให้เข้าใจถึงมุมมองเหล่านั้น การบอกเล่าสภาพอารมณ์ของเรนีร่าซึ่งอยู่ใจกลางวงจร
นับเป็นอีกหนึ่งการแคสต์ที่ยอดเยี่ยม นักแสดงชาวอังกฤษวัยสามสิบที่ยังไม่ขึ้นชื่อมากนักในระดับเมนสตรีม ทว่าก่อนนั้นสั่งสมประสบการณ์มาไม่น้อยทั้งจากฟากละครเวทีและซีรีส์ผ่านคาแร็คเตอร์ที่หลากหลาย และเดิมที เอ็มม่าไม่เคยดู Game of Thrones ด้วยซ้ำ แต่นั่นก็อาจเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ไม่รู้สึกกดดันเกินไปและเป็นธรรมชาติได้มากกว่า
เอ็มม่ามองว่าเอกลักษณ์ของคนตระกูลทาร์แกเรียนก็คือมีเพลิงสุมในใจ พร้อมจะปะทุ แต่กับเรนีร่าในวัยผู้ใหญ่ที่ได้เรียนรู้จะควบคุม ไม่วู่วาม พยายามคงอารมณ์ให้อยู่ตรงกลาง ไม่ให้อริเห็นความอ่อนแอหรือเกรี้ยวกราด ต่อให้เผชิญความสูญเสียอย่างหนักก็ตาม นั่นเป็นวิธีที่นักแสดงนอนไบนารี่คนนี้จับจุดตัวละคร อาศัยสมาธิและพละกำลังบ่งบอกร่องรอยความรู้สึกที่ไม่มีการอธิบายเป็นคำพูด
จนกระทั่งฉากสุดท้ายนั่นเองยิ่งย้ำเตือนว่าเอ็มม่าทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ยังคงถ่ายทอดจากภายใน คนดูได้เห็นสีหน้าของเรนีร่าที่เปลี่ยนแปลงเพียงน้อยทว่าสัมผัสถึงอารมณ์ซึ่งท่วมท้นจิตใจ เพียงเท่านั้นก็เป็นที่รับทราบแล้วว่า จากนี้ไป เหล่ามังกรจะได้ออกเริงระบำ