ทำไมชื่อตัวละครสามก๊กเวอร์ชั่นไทย ไม่เหมือนกับเวอร์ชั่นจีน?

เคยสังเกตไหมครับว่า ถ้าเรานำชื่อตัวละครสามก๊กในฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย แล้วลองไปเปรียบเทียบกับสามก๊กในเวอร์ชั่นภาษาจีน จะพบว่าชื่อตัวละครมีความแตกต่างกัน
นั่นเป็นเพราะว่า ชื่อของตัวละครในสามก๊กฉบับแปลไทยที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น มาจากสามก๊กฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2345 ในยุครัชกาลที่ 1
โดยสามก๊กฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีที่มาจากการที่รัชกาลที่ 1 ทรงต้องการให้มีการแปลพงศาวดารของจีนจำนวนสองเรื่อง คือไซ่ฮั่นและสามก๊กให้เป็นฉบับแปลเป็นภาษาไทย
แต่ด้วยความที่ภาษาจีนที่เข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงนั้น เป็นภาษาจีนในสำเนียงฮกเกี้ยน จึงทำให้ชื่อของตัวละครรวมไปถึงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เลยถอดเสียงเป็นภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยน แต่ฮกเกี้ยนในที่นี้ก็เป็นฮกเกี้ยนที่อ่านตามแบบคนไทยอีกทอดนึง
ยกตัวอย่างเช่น ชื่อตัวละครเล่าปี่ที่สำเนียงจีนกลางอ่านว่า ‘หลิวเป้ย’ (Liu Bei 劉備) หรือโจโฉที่อ่านแบบสำเนียงจีนกลางว่า ‘เฉาเชา’ (Cao Cao 曹操)
หรือแม้กระทั่งบางตัวละครก็เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ อย่างเช่นจูล่งขุนศึกคนสำคัญของเล่าปี่ ที่มีชื่อตามสำเนียงจีนกลางว่า ‘จ้าวหยุน’ (Zhao Yun 趙雲) ซึ่งถ้าอ่านแบบฮกเกี้ยนจะอ่านว่า ‘เตียวหยุน’
แต่ชื่อเตียวหยุนนั้น ดันมีความคล้ายคลึงกับชื่อของน้องชายร่วมสาบานของเล่าปี่อย่างเตียวหุยหรือจางเฟย (Zhang Fei 張飛) ตามสำเนียงจีนกลาง
ด้วยเหตุนี้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงต้องใช้ชื่อรองของจ้าวหยุนซึ่งก็คือ ‘จื่อหลง’ (Zi Long 子龍) หรือจูล่งตามสำเนียงฮกเกี้ยน มาเป็นชื่อของตัวละครนี้แทนนั่นเอง
ว่าแต่ยังมีตัวละครไหนอีกบ้าง ที่คุณคิดว่าชื่อมีความแตกต่างกันบ้าง สามารถคอมเม้นท์มาบอกกันได้นะครับ
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่