ความจริงเบื้องหลังใบมีด การประหารด้วยกิโยตีน ไร้ความเจ็บปวดจริงหรือ ?

Histofun Deluxe

Histofun Deluxe เพจที่นำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน

          กิโยตีนคือการประหารชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวดจริงหรือ?
กิโยติน

          ปลายศตวรรษที่ 18 การปฏิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มต้นขึ้น คณะปฏิวัติได้ทำการประหารชนชั้นสูง กระฎุมพี (หรือแม้กระทั่งนักปฏิวัติด้วยกันเอง) จำนวนหลายหมื่นคน ด้วยอุปกรณ์อย่าง ‘ใบมีดแห่งชาติ’ (National Razor) หรือกิโยตีน (Guillotine)
          กิโยตีนถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า วิธีการประหารชีวิตแบบไหนที่จะมีมนุษยธรรมมากที่สุด และทำอย่างไรเพื่อให้นักโทษที่ถูกประหารเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นใบมีดของกิโยตีนจึงถูกออกแบบมาในลักษณะเฉียง เพื่อให้มั่นใจว่า หัวของนักโทษจะถูกตัดขาดได้ในครั้งเดียว
          แต่ช้าก่อนเพราะมีเรื่องเล่าชวนสยองขวัญจากเหล่าผู้ชมหลายคนที่ได้ร่วมดูการประหารชีวิต พวกเขาเล่าว่า หัวของคนที่ถูกตัดด้วยกิโยตีนนั้น ยังสามารถกะพริบตาหรือแม้แต่ขยับปากบ่นพึมพำได้นานหลายวินาที หลังจากหัวหลุดจากร่างไปแล้ว
          ในปี 1793 ในการประหารชีวิตชาร์ล็อต กอร์แด (Charlotte Corday) ผู้ลอบสังหารฌ็อง-ปอล มารา (Jean-Paul Marat) หนึ่งในแกนนำปฏิวัติสายสุดโต่ง มีเรื่องเล่าว่า หลังจากหัวของชาร์ล็อตถูกตัดด้วยกิโยตีน เพชฌฆาตก็ได้ตบไปที่หน้าของเธออย่างจัง มีพยานบอกว่า ชาร์ล็อตมีใบหน้าแดงก่ำและทำสายตาโกรธแค้นกับสิ่งที่เพชฌฆาตทำกับหัวของเธอ
          หรือจะเป็นในปี 1794 อ็องตวน ลาวัวซีเย (Antoine Lavoisier) นักเคมีชื่อดังถูกคณะปฏิวัติจับไปประหารด้วยกิโยตีน ก่อนถูกประหาร ลาวัวซีเยได้รับปากกับเหล่าลูกศิษย์ว่า เขาจะกะพริบตาให้ได้นานที่สุดหลังจากที่หัวของเขาหลุดออกจากร่าง ผลคือมีพยานอ้างว่า ลาวัวซีเยกะพริบตาได้นานถึง 15 วินาที หลังจากที่หัวของเขากระเด็นออกจากร่างไปแล้ว
          เรื่องชวนสยองนี้ไม่ได้มีแค่ที่ฝรั่งเศส เพราะย้อนกลับไปในปี 1536 เมื่อแอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) มเหสีองค์ที่สองของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษถูกประหาร ก็มีเรื่องเล่าว่า หัวของนางขยับปากเหมือนกำลังพูดอะไรสักอย่าง หลังจากเพชฌฆาตใช้ดาบตัดหัวไปแล้ว
          สรุปแล้วเรื่องเล่าเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็แสดงว่านักโทษที่ถูกประหาร พวกเขายังคงมีความรู้สึกและรับรู้ความเจ็บปวดหลังถูกกิโยตีนตัดหัวใช่หรือไหม?
          เรื่องนี้เป็นที่สงสัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มาช้านาน ในปี 1905 มีแพทย์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งได้ทดลองกับนักโทษประหารด้วยกิโยตีน (ฝรั่งเศสใช้กิโยตีนจนถึงทศวรรษ 1970) โดยเขาอ้างว่า หลังจากเรียกชื่อนักโทษที่ถูกตัดหัว เปลือกตาของนักโทษมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูด การทดลองนี้สรุปผลว่า หัวของคนที่ถูกตัดหัว ยังสามารถมีสติอยู่ได้ประมาณ 25-30 วินาที
          ในห้องปฏิบัติการบางแห่ง การตัดหัวถือเป็นวิธีการกำจัดสัตว์ทดลองที่มีมนุษยธรรมที่สุด ดังนั้นจึงมีการทดลองตัดหัวของสัตว์ทดลองเพื่อพิสูจน์ในเรื่องนี้เช่นกัน อย่างเช่นการทดลองของด็อกเตอร์กวิธา คงการา (Kavitha Kongara) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซีย์ (Massey University) ประเทศนิวซีแลนด์
          การทดลองนี้ทำกับหนูทดลอง โดยก่อนที่หนูทดลองจะถูกตัดหัว ได้มีการติดเครื่องตรวจคลื่นสมองไฟฟ้าหรือ EEG (Electroencephalograph) เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับสมองของหนูทดลอง
          จากการทดลองพบว่า ในช่วง 10-15 วินาทีหลังจากหนูทดลองถูกตัดหัว เปลือกสมองของหนูมีการตอบสนองต่อความเจ็บปวดก่อนที่สมองจะหยุดทำงาน
          “นั่นหมายความว่าในช่วงเวลานี้ สัตว์ที่มีสติสัมปชัญญะสามารถรับรู้ได้ว่า การตัดหัวเป็นความเจ็บปวด” ด็อกเตอร์กวิธากล่าว
          แล้วการทดลองกับสัตว์สามารถนำมาใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ไหม ด็อกเตอร์กวิธากล่าวว่าสิ่งที่ทำให้สัตว์เจ็บปวดก็สร้างความเจ็บปวดต่อมนุษย์เช่นกัน ซึ่งเป็นไปได้ที่หัวของมนุษย์ที่ถูกตัดขาดจะยังคงมีสติอยู่ได้ในระยะหนึ่ง
          นักวิทยาศาสตร์บางคนได้เคยให้คำตอบว่า พวกเขาไม่มีทางรู้ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แต่เรื่องจริงที่พวกเขาพอจะรู้ก็คือ สมองของคนเราสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างน้อย 13 วินาที โดยที่ปราศจากเลือด
อ้างอิง
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Histofun Deluxe
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความจริงเบื้องหลังใบมีด การประหารด้วยกิโยตีน ไร้ความเจ็บปวดจริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2567 เวลา 15:15:50 6,787 อ่าน
TOP