คลินท์ อีสต์วูด มีกิตติศัพท์ในการกำกับหนังอย่างเรียบง่าย สไตล์ไม่เหมือนใคร ฉากนึงถ่ายแค่เทคสองเทค แต่หนังของแกส่งนักแสดงชิงออสการ์และชนะเป็นว่าเล่น…
โดยตั้งแต่ Unforgiven (1992) ถึง Richard Jewell (2019) หนังของปู่คลินท์ติดโผชิงตุ๊กตาทองสาขาการแสดงทั้งสิ้น 14 ครั้ง และชนะ 5 ครั้ง (ในจำนวนนั้นปู่คลินท์เข้าชิงการแสดงเอง 2 ครั้ง) สำหรับในยุคหลังๆ ถือเป็นสถิติที่สูงทีเดียว นี่ยังไม่รวมสาขาอื่นอีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเบสต์พิค (ชิง 5 ชนะ 2) และสาขากำกับ (ชิง 4 ชนะ 2) เกิดเป็นคำถามว่าปู่คลินท์ทำได้ยังไง หรือวิธีของแกพิเศษยังไง
บรรดานักแสดงที่เคยเล่นหนังที่ คลินท์ อีสต์วูด กำกับต่างพูดเป็นเสียงเดียวถึงประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม เมื่อกองถ่ายของปู่คลินท์ไม่ค่อยเหมือนกองฮอลลีวูดเรื่องอื่น บรรยากาศนั้นเงียบสงบ ผ่อนคลาย และมีความเอาจริงเอาจังไปพร้อมกัน ส่วนวิธีกำกับของปู่คลินท์ก็แตกต่าง เนื่องจากแกจะไม่สั่ง “แอ็คชั่น!” หรือ “คัท!” แถมไม่ตะโกนเสียงดังเอะอะ แต่ใช้วิธีเดินกล้องแล้วพูดกับนักแสดงด้วยคำว่า “Anytime” หรือ “Okay go” ทำนองว่า พร้อมเมื่อไหร่เล่นได้เลย
ที่สำคัญ ปู่คลินท์ใช้เวลาถ่ายฉากฉากหนึ่งเพียงแค่ 1-2 เทคก็ถือว่าผ่าน ไปต่อฉากอื่นได้ทันที เป็นสไตล์คนทำงานเร็ว ถ่ายเร็ว หนังเสร็จเร็ว ไม่มีปัญหาล่าช้าหรืองบบานปลาย ส่วนสคริปต์ก็ล็อคเอาไว้แล้ว ไม่แก้หน้างาน สไตล์ของปู่คลินท์ทำเอานักแสดงบางคนที่ร่วมงานครั้งแรกประหลาดใจ กระนั้น ถึงทำไว แต่ก็จริงจัง เน้นได้งาน ไม่ติดเล่น
แม้แต่การซักซ้อมก่อนถ่ายจริง ปู่คลินท์ก็ไม่ค่อยอนุญาตให้ทำ เนื่องจากแกเชื่อในอารมณ์หรือปฏิกิริยาที่สดใหม่ ว่าลำพังการซ้อมนั้นอาจเป็นเทคที่ดีที่สุดก็ได้ นักแสดงอาจปล่อยของโดยไม่ตั้งใจ เวลาใครอ้อนวอนขอซักซ้อม แกจึงยื่นเงื่อนไข “งั้นขอถ่ายไปด้วยนะ”
ทีนี้ เหมือนกลายเป็นเรื่องจิตวิทยา เมื่อวิธีทำงานสบายๆ ไม่เครียด ไม่ด่า ไม่ตะคอกของปู่คลินท์นั้นมีอิทธิพลต่อนักแสดงอย่างเงียบๆ ความเก๋าของแกทำให้ใครๆ ยำเกรง ไม่กล้านอกลู่นอกทาง ยิ่งรู้ว่าปู่ชอบถ่ายน้อยเทค ทุกคนจึงตื่นตัว อะดรีนาลินสูบฉีด พร้อมใส่เต็มที่ตั้งแต่เทคแรก และในทางกลับกัน เมื่อไหร่ที่ถ่ายไปสองเทคแล้วปู่ยังขอเทคที่สาม หมายความว่ามีบางอย่างไม่โอเคจริงๆ นักแสดงจะรู้สึกเลิ่กลั่ก ยิ่งมุ่งมั่นกว่าเก่าพลางคิดในใจว่าเทคต่อไปต้องทำให้ดีที่สุดเท่านั้น
ในฐานะนักแสดงประสบการณ์โชกโชน ปู่คลินท์ตระหนักว่าธรรมชาติของนักแสดงถึงจะพร้อมทำตามสั่ง แต่บางครั้งก็ไม่ชอบถูกกำกับหรือเจ้ากี้เจ้าการมากเกินไป นั่นเอง แกจึงใช้ไม้อ่อน ให้อิสระ สามารถด้นสดได้ตามสมควร แล้วความนิ่งเงียบ พูดน้อย น้ำเสียงค่อยๆ ของปู่ก็ทำให้ทุกคนเกรงใจ เสมือนตัวละครในหนังที่แกเล่น ไม่ใช่คนช่างพูด แต่เมื่อไหร่ที่พูด นั่นหมายถึงทุกคนต้องตั้งใจฟัง
นอกจากนั้น วิธีถ่ายหนังของปู่คลินท์ยังมีมิติอื่นๆ แกถ่ายน้อยเทคก็จริง แต่มักถ่ายด้วยกล้องหลายมุมพร้อมกันทีเดียว หรือหากนักแสดงทำท่าเล่นไม่ผ่าน แกก็ใช้วิธีเบนกล้องไปโฟกัสสิ่งอื่นแทน และเหนืออื่นใด เคล็ดลับแท้จริงอยู่ที่ทีมงาน นี่ไม่ใช่เพราะว่าปู่คลินท์เก่งอยู่คนเดียว แต่แกรู้จักเลือกคนที่ทำงานด้วย แล้วก็ชอบใช้ทีมงานชุดเดิมๆ เป็นคนที่รู้ว่าแกต้องการอะไร เช่นว่าโปรดิวเซอร์ที่ช่วยสแกนบทหนังรู้ว่าเรื่องไหนเป็นทางปู่ หรือถึงแกไม่สั่งคัท ตากล้องก็รู้ว่าแกอยากให้หยุดเมื่อไหร่
สุดท้าย ลงเอยเป็นกิตติศัพท์ คนวงการพูดถึงการทำงานกับปู่คลินท์กันไม่ขาดปาก ยิ่งในราย มอร์แกน ฟรีแมน เล่นหนังเกือบ 150 เรื่อง ยกให้การร่วมงานกับปู่คลินท์เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด เรียบง่าย กระฉับกระเฉง เป็นมืออาชีพ แล้วหนังออกมาดีเลิศ จนแม้กระทั่งในวัย 94 ย่าง 95 ปี คลินท์ อีสต์วูด ก็ยังมีผลงานที่น่าดูชม
ขอบคุณภาพจาก : Featureflash Photo Agency, เฟซบุ๊ก Clinteastwood.universe
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่