ย้ายข้างสลับฝั่ง มีประเทศไหนบ้าง ที่ย้ายข้างจากฝ่ายอักษะมาอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร
อย่างที่เรารู้ สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่ต่อสู้กันระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ
แต่มีประเด็นน่าสนใจคือ บางประเทศที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะนั้น ภายหลังได้เกิดย้ายข้างมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรแทน ซึ่งประเทศเหล่านี้ประกอบไปด้วย
1. โรมาเนีย
ในช่วงต้นของสงครามโลก โรมาเนียหรือที่ในตอนนั้นคือ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ได้ประกาศตัวเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรก็ตามในปี 1940 ด้วยอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก รวมถึงการที่กลุ่มฟาสซิสต์ที่เรียกว่า 'Iron Guard' เฟื่องฟูภายในประเทศ
ทำให้รัฐบาลโรมาเนียตัดสินใจลงนามสนธิสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact) ในเดือนพฤศจิกายน 1940 เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ
เมื่อนาซีเยอรมันเปิดศึกกับสหภาพโซเวียต โรมาเนียก็ได้ให้การสนับสนุนกับทางนาซีเยอรมัน
ในช่วงปี 1943 ถึง 1944 โรมาเนียถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตี รวมถึงกองทัพโซเวียตยังรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของโรมาเนีย กระแสความนิยมในรัฐบาลจึงตกต่ำ ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคม 1944 พระเจ้าไมเคิลที่ 1 (หรือมิไฮ ตามสำเนียงภาษาโรมาเนีย) ได้ทรงก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่สนับสนุนฝ่ายอักษะ
หลังจากนั้น โรมาเนียก็ย้ายข้างอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรจนจบสงคราม
2. บัลแกเรีย
เช่นเดียวกับโรมาเนีย ในช่วงแรกของสงคราม บัลแกเรียหรือราชอาณาจักรบัลแกเรียในตอนนั้น ก็ได้ประกาศตัวเป็นประเทศเป็นกลาง
อย่างไรก็ตาม บัลแกเรียมีความสัมพันธ์อันดีกับทางนาซีเยอรมันตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ส่วนหนึ่งที่ทำให้บัลแกเรียผูกมิตรกับเยอรมัน ก็เพราะเยอรมันเคยให้สัญญาว่า จะสนับสนุนบัลแกเรียในการยึดครองมาซิโดเนีย (Macedonia) และเทรซ (Thrace) ซึ่งเคยเป็นดินแดนของบัลแกเรียมาก่อน
ในเดือนมีนาคม 1941 บัลแกเรียลงนามสนธิสัญญาไตรภาคีเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ บัลแกเรียเข้าร่วมกับนาซีเยอรมันในการรุกรานยูโกสลาเวียกับกรีซ
สุดท้ายในปี 1944 ความอ่อนแอของนาซีเยอรมัน และการถูกกองทัพโซเวียตรุกราน ทำให้บัลแกเรียประกาศตัวเป็นกลางอีกครั้ง มีการขับไล่กองกำลังเยอรมัน ก่อนที่บัลแกเรียจะย้ายข้างอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรและประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมัน
3. ฟินแลนด์
ในปี 1939 นาซีเยอรมันกับสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ (Molotov–Ribbentrop Pact) เพื่อแบ่งเขตอิทธิพลของตนในยุโรป และให้สัญญาว่าจะไม่รุกรานระหว่างกัน (แต่สุดท้ายนาซีเยอรมันจะเป็นฝ่ายหักหลัง)
ผลพวงของสนธิสัญญา ทำให้สหภาพโซเวียตส่งกองทัพบุกฟินแลนด์ เพื่อยึดครองฟินแลนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของรัสเซียมาก่อน นำไปสู่สงครามฤดูหนาว (Winter War)
สงครามฤดูหนาวจบลงในปี 1940 โซเวียตเป็นฝ่ายชนะ ฟินแลนด์เสียดินแดนบางส่วนให้กับโซเวียต ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้ฟินแลนด์ตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมันเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต และทวงคืนดินแดนที่เสียไป
ฟินแลนด์ไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาไตรภาคีเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการ แต่ฟินแลนด์ลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลในปี 1941 แทน (Anti-Comintern Pact) ซึ่งชาติที่ลงนามในสนธิสัญญานี้ ส่วนใหญ่ก็คือชาติที่อยู่กับฝ่ายอักษะ
ในช่วงปี 1941 ถึง 1944 ฟินแลนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากนาซีเยอรมันและอิตาลี ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตในสงครามต่อเนื่อง (Continuation War) แต่ฟินแลนด์ก็แพ้ในสงครามนี้
ในเดือนสิงหาคม 1944 รัฐบาลใหม่ของฟินแลนด์ได้เจรจาลับกับสหภาพโซเวียต ก่อนที่ในเดือนถัดมา ฟินแลนด์จะยุติสงครามและทำข้อตกลงสันติภาพกับสหภาพโซเวียต ฟินแลนด์ที่ตอนนี้ย้ายข้างอยู่กับโซเวียต ได้ทำสงครามแลปแลนด์ (Lapland War) ขับไล่นาซีเยอรมันออกจากฟินแลนด์ ซึ่งสุดท้ายฟินแลนด์ก็เป็นฝ่ายชนะ
4. อิตาลี
อิตาลีหรือราชอาณาจักรอิตาลี ภายใต้เผด็จการฟาสซิสต์ เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) คือหนึ่งในแกนหลักสำคัญของฝ่ายอักษะ
ตลอดช่วงสงครามโลก อิตาลีดำเนินสงครามทั้งในภาคพื้นยุโรปและแอฟริกาเหนือ อย่างไรก็ตามความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพอิตาลี และการพ่ายแพ้หลายต่อหลายครั้ง ได้ทำให้อำนาจของมุสโสลินีต้องสั่นคลอน
ในเดือนกรกฎาคม 1943 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกเข้าถึงดินแดนอิตาลี มุสโสลินีได้ถูกพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ 3 (Victor Emmanuel III) สั่งปลดจากตำแหน่งผู้นำประเทศ และถูกจับกุม อิตาลีมีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่ย้ายข้างมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม มุสโสลินีก็หลบหนีออกมาได้ และได้ไปตั้งสาธารณรัฐซาโล (Republic of Salo) รัฐหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี แต่สุดท้ายชีวิตของมุสโสลินีกับสาธารณรัฐซาโลก็ต้องจบลง ในเดือนเมษายน 1945
5. ไทย
สำหรับประเทศไทยของเรา ก็อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้เช่นกัน ในช่วงแรกของสงคราม ไทยประกาศตัวเป็นกลาง จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 1941 เมื่อญี่ปุ่นส่งกองทัพบุกไทย รัฐบาลไทยที่ตอนนั้นนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจนำไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
สุดท้ายเมื่อสงครามจบลง ไทยกลับรอดพ้นจากสถานะประเทศที่แพ้สงคราม ทั้งนี้ก็มาจากการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) และรัฐบาลใหม่ของไทย ที่ได้ประกาศว่า การเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ
Reference
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่