รีวิวหนัง Pacific Rim ว่าด้วยงานดีไซน์ เยเกอร์ & ไคจู

Vintage Motion

เพจหนังที่บอกเล่าเกร็ดภาพยนตร์ ความเป็นมา รวมถึงชีวิตนักแสดง ทีมงาน เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการสร้างสรรค์บ่มเพาะใดๆ ล้วนแล้วผ่านอุปสรรค

          ว่าด้วยงานดีไซน์ เยเกอร์ & ไคจู ใน Pacific Rim
รีวิวหนัง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pacific Rim

          หากได้ชื่อว่าเป็นผลงานของผู้กำกับ กีเยอร์โม เดล โทโร ก็แน่ใจได้เลยว่างานออกแบบตัวละครในจินตนาการของเขาจะต้องโดดเด่น น่าจดจำ ซึ่งกับหนังหุ่นเหล็กปะทะสัตว์ประหลาดอย่าง Pacific Rim (2013) ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แถมเบื้องหลังการทำงานแทบฟังดูเป็นเรื่องน่าสนุกเลยทีเดียว
          เดล โทโรเผยว่า กว่าที่คนดูจะได้ยลรูปลักษณ์สุดเท่ของเยเกอร์ หรือความน่าเกรงขามของไคจูพวกนี้นั้น เดิมที เขาให้ศิลปิน 16 คนช่วยกันออกแบบไว้ฝั่งละเป็นร้อยตัว แล้วความบันเทิงเล็กๆ สำหรับทีมงานก็เริ่มต้นจากนั้น คือในแต่ละสัปดาห์ พวกเขาจะร่วมกันจัดโหวตตัวที่ไม่โดนใจออกไปเรื่อยๆ หรือที่ผู้กำกับนิยามว่าทำกันเป็นรายการ “American Idol” เลย
          ทีนี้ก็คัดแล้วคัดอีกจนเหลือเหล่าผู้ชนะที่ได้ปรากฏกายในหนัง จากนั้นนำแบบร่างส่งไปให้ทีมสเปเชียลเอฟเฟกต์ทางฝั่ง ILM สานต่อ อย่างจำลองแบบสามมิติ หรือสาธิตการเคลื่อนไหว (ที่ตลกก็คืออาร์ทไดเร็คเตอร์ของ ILM ดันบังเอิญชื่อ อเล็กซ์ “เยเกอร์” ซะด้วย)
รีวิวหนัง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pacific Rim

รีวิวหนัง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pacific Rim

รีวิวหนัง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pacific Rim

          ขณะเดียวกัน การดีไซน์เยเกอร์กับไคจูแต่ละตัวก็ล้วนแล้วมีที่มาที่ไป อาศัยแรงบันดาลใจต่างๆ แถมสอดแทรกการคารวะงานคลาสสิคในอดีต
          อย่างในรายของ ยิปซีแดนเจอร์ ซึ่งขับโดยตัวเอก เดล โทโรอยากให้มันมีความเป็นอเมริกันจ๋า ใส่ความเป็นนิวยอร์ก ซิตี้ ส่วนท่าเดินก็อ้างอิงตัวละครมือปืนในหนังเวสเทิร์น หรือจะเป็น เชอร์โนอัลฟา ของรัสเซียที่เดล โทโรนึกภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดินได้ นี่ยังไม่รวมตัวเจ๋งๆ แบบ สไตรเกอร์ยูเรก้า กับ คริมซันไทฟุน
          ส่วนฝ่ายไคจูจะยิ่งเน้นการคารวะมากกว่า เริ่มตั้งแต่เจ้า “ไนฟ์เฮ้ด” ไคจูตัวแรก นี่เป็นความตั้งใจอ้างอิงงานไคจูของญี่ปุ่นยุค 60 โดยตรง ให้ดูเผินๆ แล้วรู้สึกเหมือนใช้คนสวมชุด รูปร่างก็ออกแนวก็อดซิลล่า ขณะที่ “ลีเธอร์แบล็ก” ไคจูตัวตันที่สามารถปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น เดล โทโรนึกภาพของอันธพาลชอบชกต่อยที่ลงพุงแบบคนกินเบียร์ กระทั่งภายหลังได้ผสานไอเดียการเคลื่อนไหวของกอริลล่าจนให้ภาพความดุดัน บุกตะลุยไม่ยั้ง 
          และสำหรับไคจูที่เดล โทโรหมายมั่นให้เป็นตัวทีเด็ดก็คือ “โอตาชิ” ที่โผล่มาพร้อมกับลีเธอร์แบล็ก เขานิยามมันอย่างง่ายว่าเป็น “มีดพับสวิส” มีลูกเล่นเยอะ ทำผู้ชมทึ่งได้เรื่อยๆ ต่อให้ตายยากอยู่ทนยังไงก็ไม่น่าเบื่อ โดยส่วนหนึ่งไปได้แรงบันดาลใจจากตำนานมังกรของจีน 
รีวิวหนัง

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pacific Rim

          ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ถึงแม้หุ่นยนต์หรือสัตว์ประหลาดบางตัวมีซีนไม่มาก ไม่ได้ออกแอ็คชั่นสักเท่าไหร่ แต่สุดท้าย คนดูก็จดจำพวกมันได้ด้วยเอกลักษณ์บางอย่าง นั่นเองคือเหตุผลที่ว่าทำไมงานดีไซน์ในหนังของเดล โทโร ไม่เคยทำคนดูผิดหวัง
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก Pacific Rim
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รีวิวหนัง Pacific Rim ว่าด้วยงานดีไซน์ เยเกอร์ & ไคจู อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2566 เวลา 13:36:03 2,059 อ่าน
TOP