ย้อนประวัติ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา

เพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่ารู้ต่างๆ ทั่วโลก เพราะประวัติศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

          "มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)"
มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์

ภาพจาก : Vector Illusion / Shutterstock.com

          "มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)" เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
          เรื่องราวของเขายังคงเป็นที่พูดถึงแม้จนกระทั่งทุกวันนี้
          เรื่องราวของเขาเป็นอย่างไร บทความนี้จะเล่าให้ฟังครับ
          ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย
          เด็กคนนี้มีชื่อว่า "ไมเคิล (Michael)" ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับผู้เป็นพ่อ หากแต่เมื่อไมเคิลมีอายุได้ห้าขวบ ผู้เป็นพ่อจึงได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนชื่อลูกชายและชื่อของตนเป็น "มาร์ติน (Martin)"
          ดังนั้นเด็กคนนี้จึงมีชื่อว่า "มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)"
          มาร์ตินนั้นมีชีวิตวัยเด็กที่มีความสุข เขามีพี่สาวหนึ่งคน น้องชายอีกหนึ่งคน โดยครอบครัวคิงนั้นอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ในแอตแลนต้า ในชุมชนที่สงบ ผู้คนต่างมีฐานะใกล้เคียงกัน ไม่รวย ไม่จน
          มารดาของมาร์ตินนั้นคือ "อัลเบอร์ตา วิลเลียมส์ คิง (Alberta Williams King)" เป็นหญิงที่มีนิสัยเรียบง่าย พูดจาไพเราะ
          อัลเบอร์ตาเป็นบุตรสาวของนักบวชที่มีชื่อเสียงรายหนึ่ง โดยหลังจากเรียนจบมัธยมปลาย อัลเบอร์ตาก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในยุคนั้น มีหญิงผิวดำไม่มากนักที่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้
          ส่วนบิดาของคิงคือ "มาร์ติน ลูเทอร์ คิง ซีเนียร์ (Martin Luther King Sr.)" เป็นชายร่างใหญ่และเปี่ยมด้วยความมั่นใจ และมาร์ตินก็เคารพในผู้เป็นพ่อเป็นอย่างมาก
          มาร์ติน ซีเนียร์นั้นมาจากครอบครัวฐานะยากจน เป็นชาวไร่ที่ต้องทำนาบนที่ดินของคนอื่นแลกกับส่วนแบ่งผลผลิตจากที่ดินนั้น ทำให้มาร์ติน ซีเนียร์ต้องทำงานหนักเพื่อให้จบการศึกษาระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย
          ภายหลังจากเรียนจบ มาร์ติน ซีเนียร์ก็ได้เป็นนักบวชในโบสถ์ "Ebenezer Baptist Church" ในแอตแลนต้า
          Ebenezer Baptist Church เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของมาร์ติน โดยเขาได้เข้าร่วมกับคณะประสานเสียงของโบสถ์ และเขายังเข้าโรงเรียนวันอาทิตย์ ทำให้มาร์ตินได้มิตรสหายมากมาย
          หนึ่งในเพื่อนสนิทของมาร์ตินนั้นเป็นคนผิวขาว และมาร์ตินกับเด็กคนนั้นก็รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งคู่อายุเพียงแค่สามขวบ
          แต่แล้วเมื่อทั้งคู่อายุได้หกขวบ และเริ่มไปโรงเรียน มาร์ตินก็ได้เข้าโรงเรียนสำหรับคนผิวดำ ส่วนเพื่อนคนนั้นก็ได้เข้าโรงเรียนสำหรับคนผิวขาว และในวันหนึ่ง พ่อของเพื่อนคนนั้นก็ได้บอกกับลูกตนว่าห้ามไปเล่นกับมาร์ตินอีกต่อไป
          จากเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้มาร์ตินเสียใจมาก และได้ไปร้องไห้กับผู้เป็นแม่ ซึ่งนี่ก็เป็นจุดจบของมิตรภาพระหว่างเด็กทั้งสอง
          ในช่วงอาหารค่ำของคืนนั้น ครอบครัวคิงได้พูดคุยกันเรื่องนี้ และนี่เป็นครั้งแรกที่มาร์ตินได้รับทราบว่าคนผิวขาวจำนวนมากรู้สึกอย่างไรต่อคนผิวดำ
          แต่ถึงอย่างนั้น พ่อและแม่ก็บอกกับมาร์ตินไม่ให้เกลียดคนผิวขาว และในฐานะของชาวคริสต์ ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องรักทุกคน
          อัลเบอร์ตาบอกมาร์ตินว่าให้เก็บความรู้สึกที่ว่าตนนั้นเป็นคนสำคัญไว้ให้ดี ถึงแม้ว่าโลกภายนอกจะโหดร้าย จะดูถูกซักแค่ไหน ก็อย่าได้หวั่นไหว
          เมื่อเติบโตขึ้น มาร์ตินก็ยิ่งตระหนักถึงปัญหาที่คนผิวดำต้องเผชิญ โดยเฉพาะคนผิวดำที่อาศัยอยู่ทางใต้
          ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน ก็จะมีแต่ป้ายที่เขียนว่า "เฉพาะคนขาว (Whites Only)" และสร้างปัญหาให้คนผิวดำเป็นอย่างมาก
          คนผิวดำไม่สามารถเข้าใช้บริการสถานที่หลายๆ แห่ง เช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารจำนวนมาก แม้แต่ตู้น้ำสาธารณะ คนผิวขาวและคนผิวดำก็ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้
          ในเมืองหลายแห่ง คนผิวดำต้องนั่งข้างหลังรถ หากจะขึ้นมานั่งด้านหน้า ก็จะถูกจับกุม
          หากคนผิวดำต้องการจะใช้บริการโรงภาพยนตร์ ก็ต้องขึ้นไปนั่งด้านบนที่ห่างไกลออกไป โดยกฎเหล่านี้เรียกว่า "กฎหมายจิมโครว (Jim Crow Laws)" และเป็นกฎหมายที่สร้างความโกรธแค้นให้มาร์ตินเป็นอย่างมาก
          ในช่วงมัธยมปลาย มาร์ตินต้องไปนั่งด้านหลังรถโรงเรียนรวมกับคนผิวดำคนอื่นๆ
          ครั้งหนึ่ง มาร์ตินได้เดินทางด้วยรถบัสไปกับอาจารย์ของตนเพื่อเข้าประกวดสุนทรพจน์ และก็ชนะ
          ในขณะเดินทางกลับแอตแลนต้า คนขับรถบัสได้สั่งให้มาร์ตินและอาจารย์ไปนั่งข้างหลังรถ และให้ผู้โดยสารผิวขาวนั่งด้านหน้า หากแต่ทั้งคู่ไม่ยินยอม ทำให้คนขับรถบัสนั้นโมโหและลุกขึ้นมาไล่
          สุดท้าย มาร์ตินและอาจารย์ก็ต้องยืนเกาะราวเป็นระยะทางกว่า 140 กิโลเมตร หากแต่มาร์ตินบอกตัวเองว่าซักวันหนึ่งเขาจะต้องขึ้นไปนั่งด้านหน้าให้ได้
          มาร์ตินนั้นเป็นนักเรียนที่ดี เขาชอบการอ่านหนังสือและกล่าวสุนทรพจน์ และด้วยการตั้งใจเรียนอย่างหนัก ทำให้มาร์ตินสามารถข้ามชั้นได้ถึงสองชั้น และเรียนจบมัธยมปลายขณะมีอายุเพียง 15 ปี
          ในฤดูร้อนของปีนั้น มาร์ตินได้ไปทำงานที่คอนเนคติคัต โดยทำงานในไร่ยาสูบ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่มาร์ตินได้มาใช้ชีวิตทางเหนือ
          มาร์ตินแปลกใจที่เห็นว่าชีวิตของคนผิวดำทางเหนือนั้นช่างแตกต่างกับทางใต้ เด็กผิวขาวและเด็กผิวดำสามารถเรียนในโรงเรียนเดียวกันได้ ร้านอาหารก็ไม่มีการแบ่งแยก
          มาร์ตินต้องการจะเห็นภาพนี้เกิดขึ้นทางใต้บ้าง หากแต่ต้องหาทางที่จะทำให้ความฝันนี้เป็นจริง
          จากนั้น มาร์ตินก็ได้กลับไปยังแอตแลนต้าและได้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยนั้นเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวดำ
          ในทีแรก มาร์ตินก็ไม่แน่ใจว่าจะศึกษาต่อด้านใด เขารู้ดีว่าตนต้องการจะใช้ชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนผิวดำ แต่จะทำอย่างไรล่ะ? หรือบางทีเขาอาจจะเป็นนักบวชเหมือนผู้เป็นพ่อ หรืออาจจะเป็นทนายความ
          ขณะศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย มาร์ตินได้อ่านบทความหนึ่งซึ่งถูกเขียนขึ้นตั้งแต่เมื่อปีค.ศ.1849 (พ.ศ.2392)
          ผู้ที่เขียนบทความคือชายที่ชื่อ "เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau)" โดยทอโรได้เขียนบทความ กล่าวว่าผู้คนมีสิทธิจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากว่ากฎหมายนั้นไม่ยุติธรรม
          ในช่วงเวลาของทอโร สหรัฐอเมริกายังคงอนุญาตให้มีการถือครองทาส ซึ่งทอโรไม่เห็นด้วย และต่อต้านการมีทาส
          ทอโรคิดว่าการที่รัฐบาลอนุญาตให้มีการถือครองทาสนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ทอโรจึงประท้วงด้วยการไม่ยอมเสียภาษี และถูกจับกุมในที่สุด หากแต่ทอโรก็ไม่สนใจ
          สิ่งที่ทอโรทำนั้นถูกใจคิงเป็นอย่างมาก เขาชื่นชอบในแนวคิดของทอโร และชื่นชอบการประท้วงอย่างสันติของทอโร
          ในที่สุด มาร์ตินก็ตัดสินใจจะเป็นนักบวชเหมือนผู้เป็นพ่อ และเมื่อเป็นนักบวช มาร์ตินก็สามารถพูดต่อต้านการเหยียดหรือแบ่งแยกชาติพันธุ์ และแสดงออกว่าตนนั้นเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นเพียงใด
          ขณะมีอายุ 17 ปี มาร์ตินก็ได้ทำการเทศนาในโบสถ์ที่ทำงานของพ่อ
          ขณะนั้นมาร์ตินยังไม่ได้เป็นนักบวช หากแต่บทเทศนาของมาร์ตินนั้นก็ทำให้ผู้คนประทับใจ รวมทั้งผู้เป็นพ่ออีกด้วย
          ในปีต่อมา มาร์ตินได้เป็นนักบวชในโบสถ์ของพ่อตน
          ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) มาร์ตินสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยด้วยวัย 19 ปี โดยผู้เป็นพ่อนั้นต้องการให้มาร์ตินทำงานที่โบสถ์ แต่มาร์ตินต้องการจะศึกษาต่อ ดังนั้นในเดือนกันยายนของปีนั้น มาร์ตินจึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสอนศาสนาในเมืองเชสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย
          ในบรรดานักเรียนจำนวน 100 คนในโรงเรียน มีนักเรียนผิวดำเพียงหกคนเท่านั้น
          ที่โรงเรียนสอนศาสนานี้เอง มาร์ตินได้ศึกษาคำสอนของ "มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi)" ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของอินเดียยุคใหม่ และเช่นเดียวกับทอโร คานธีเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จากการประท้วงอย่างสันติ
          มาร์ตินสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาในปีค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) และเป็นนักเรียนดีเด่นของชั้น หากแต่มาร์ตินก็คิดว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก มาร์ตินจึงย้ายไปศึกษาต่อยังเมืองบอสตัน
          ที่บอสตัน มาร์ตินได้รู้จักกับ "คอเรตตา สก็อตต์ (Coretta Scott)"
          คอเรตตานั้นมาจากอลาบามา และได้มาศึกษาต่อเพื่อเป็นนักร้อง และมาร์ตินก็สนใจในตัวคอเรตตา
          ทั้งคู่นั้นเห็นตรงกันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความยากลำบากของคนผิวดำ สร้างความประทับใจให้มาร์ตินเป็นอย่างมาก
          18 มิถุนายน ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) มาร์ตินและคอเรตตาได้แต่งงานกัน ก่อนที่จะลงหลักปักฐานที่บอสตัน โดยมาร์ตินต้องศึกษาให้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ส่วนคอเรตตาก็ต้องเรียนให้จบเพื่อที่จะได้ทำงานเป็นครูสอนดนตรี
          เมื่อศึกษาจบ มาร์ตินก็ได้เป็น "ด็อกเตอร์ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Dr. Martin Luther King Jr.)" และพร้อมที่จะเริ่มงานแล้ว
          ในระหว่างที่กำลังตัดสินใจเรื่องงานอยู่นั้น โบสถ์ "Dexter Avenue Baptist Church" ในมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา ก็ได้ส่งจดหมายเชิญมาร์ตินมาเทศนาที่โบสถ์
          มกราคม ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) มาร์ตินก็ได้เดินทางไปยังอลาบามา และได้ทำการเทศนา หากแต่ก็หนักใจ
          หากเขาเทศนาได้ดี เขาก็จะได้งานที่โบสถ์แห่งนี้ แต่มาร์ตินก็ไม่แน่ใจว่าตนต้องการจะย้ายมาอยู่ทางใต้หรือไม่
          สำหรับคนผิวดำ ชีวิตทางเหนือนั้นดีกว่ามาก หากแต่โบสถ์แห่งนี้ก็ดูเป็นสถานที่ที่ดี
          การเทศนานั้นผ่านไปได้ด้วยดี และโบสถ์ Dexter ก็ได้ขอให้มาร์ตินเป็นบาทหลวงที่โบสถ์แห่งนี้
          มาร์ตินได้นำเรื่องนี้มาปรึกษาคอเรตตา ซึ่งคอเรตตาก็กังวลไม่ต่างจากมาร์ติน
          หากย้ายไปทางเหนือ เธอจะหางานดีๆ ได้หรือไม่?
          โอกาสสำหรับผู้หญิงผิวดำทางเหนือนั้นมีมากกว่า อีกทั้งเมื่อมีลูก ก็ต้องคิดถึงชีวิตของลูกอีก
          แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งคู่ก็ตัดสินใจจะย้ายไปอลาบามา ซึ่งมาร์ตินคิดว่าตนนั้นอาจช่วยแก้ปัญหาและนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนผิวดำได้
          1 กันยายน ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) มาร์ตินได้เริ่มงานการเป็นบาทหลวงที่โบสถ์ Dexter Avenue Baptist Church โดยในช่วงการเทศนา มาร์ตินก็มักจะชักชวนให้ผู้คนลงนามแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และชักชวนให้เข้าร่วมกับ "NAACP"
          NAACP ย่อมาจาก "National Association for the Advancement of Colored People" ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ.1909 (พ.ศ.2452)
          เจตนารมณ์ของ NAACP คือการช่วยเหลือผู้คนให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหางาน การซื้อบ้าน หรือการเข้าโรงเรียน
          ภายหลังจากย้ายมาอยู่มอนต์โกเมอรีได้ประมาณหนึ่งปี ในปีค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) คอเรตตาก็ได้ให้กำเนิดบุตรสาวที่ชื่อ "โยแลนดา คิง (Yolanda King)" ทำให้ครอบครัวคิงขยายใหญ่ขึ้น
          ภายหลังจากโยแลนดาเกิดมาได้เพียงประมาณสองสัปดาห์ ก็ได้มีเหตุการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
          1 ธันวาคม ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) หญิงผิวดำวัย 42 ปีจากมอนต์โกเมอรีที่ชื่อ "โรซา ปาร์คส์ (Rosa Parks)" ได้ขึ้นรถบัส และนั่งด้านหน้า ปฏิเสธที่จะไปนั่งด้านหลัง ทำให้เธอถูกจับกุม
          จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ผู้นำชุมชนผิวดำหลายๆ คน รวมทั้งตัวของมาร์ติน ได้รวมตัวกันเพื่อพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป และก็ได้ข้อสรุป
          กลุ่มคนผิวดำจะรวมตัวกันไม่นั่งรถบัสไปโรงเรียนหรือไปทำงาน ซึ่งการประท้วงลักษณะนี้เรียกว่าการ "บอยคอตต์ (Boycott)"
          หากกลุ่มคนผิวดำในมอนต์โกเมอรีหยุดขึ้นรถบัส บริษัทรถบัสก็จะต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก และอาจจะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องแก้กฎหมาย
          การบอยคอตต์เริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) และเนื่องด้วยวันจันทร์เป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์ ผู้คนจึงต้องใช้บริการอย่างอื่นที่ไม่ใช่รถบัส เช่น แท็กซี่ บางรายก็ยอมเดิน
          มาร์ตินเชื่อว่าการทำเช่นนี้เป็นการส่งข้อความที่ทรงพลัง หากคนผิวดำไม่สามารถนั่งในที่ที่ต้องการได้ ก็จะขอไม่ใช้บริการรถบัส
          เช้าวันนั้น มาร์ตินและคอเรตตาตื่นแต่เช้าตรู่ และมองออกไปนอกหน้าต่าง ก่อนจะพบว่ารถบัสที่มาจอดยังป้ายรถบัสนั้น บนรถนั้นร้างผู้คน
          มาร์ตินได้ขึ้นรถของตน และขับรถวนรอบเมืองเพื่อดูท่าที และพบว่าคนผิวดำจำนวนมากต่างนั่งในรถยนต์ส่วนตัวหรือไม่ก็เดิน ซึ่งบางรายก็ยอมเดินเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว
          การบอยคอตต์วันแรกนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก หากแต่ก็จำเป็นต้องดำเนินต่อไป ผู้คนจำเป็นต้องปฏิเสธที่จะขึ้นรถบัสต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการแก้กฎหมาย
          สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความโกรธเคืองแก่เหล่านักการเมืองผิวขาวในมอนต์โกเมอรี เนื่องจากบริษัทรถบัสนั้นสูญเสียรายได้อย่างหนักจากการบอยคอตต์ แต่ถึงอย่างนั้น เหล่านักการเมืองผิวขาวก็ไม่ต้องการจะแก้กฎหมาย หากแต่พยายามจะทำให้ชีวิตของคนผิวดำนั้นหนักขึ้น อยู่ลำบากยิ่งขึ้น
          ผู้บัญชาการกรมตำรวจได้บอกให้บริษัทแท็กซี่คิดค่าโดยสารให้แพงขึ้น เพื่อที่คนจำนวนมากจะได้ไม่สามารถใช้บริการแท็กซี่ได้ และทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องเดิน
          แต่มาร์ตินและผู้นำคนอื่นๆ ก็ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว มีการรวมตัว นำเอารถของผู้ที่เข้าร่วมกับตนมาออกรับส่งผู้โดยสารที่เข้าร่วมกับการบอยคอตต์ ซึ่งนี่ก็คือการประท้วงอย่างสันติ
          หากแต่การประท้วงอย่างสันตินี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีอันตราย
          มาร์ตินถูกตำรวจจับข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนด หากแต่มาร์ตินรู้ดีว่าตนนั้นไม่ได้ขับรถเร็ว หากแต่กำลังถูกหาเรื่อง ตำรวจต้องการจะข่มขู่ให้มาร์ตินกลัวและหยุดการบอยคอตต์
          จากนั้น มีคนโยนระเบิดเข้าไปในบริเวณบ้านของมาร์ติน ซึ่งก็สร้างความหวาดกลัวแก่มาร์ตินและครอบครัว หากแต่เขาก็ไม่ยอมแพ้
          การบอยคอตต์ยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี และในที่สุด ศาลสูงสหรัฐได้ออกแถลงว่าให้ยกเลิกกฎหมายที่แบ่งแยกคนผิวขาวกับคนผิวดำบนรถบัสในมอนต์โกเมอรี
          มาร์ตินนั้นดีใจอย่างมาก ผู้คนสามารถกลับมาใช้บริการรถบัสได้อีกครั้ง และจะนั่งตรงไหนก็ได้
          เช้าวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) ผู้นำการบอยคอตต์อีกสามคนได้มาหามาร์ตินที่บ้าน และเหล่านักข่าวก็ตามมาเพื่อทำข่าว ติดตามพวกเขาไปยังป้ายรถบัส คอยถามคำถามตลอดเวลา
          เมื่อรถบัสมาถึง มาร์ตินและคนอื่นๆ ก็ได้ขึ้นไปบนรถบัส และมาร์ตินก็ได้ขึ้นไปนั่งที่ด้านหน้าพร้อมรอยยิ้ม
          นี่คือชัยชนะแรกของมาร์ติน
          แต่ถึงแม้การบอยคอตต์รถบัสในมอนต์โกเมอรีจะประสบความสำเร็จ หากแต่มาร์ตินก็ทราบดีว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
          มาร์ตินและผู้นำคนผิวดำคนอื่นๆ ได้นัดพบกันที่แอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย โดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) ได้ก่อตั้งกลุ่ม "SLC" หรือ "Southern Christian Leadership Conference" ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และมีมาร์ตินเป็นผู้นำ
          ในรัฐทางใต้ เหล่าผู้นำกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างต้องพบกับการข่มขู่ด้วยความรุนแรง
          บางรายถูกระเบิดบ้าน โบสถ์หลายแห่งถูกทำลาย สถานที่อีกหลายแห่งถูกโจมตี หากแต่มาร์ตินบอกให้ทุกคนใจเย็นๆ และอยู่ในความสงบ โดยมาร์ตินกล่าวว่า
          "เราต้องไม่ตอบโต้ความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดก็ตาม"
          มาร์ตินทราบดีว่านี่เป็นการยากที่จะทำตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
          ในเวลานั้น มาร์ตินเป็นที่รู้จักในมอนต์โกเมอรีแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผู้คนนับพันต่างก็จะติดตามเพื่อมารอฟังสุนทรพจน์ของเขา บางคนก็เข้ามาขอลายเซ็นมาร์ติน
          17 พฤษภาคม ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) มาร์ตินได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานชุมนุมที่วอชิงตันดีซี โดยมีการเดินขบวนซึ่งประกอบด้วยผู้คนนับพัน ทั้งผิวขาวและผิวดำ ซึ่งต่างไปรวมตัวกันที่อนุสรณ์สถานลินคอล์น
          ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลออกร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยในร่างกฎหมายต้องกำหนดให้ประชาชนทุกคนในสหรัฐอเมริกามีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย
          รายละเอียดที่สำคัญหนึ่งในบัญญัติกำหนดให้ผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
          ในขณะที่มาร์ตินกำลังวุ่นอยู่ในงานชุมนุม คอเรตตาก็อยู่ดูแลบ้าน และในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) คอเรตตาก็ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สอง นั่นคือ "มาร์ติน ลูเทอร์ คิงที่ 3 (Martin Luther King III)"
          ในเวลานี้ คอเรตตาต้องการจะมีส่วนร่วมในขบวนการเปลี่ยนแปลงที่มาร์ตินกำลังทำอยู่มากขึ้น หากแต่มาร์ตินก็ต้องการให้คอเรตตาอยู่บ้าน คอยดูแลงานในบ้าน
          แต่ในปีค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) มาร์ตินก็ยอมพาคอเรตตาไปทริปที่อินเดียด้วยกัน ซึ่งการเดินทางมาอินเดียนี้ มาร์ตินต้องการจะไปเห็นดินแดนของคานธี ผู้ซึ่งเป็นฮีโร่ของตน
          ในช่วงที่เดินทางในอินเดีย มาร์ตินก็เห็นความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจน
          ประชาชนหลายคนไม่มีงานทำ ต้องนอนข้างถนน ส่วนคนรวยก็มีชีวิตที่สุขสบาย อยู่บ้านหลังใหญ่ที่หรูหรา มีเสื้อผ้าดีๆ สวมใส่ หากแต่ถึงแม้ประชาชนจำนวนมากจะยากจน แต่ก็ยังมีสันติสุข
          ประสบการณ์การเดินทางในอินเดียนับเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับมาร์ติน และเมื่อเดินทางกลับมาบ้านที่สหรัฐอเมริกา มาร์ตินก็ยิ่งเชื่อมั่นในการประท้วงอย่างสันติ
          ในปีค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) นี้ ครอบครัวคิงได้ย้ายไปอาศัยยังแอตแลนต้า โดยมาร์ตินต้องการจะทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้ โดยที่แอตแลนต้า มาร์ตินได้เข้าทำงานที่โบสถ์ซึ่งผู้เป็นพ่อของตนทำงานอยู่
          เมื่อถึงปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) ขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็ได้แพร่กระจายไปทั่วภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยนักเรียนนักศึกษาทั้งผิวขาวและผิวดำ ต่างจัด "ซิทอิน (Sit-In)" หรือก็คือการประท้วงในโรงอาหาร โดยเหล่านักศึกษาผิวดำจะเข้าไปนั่งในโรงอาหารที่จัดไว้สำหรับนักศึกษาผิวขาว รออาหารมาเสริ์ฟ
          สุดท้าย ตำรวจก็จะเข้ามาจับกุมนักศึกษาเหล่านี้ หากแต่กลุ่มผู้ประท้วงก็ไม่โต้ตอบ และไม่ว่าจะมีนักศึกษาจำนวนมากถูกจับเข้าคุก แต่วันต่อมา นักศึกษากลุ่มใหม่ก็จะทำการซิทอินเช่นเดิม ยังคงสู้ต่อไปเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
          มาร์ตินเองก็เข้าร่วมกับการซิทอินเช่นกัน โดยในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) มาร์ตินถูกจับกุมในโรงอาหารในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในแอตแลนต้า ซึ่งในวันเดียวกันนั้น มีนักศึกษากว่า 200 คนถูกจับกุมเช่นเดียวกัน
          มาร์ตินถูกนำตัวขึ้นศาล โดยมาร์ตินให้การว่าการซิทอินนั้นเป็นการชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางชาติพันธุ์ และตนต้องการจะให้ชาวแอตแลนต้านั้นเห็นว่าการแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและผิวดำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด
          มาร์ตินถูกนำตัวเข้าเรือนจำ และถูกขังเป็นเวลากว่าห้าวัน โดยสุดท้าย เจ้าของห้างได้ตัดสินใจถอนฟ้อง ไม่เอาความ และมาร์ตินก็ถูกปล่อยตัว
          ถึงจะถูกปล่อยตัว แต่คนผิวขาวหลายๆ คนก็ยังคงไม่พอใจในตัวมาร์ติน และต้องการจะให้มาร์ตินกลับเข้าคุก
          หลังจากนั้นไม่นาน ขณะกำลังขับรถ มาร์ตินก็ถูกตำรวจเรียกและให้ใบสั่งข้อหาขับรถในจอร์เจียโดยใช้ใบขับขี่อลาบามา ซึ่งทีแรก มาร์ตินก็ยังไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าแค่ขึ้นศาลและจ่ายค่าปรับก็น่าจะหมดเรื่อง
          แต่ตรงกันข้าม มาร์ตินถูกจับกุมไปที่อื่น ถูกใส่กุญแจมือและโซ่ข้อเท้า ก่อนจะถูกนำตัวไปยังเรือนจำที่อยู่ห่างออกไปกว่า 300 กิโลเมตร
          เมื่อเหล่าผู้ติดตามรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาร์ติน ต่างก็พยายามหาทางช่วยเหลือมาร์ติน โดยได้โทรหา "ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon)" และ "จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John F. Kennedy)" ซึ่งในเวลานั้นกำลังแข่งขันเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
          ในทีแรก คนทั้งคู่ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อคะแนนเสียงจากคนผิวขาว
          ได้มีนักข่าวถามนิกสันเรื่องที่มาร์ตินถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ นิกสันก็ตอบว่า "โนคอมเม้นต์ (No comment)"
          ทางด้านเคนเนดี้ เพื่อนของเคนเนดี้ได้แนะนำให้เคนเนดี้ช่วยเหลือมาร์ติน โดยเริ่มแรก เคนเนดี้ได้ติดต่อหาคอเรตตา ภรรยาของคิงซึ่งกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สาม โดยเคนเนดี้บอกกับคอเรตตาว่าตนและโรเบิร์ต น้องชายของตนซึ่งทำงานเป็นทนายความ จะทำทุกทางที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือมาร์ติน
          "โรเบิร์ต เคนเนดี้ (Robert Kennedy)" น้องชายของจอห์น ได้โทรหาผู้พิพากษาที่ตัดสินให้จำคุกมาร์ตินเพื่อสอบถามว่าทำไมจึงไม่ให้มาร์ตินประกันตัว และได้ต่อรองกับผู้พิพากษาจนผู้พิพากษายอมให้มาร์ตินประกันตัวได้ ทำให้มาร์ตินเป็นอิสระ
          ผลที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของเคนเนดี้ดูดีอย่างมาก ทีมงานของเคนเนดี้ได้ตีพิมพ์ใบปลิวนับล้านแผ่น ซึ่งในใบปลิวนั้นเขียนว่า "โนคอมเม้นต์ (No comment)" ซึ่งเป็นคำให้สัมภาษณ์ของนิกสัน โจมตีนิกสันว่าเป็นชายที่ไร้ความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ
          มาร์ติน ซีเนียร์ซึ่งเป็นบิดาของมาร์ติน ก็ได้ตัดสินใจจะลงคะแนนให้เคนเนดี้
          ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้ที่ได้รับชัยชนะก็คือเคนเนดี้ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่นับถือโรมันคาทอลิก ซึ่งชาวคาทอลิกก็ต้องเผชิญกับการแบ่งแยกในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
          นี่คือเหตุผลหนึ่งที่คนผิวดำจำนวนมากเลือกเคนเนดี้ เนื่องจากคิดว่าเคนเนดี้น่าจะเข้าใจความรู้สึกและปัญหาของพวกตน เพราะเคนเนดี้ก็เคยถูกแบ่งแยกมาก่อนเช่นกัน
          เมื่อถึงปีค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) โรงอาหารทางใต้ที่จำกัดให้เฉพาะคนผิวขาวใช้บริการก็เหลืออยู่ไม่มากนัก หากแต่สถานที่อื่นๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องรับรอง ร้านอาหารในสถานีรถไฟ ก็ยังคงมีการแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ
          4 พฤษภาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ได้มีกลุ่มนักเรียนขึ้นรถบัสสองคันในวอชิงตันดีซี โดยจะเดินทางไปทางใต้
          เมื่อถึงจุดแวะพัก เหล่านักเรียนผิวดำก็ได้เข้าไปนั่งในห้องรับรองที่จัดไว้เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น ซึ่งนี่คือการประท้วงอย่างสันติ แต่ในเวลาต่อมา ยางรถบัสถูกยิง และมีการโยนระเบิดเข้ามาในหน้าต่างของรถบัส สร้างความแตกตื่นแก่ผู้โดยสาร ทำให้การเดินทางนี้จบลง
          แต่เหล่านักเรียนยังคงไม่ยอมแพ้ กลุ่มอื่นๆ ต่างขึ้นรถบัสไปทางใต้และก็ถูกทำร้ายอีก อีกทั้งนักเรียนจำนวนมากก็ถูกจับกุม โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้ถูกขนานนามว่า "Freedom Riders"
          ในค่ำคืนหนึ่ง กลุ่ม Freedom Riders ได้จัดการประชุมขึ้นในมอนต์โกเมอรี อลาบามา ซึ่งมาร์ตินกำลังกล่าวสุนทรพจน์
          ได้เกิดกลุ่มฝูงชนโยนหินและขวดน้ำใส่โบสถ์ที่มาร์ตินกำลังกล่าวสุนทรพจน์ หากแต่มาร์ตินก็ได้บอกให้ทุกคนอยู่ในความสงบและเข้มแข็ง ซึ่งในที่สุด เหตุการณ์ก็สงบลง
          การแบ่งแยกยังคงไม่สิ้นสุด สถานีรถบัสในย่านอัลบานี จอร์เจีย ไม่ยอมยกเลิกห้องรับรองที่อนุญาตเฉพาะคนผิวขาว การซิทอินและบอยคอตต์จึงยังคงดำเนินต่อไป และมาร์ตินก็เป็นผู้นำการเดินขบวนในอัลบานี
          มาร์ตินถูกจับกุมอีกครั้ง โดยมาร์ตินตั้งใจว่าจะถูกคุมตัวเป็นเวลา 45 วัน หากแต่เมื่อผ่านไปได้ไม่กี่วันเท่านั้น มาร์ตินก็ได้รับการปล่อยตัว
          ถึงจะได้รับการปล่อยตัว แต่ขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของมาร์ตินก็ถือว่าพ่ายแพ้ ความเปลี่ยนแปลงยังคงไม่เกิดขึ้น แต่มาร์ตินยังไม่ยอมแพ้ และยืนยันที่จะสู้ต่อไป
          มาร์ตินตระหนักดีว่าขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนนั้นพ่ายแพ้ แต่ก็แน่ใจว่าการประท้วงอย่างสันติของตนนั้นมาถูกทางแล้ว เขาจึงมองหาเมืองที่ยังคงมีกฎหมายจิมโครว และก็พบว่ามีอยู่เมืองหนึ่งที่ยังคงมีการใช้กฎหมายจิมโครวอย่างเข้มข้น
          เมืองนั้นคือเมืองเบอร์มิงแฮม อลาบามา
          ที่เบอร์มิงแฮม การแบ่งแยกระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวยังคงดำเนินไปอย่างเข้มงวด สถานที่ต่างๆ มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน
          ผู้บัญชาการตำรวจเบอร์มิงแฮมคือชายที่ชื่อ "บูลล์ คอนเนอร์ (Bull Connor)"
          คอนเนอร์นั้นเป็นคนที่เข้มงวด กดขี่คนผิวดำอย่างหนัก สร้างความหวาดกลัวให้ผู้คน ทำให้ไม่มีใครกล้าต่อต้าน แม้แต่คนผิวขาวที่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกก็ไม่กล้าที่จะต่อต้าน
          มาร์ตินและผู้นำคนอื่นๆ ได้เริ่มวางแผน นอกจากการซิทอินแล้ว จะมีการจัดชุมนุมที่โบสถ์คนผิวดำทั่วเบอร์มิงแฮม และการชุมนุมประท้วงก็ได้เริ่มต้นขึ้น
          ภายหลังจากผ่านไปได้สามวัน มีคนถูกจับกุมไปแล้วห้าคน แผนที่สองของมาร์ตินจึงเริ่มขึ้น
          มาร์ตินและผู้นำคนอื่นๆ ตัดสินใจที่จะทำการบอยคอตต์ธุรกิจของคนผิวขาว ซึ่งในเบอร์มิงแฮมนั้น ผู้คนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นคนผิวดำ หากร้านค้าต่างๆ ขาดลูกค้าผิวดำไป นั่นหมายถึงรายได้ต้องหายไปอย่างมหาศาล
          มาร์ตินได้จัดการเดินขบวนไปยังศาลากลางเมืองเบอร์มิงแฮม สร้างความโกรธเคืองแก่คอนเนอร์เป็นอย่างมาก จึงได้ออกคำสั่งให้ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม
          มีการปล่อยสุนัขตำรวจเข้าทำร้ายผู้ชุมนุม มีการใช้ความรุนแรงต่างๆ นานา หากแต่เหล่าผู้ชุมนุมก็ไม่ได้หนีไปไหน กลับเข้มแข็งขึ้นอีก
          หลังจากผ่านไปได้ 10 วัน มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 500 คน โดยมีจำนวนหนึ่งได้รับการประกันตัว หากแต่ที่โดนคุมขังอยู่นั้นยังมีจำนวนมากถึงกว่า 300 คน
          ในเวลานั้น มาร์ตินไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม โดยมาร์ตินตระหนักว่าหากตนเข้าร่วมการชุมนุม ก็จะถูกจับกุม และก็จะไม่สามารถอยู่สั่งการและควบคุมสถานการณ์ได้
          มาร์ติน ซีเนียร์ต้องการให้มาร์ตินกลับบ้านในวันอีสเตอร์ และต้องการให้มาร์ตินกลับไปทำการเทศนาที่โบสถ์เหมือนเดิม แต่ผู้นำคนอื่นๆ ก็คิดว่ามาร์ตินควรจะอยู่ที่นี่ อยู่คอยสั่งการการประท้วงครั้งนี้
          ผู้นำอีกหลายคนไม่ต้องการให้มาร์ตินเข้าร่วมการเดินขบวน เนื่องจากเกรงว่ามาร์ตินจะโดนจับกุม และบางคนก็คิดว่ามาร์ตินควรจะหาทางระดมเงินเพื่อช่วยประกันตัวผู้ประท้วงคนอื่นๆ ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ
          เมื่อความเห็นต่างกันออกไป จึงเกิดการโต้เถียงขึ้น มาร์ตินจึงเดินออกไปจากห้องและสวดมนต์
          เมื่อเดินกลับเข้ามาในห้อง ปรากฏว่ามาร์ตินได้เปลี่ยนกางเกงมาใส่กางเกงยีนส์ ซึ่งทุกๆ ครั้งที่มาร์ตินจะเข้าคุก เขาจะใส่กางเกงยีนส์ทุกครั้ง
          มาร์ตินตัดสินใจแล้ว เขาจะเข้าร่วมกับผู้ประท้วง และพร้อมที่จะกลับเข้าเรือนจำ
          และก็เป็นดังคาด มาร์ตินถูกจับกุม
          ที่ผ่านมา เมื่อถูกจับกุม มาร์ตินจะสามารถติดต่อญาติหรือครอบครัวได้ หากแต่ครั้งนี้เขาไม่ได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์หาใครทั้งนั้น และเมื่อผ่านไปได้สองวัน คอเรตตาซึ่งเพิ่งให้กำเนิดบุตรคนที่สี่ของมาร์ตินก็ร้อนใจอย่างมาก
          มาร์ตินถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยม แม้แต่ทนายของตนก็เข้าเยี่ยมไม่ได้
          ห้องขังมาร์ตินนั้นมีกลิ่นเหม็นอับและมืด แสงสว่างมีเพียงแค่แสงที่ลอดเข้ามาจากหน้าต่างเล็กๆ ใกล้กับเพดานเท่านั้น
          มาร์ตินนั้นหวาดกลัวและกังวล เขาเป็นห่วงครอบครัวและผู้ประท้วงคนอื่นๆ
          ในเวลานี้ แม้แต่นักบวชผิวขาวก็ไม่เห็นด้วยกับมาร์ติน และกล่าวโจมตีผู้ประท้วง กล่าวว่าผู้ชุมนุมไม่ควรจะละเมิดกฎหมาย อีกทั้งยังโจมตีมาร์ตินว่าเป็นผู้ที่ทำให้สังคมแตกแยกและบ่มเพาะความเกลียดชังและความรุนแรงในสังคม
          มาร์ตินก็ได้โต้ตอบด้วยการเขียนจดหมาย ในเรือนจำนั้นไม่มีกระดาษ มาร์ตินจึงใช้ขอบหนังสือพิมพ์แทนกระดาษ แม้แต่กระดาษทิชชู่ก็นำมาใช้เขียน
          ในจดหมายของมาร์ตินนั้น มาร์ตินกล่าวว่าผู้คนควรจะปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นธรรม ต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หากแต่ก็ควรจะปฏิบัติอย่างสันติ และเตรียมรับการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
          หลังจากผ่านไปได้แปดวัน มาร์ตินก็ได้รับการปล่อยตัว
          เมื่อได้รับการปล่อยตัว ที่ปรึกษาของมาร์ตินก็ได้เกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาและนำมาปรึกษามาร์ติน
          ที่ปรึกษาแนะนำว่าควรจะจัดการเดินขบวนที่ใช้ "เยาวชน" ใช้เหล่าเด็กๆ
          ในทีแรก มาร์ตินไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เลย เขามองว่านี่มันเสี่ยงเกินไป แต่ที่ปรึกษาก็คิดว่าตำรวจไม่น่าจะกล้าทำอะไรเยาวชนซักเท่าไร แม้แต่จับเข้าคุกก็ทำได้ไม่สะดวก
          ในที่สุด เยาวชนในเบอร์มิงแฮมนับพัน อายุตั้งแต่หกขวบจนถึงวัยรุ่น ต่างได้รับการฝึกฝนให้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ต่างเข้าร่วมการเดินขบวน และเด็กบางคนก็ถูกจับกุม
          2 พฤษภาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) มีการชุมนุมครั้งใหญ่ ซึ่งเยาวชนจำนวนมากต่างต้องการจะเข้าร่วมชุมนุมด้วย
          โรงเรียนหลายแห่งมีการปิดล็อคประตูทางเข้าออกเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหนีออกไปเข้าร่วมการชุมนุม หากแต่เด็กๆ ก็ปีนรั้วออกไป นี่คือการชุมนุมครั้งสำคัญเกินกว่าที่พวกเขาจะยอมพลาด นี่คือการเดินขบวนสู่สันติภาพ
          คอนเนอร์และเหล่าตำรวจก็ได้มายังการชุมนุมนี้ด้วย และการสลายการชุมนุมก็ได้เริ่มขึ้น
          สุนัขตำรวจเข้าทำร้ายผู้ชุมนุม ตำรวจใช้ไม้เข้าตีผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการใช้น้ำจากสายฉีดดับเพลิงฉีดใส่ผู้ชุมนุม
          จากนั้น ก็พบว่ามีคนวางระเบิดที่บ้านของน้องชายมาร์ติน และมีการวางระเบิดรอบๆ เมือง
          แต่ในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงไปทำข่าว เกาะติดสถานการณ์ด้วย นักข่าวต่างเขียนข่าวรายงานเหตุการณ์นี้ และถ่ายภาพต่างๆ ไว้
          ในยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) บ้านของครอบครัวชาวอเมริกันจำนวนมากมีโทรทัศน์อยู่ที่บ้านแล้ว และก็เพราะโทรทัศน์นี้เอง ทำให้คนทั่วประเทศเห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างจากการอ่านผ่านหน้าหนังสือพิมพ์
          มาร์ตินเห็นถึงอำนาจของโทรทัศน์ และยินดีที่ผู้คนจำนวนมากสามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ผ่านห้องนั่งเล่นของตน และก็ได้ผล ชาวอเมริกันจำนวนมากรู้สึกโกรธแค้นและเข้าข้างผู้ชุมนุม
          เหล่าคนผิวขาวจำนวนมากก็เริ่มจะหมดความอดทน ธุรกิจของตนต่างเสียผลประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ในที่สุด จึงมีการจัดการนัดพบ ยอมที่จะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงบางข้อ โดยสิ่งที่คนผิวขาวรับปากก็เช่น
  • โรงอาหาร ห้องน้ำ ห้องลองเสื้อ และตู้น้ำดื่มสาธารณะ จะไม่มีการแบ่งแยกสีผิวอีกต่อไป
  • คนผิวดำจะต้องได้งานที่ดีกว่าปัจจุบัน
  • จะต้องมีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง
  • จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยคนผิวขาวและคนผิวดำ เพื่อช่วยให้ความขัดแย้งระหว่างสีผิวหมดไป
          ในที่สุด กฎหมายจิมโครวในเบอร์มิงแฮมก็ถูกยกเลิกไป มาร์ตินได้รับชัยชนะอย่างงดงาม
          ชัยชนะที่เบอร์มิงแฮมทำให้คนผิวดำทั่วสหรัฐอเมริกาเห็นว่าการประท้วงนั้นสามารถก่อให้เกิดผลอะไรได้บ้าง ทำให้รัฐต่างๆ เอาบ้าง เกิดการซิทอินและเดินขบวนในหลายๆ แห่งทั่วประเทศ
          11 มิถุนายน ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ขอให้สภาผ่านร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยท่านประธานาธิบดีได้กล่าวว่า
          "ผมกำลังขอให้สภาออกกฎหมายที่มอบสิทธิให้ชาวอเมริกันทุกคนสามารถใช้สาธารณูปโภคที่เปิดให้สาธารณะเข้าใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ร้านค้าปลีก และกิจการต่างๆ ซึ่งผมมองว่าสิ่งเหล่านี้คือสิทธิเบื้องต้น"
          28 สิงหาคม ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) มาร์ตินและผู้นำคนอื่นๆ ได้จัดการเดินขบวนไปยังวอชิงตันดีซี
          พวกเขาต้องการจะแสดงให้สภาเห็นว่ามีคนจำนวนมากแค่ไหนที่สนับสนุนกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งในครั้งนี้ ชาวอเมริกันกว่า 250,000 คนได้เข้าร่วม
          ผู้เดินขบวนส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ แต่ก็มีคนผิวขาวจำนวนมากเช่นกันที่เข้าร่วม และต่างก็เดินขบวนไปยังอนุสรณ์สถานลินคอล์น
          ในวันนั้น ผู้คนจำนวนมากผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ หากแต่ผู้ที่โดดเด่นและเป็นที่จดจำก็คือมาร์ติน
          มาร์ตินได้เขียนร่างสุนทรพจน์ของตน แต่เมื่อถึงเวลาพูด เขาก็ไม่ได้อ่านตามที่ร่างไว้
          เมื่อขึ้นต่อหน้าฝูงชน มาร์ตินก็นึกถึงสุนทรพจน์ที่ตนเคยกล่าวเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
          ในสุนทรพจน์นั้น มาร์ตินใช้คำว่า "ผมมีความฝัน (I have a dream)" ย้ำๆ อยู่หลายครั้งเพื่อเน้นว่าตนนั้นมีความหวังต่ออนาคต
          ครั้งนี้ มาร์ตินต้องการจะใช้คำนั้นอีกครั้ง เขาจึงวางร่างสุนทรพจน์ของตน และพูดอย่างหนักแน่น
          มาร์ตินกล่าวว่าความฝันของตนนั้น นั่นคือในซักวันหนึ่ง บนภูเขาในจอร์เจีย บุตรชายของอดีตทาสกับบุตรชายของอดีตนายทาสจะสามารถนั่งพูดคุย เป็นพี่น้องกันได้
          ความฝันของตนคือในซักวันหนึ่ง ผู้คนจะตัดสินบุตรทั้งสี่ของตนจากสิ่งที่พวกเขาเป็น ไม่ใช่สีผิว
          สุนทรพจน์ของมาร์ตินนั้นทรงพลังและสร้างความประทับใจให้ผู้คน และสุนทรพจน์นี้ก็ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปสู่ชาวอเมริกันทั่วประเทศนับล้านคน ซึ่งต่างก็ประทับใจเช่นกัน
          สุนทรพจน์ของมาร์ตินสร้างแรงบันดาลใจให้สหรัฐอเมริกาและทั่วโลก และเพราะสุนทรพจน์นี้ มาร์ตินจึงกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน
          แต่หลังจากผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้เพียงสองสัปดาห์ ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลด
          ได้เกิดระเบิดขึ้นในเบอร์มิงแฮม ส่งผลให้เด็กหญิงผิวดำที่ยังเป็นเยาวชนจำนวนสี่คนเสียชีวิต สร้างความตระหนกแก่ผู้คนทั้งประเทศ
          มาร์ตินนั้นทั้งเสียใจและขมขื่น และได้ติดต่อประธานาธิบดีเคนเนดี้เพื่อบอกว่าตนจะไปเบอร์มิงแฮมเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มคนผิวดำที่กำลังโกรธแค้นจะไม่โต้ตอบด้วยความรุนแรง ซึ่งประธานาธิบดีเคนเนดี้ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เอฟบีไอจำนวน 25 นายและผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดลงพื้นที่สอบสวน
          22 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) เหตุการณ์ที่น่าสลดก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
          ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกยิงเสียชีวิตที่เท็กซัส และ "ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson)" ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน
          หลังจากเคนเนดี้เสียชีวิตได้ห้าวัน ประธานาธิบดีจอห์นสันก็ได้เรียกร้องให้สภาผ่านกฎหมายสิทธิมนุษยชนดังเช่นที่เคนเนดี้ตั้งใจไว้ ซึ่งสภาก็ยินยอม
          2 กรกฎาคม ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาเลิกทาสมาได้เกือบ 100 ปี ประธานาธิบดีจอห์นสันก็ได้ลงนามรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง โดยผู้ที่ยืนข้างๆ ประธานาธิบดีจอห์นสันก็คือมาร์ติน
          ในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) มาร์ตินได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งมาร์ตินก็รู้สึกยินดีต่อรางวัลนี้ หากแต่ก็ตระหนักว่ารางวัลนี้ไม่ใช่ของตนเพียงคนเดียว แต่เป็นของบุคคลอีกนับพันที่ร่วมกันต่อสู้อย่างสันติเพื่อความเท่าเทียม
          มาร์ตินได้ยกเงินรางวัลที่ได้ทั้งหมดจำนวน 54,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.86 ล้านบาท) แก่กลุ่มสิทธิมนุษยชน
          ถึงแม้จะได้รับรางวัลโนเบล แต่มาร์ตินก็ตระหนักว่าเป้าหมายของตนนั้นยังไม่บรรลุ นั่นคือความเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคน
          เขาคิดถึงความพ่ายแพ้และชัยชนะที่ผ่านมา หากแต่ก็ยังมีเมืองอีกหลายเมืองที่ยังคงมีการแบ่งแยก
          มาร์ตินหันไปหาเมืองเซลมา อลาบามา
          ที่เซลมา ครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นคนผิวดำ หากแต่มีคนผิวดำเพียง 1% เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง
          สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเปิดให้บริการเพียงเดือนละไม่กี่วันเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนจะเข้าถึงและร้องเรียน อีกทั้งการทดสอบความรู้เบื้องต้นเพื่อประเมินว่าควรจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่นั้น ข้อสอบก็ยากมาก ยากซะจนมาร์ตินเคยกล่าวว่าแม้แต่ผู้พิพากษาศาลสูงเองก็อาจจะตอบได้ไม่ถูกทุกข้อ
          มาร์ตินได้นำขบวนเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง
          หากแต่ที่เซลมา การเดินขบวนนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นผู้เข้าร่วมทั้งหมดจึงถูกจับกุม คนผิวดำนับพันถูกนำตัวเข้าเรือนจำด้วยสาเหตุจากการที่พวกตนอยากจะมีสิทธิเลือกตั้ง
          1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) มาร์ตินถูกจับกุมเนื่องจากเข้าร่วมการเดินขบวน และในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ กลุ่มคนผิวดำในเซลมาก็ได้เชิญชายที่ชื่อ "มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X)" มากล่าวสุนทรพจน์
          มัลคอล์ม เอ็กซ์เป็นผู้นำคนผิวดำซึ่งมีแนวคิดไม่ตรงกับมาร์ติน เขาไม่เห็นด้วยกับการประท้วงด้วยสันติวิธี ไม่เชื่อว่าเพียงคำพูดจะสามารถใช้เป็นอาวุธได้ และการใช้ความรุนแรงคือสิ่งที่จำเป็น
          มัลคอล์ม เอ็กซ์ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่องของศักดิ์ศรีคนดำ กล่าวว่าคนผิวดำควรจะต้องเคารพตนเอง ควรจะภูมิใจในชาติพันธุ์ของตน
          การเดินขบวนได้กระจายไปทั่วอลาบามา และในค่ำคืนหนึ่ง หนึ่งในผู้เดินขบวนที่ชื่อ "จิมมี่ ลี แจ็คสัน (Jimmy Lee Jackson)" วัย 26 ปี ถูกยิงเสียชีวิต
          ก่อนจะเสียชีวิต แจ็คสันได้กล่าวว่าผู้ที่ยิงตนคือเจ้าหน้าที่รัฐ
          เหตุการณ์นี้สร้างความเดือดดาลให้ชุมชนผิวดำในเซลมาเป็นอย่างมาก หากแต่มาร์ตินก็ไม่ต้องการให้ประชาชนโต้ตอบด้วยความรุนแรง
          มาร์ตินคิดว่าแนวคิดของมัลคอล์ม เอ็กซ์นั้นไม่ถูกต้อง มาร์ตินจึงจัดการเดินขบวนจากเซลมาไปยังมอนต์โกเมอรี เรียกร้องสิทธิให้คนผิวดำสามารถเลือกตั้งได้
          ในเวลานั้น ผู้ว่าการรัฐอลาบามาคือ "จอร์จ วอลเลซ (George Wallace)" ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดการเดินขบวน และสั่งห้ามการเดินขบวน
          แต่ถึงอย่างนั้น วอลเลซก็ไม่สามารถหยุดมาร์ตินได้ โดยในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ผู้เดินขบวนจำนวน 650 คนได้ออกเดินไปมอนต์โกเมอรี โดยในวันนั้น มาร์ตินยังอยู่ในโบสถ์ที่แอตแลนต้าเพื่อทำการเทศนา แต่ตั้งใจจะนั่งเครื่องบินไปมอนต์โกเมอรีเพื่อเข้าร่วมกับผู้เดินขบวน
          ผู้เดินขบวนนั้นเดินขบวนอย่างสันติ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 70 คน ซึ่งความรุนแรงทั้งหมดนี้ถูกกล้องถ่ายวีดีโอจับภาพไว้ และเผยแพร่ไปทั่วประเทศ
          ชาวอเมริกันทั่วประเทศต่างโกรธแค้นในสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการประท้วงในเมืองต่างๆ
          มาร์ตินเองก็ตกใจในความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังรู้สึกผิดที่ไม่ได้ไปอยู่เคียงข้างผู้ชุมนุม ดังนั้น สองวันต่อมา เขาจึงวางแผนสำหรับการเดินขบวนอีกครั้ง
          9 มีนาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) มาร์ตินนำขบวนผู้เดินขบวนกว่า 1,500 คน เดินเท้าจากเซลมาไปมอนต์โกเมอรี
          ก่อนจะออกเดินขบวน มาร์ตินได้แจ้งแก่ผู้เข้าร่วมว่าหากใครไม่สะดวกใจหรือไม่เห็นด้วย สามารถเดินออกไปจากแถวได้เลย ซึ่งมาร์ตินต้องให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมจะไม่โต้ตอบด้วยความรุนแรงถึงแม้ว่าจะถูกกระทำรุนแรงใส่ก็ตาม
          แต่เมื่อเผชิญหน้ากับตำรวจ มาร์ตินก็ตระหนักว่าคนจำนวนมากคงจะต้องบาดเจ็บ อาจจะถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้มาร์ตินตัดสินใจนำขบวนหันหลังกลับ
          แต่แล้วข่าวดีก็มาถึง ประธานาธิบดีจอห์นสันอนุญาตให้การเดินขบวนสามารถกระทำได้ อีกทั้งจะส่งเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลความปลอดภัยให้อีกด้วย
          จากเหตุการณ์นี้ ทำให้คนจำนวนมากจากทั่วสารทิศเข้าร่วมกับการเดินขบวน โดยในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) กลุ่มผู้เดินขบวนจำนวนมากได้ออกเดินขบวนด้วยกัน ซึ่งกลุ่มผู้เดินขบวนนี้ก็มีทั้งคนผิวขาวและผิวดำ และนับถือศาสนานิกายที่ต่างกันออกไป
          สำหรับมาร์ติน นี่คือภาพที่งดงาม และเมื่อเดินมาถึงมอนต์โกเมอรี ก็พบว่าผู้เดินขบวนนั้นมีจำนวนถึง 25,000 คน
          กลุ่มผู้เดินขบวนได้ยื่นเรื่องต่อวอลเลซ เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของคนผิวดำ
          6 สิงหาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ลงนามในกฎหมายสิทธิของการเลือกตั้ง
          ต่อไปจะไม่มีการทดสอบก่อนการเลือกตั้งอีกต่อไป การเดินขบวนครั้งนี้ มาร์ตินชนะ
          แต่ถึงแม้จะได้สิทธิในการเลือกตั้ง ถึงแม้คนผิวดำจะได้สิทธิต่างๆ แล้ว ชีวิตของคนผิวดำก็ยังคงลำบาก
          คนผิวดำจำนวนมากตกงาน ที่มีงานทำก็ได้ค่าแรงเพียงน้อยนิด ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
          คนผิวดำหลายๆ คนต่างโกรธแค้น หลายคนก็เบื่อมาร์ติน เห็นว่าวิธีการของมาร์ตินนั้นช้าเกินกว่าที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ผู้คนที่ติดตามมัลคอล์ม เอ็กซ์ซึ่งถูกสังหารเมื่อค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ก็ได้ออกมาตั้งกลุ่มของตนเองเพื่อโต้ตอบด้วยความรุนแรง
          สิงหาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ได้เกิดจลาจลขึ้นในลอสแอนเจลิส โดยกลุ่มม๊อบคนผิวดำได้ก่อจลาจล มีการทำลายข้าวของและร้านค้าต่างๆ และเผาอาคารหลายแห่ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
          การจลาจลดำเนินไปได้เป็นเวลาหกวัน ทำให้กองทัพบกสหรัฐต้องลงมาควบคุมสถานการณ์ด้วยตนเอง
          มาร์ตินเข้าใจถึงความโกรธเกรี้ยวของผู้คนเป็นอย่างดี โดยมาร์ตินกล่าวว่า
         "เมื่อผู้คนไม่มีสิทธิมีเสียง พวกเขาจะฉุนเฉียวราวกับเด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจ และการจลาจลก็คือความฉุนเฉียวของผู้คนที่ถูกละเลยและไม่มีสิทธิมีเสียง"
         กลุ่มผู้ก่อจลาจลรายหนึ่งได้กล่าวต่อมาร์ตินว่า
         "เรารู้ว่าการจลาจลไม่ใช่คำตอบ แต่เราทนทุกข์ทรมานที่นี่มาเป็นเวลานานแล้วและก็ไม่มีใครสนใจ อย่างน้อยตอนนี้พวกเขาก็มองเห็นพวกเราแล้ว การจลาจลอาจจะไม่ใช่ทางที่ถูก แต่มันก็คือวิธีการหนึ่งเช่นกัน"
         รากเหง้าของปัญหาก็คือความยากจน
         ผู้คนเบื่อหน่ายความยากจน มาร์ตินจึงหันไปโฟกัสยังปัญหาการว่างงาน ช่วยให้ผู้คนได้งานที่ดีขึ้น โดยในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) มาร์ตินได้เดินขบวนไปยังศาลากลางเมืองชิคาโก้
         ชิคาโก้คือเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสหรัฐอเมริกา มีประชากรผิวดำมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ตกงานหรือมีงานที่มีรายได้ไม่มากพอที่จะเลี้ยงดูตนเอง อีกทั้งที่พักจำนวนมากยังไม่ให้บริการแก่คนผิวดำ
         ในปีค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) ครอบครัวคิงได้ย้ายไปอาศัยยังชิคาโก้
         ที่ผ่านมา ครอบครัวคิงเคยชินกับการอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ที่สะดวกสบาย แต่มาร์ตินต้องการจะให้ครอบครัวของตนเห็นถึงชีวิตที่ยากลำบากของคนผิวดำคนอื่นๆ
         มาร์ตินได้เช่าอพาร์ทเม้นท์โทรมๆ ที่มีห้องสี่ห้องด้วยค่าเช่าเดือนละ 90 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,100 บาท) ในขณะที่อพาร์ทเม้นท์ในย่านคนผิวขาวที่มีห้องห้าห้อง และดูดีกว่ามาก มีราคาค่าเช่าเพียงเดือนละ 80 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,800 บาท)
         ในไม่ช้า ลูกๆ ของมาร์ตินก็เริ่มจะหงุดหงิด โดยในทีแรก มาร์ตินก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
         แต่ในไม่ช้า มาร์ตินก็เข้าใจว่าสาเหตุมาจากการที่ลูกๆ ไม่มีสถานที่ให้วิ่งเล่น และทำให้มาร์ตินเข้าใจว่าคนยากจนนั้นรู้สึกอย่างไร
         ในฤดูร้อนของปีนั้น มาร์ตินได้ออกเดินขบวนอีกครั้ง และก็ต้องพบกับความรุนแรง
         กลุ่มคนจำนวนมากต่างโยนก้อนอิฐและขวดน้ำใส่กลุ่มผู้เดินขบวน หากแต่กลุ่มผู้เดินขบวนก็ไม่โต้ตอบ
         มาร์ตินได้เดินขบวนไปถึงศาลาว่าการเมืองชิคาโก้ และได้แปะข้อเรียกร้องบนประตูของนายกเทศมนตรี "ริชาร์ด เจ. เดลีย์ (Richard J. Daley)" โดยเรียกร้องให้ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรงและเลิกการเลือกปฏิบัติในการหางานและให้เช่าที่อยู่อาศัยต่อคนผิวดำ
         เดลีย์ไม่ได้ตอบรับอะไร กลุ่มคนผิวดำจึงวางแผนจะเดินขบวนไปยังย่านซิเซโร ซึ่งเป็นย่านที่คนผิวขาวกว่า 70,000 คนพักอาศัย ซึ่งเดลีย์และตำรวจก็ตระหนักดีว่าเหตุการณ์นี้จะต้องจบลงด้วยความรุนแรงเป็นแน่
         เดลีย์จึงยอมเจรจากับมาร์ติน ตกลงที่จะยอมทำตามคำเรียกร้อง ขอแค่เลิกการเดินขบวน
         มาร์ตินและกลุ่มคนผิวดำก็ตอบตกลง หากแต่ภายหลัง เดลีย์ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา ทำให้ทุกอย่างในชิคาโก้ยังคงเดิม มาร์ตินจึงต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรต่อไป
         หากมาร์ตินไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นให้ความร่วมมือ มาร์ตินจึงตัดสินใจที่จะนำขบวน เดินไปยังวอชิงตันดีซีในปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) โดยจุดประสงค์ก็เพื่อให้สภาออกกฎหมายที่จะช่วยคนยากจนให้ได้งานที่ดีขึ้น
         ก่อนการเดินขบวน มาร์ตินได้เดินทางไปยังเมืองเมมฟิส เทนเนสซี ซึ่งในเวลานั้น พนักงานเก็บขยะที่เมมฟิสได้ประท้วงหยุดงาน และมาร์ตินก็เดินทางไปที่นั่นเพื่อช่วยเรียกร้องให้พนักงานเก็บขยะได้ขึ้นค่าแรง
         28 มีนาคม ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) มาร์ตินและผู้เดินขบวนได้ออกเดินขบวนบนท้องถนนในเมมฟิส ซึ่งผลที่ได้ก็คือความรุนแรง หากแต่ครั้งนี้มาจากกลุ่มผู้เดินขบวนเอง
         กลุ่มวัยรุ่นบางคนได้บุกเข้าไปในร้านค้าในเมืองและขโมยของ ทำให้เกิดการจลาจล ซึ่งเป็นสิ่งที่มาร์ตินไม่ต้องการเลย
         มาร์ตินได้เดินทางกลับไปที่แอตแลนต้าและไม่ได้กลับมาที่เมมฟิสจนวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) โดยในเวลานั้น มาร์ตินได้รับคำขู่ว่าจะทำร้ายจากคนจำนวนมาก
         แต่ถึงอย่างนั้น มาร์ตินก็ยังยืนยันที่จะช่วยพนักงานเก็บขยะเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรมต่อไป
         วันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) ในช่วงเย็น มาร์ตินได้เดินออกมาสูดอากาศบริเวณระเบียงของโรงแรมที่พัก ก่อนจะเกิดเสียงปืนดังขึ้น
         มาร์ตินถูกยิงและได้ล้มลงกับพื้น ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
         ขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้สูญเสียกระบอกเสียงสำคัญไปแล้ว
         "มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)" เป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกัน แม้กระทั่งทุกวันนี้ ชื่อของเขาก็ยังเป็นที่จดจำและพูดถึง
         หลังการเสียชีวิตของมาร์ติน คอเรตตาก็ยังคงสานต่อการต่อสู้ของมาร์ติน โดยเธอได้ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบรรยายเรื่องของสันติภาพ และต่อสู้เพื่อให้การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาสิ้นสุด และเธอก็ต่อสู้มาตลอดจนเสียชีวิตในปีค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)
         ลูกๆ ของมาร์ตินก็สานต่องานของผู้เป็นพ่อเช่นกัน โดยในปีค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) "มาร์ติน ลูเทอร์ คิงที่ 3 (Martin Luther King III)" ก็ได้เป็นผู้นำกลุ่ม SLC และเป็นผู้นำจนถึงปีค.ศ.2004 (พ.ศ.2547)
         สำหรับลูกสาวคนเล็กอย่าง "เบอร์นิซ คิง (Bernice King)" ก็เป็นนักกฎหมาย และได้ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบรรยายเรื่องสิทธิมนุษยชน
         ลูกชายคนรองอย่าง "เด็กซ์เตอร์ คิง (Dexter King)" ก็เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญในสหรัฐอเมริกา โดยในปีค.ศ.1997 เด็กซ์เตอร์ได้เข้าเยี่ยม "เจมส์ เอิร์ล เรย์ (James Earl Ray)" ฆาตกรที่ฆ่าพ่อของตนและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
         ภายหลังจากได้พูดคุยกับเรย์ เด็กซ์เตอร์ก็กล่าวว่าชายคนนี้ไม่ใช่คนที่ฆ่าพ่อของตน
         ส่วนลูกสาวคนโตอย่าง "โยแลนดา คิง (Yolanda King)" ก็เป็นทั้งนักเขียน นักแสดง และนักเคลื่อนไหวทางสังคม และยังเคยแสดงในมินิซีรีส์เรื่อง "King" ซึ่งเป็นมินิซีรีส์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวของมาร์ตินอีกด้วย
         โยแลนดาเสียชีวิตในปีค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) ด้วยวัย 51 ปี
         สำหรับการเทศนาครั้งสุดท้ายของมาร์ตินนั้น คือในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511)
         ในการเทศนานี้มาร์ตินพูดเกี่ยวกับความตายของตนเอาไว้ด้วย
         มาร์ตินกล่าวว่าตนนั้นหวังว่าผู้คนจะจดจำตนในฐานะของชายผู้ซึ่งใช้ชีวิตเพื่อรับใช้ผู้อื่น ต้องการจะให้คนจดจำในฐานะของบุคคลที่ช่วยหยุดยั้งความหิวโหยของผู้คน และมีความรักแก่ทุกคน
         เวลาผ่านไปนับจากวันที่มาร์ตินถูกยิงเสียชีวิตเป็นเวลากว่า 50 ปี ก็ดูเหมือนว่าความหวังที่จะเป็นที่จดจำในฐานะของบุคคลดังที่ได้กล่าวไปนั้น ก็เป็นจริงสำหรับมาร์ตินแล้ว

References :

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนประวัติ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2566 เวลา 22:51:36 3,262 อ่าน
TOP