“O Captain, My Captain!” — ไม่ว่าผ่านมากี่ปี ฉากจบนี้ยังทรงพลังเสมอ
จากทุนสร้าง 16 ล้านดอลลาร์ Dead Poets Society (1989) ทำเงินทั่วโลกตอนออกฉายได้กว่า 235 ล้าน กลายเป็นภาพยนตร์ดราม่าที่บันดาลใจผู้ชมด้วยปรัชญาการไขว่คว้าช่วงเวลาและเชิดชูคุณครูผู้ชี้นำทางลูกศิษย์ให้คิดนอกกรอบ แสวงหาคุณค่า ไล่ตามความฝันท่ามกลางระบบเก่าที่ปิดกั้นจินตนาการ พลางฝากบทสรุปที่แม้เจือความเศร้า ทว่าภาพนั้นช่างมีพลัง ดนตรีบรรเลงนำพาความรู้สึกโบยบิน ราวกับต้องการย้ำเตือนให้ผู้ชมจดจำไปชั่วชีวิต
ความจริง Dead Poets Society เกือบมีตอนจบต่างออกไป สคริปต์เดิมมีเนื้อเรื่องเสริมไปอีกว่าคุณครูคีทติงตายด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ผู้กำกับ ปีเตอร์ เวียร์ เลือกตัดออกเพราะไม่อยากให้หนังไขว้เขวด้วยเรื่องราวของครูที่กำลังสิ้นใจ และเหตุผลที่เด็กๆ ปีนขึ้นยืนบนโต๊ะก็เพราะเชื่อในสิ่งที่เขาสอนแทนที่จะออกมาดูเหมือนการกระทำเพราะสงสารเห็นใจ เวียร์ต้องการนำเสนอว่าปรัชญา ‘Seize the day’ คือสิ่งที่คีทติงเชื่อจริงๆ มันไม่ควรเป็นการรู้แจ้งหลังจากตระหนักว่าเวลาชีวิตใกล้หมดลง แต่เป็นมุมมองสัจธรรมว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องตายอยู่แล้ว ชีวิตนั้นแสนสั้น จึงต้องฉกฉวยวันเวลาไว้
ในที่สุด หนังจึงทิ้งท้ายไปด้วยภาพที่ตราตรึงและตื้นตัน การที่นักเรียนขึ้นยืนบนโต๊ะช่างเปี่ยมด้วยความหมาย ตอกย้ำแนวคิดที่หนังเสนอแนะมาตลอดเรื่อง เป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัด การแสดงพลังทัดทานแรงกดทับ กล้าจะไขว่คว้าหาตัวตน และให้เกียรติครูผู้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล “O Captain, My Captain!” เหนืออื่นใด ฉากนี้สามารถใช้สดุดี โรบิน วิลเลียมส์ ได้เหมาะสม สำหรับอิทธิพลทางบทบาทที่เป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใคร
— ครบรอบ 35 ปี Dead Poets Society
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก The Academy (1), (2)
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่