พลิกประวัติศาสตร์อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา 417 ปีที่ผ่านมา เกิดศึกชิงราชสมบัติกี่ครั้ง ?

Histofun Deluxe

Histofun Deluxe เพจที่นำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุกสนาน

          ประวัติศาสตร์อยุธยาชิงบัลลังก์กี่ครั้ง?
กรุงศรีอยุธยา

          ตลอดระยะเวลา 417 ปีที่อาณาจักรอยุธยาดำรงอยู่ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์มากมาย และเหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นตลอดการดำรงอยู่ของอาณาจักรอยุธยา ก็คือการชิงราชสมบัติเพื่อที่จะเป็นกษัตริย์นั่นเอง
          โดยพบว่าอาณาจักรอยุธยาได้เกิดการชิงราชสมบัติมากถึง 15 ครั้ง หรือเฉลี่ยแล้วจะเกิดการชิงราชสมบัติทุก ๆ 27 ปีกับอีก 9 เดือน การชิงราชสมบัติในที่นี้ จะมีทั้งที่ปราศจากความรุนแรง การรัฐประหาร รวมถึงเกิดเป็นสงครามจนทำให้มีผู้คนล้มตาย 
          ดังนั้นเรามาดูกันว่า การชิงราชสมบัติทั้ง 15 ครั้งนี้ มีดีเทลอย่างไรกันบ้าง
  • ครั้งที่ 1 ขุนหลวงพะงั่วชิงบัลลังก์พระราเมศวร 
          พ.ศ. 1913 พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคต ทำให้พระราชโอรสคือพระราเมศวรขึ้นครองราชย์สืบต่อ แต่ขุนหลวงพะงั่ว (หรือขุนหลวงพ่องั่ว) ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขยของพระเจ้าอู่ทอง ได้ยกทัพจากเมืองสุพรรณบุรีชิงราชสมบัติจากพระราเมศวร
          เหตุการณ์นี้ทำให้พระราเมศวรเสด็จไปอยู่เมืองลพบุรี ส่วนขุนหลวงพะงั่วก็ครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 ราชวงศ์อู่ทอง (หรือราชวงศ์ละโว้) ถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์สุพรรณภูมิ
  • ครั้งที่ 2 พระราเมศวรชิงบัลลังก์พระเจ้าทองลัน 
          พ.ศ. 1931 พระเจ้าทองลันครองราชย์ต่อจากขุนหลวงพะงั่วพระราชบิดา แต่ครองราชย์ได้แค่ไม่กี่วัน พระราเมศวรก็ยกทัพจากลพบุรีชิงราชสมบัติคืนได้สำเร็จ พระราเมศวรครองราชย์เป็นครั้งที่สอง และฟื้นฟูราชวงศ์อู่ทองอีกครั้ง
          ทางด้านพระเจ้าทองลันก็ถูกสำเร็จโทษ ทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์อยุธยาพระองค์แรกที่ถูกสำเร็จโทษ
  • ครั้งที่ 3 เจ้านครอินทร์ชิงบัลลังก์พระรามราชาธิราช
          พ.ศ. 1938 พระราเมศวรเสด็จสวรรคต พระรามราชาธิราชพระราชโอรสครองราชย์สืบต่อ พระรามราชาธิราชครองราชย์จนถึงปี พ.ศ. 1952 พระองค์ก็ถูกขุนนางกลุ่มหนึ่งโค่นล้มอำนาจ โดยอัญเชิญเจ้านครอินทร์จากเมืองสุพรรณบุรีครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยาแทน ราชวงศ์สุพรรณภูมิจึงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
          ขณะที่ชะตากรรมของพระรามราชาธิราช ก็มีบันทึกที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่าพระองค์เสด็จไปเมืองอื่น บ้างก็ว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษ
  • ครั้งที่ 4 เจ้ายี่พระยาชิงบัลลังก์เจ้าอ้ายพระยา
          เจ้านครอินทร์หรือสมเด็จพระอินทราชา เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1967 ปรากฏว่าพระราชโอรสได้แก่ เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาได้ทำสงครามชิงราชสมบัติ แต่สุดท้ายทั้งสองพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่ ทำให้เจ้าสามพระยาพระอนุชาได้เป็นกษัตริย์อยุธยาในนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 2
  • ครั้งที่ 5 พระไชยราชาชิงบัลลังก์พระรัษฎาธิราช
          พ.ศ. 2076 สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือพระหน่อพุทธางกูรเสด็จสวรรคต (มีศักดิ์เป็นเหลนของเจ้าสามพระยา) พระรัษฎาธิราชพระราชโอรสวัยเพียง 5 พรรษา ครองราชย์สืบต่อ แต่ในปีถัดมาพระไชยราชาผู้เป็นพระอนุชาของพระหน่อพุทธางกูร ก็ชิงราชสมบัติและสำเร็จโทษพระรัษฎาธิราช
  • ครั้งที่ 6 ขุนวรวงศาธิราชชิงบัลลังก์พระยอดฟ้า
          พระไชยราชาสวรรคตในปี พ.ศ. 2089 พระยอดฟ้า (หรือพระแก้วฟ้า) พระราชโอรสที่เกิดกับท้าวศรีสุดาจันทร์เสด็จขึ้นครองราชย์ ทว่าท้าวศรีสุดาจันทร์กลับมีสัมพันธ์กับพันบุตรศรีเทพหรือที่ในเวลาต่อมาคือ ขุนวรวงศาธิราช
          ทำให้ในปี พ.ศ. 2091 ขุนวรวงศาธิราชได้ชิงราชสมบัติและสำเร็จโทษพระยอดฟ้า หลังจากนั้นขุนวรวงศาธิราชจึงครองราชย์เป็นกษัตริย์
  • ครั้งที่ 7 ขุนพิเรนทรเทพโค่นล้มขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์
          ขุนวรวงศาธิราชเป็นกษัตริย์อยุธยาได้แค่ 42 วัน ก็ถูกกลุ่มขุนนางนำโดยขุนพิเรนทรเทพโค่นล้มอำนาจ ขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกสำเร็จโทษ จากนั้นขุนพิเรนทรเทพก็สนับสนุนพระเทียรราชาพระอนุชาของพระไชยราชา ครองราชย์เป็นกษัตริย์ในนามพระมหาจักรพรรดิ
  • ครั้งที่ 8 พระเจ้าทรงธรรมชิงบัลลังก์พระศรีเสาวภาคย์
          ข้ามมาในปี พ.ศ. 2153 ในยุคราชวงศ์สุโขทัย พระเอกาทศรถ (พระอนุชาของพระนเรศวรมหาราช) เสด็จสวรรคต พระราชโอรสคือพระศรีเสาวภาคย์ครองราชย์สืบต่อมา
          ทว่าในปีถัดมา พระศรีเสาวภาคย์ก็ถูกชิงราชสมบัติโดยพระเจ้าทรงธรรม พระราชโอรสอีกพระองค์ของพระเอกาทศรถ สุดท้ายพระศรีเสาวภาคย์ก็ถูกสำเร็จโทษ
  • ครั้งที่ 9 เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ล้มล้างพระเชษฐาธิราช
          พระเจ้าทรงธรรมสวรรคตในปี พ.ศ. 2171 พระเชษฐาธิราชพระราชโอรสครองราชย์สืบต่อ แต่สองปีถัดมา เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักก็ถอดพระเชษฐาธิราชจากการเป็นกษัตริย์
          เจ้าพระยากลาโหมให้พระอาทิตยวงศ์พระอนุชาของพระเชษฐาธิราชครองราชย์แทน ส่วนพระเชษฐาธิราชก็ถูกสำเร็จโทษ
  •  ครั้งที่ 10 เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ชิงบัลลังก์พระอาทิตยวงศ์
          พระอาทิตยวงศ์เป็นกษัตริย์ได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าพระยากลาโหมโค่นล้มอำนาจ พระอาทิตยวงศ์ถูกสำเร็จโทษ ส่วนพระยากลาโหมก็ครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยาในนาม พระเจ้าปราสาททอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง
  • ครั้งที่ 11 พระศรีสุธรรมราชาชิงบัลลังก์เจ้าฟ้าไชย
          พ.ศ. 2199 พระเจ้าปราสาททองสวรรคต เจ้าฟ้าไชยพระราชโอรสครองราชย์สืบต่อ แต่ไม่นานก็ถูกพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของพระเจ้าปราสาททองชิงราชสมบัติ
  • ครั้งที่ 12 พระนารายณ์ชิงบัลลังก์พระศรีสุธรรมราชา
          ปรากฏว่าพระศรีสุธรรมราชาก็ครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ถูกสมเด็จพระนารายณ์ พระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททองชิงราชสมบัติ
  • ครั้งที่ 13 พระเพทราชาชิงบัลลังก์พระนารายณ์
          สมเด็จพระนารายณ์มหาราชครองราชย์เป็นเวลานานถึง 32 ปี ในช่วงปลายรัชกาลได้เกิดความวุ่นวายระหว่างอยุธยากับกองกำลังฝรั่งเศส ในตอนนั้นเองพระเพทราชาก็เข้ามาควบคุมสถานการณ์ และเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์และก่อตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ชื่อมาจากถิ่นเกิดของพระเพทราชา ในเมืองสุพรรณบุรี)
  • ครั้งที่ 14 เจ้าฟ้าพรชิงบัลลังก์เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์
          ข้ามมาในปี พ.ศ. 2275 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พระโอรสของพระเจ้าเสือ) เสด็จสวรรคต ทำให้เกิดการชิงราชสมบัติระหว่างเจ้าฟ้าพร พระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สุดท้ายเจ้าฟ้าพรได้รับชัยชนะและครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
  • ครั้งที่ 15 พระเจ้าอุทุมพรถวายราชสมบัติให้พระเจ้าเอกทัศน์
          พ.ศ. 2301 พระเจ้าอุทุมพรครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระราชบิดา แต่พระเจ้าอุทุมพรก็ครองราชย์ได้ไม่นาน พระเชษฐาของพระองค์คือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ปรารถนาในราชสมบัติ พระเจ้าอุทุมพรจึงตัดสินพระทัยมอบราชสมบัติให้กับพระเชษฐาและออกผนวช
          พระเจ้าเอกทัศน์เป็นกษัตริย์อยุธยาลำดับที่ 34 (หากนับขุนวรวงศาธิราชด้วย) และลำดับสุดท้าย ก่อนที่อาณาจักรอยุธยาจะล่มสลายในปี พ.ศ. 2310
          ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe 
          อ้างอิง
  • สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่มที่ 3
  • รูปแบบและพฤติกรรมการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองสมัยอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Histofun Deluxe
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลิกประวัติศาสตร์อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา 417 ปีที่ผ่านมา เกิดศึกชิงราชสมบัติกี่ครั้ง ? อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16:47:02 8,044 อ่าน
TOP