รู้ไหมจริง ๆ แล้วจอมพล ป. ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ผัดไทย อย่างที่เข้าใจกัน

Histofun Deluxe

Histofun Deluxe เพจที่นำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน

          รู้ไหมจริง ๆ แล้วจอมพล ป. ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ‘ผัดไทย’
จอมพล ป

ภาพจาก : Prachaya Roekdeethaweesab/ Shutterstock.com

          เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า เมนูอาหารไทยชื่อดังอย่างผัดไทยนั้น มาจากไอเดียของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพงในภาวะสงคราม และสร้างเมนูที่สะท้อนถึง ‘ความเป็นไทย’ ตามอุดมการณ์ชาตินิยม
          แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงแล้ว จอมพล ป. ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผัดไทย เพราะไม่มีหลักฐานชิ้นใดเลยที่บอกว่า จอมพล ป. เป็นผู้คิดค้นผัดไทย เพราะสิ่งที่จอมพล ป. ทำนั้น คือการสนับสนุนให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวต่างหาก
          ในภาวะสงครามอาหารหลักของคนไทยอย่างข้าวมีราคาแพง ดังนั้นรัฐบาลของจอมพล ป. จึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมากินก๋วยเตี๋ยว เพราะก๋วยเตี๋ยวทำจากข้าวหักที่มีราคาถูกกว่า ที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย เรื่องนี้สอดคล้องกับคำปราศรัยที่จอมพล ป. เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ความว่า
          “อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทย ทุกอย่างราคาก็ถูก หาได้สะดวกและอร่อยด้วย”
          “ถ้าพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน คิดชามละห้าสตางค์ วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งเงินค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทย หนึ่งวันเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้”
          “เงินเก้าแสนบาททุก ๆ วันนี้ ไหลไปสู่มือชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล ทั่วกันไม่ตกไปถึงมือใคร และเงินบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรไม่ได้อย่างทุกวันนี้ ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงินมันเอง”
          ถ้าจอมพล ป. ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือคิดค้นผัดไทย แล้วผัดไทยล่ะมีที่มาจากไหน เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับก๋วยเตี๋ยวที่เป็นเมนูเส้นจากจีน โดยคนไทยเริ่มรู้จักกับก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
จอมพล ป

          ส่วนเมนูในลักษณะที่เป็น ‘ก๋วยเตี๋ยวผัด’ ที่คล้ายคลึงกับผัดไทยนั้น ปรากฏครั้งแรกในหนังสือสูตรอาหาร ‘แม่ครัวหัวป่าก์’ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ที่ตีพิมพ์ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 กับเมนูที่เรียกว่า ‘เข้าผัดหมี่’ (ข้าวผัดหมี่)
          เข้าผัดหมี่มีขั้นตอนในการทำคือ นำหอมและกระเทียมมาเจียวในน้ำมันหมู จากนั้นใส่หมู ไก่ กุ้ง ปูทะเล เต้าหู้เหลืองหั่น พอหอมดีจึงเทข้าวสวยลงผัดต่อ จากนั้นก็ใส่ถั่วงอก ใบกุยช่าย ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว น้ำตาลทราย น้ำปลา น้ำส้มสายชู เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยไข่เจียว ผักชี พริกไทย พริกป่น ปิดท้ายด้วยมะนาวหั่นซีกและผิวส้มซ่า 
          มีการสันนิษฐานว่า เมนูข้าวผัดหมี่หรือเมนูก๋วยเตี๋ยวผัดแบบอื่น ๆ ในช่วงเวลานั้น อาจจะเป็นต้นตอหรือส่งอิทธิพลไปถึงผัดไทยในเวลาต่อมาก็เป็นได้ โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนในการทำ อย่างเช่นเปลี่ยนจากน้ำส้มสายชูเป็นน้ำมะขามเปียก หรือลดเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แล้วเปลี่ยนไปใส่กุ้งแห้งแทน กลายเป็นที่มาของผัดไทยที่เลื่องชื่อในทุกวันนี้

References

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Histofun Deluxe
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหมจริง ๆ แล้วจอมพล ป. ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ผัดไทย อย่างที่เข้าใจกัน อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2566 เวลา 11:02:33 17,445 อ่าน
TOP