เปิดเหตุผลทำไมโครงสร้างแบบพีระมิด ถึงปรากฏอยู่เกือบทุกมุมโลก
พีระมิดที่อียิปต์ ซิกกูแรตที่อิรัก พีระมิดขั้นบันไดของเมโสอเมริกา สุสานทรงพีระมิดที่จีน หรือแม้แต่สิ่งก่อสร้างรูปทรงคล้ายพีระมิดที่อินโดนีเซีย กัมพูชา รวมถึงที่เมืองโบราณศรีเทพในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้บ่งบอกกับเราว่า พีระมิดเป็นโครงสร้างที่ปรากฏในวัฒนธรรมแทบทุกมุมโลก
แล้วอะไรที่ทำให้พีระมิดมีอยู่เกือบทั่วโลกแบบนี้ บางคนนำเรื่องราวนี้ไปโยงกับทฤษฎีสมคบคิด อย่างเช่นอารยธรรมโบราณที่สาบสูญ หรือแม้กระทั่งมนุษย์ต่างดาว แต่คำตอบอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องพวกนี้เลย
เหตุผลที่ทำให้โครงสร้างแบบพีระมิดแพร่หลายในหลาย ๆ วัฒนธรรม อย่างแรกก็คือ รูปร่างของพีระมิดทำให้สิ่งก่อสร้างมีความมั่นคงสูง เพราะด้วยฐานที่กว้างและด้านบนที่แคบทำให้โครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง เหมาะสำหรับการออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ และยังคงตั้งตระหง่านได้แม้เวลาจะผ่านไปเป็นพัน ๆ ปี
ในสังคมยุคโบราณหนึ่งในวิธีการที่ใช้แสดงอำนาจ ความมั่งคั่ง และความสามารถด้านเทคโนโลยี ก็คือการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลนี้ โครงสร้างแบบพีระมิดจึงเป็นคำตอบของพวกเขา
เหตุผลต่อมาคือ พีระมิดเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ พีระมิดของแต่ละวัฒนธรรมจะมีวัตถุประสงค์และความเชื่อที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เป็นศาสนสถาน เป็นสุสานเก็บศพ ไปจนถึงสถานที่ติดต่อกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
จริงอยู่ที่ในหลายวัฒนธรรมมีการติดต่อระหว่างกัน อย่างเช่นกรณีของพีระมิดชาวนูเบียในซูดานที่ได้รับอิทธิพลจากพีระมิดของชาวอียิปต์ แต่รูปร่างพีระมิดที่คล้ายกันแต่อยู่คนละมุมโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องเคยรู้จักกันมาก่อน แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม มานุษยวิทยา รวมถึงวิศวกรรมของมนุษย์ ที่สะท้อนออกมาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามวัฒนธรรมนั้น ๆ
อ้างอิง
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่