รู้ไหม ‘ประเทศโลกที่สาม’ ไม่ได้เกี่ยวกับประเทศพัฒนา-ด้อยพัฒนา แต่เป็นการแบ่งประเทศในยุคสงครามเย็น
ถ้าให้นึกถึงคำว่า ‘ประเทศโลกที่สาม’ หลายคนน่าจะคิดว่าคำนี้หมายถึงประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว คำว่าประเทศโลกที่สาม ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการเป็นประเทศพัฒนาหรือด้อยพัฒนา
จุดเริ่มต้นของประเทศโลกที่สามเกิดขึ้นในปี 1952 ในบทความที่มีชื่อว่า ‘Three Worlds, One Planet’ หรือสามโลกบนดาวหนึ่งดวง ของอัลเฟรด โซวี่ (Alfred Sauvy) นักภูมิรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
โซวี่ได้นำเสนอว่า สงครามเย็นได้แบ่งประเทศบนโลกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ประเทศโลกที่หนึ่ง (First World) ประเทศโลกที่สอง (Second World) และประเทศโลกที่สาม (Third World)
- โดยประเทศโลกที่หนึ่ง หมายถึงประเทศที่อยู่ฝั่งเดียวกับสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยประเทศในยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย และประเทศในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนามใต้ อิหร่าน (ที่เคยเป็นมิตรกับอเมริกา) รวมถึงไทยของเราที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งเช่นกัน
- ส่วนประเทศโลกที่สอง ก็คือประเทศที่อยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์หรืออยู่ฝั่งเดียวกับสหภาพโซเวียต ประกอบด้วยสหภาพโซเวียต จีน เกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ คิวบา ประเทศบริวารของโซเวียตในยุโรปตะวันออก รวมถึงบางประเทศในแอฟริกา
- และประเทศโลกที่สาม ก็คือประเทศที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแอฟริกาที่เป็นอดีตอาณานิคมของชาติตะวันตก รวมถึงประเทศในลาตินอเมริกา
อย่างไรก็ตามหลังจากสงครามเย็นจบลง ปรากฏว่าทฤษฎีการแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่มนี้ ก็ถูกเอาไปโยงกับการแบ่งประเทศตามความเจริญและเศรษฐกิจ อย่างประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันเป็นคนละเรื่องกัน
Reference
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่