การก่อร่างสร้าง “จักรวรรดิมองโกล (Mongol Empire)” การสร้างอาณาจักรที่มากกว่าการใช้กองทัพ
การจะสร้างอาณาจักรซักแห่งนั้นต้องใช้อะไรบ้าง?
คำตอบที่หลายคนคิดก็น่าจะเป็น “กองทัพ” และ “เงินทุน” ซึ่งก็ไม่ได้ผิด
แต่สำหรับ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” ผู้ก่อตั้ง “จักรวรรดิมองโกล (Mongol Empire)” การสร้างจักรวรรดิมองโกลนั้นเริ่มจากเงินทุนเพียงน้อยนิด หากแต่เขาก็มีกองทัพที่ยิ่งใหญ่
กองทัพของเจงกิสข่านนั้นประกอบด้วยกองทัพทหารม้าที่มีฝีมือ มีพลเกาทัณฑ์ที่สามารถยิงเกาทัณฑ์ได้แม่นยำ หากแต่ชนเผ่าอื่นๆ ในที่ราบก็มีเช่นกัน แต่ชนเผ่าอื่นๆ ก็ไม่มีชนเผ่าใดจะประสบความสำเร็จมากเท่ามองโกล
นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามองโกลนั้นมีความพิเศษกว่าชนเผ่าอื่นๆ
จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ได้วิเคราะห์ว่าความสำเร็จของจักรวรรดิมองโกลนั้นไม่ได้มาจากกองทัพอันเกรียงไกรเพียงอย่างเดียว หากแต่มีปัจจัยอื่นเสริมด้วย
แต่ก่อนอื่น เราไปรู้จักเจงกิสข่านกันอย่างคร่าวๆ ก่อนดีกว่าครับ
ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำหรือ “ข่าน (Khan)” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิมองโกล นามเดิมของเจงกิสข่านคือ “เตมูจิน (Temujin)” โดยเขาเป็นบุตรของ “เยซูไก (Yesugai)” สมาชิกตระกูลบอร์จิกินซึ่งเป็นชนชั้นปกครองในชนเผ่า หากแต่โชคร้ายที่เยซูไกเสียชีวิตตั้งแต่เจงกิสข่านยังเยาว์ ทำให้เจงกิสข่านและมารดาถูกชนเผ่าทอดทิ้ง
“โฮลุน (Hoelun)” มารดาของเจงกิสข่าน ได้เลี้ยงดูเจงกิสข่านในแถบภูเขาบูร์คันคัลดุน (Burkhan Khaldun) และชีวิตในยามนั้นของเจงกิสข่านก็อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่ายากลำบาก ต้องทนต่ออากาศที่เหน็บหนาวและขาดแคลนอาหาร ต้องขุดดินหารากไม้และจับปลาเป็นอาหาร ดังนั้นความหนาวเหน็บและหิวโหยจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่เจงกิสข่านมาโดยตลอด
เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เตมูจินหรือเจงกิสข่านก็ได้เตรียมตัวจะสมรสกับเด็กสาวที่บิดาจัดหาไว้ให้ตั้งแต่ยังเด็ก หากแต่เมื่อชนเผ่าศัตรูทราบว่าเจงกิสข่านกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์ จึงได้นำกำลังบุกโจมตีบ้านของเจงกิสข่าน ทำให้เจงกิสข่านและมารดาต้องทอดทิ้งเจ้าสาวและหนีเอาตัวรอด
เหตุการณ์นี้ทำให้เจงกิสข่านตระหนักว่าตนนั้นจำเป็นต้องมีพันธมิตร มีความช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อนำพาเจ้าสาวของตนกลับมาและทำการใหญ่
เจงกิสข่านได้ไปขอความช่วยเหลือจาก “อ่องข่าน (Ong Khan)” ซึ่งเป็นผู้นำชนเผ่าอื่น อีกทั้งยังเป็นสหายของเยซูไก และอีกรายก็คือ “จามูคา (Jamuka)” สหายวัยเด็กของเจงกิสข่าน
อ่องข่านและจามูคาตกลงที่จะช่วยเจงกิสข่าน ทำให้เจงกิสข่านได้ตัวเจ้าสาวกลับคืนมา อีกทั้งยังทำให้เจงกิสข่านมีที่ยืนในสังคมชนเผ่า และในไม่ช้า เจงกิสข่านก็เริ่มมีพรรคพวกและชนเผ่าของตนเอง
ผู้ติดตามเจงกิสข่านนั้นมาจากหลายชนเผ่าและต่างศาสนา หากแต่เจงกิสข่านก็สามารถบริหารจัดการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในไม่ช้า อ่องข่านและจามูคาก็เริ่มจะมองเจงกิสข่านและชนเผ่าของเจงกิสข่านว่าเป็นเหมือนก้างขวางคอ และคิดว่าควรจะหาทางกำจัดให้พ้นทาง
สุดท้ายแล้ว เจงกิสข่านก็ได้มีความขัดแย้งกับทั้งคู่และจบลงด้วยการที่เจงกิสข่านปราบปรามทั้งคู่ลง และเจงกิสข่านก็สามารถดึงดูดคนจากชนเผ่าอื่นๆ เข้ามาอยู่กับตนได้มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเอาชนะชนเผ่าอื่นๆ ในแถบที่ราบได้สำเร็จ
เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 13 เจงกิสข่านก็สามารถครอบครองพื้นที่เดิมของจักรวรรดิอุยกูร์ (Uyghur Empire) ซึ่งถึงแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่สำหรับเจงกิสข่าน นี่คือความสำเร็จครั้งใหญ่
ซากเมือง “คาร์บาลกัส (Kharbalgas)” อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิอุยกูร์นั้นเต็มไปด้วยวิหาร ตลาด พระราชวัง และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งถึงแม้ว่าเมืองนี้จะถูกทิ้งร้าง แต่ชาวอุยกูร์ก็ยังคงอาศัยอยู่ในแถบนั้น อีกทั้งวัฒนธรรมอุยกูร์ก็ยังดำรงอยู่ มีทั้งศาสนาและระบอบการเขียน
เจงกิสข่านเริ่มตระหนักว่าตนนั้นไม่สามารถครอบครองจักรวรรดิหรือเมืองใหญ่อย่างคาร์บาลกัสได้อย่างแท้จริงจนกว่าจะสามารถปรับโครงสร้างอาณาจักรได้
ดังนั้น เจงกิสข่านจึงสานต่อในสิ่งที่พวกอุยกูร์เคยทำไว้
เจงกิสข่านได้สั่งให้ราชสำนักของตนศึกษาและรวบรวมภาษาเขียนที่ยังมีอยู่ จัดทำเป็นภาษาที่ปรับปรุงแล้ว และปรับปรุงการอ่าน จากอ่านแบบแนวตั้ง เป็นอ่านแบบแนวนอนจากซ้ายไปขวา
การจัดการนี้ทำให้มองโกลสามารถสร้างระบอบการจัดทำกฎหมายสำหรับอาณาจักร และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะทางยาวไกล อีกทั้งยังมีการแปลงานเขียนต่างๆ เป็นภาษามองโกเลีย ซึ่งหนึ่งในงานแปลเรื่องแรกๆ ก็คือเรื่องราวของ “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)”
แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ “ศาสนา”
คาร์บาลกัสเป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งที่ยังอนุญาตให้มีการนับถือศาสนามาณีกีได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งศาสนามาณีกี เป็นสาขาหนึ่งของศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นต้นกำเนิดของลัทธิบัวขาว ลัทธิเซียนเทียนเต้า และลัทธิอนุตตรธรรม สอนเชิงจักรวาลวิทยาว่าจักรวาลแบ่งออกเป็นสองด้าน คือด้านความดีงาม จิตวิญญาณ และความสว่างกับความชั่วร้าย วัตถุและความมืด และศาสนามาณีกีก็เป็นเหมือนศาสนาที่พยายามจะรวมศาสนาหลักๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
ตามหลักของศาสนามาณีกี เชื่อว่าดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์นั้นปรากฏในดินแดนห่างไกลเพื่อสอนภาษาที่หลากหลายแก่มนุษย์ โดยเชื่อว่าพระเจ้านั้นปรากฏในศาสนาโซโรอัสเตอร์ รวมทั้งพระพุทธเจ้าและพระเยซู
ชาวมาณีกีเซ่นสรวงบูชาแสงสว่าง และชนเผ่าในที่ราบต่างก็ชื่นชอบแสงจากดวงอาทิตย์
ความพยายามที่จะรวบรวมศาสนาต่างๆ เป็นหนึ่งของศาสนามาณีกี ก็ไม่ต่างจากเจงกิสข่าน ที่พยายามจะรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งมองโกลก็ได้มีการแบ่งชุมชนศาสนาต่างๆ ออกเป็นกลุ่มละ 10 ซึ่งการแบ่งเช่นนี้ก็มีการนำมาปรับใช้กับกองทัพมองโกล
กฎหมายก็เป็นอีกสิ่งที่เจงกิสข่านสนใจ
ด้วยมุมมองทางศาสนา ทำให้ข่านอย่างเจงกิสข่านเป็นเหมือน “จิตวิญญาณแห่งรัฐ” และกฎหมายนี้ก็ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เจงกิสข่านมีอำนาจมหาศาล
เจงกิสข่านรวบรวมกลุ่มคนต่างๆ ที่มาจากหลากหลายพื้นฐานเข้าเป็นหนึ่งภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งที่มองโกลนำศาสนามาณีกีมาปรับใช้ก็เนื่องจากมีแง่มุมที่ชนเผ่าในที่ราบกระทำเป็นกิจวัตร
แต่ถึงอย่างนั้น เจงกิสข่านกลับมองเหล่าผู้นำทางจิตวิญญาณต่างๆ ด้วยความสงสัยและไม่เชื่อถือ
หากว่าพระเจ้าของคนเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์จริง มีพลังอำนาจจริง เหตุใดจึงปล่อยให้กองทัพมองโกลเข้ามารุกรานได้?
ตามความเชื่อของศาสนามาณีกี ข่านหรือผู้นำนั้นคือพลังอำนาจแห่งแสงสว่าง และผู้ต่อต้านก็คือผู้ที่อยู่ในด้านมืด
เจงกิสข่านเฝ้ามองผู้นำทางศาสนาหลายคน และก็พบว่าต่างเป็นพวกต้มตุ๋นหลอกลวง เจงกิสข่านจึงสั่งลงโทษคนเหล่านั้น และถึงแม้ว่าจักรวรรดิมองโกลในช่วงแรกจะให้ความเคารพกับความเชื่อของศาสนาต่างๆ แต่ตัวเจงกิสข่านกลับไม่นับถือศาสนาใด แต่สร้างกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ของตนเองขึ้น
เจงกิสข่านนั้นไม่ได้เป็นพระเจ้า เขาเพียงแต่สร้างกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยวางโครงสร้างที่แข็งแรงสำหรับอาณาจักรให้คงอยู่ได้ รวมถึงการสร้างระบอบการเขียนที่จะทำให้เข้าใจโครงสร้างนั้น
ดังนั้นการสร้างจักรวรรดิมองโกล ย่อมไม่ใช่เพียงการใช้กองทัพหรือเงินเพียงอย่างเดียวแน่นอน หากแต่จำเป็นต้องมีผู้นำทางจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง ผู้ที่สามารถสร้างกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์และภาษาของตนขึ้นมาได้
References:
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่