สงครามครูเสด แล้ว ‘ครูเสด’ หมายถึงอะไร?
สงครามครูเสดคือหนึ่งในสงครามสำคัญในประวัติศาสตร์ของยุคกลาง โดยทั่วไปจะหมายถึงสงครามแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land คือพื้นที่อิสราเอลและปาเลสไตน์ในปัจจุบัน) ระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมในช่วงศตวรรษที่ 11-13 แต่นอกจากนี้ ครูเสดยังหมายถึงการปราบปรามกลุ่มคนที่ศาสนจักรคาทอลิกมองว่านอกรีตภายในยุโรปอีกด้วย
แล้วคำว่าครูเสดมีที่มาจากไหน ในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 (1095-1099) ปรากฏคำในภาษาละตินอย่างเช่น peregrinatio ที่แปลว่าการแสวงบุญ รวมถึง iter และ expeditio ที่แปลว่าการเดินทาง เพื่อใช้เรียกสงครามหรือการรณรงค์ทางทหารของชาวคริสต์ในตอนนั้น ส่วนนักรบชาวคริสต์ที่เข้าสู่สงครามก็มีคำที่ใช้เรียกอย่าง peregrini ที่แปลว่าผู้แสวงบุญ
ในเวลาต่อมา ได้ปรากฏคำว่า crucesignatus ในภาษาละตินที่แปลว่าผู้แบกไม้กางเขน เพื่อหมายถึงนักรบชาวคริสต์ในสงครามครูเสด เพราะเสื้อคลุมของนักรบชาวคริสต์จะติดสัญลักษณ์ไม้กางเขน
ขณะที่ในฝรั่งเศสปรากฏคำว่า croisement, croiserie, croisée และ croisade เพื่อเรียกสงครามครั้งนั้น โดยคำเหล่านี้มีต้นตอจาก crois ที่แปลว่าไม้กางเขนเช่นกัน
ส่วน Crusade รวมถึง Crusader ในภาษาอังกฤษ ปรากฏครั้งแรกในศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีต้นตอจาก croisade ในภาษาฝรั่งเศส รวมถึง cruzado ในภาษาสเปน
อ้างอิง
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่