Stargate ครบรอบ 30 ปี ตำนานหนังไซ-ไฟทะลุมิติ

Vintage Motion

เพจหนังที่บอกเล่าเกร็ดภาพยนตร์ ความเป็นมา รวมถึงชีวิตนักแสดง ทีมงาน เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการสร้างสรรค์บ่มเพาะใดๆ ล้วนแล้วผ่านอุปสรรค

          ครบรอบ 30 ปี Stargate — ตำนานหนังไซ-ไฟทะลุมิติที่เกือบโดนเท แต่สุดท้ายกลายเป็นงานคลาสสิค
Stargate

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Stargate

          นี่คือหนึ่งในความตื่นตาวัยเด็กครับ การผจญภัยข้ามประตูมิติจักรวาลที่ตรึงเราไว้ด้วยความลึกลับ ความน่าค้นหา การไขรหัส สะท้อนผ่านสเกลงานโปรดักชั่นอันยิ่งใหญ่ การดีไซน์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เสริมแรงด้วยงานภาพ ดนตรี ทีมนักแสดงแบบ เคิร์ท รัสเซลล์ บททหารขึงขังที่มีมิติอารมณ์, เจมส์ สเปเดอร์ สมัยเป็นพระเอกทรงเนิร์ด, นางเอกหน้าใหม่ มิลลี่ อวิทัล และ เจย์ เดวิดสัน ที่แจ้งเกิดฮือฮากับ The Crying Game (1992) แล้วมาเป็นวายร้าย “รา”
          Stargate (1994) คืออีกหนึ่งงานสร้างชื่อของเจ้าพ่อหนังหายนะอย่าง โรแลนด์ เอ็มเมอริก และคู่หูมือเขียนบท ดีน เดฟลิน ที่นำไอเดียมารวมกัน นานมาแล้วเอ็มเมอริกสนใจทฤษฎีจากสารคดี Chariots of the Gods (1970) ที่อธิบายว่ามนุษย์ต่างดาวอยู่เบื้องหลังอารยธรรมบนโลก ส่วนเดฟลินนึกอยากทำ Lawrence of Arabia (1962) เวอร์ชั่นไซ-ไฟ มีการโยงเข้ากับอารยธรรมอียิปต์ ลงทุนมากโขกับรายละเอียดการพูดภาษาโบราณ ได้เป็นเรื่องราวการค้นพบที่นำไปสู่การปลดแอก
Stargate

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Stargate

          แต่อย่างที่เกริ่น Stargate คือหนังที่เผชิญปัญหาเบื้องหลังนานัปการ เริ่มจากนักแสดง เดิมทีรัสเซลล์ในฐานะตัวเลือกแรกสำหรับบทผู้พันแจ็ค โอนีล เลือกปฏิเสธหลายหนเหตุไม่ชอบสคริปต์ โปรดิวเซอร์ต้องต่อรองเพิ่มค่าตัวให้จนพอใจ ภายหลังพวกเขาถึงรู้ว่าตัวแทนดันส่งสคริปต์ให้รัสเซลล์ผิดฉบับ กลายเป็นบทดราฟต์แรกๆ ที่ยังสะเปะสะปะ แต่เมื่อได้อ่านสคริปต์ฉบับสมบูรณ์ รัสเซลล์ก็ชอบใจ (แต่ต่อค่าตัวไปแล้ว)
          ขณะที่สเปเดอร์ก็ไม่ปลื้มไดอะล็อก มองว่าน่าขัน บางครั้งถึงขั้นไม่ยอมเข้าฉากจนกว่าจะแก้ไข ทำเอาคู่หูร่วมจออย่างรัสเซลล์ไม่ปลื้มพฤติกรรม เข้าไปมีปากเสียง รัสเซลล์บอก “เออ บทพูดมันห่วย แต่เขาจ้างนายเป็นล้านนะโว้ย เล่นๆ ไปเหอะ” สำหรับรายที่หนักสุดคือเดวิดสันซึ่งช่วงนั้นมีปัญหาติดเหล้ายา มักมีสภาพเมามาย จำบทพูดไม่ได้ กว่าจะถ่ายได้เทคดีๆ สักเทคช่างยากลำบาก พาให้บางฉากของราต้องถูกตัดออก (จนภายหลังเดวิดสันถึงเริ่มตั้งสติ) 
          ส่วนการยกกองถ่ายทำยังทะเลทรายในแอริโซน่าก็ต้องรับมือกับความร้อนแผดเผาลดทอนพลังงาน หรือแม้แต่ภูมิประเทศทะเลทรายเองก็สร้างความยุ่งยาก สมัยนั้นยังไม่มีการใช้ซีจีรบรอยเท้าทีมงานบนผืนทราย เอ็มเมอริกจึงออกไอเดียเช่าเฮลิคอปเตอร์มาเป่าทราย ปรากฎว่ากองถ่ายยิ่งเละเทะเพราะแรงลมจากใบพัด เสมือนมีปัญหาให้ต้องแก้ทุกวี่วัน 
Stargate

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Stargate

          อย่างไรก็ตาม หากจะมีแง่ดีๆ ในขั้นตอนงานสร้างก็คงเป็นการที่ Stargate คือหนังทุนอิสระ (ซึ่งระดมมาจากฝรั่งเศสจำนวน 55 ล้านดอลลาร์) พวกเขาจึงมีอิสระในการสร้างสรรค์ ไม่ถูกแทรกแซง ตลอดจนโปรดักชั่นที่สร้างเซ็ทฉากใหญ่โตของจริง และเริ่มใช้สอยคอมพิวเตอร์กราฟิก (เช่น ฉากประตูมิติหรือการเปิดปิดชุดเกราะองครักษ์อนูบิสกับฮอรัส) 
          เดิมที ช่วงทดลองฉายมีผลตอบรับไม่สู้ดี ทำเอากลุ่มทุนฝรั่งเศสเกิดใจฝ่อ เกรงว่าหนังคงจะเจ๊ง จนยอมขายขาดทุนให้ MGM (ซึ่งทีแรกจะจัดจำหน่ายอย่างเดียว) ช่วงเวลาหนึ่ง Stargate เหมือนเผือกร้อนที่ไม่มีใครอยากรับ ทว่าสุดท้าย หนังก็พิสูจน์ตัวเอง ทำรายรับทั่วโลกได้ราว 196 ล้านดอลลาร์ ต่อยอดไปเป็นซีรีส์, วิดีโอเกม, นิยาย กำเนิดเป็นภาพยนตร์ไซ-ไฟผจญภัยเฉพาะตัวที่นอกเหนือจากจินตนาการ เชื่อมโยงอารยธรรม อิงทฤษฎีความเป็นไปได้ ยังมีเรื่องจิตวิญญาณมนุษย์

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก Stargate

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Vintage Motion
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Stargate ครบรอบ 30 ปี ตำนานหนังไซ-ไฟทะลุมิติ อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2567 เวลา 10:45:19
TOP