ทำไมในอารยธรรมต่าง ๆ บนโลก มีการบูชาเทพพระอาทิตย์
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์รวมถึงสิ่งมีชีวิตบนโลก ต่างก็มีความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์เสมอมา ดวงอาทิตย์คือแหล่งที่ให้พลังงาน ความอบอุ่น แสงสว่าง รวมถึงอาหาร
แม้ทุกวันนี้เราจะมีองค์ความรู้ที่ว่า ดวงอาทิตย์เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ (เฉกเช่นเดียวกับโลก) แต่สำหรับมนุษย์ในอดีตกาล ดวงอาทิตย์ถือเป็นพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ไม่อาจทัดเทียบได้
ด้วยเหตุนี้ อารยธรรมต่าง ๆ จึงมีการบูชาดวงอาทิตย์ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้า เหมือนกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ที่มนุษย์ในตอนนั้นไม่สามารถหาคำอธิบายได้
การบูชาดวงอาทิตย์ในฐานะเทพเจ้า ปรากฏเกือบทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง เอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือกลางและใต้ หรือแม้แต่เกาะในแปซิฟิก
โดยจะขอยกตัวอย่างเทพเจ้าดวงอาทิตย์ของอารยธรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาพอสังเขปดังนี้
- อียิปต์โบราณมีเทพแห่งดวงอาทิตย์หลายองค์ด้วยกันอย่างเช่น เทพรา (Ra) เทพอามุน (Amun) มีเรื่องน่าสนใจคือในยุคฟาโรห์อเคนาเตน (Akhenaten) พระองค์ได้ปฏิรูปศาสนา โดยบังคับให้ชาวอียิปต์เลิกนับถือเทพเจ้าหลายองค์ แล้วให้ไปนับถือสุริยเทพที่ชื่ออะเตน (Aten) เพียงองค์เดียวเท่านั้น แต่สุดท้ายการปฏิรูปก็ล้มเหลว
- ในญี่ปุ่นสุริยเทพีอะมาเตราสุ (Amaterasu) ถือเป็นเทพีองค์สำคัญในศาสนาซินโต และเชื่อว่าสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นทรงสืบทอดสายเลือดจากเทพอะมาเตราสุ
- ชาวอินคาในอเมริกาใต้นับถือสุริยเทพที่ชื่ออินติ (Inti) โดยสิ่งก่อสร้างของชาวอินคาล้วนเชื่อมโยงกับดวงอาทิตย์และเทพเจ้าองค์นี้ และในทุก ๆ วันครีษมายันหรือวันที่กลางวันยาวนานที่สุดของปี ชาวอินคาจะจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อบูชาเทพอินติ
- ชาวกรีกนับถือเทพพระอาทิตย์ที่ชื่อเฮลิออส (Helios) ส่วนเวอร์ชั่นของชาวโรมันจะเรียกว่า โซล (Sol) ขณะที่อินเดียก็คือพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ (Surya)
Reference
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่