ทำความเข้าใจระบบวรรณะของอินเดีย มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ?

Histofun Deluxe

Histofun Deluxe เพจที่นำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน

          วรรณะของอินเดียคืออะไร ?
วรรณะ

ภาพจาก : Hector Conesa / Shutterstock.com

          ระบบวรรณะ (Caste System, Varna) คือการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่ปรากฏอยู่ในอินเดียและอนุทวีป ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 3,000 ปี โดยคำว่าวรรณะตามภาษาสันสกฤตมีความหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสี คุณลักษณะ รูปลักษณ์ หรือชาติกำเนิด
          วรรณะประกอบไปด้วย 4 วรรณะหลักด้วยกัน ได้แก่วรรณะพราหมณ์ (Brahmins) ที่เป็นนักบวชและผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา วรรณะกษัตริย์ (Kshatriyas) ที่เป็นนักรบและผู้ปกครอง วรรณะแพศย์หรือไวศยะ (Vaishyas) ที่หมายถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพทั่วไป อย่างเช่นพ่อค้า เกษตรกร และวรรณะศูทร (Shudras) ที่เป็นแรงงานหรือคนรับใช้
          ในคัมภีร์ฤคเวทของฮินดูได้ระบุไว้ว่า วรรณะทั้งสี่เกิดขึ้นจากอวัยวะของพระพรหม กล่าวคือพราหมณ์เกิดจากศีรษะ กษัตริย์เกิดจากแขน แพศย์เกิดจากขา และศูทรเกิดจากเท้า (แต่บางตำนานก็บอกว่า พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากมือ และแพศย์เกิดจากกระเพาะ)
          นอกจากวรรณะหลักที่มีอยู่สี่วรรณะแล้ว ในแต่ละวรรณะก็จะมีวรรณะย่อย ๆ ที่เรียกว่าอนุวรรณะ (Sub-castes) หรือชาติ (Jati อ่านว่า ชา-ติ) ที่แบ่งแยกได้เป็นพัน ๆ หมื่น ๆ กลุ่ม ตามการประกอบอาชีพหรือถิ่นที่อยู่
          ส่วนจุดเริ่มต้นของการมีระบบวรรณะ ก็มาจากการที่ชาวอารยันได้อพยพเข้ามาในอนุทวีปอินเดีย ซึ่งชาวอารยันก็ได้แบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติของตนกับกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม เพื่อจัดระเบียบทางสังคม
          โดยสามวรรณะแรกได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ จัดเป็นวรรณะของชาวอารยัน วรรณะกลุ่มนี้ยังเป็นทวิชะ (Dvija) หรือคนที่เกิดสองครั้ง เกิดครั้งแรกคือเกิดจากครรภ์มารดา ส่วนเกิดครั้งที่สองก็คือการรับเข้าสู่วรรณะ (ภายหลังทวิชะจะหมายถึงพราหมณ์อย่างเดียว)
          ส่วนคนพื้นเมืองดั้งเดิม ชาวอารยันถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นทาส แรงงาน และเป็นคนรับใช้ของชาวอารยัน ต่อมาจะกลายเป็นวรรณะศูทร
          นอกจากนี้สีผิวก็ยังถูกใช้แบ่งแยกระหว่างชาวอารยันกับคนพื้นเมือง โดยชาวอารยันจะมีผิวขาว ส่วนคนพื้นเมืองจะมีผิวดำ และในแต่ละวรรณะก็จะมีสีประจำตัว ได้แก่พราหมณ์สีขาว กษัตริย์สีแดง แพศย์สีเหลือง และศูทรสีดำ เป็นที่มาที่ว่าทำไมวรรณะมีความหมายถึงสีด้วย
          ส่วนการดูว่าบุคคลที่เกิดมาอยู่ในวรรณะใด ก็ดูจากเกิดในวรรณะใดก็ต้องเป็นวรรณะนั้น อย่างเช่นพ่อแม่เป็นวรรณะพราหมณ์ ลูกก็ต้องเป็นวรรณะพราหมณ์ โดยทั่วไปคนที่แต่งงานกันจะอยู่ในวรรณะเดียวกันหรือในสังคมกลุ่มเดียวกัน ที่สำคัญคือวรรณะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และต้องเป็นวรรณะนั้นไปตลอดชีวิต
          อย่างไรก็ตามก็มีความเชื่อที่เกิดขึ้นมาภายหลัง โดยเชื่อว่าชาติกำเนิดไม่ได้เกี่ยวกับการกำหนดวรรณะ แต่มาจากการกระทำหรืออาชีพที่ประกอบอยู่ อย่างเช่นพ่อแม่เป็นพราหมณ์แต่ลูกเป็นพ่อค้า จะถือว่าลูกอยู่ในวรรณะแพศย์
          เมื่อพูดถึงเรื่องราวของวรรณะ อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ คนที่อยู่นอกวรรณะหรือที่รู้จักในชื่อจัณฑาล (Chandala) ที่ถูกมองว่าน่ารังเกียจและห้ามยุ่งเกี่ยวใด ๆ ทั้งสิ้น (Untouchables) แต่ในปัจจุบันจัณฑาลเป็นคำที่ถูกมองว่าเหยียดและหยาบคาย และเปลี่ยนมาเรียกว่า ทลิตหรือดลิต (Dalits) ที่ครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ยากไร้แทน
          ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คนที่อยู่นอกวรรณะจะเกิดจากพ่อที่มีวรรณะต่ำกว่าแม่ แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมพ่อแม่ไม่ถูกขับออกจากวรรณะด้วย เลยมีการตั้งทฤษฎีว่า การทำผิดกฎหรือหลักของศาสนาฮินดูอย่างร้ายแรง อาจจะเป็นต้นตอของการมีอยู่ของคนนอกวรรณะ ที่ถูกขับออกจากศาสนาก็เป็นได้
          คนที่อยู่นอกวรรณะจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบวรรณะได้ และลูกหลานก็จะสืบทอดความไม่มีวรรณะด้วยเช่นกัน แต่คนนอกวรรณะหลายคนก็ใช้ความสามารถที่มีจนมีบทบาทสำคัญในสังคมได้ อย่างเช่นกรณีของราม ณัฐ โกวินทร์ (Ram Nath Kovind) อดีตประธานาธิบดีของอินเดียที่เป็นคนนอกวรรณะ

References

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Histofun Deluxe
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความเข้าใจระบบวรรณะของอินเดีย มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ? อัปเดตล่าสุด 13 กันยายน 2566 เวลา 14:11:48 15,032 อ่าน
TOP