8 ประเด็นต้องรู้ในการทำ OKRs จากหนังสือ Personal OKRs

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          8 ประเด็นต้องรู้ในการทำ OKRs จากหนังสือ Personal OKRs
okrs

1) OKRs คืออะไร

          OKR = Objective and Key Results เป็นเครื่องมือในการวัดผลเป้าหมายที่ตั้งไว้ ชนิดที่ท้าทายกำลังดี ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป

          แนวคิด OKRs มาจากแนวคิดการบริหารแบบ MBO หรือ Management by Objectives จาก Peter Drucker ในสมัยปี 1950s โดยเริ่มจากการใช้ OKRs ในองค์กร แต่ความจริงแล้ว OKRs สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตั้งเป้าหมายชีวิตส่วนตัวได้

2) ความล้มเหลวของการตั้งเป้าหมาย ซึ่งนำมาสู่การใช้ OKRs

          การตั้งเป้าหมายของคนทั่วไปล้มเหลวกันบ่อยมาก ซึ่งอาจารย์นภดลได้รวบรวมสาเหตุหลักๆดังต่อไปนี้

          ข้อที่ 1: เราตั้งเป้าหมายมากเกินไป

          เหมือนเวลาขึ้นปีใหม่ เราอาจตั้ง New Year Resolution เป็น 10 ข้อ ซึ่งมันเยอะเกินไป พอทำไม่ได้จริง เราก็เลยมักจะไปทำสิ่งเล็กๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีในแต่ละวัน แต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ไม่เคยเสร็จซะที การใช้ OKRs จะช่วยให้เราตั้งวัตถุประสงค์สำคัญเพียง 3 ข้อ และให้เรามุ่งวัดผลกับวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อนี้เท่านั้น

          ข้อที่ 2: เราตั้งเป้าหมายโดยไม่รู้ว่าจะตั้งไปทำไม

          ข้อนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก และ OKRs จะเข้ามาช่วยโดยให้เราโยงการตั้งเป้าหมายของเรากับ คุณค่า (Values) พันธกิจ (Mission) และ วิสัยทัศน์ (Vision)

          ข้อที่ 3: เราตั้งเป้าหมายแต่ไม่เคยติดตามความก้าวหน้า
          พูดง่ายๆคือ ช่วงแรกที่ตั้งเราจะตั้งใจทำมันมาก แต่พอเวลาผ่านไปไฟเราก็หมด และล้มเลิกไปในที่สุด การมี OKRs จะช่วยให้เราติดตามความก้าวหน้าของเราได้ตลอดรอดฝั่ง

          ข้อที่ 4: เราตั้งเป้าหมายง่ายเกินไป
          เราควรตั้งเป้าหมายความยากพอดีๆ ไม่ง่ายเกินไปจนน่าเบื่อและไม่เกิดแรงจูงใจ และไม่ยากเกินไปจนทำไม่ได้ 

          จริงๆแล้ว เป้าหมายใน OKRs ที่ดีก็ไม่ควรที่จะทำบรรลุได้ 100% แต่ควรจะทำได้อยู่ที่ประมาณ 60-70% (อ้างอิงจากตัวเลขของ Google) เพราะถ้าทำได้หมด 100% ก็อาจแปลได้ว่า เราตั้งเป้าหมายง่ายเกินไป แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูด้วยว่าเราดีใจมากน้อยแค่ไหนตอนเป้าหมายสำเร็จ ถ้าดีใจมาก ก็อาจแปลว่าเป้าหมายมีความยากอยู่พอดีตัวอยู่แล้ว

3) เริ่มหา Values, Mission และ Vision

          ก่อนที่จะเริ่มตั้งเป้าหมาย เราควรเริ่มจากการหา คุณค่า (Values) ในตัวเราก่อน เรื่องนี้ต้องลองลิสต์ออกมา แล้วดูว่าเราชอบทำอะไร อะไรที่เป็นตัวเรา เราทำแล้วมีความสุข หรือจะลองทำในแบบตรงกันข้ามคือลิสต์จากสิ่งที่เราทำแล้วเป็นทุกข์มากๆดูก็ได้เหมือนกัน ของอาจารย์นภดล คือ การเรียนรู้ (Learning) การแบ่งปัน (Sharing) และ สุขภาพดี (Healthy

          ต่อมาให้เราลองหาพันธกิจ (Mission) ในตัวเราดูบ้าง พันธกิจก็คือสิ่งที่เราจะทำเพื่อให้ตอบต่อคุณค่าในตัวเรา หรือ อาชีพนั่นเอง ของอาจารย์นภดลคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเขียน Podcaster

          ต่อจากนั้นก็คือ วิสัยทัศน์ (Vision) หรือที่ที่เราอยากจะไปในอนาคต เรามองเห็นตัวเองแบบไหน และพันธกิจที่เราทำมันจะนำพาเราไปสู่จุดใด เน้นว่าวิสัยทัศน์ต้องเป็นสิ่งที่มีพลัง เป็นแรงขับดันให้กับเราได้ เช่นของอาจารย์นภดลคือ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักเขียน และ Podcaster ที่ดีที่สุด

4) สร้าง OKRs ขึ้นมา โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ

          จากที่เราได้เขียน Values Mission และ Vision แล้ว เราก็ต้องแปลงออกมาให้เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ โดยอาจารย์นภดลเน้นว่าเราควรแบ่ง OKRs ออกมาเป็น 3 ระดับคือ

          เป้าหมายระยาว (3 ปี) ระยะกลาง (1 ปี) และระยะสั้น (1 ไตรมาส) ซึ่งจุดนี้จะต่างจากการตั้งเป้าหมายแบบองค์กรที่มีเพียงแค่ระยะ 1 ปีและรายไตรมาสเท่านั้น

          สำหรับอาจารย์นภดล อาจารย์ได้แปลง Vision ของอาจารย์ออกมาเป็นเป้าหมาย 3 ข้อง่ายๆคือ 
          1. เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
          2. แบ่งปันความรู้เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น
          3. มีสุขภาพที่ดี ทั้งกายและใจ

          อย่างที่บอกว่า เราไม่ควรตั้ง OKRs เยอะเกินไป แต่ก็ไม่ควรตั้งเป็นจำนวนน้อยเกินไปเช่นเดียวกัน

5) ตัวอย่าง OKRs รายปี

          อาจารย์นภดลแนะนำให้ลองเริ่มเขียนจาก OKRs ระยะยาว รอบ 3 ปีก่อน แล้วค่อยแปลงออกมาเป็น OKRs รายปี และรายไตรมาส เลยอยากขอยกตัวอย่างง่ายๆจาก OKRs ของตัวอาจารย์นภดลเอง

          ผลลัพธ์หลัก 1.1: อ่านหนังสือให้ครบ 360 เล่ม
          ผลลัพธ์หลัก 1.2: มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ใน International Journal ในระดับ Q1 อย่างน้อย 3 ผลงาน
          ผลลัพธ์หลัก 2.1: มีผลงานหนังสือติดอันดับ Top 10 ของประเทศ 3 เล่ม
          ผลลัพธ์หลัก 2.2: มีคนติดตามฟัง podcast มากกว่า 100,000 ดาวน์โหลดต่อวัน
          ผลลัพธ์หลัก 2.3: ช่วยให้องค์กรใช้ OKRs ได้สำเร็จอย่างน้อย 100 องค์กร
          ผลลัพธ์หลัก 3.1: วิ่งให้ได้ 3,600 กิโลเมตร และมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 75 กิโลกรัม
          ผลลัพธ์หลัก 3.2: ผลตรวจร่างกายเป็นปกติ 100%
          ผลลัพธ์หลัก 3.3: มีเวลาอยู่กับครอบครัวอย่างน้อย 300 วัน
          ส่วน การตั้ง OKRs ในรอบ 1 ปี และในรอบ 1 ไตรมาสก็สามารถแปลงออกมาจากการตั้ง OKRs ในระยะยาวได้อีกทีนึง โดยจะหาร 3 แบบง่ายๆ หรือจะกะเองก็ได้ถ้าคิดว่า บางเรื่องช่วงแรกอาจทำได้ยาก ตั้งไว้ไม่ต้องสูงมาก แต่ถ้าทำช่วงแรกได้แล้ว ช่วงหลังจะทำได้ง่ายขึ้น ก็ตั้ง OKRs ช่วงแรกไว้ไม่สูง แต่พอช่วงหลังก็ตั้งไว้สูงขึ้น 

          จริงๆแล้ว OKRs มีหลากหลายด้านมากกว่านี้ ทั้งด้านการเงิน ด้านสุขภาพ ด้านการงาน ด้านการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง และด้านครอบครัวและความสัมพันธ์

6) การติดตามวัดผล OKRs

          หลังจากตั้ง OKRs เสร็จแล้ว ก็ต้องมาวัดผลกัน โดยใช้เกณฑ์ง่ายคือการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 1 โดย 1 คือทำได้ 100% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่ 0 คือทำไม่ได้เลย

          ซึ่งการมีตัววัดผล (Key results) หลายๆข้อเพื่อวัดผลเป้าหมายตัวเดียวกัน อาจารย์นภดลก็แนะนำวิธีง่ายๆให้ใช้การหารเฉลี่ย เช่นสมมุติว่าเป้าหมายข้อ 1 คือการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก็นำ คะแนนของ key result ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 มาหารเฉลี่ยกัน

7) ปัญหาของการใช้ OKRs

          ข้อที่ 1: ตั้งวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักในแบบที่ไม่ใช่สิ่งที่อยากได้จริงๆ ข้อนี้พบบ่อยมากในคนที่ชอบไปลอกการตั้งเป้าหมายของคนอื่นมา วิธีแก้จึงต้องคิดหา Values ของตัวเองจริงๆ แบบตรงไปตรงมา ไม่โกหก

          ข้อที่ 2: ตั้งวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักมากเกินไป เป็นสาเหตุให้อาจารย์แนะนำให้ตั้งเพียงแค่ 3 ข้อ

          ข้อที่ 3: ผลลัพธ์หลักวัดผลได้ยาก หรือไม่ชัดเจน เช่นการเขียนว่าเราจะทำบางสิ่งบางอย่างได้ดีขึ้น แต่ไม่รู้ว่าดีขึ้นยังไง

          ข้อที่ 4:  ผลลัพธ์หลักวัดเป้าหมายเดียวกัน แต่อยู่คนละช่วงเวลากัน

          ข้อที่ 5: ไม่ค่อยได้ติดตามความก้าวหน้า วิธีแก้คือต้องใส่ระบบแจ้งเตือนเป็นประจำนะครับ

          ข้อที่ 6: ติดตามความก้าวหน้าบ่อยเกินไป ตรงกันข้ามกับข้อเมื่อกี้ การหักโหมวัดผลบ่อยเกินไปก็กลายมาเป็นข้อเสียได้เหมือนกัน

 OKRs จะการันตีความสำเร็จของเป้าหมายรึเปล่า?

          อาจารย์นภดลตอบอย่างชัดเจนว่า ไม่ 

          แต่ก็ขึ้นกับนิยามคำว่าสำเร็จของแต่ละคน สำหรับบางคนแค่ได้เริ่มทำตามเป้าหมายก็ถือว่าสำเร็จแล้ว แต่บางคนคำว่าสำเร็จคือต้องได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่อย่างน้อยๆสิ่งที่อาจารย์นภดลแนะนำคือ ถ้าเรามีความเชื่อในสิ่งที่ทำ เราก็จะทำมันได้สำเร็จ ถ้าเราเชื่อในระบบ OKRs มันก็มีโอกาสมากกว่าที่ระบบดังกล่าวจะพาเราไปสู่เป้าที่เราตั้งไว้ เทียบกับเมื่อเราไม่เชื่อ

          สนใจสั่งซื้อหนังสือ Personal OKRs ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน: ศ.ดร. นภดล ร่มโพธิ์
  • จำนวนหน้า: 148 หน้า
  • สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 3/2021
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 ประเด็นต้องรู้ในการทำ OKRs จากหนังสือ Personal OKRs อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2565 เวลา 08:56:08 1,365 อ่าน
TOP