คิงอาร์เธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไหม?
ถ้านึกถึงตำนานที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ ก็ต้องนึกถึงคิงอาร์เธอร์และเหล่าอัศวินโต๊ะกลม (King Arthur and His Knights of the Round Table) เรื่องราวของคิงอาร์เธอร์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรคาเมล็อต (Camelot) ผู้นำชาวบริตันที่ได้ปกป้องแผ่นดินเกิดจากการรุกรานของพวกแซกซัน
ที่นี่สงสัยไหมว่า เรื่องราวรวมไปถึงตัวตนของคิงอาร์เธอร์นั้น มีอยู่จริง ๆ ในประวัติศาสตร์หรือเปล่า?
เป็นเวลาหลายพันปีก่อนคริสตกาล บริเวณที่ตั้งของหมู่เกาะอังกฤษ เป็นแหล่งที่อยู่ของกลุ่มคนที่เรียกว่า ชาวเคลต์ (Celt) โดยชาวเคลต์เหล่านี้ มีจุดกำเนิดในยุโรปตอนกลาง ก่อนที่พวกเขาจะอพยพมายังหมู่เกาะอังกฤษ รวมไปถึงดินแดนที่เป็นที่ตั้งของฝรั่งเศสในปัจจุบัน
โดยชาวเคลต์ที่อยู่ในอังกฤษจะถูกเรียกว่า ชาวบริตัน (Briton และเป็นที่มาของคำว่า Britain รวมไปถึง British ในเวลาต่อมา) ขณะที่ชาวเคลต์ในฝรั่งเศส จะถูกเรียกว่า ชาวกอล (Gaul)
ในช่วงศตวรรษที่ 1 จักรวรรดิโรมันได้เข้ายึดครองอังกฤษ (เช่นเดียวกับชาวกอลที่พ่ายแพ้ต่อโรมันเช่นกัน) ทำให้ชาวบริตันถูกปกครองโดยโรมัน ก่อนที่จะค่อย ๆ รับวัฒนธรรมแบบโรมันไปด้วย
ขณะเดียวกันก็ยังมีชาวเคลต์กลุ่มอื่น ๆ ในหมู่เกาะอังกฤษที่ไม่ได้ถูกโรมันปกครอง อย่างเช่นชาวเกลส์ (Gaels) และชาวพิกต์ (Picts) ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวไอริชและชาวสกอต
เวลาผ่านไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 5 เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจ ทำให้อำนาจของโรมันในอังกฤษสิ้นสุดลงด้วย แต่ชาวบริตันที่เคยอยู่ใต้การปกครองของโรมันก็อยู่อย่างอิสระและสงบสุขได้ไม่นาน เพราะไม่นานหลังจากนั้น ก็ได้มีชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามารุกรานเกาะอังกฤษ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็คือชนเผ่าเยอรมัน (Germanic Tribes) ที่ประกอบไปด้วยชาวแองโกล (Anglo) ชาวจูตส์ (Jutes) และชาวแซกซัน (Saxon)
และช่วงเวลาที่ชาวบริตันถูกรุกรานโดยชนเผ่าเยอรมัน ก็คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่เรื่องราวของคิงอาร์เธอร์ดำเนินเรื่องอยู่นั่นเอง
คำถามต่อมาคือ แล้วเรื่องของคิงอาร์เธอร์เริ่มปรากฏขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
ในศตวรรษที่ 6 นักบวชชาวเวลส์นามว่า กิลดาส (Gildas) ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า De Excidio et Conquestu Britanniae (เป็นภาษาละตินแปลว่า การทำลายและบุกพิชิตเกาะบริเตน) ที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การบุกยึดครองอังกฤษของโรมัน ไปจนถึงการทำสงครามระหว่างชาวบริตันกับชนเผ่าเยอรมัน
ในหนังสือเล่มนี้ กิลดาสได้เขียนไว้ว่า ในการรบที่ภูเขาบาดอน (Mount Badon) ที่ชาวบริตันเอาชนะชาวแซกซอนได้นั้น ชาวบริตันได้มีผู้นำการรบนามว่า แอมโบรซิอุส ออเรเลียนุส (Ambrosius Aurelianus)
ที่น่าสนใจคือ ออเรเลียนุสได้ถูกตั้งฉายาว่า อาร์ทอส (artos) ซึ่งเป็นคำในภาษาเคลต์ที่แปลว่าหมี โดยมีที่มาจากการที่ออเรเลียนุสจะสวมใส่ผ้าคลุมที่ทำจากหนังหมี นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คำว่าอาร์ทอสอาจจะเป็นที่มาของคำว่าอาร์เธอร์ก็เป็นได้
ในบทกวีของเวลส์ที่มีชื่อว่า Y Gododdin (โกดอดดิน) ที่เผยแพร่ในช่วงศตวรรษที่ 7 จนถึง 11 ได้มีการเขียนไว้ว่า “กวาร์ดดาร์ (Gwawrddur) มีฝีมือในการสังหารศัตรูของเขา แต่มิอาจเทียบเท่ากับอาร์เธอร์” ข้อความดังกล่าว อาจจะบ่งบอกได้ว่า เคยมีขุนศึกที่เก่งกาจที่ชื่ออาร์เธอร์มาก่อน
อีกหนึ่งผลงานที่มีการเอ่ยถึงชื่อของอาร์เธอร์ก็คือ แอนนาเลส แคมเบรีย (Annales Cambriae หรือจดหมายเหตุอีสเตอร์) ที่มีเนื้อหาว่า ในการรบที่ภูเขาบาดอน อาร์เธอร์ได้แบกไม้กางเขนขององค์พระเยซูคริสต์ไว้บนบ่าของเขาเป็นเวลาสามวันสามคืน และชาวบริตันก็เป็นผู้มีชัยในศึกครั้งนั้น
รวมไปถึงใน Historia Brittonum (ประวัติศาสตร์ของบริตัน) ที่เขียนขึ้นโดยนักบวชชาวเวลส์ในศตวรรษที่ 9 ก็ได้ปรากฏชื่อของอาร์เธอร์ที่เป็นผู้นำทัพชาวบริตันเข้าต่อสู้กับชาวแซกซัน
ส่วนผลงานที่ถือได้ว่า เป็นต้นแบบสำคัญของคิงอาร์เธอร์ที่เรารู้จัก มาจากผลงานที่ชื่อ Historia Regum Britanniae (ประวัติศาสตร์กษัตริย์แห่งบริเตน) ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวเวลส์ เจฟฟรีย์แห่งมอนมัธ (Geoffrey of Monmouth) ในศตวรรษที่ 12
เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของอาณาจักรคาเมล็อต พ่อมดเมอร์ลิน ดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ รวมไปถึงอัศวินโต๊ะกลม ล้วนปรากฏอยู่ในผลงานชิ้นนี้ แต่ในหนังสือจะเรียกอาณาจักรคาเมล็อตว่า คาร์ลีออน และดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ว่า คาลิเบอร์นัส
จากทั้งหมดนี้ เราจึงพอสรุปได้ว่า เรื่องราวของคิงอาร์เธอร์เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมา ที่อาศัยโครงเรื่องประวัติศาสตร์จริง ๆ ในช่วงเวลาที่ชาวบริตันทำสงครามกับผู้รุกรานชาวแซกซัน
แม้ว่าจะเป็นเรื่องแต่ง แต่สิ่งที่เป็นความจริงก็คือ คิงอาร์เธอร์ได้กลายเป็นกษัตริย์ในตำนาน ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่