บริหารเวลาให้ดีกับ 5 เทคนิค ทำตอนเย็นของทุกวันมีค่า ช่วยพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          5 เทคนิคทำตอนเย็นของทุกวันมีค่า จากหนังสือ พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น
5 เทคนิค ทำตอนเย็นของทุกวันมีค่า

1. ตอนเย็นคือ “อีกหนึ่งวัน” ที่เริ่มขึ้นหลังเลิกงาน

          สำหรับหลายคนที่ทำงานประจำเช้าจรดเย็น ก็คงจะเหลือเวลาที่ได้ใช้เพื่อตัวเองในช่วงเย็นเป็นเวลา “อิสระ” ที่ทำอะไรตามใจตัวเองต้องการได้ แต่แทนที่จะกลับไปกินข้าว แล้วทิ้งตัวลงบนที่นอนรอคอยการมาถึงของพรุ่งนี้ สู้เอาเวลามาทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำอาจดีกว่า หาคอร์สเรียนพัฒนาตัวเอง ไปออกกำลังกาย ลองตัดต่อคลิปลง Youtube ฝึกทำอาหาร เขียนหนังสือ และโปรเจ็กต์อื่น ๆ ที่ทำได้

2. การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบในตอนเย็น อาจช่วย “เติม” พลังชีวิตเราได้

           หลายคนอาจคิดว่าการลุกขึ้นมาทำกิจกรรมในตอนเย็นหลังเลิกงาน จะ “สูบ” พลังของเราจนหมด แต่ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ชอบจริง ๆ ช่วงเวลาเย็นก็อาจเติมพลังให้เราได้ บางคนอาจพบว่า การเติมพลังไม่ได้มาจาก การนอนหลับ การกินอาหารอร่อย ๆ หรือการนอนดูซีรีย์ตาแฉะ แต่เกิดจากการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ! และเห็นตัวเองเติบโตขึ้นทีละน้อยในทุกวัน

3. 3 ทริกสำคัญถ้าอยากหา “โปรเจ็กต์เสริม” หลังเลิกงาน

          หลายคนไม่ได้อยากทำงานประจำที่ต้องทำทุกวันไปตลอดชีวิต ดังนั้นการมองหาสิ่งที่จะทำหลังเลิกงานจึงสำคัญมาก และอาจกลายเป็นอาชีพใหม่ที่หาเลี้ยงชีพได้เหมือนกัน

1. เลือกกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อน เพราะถ้าเริ่มด้วยกิจกรรมยากและใช้พลังงานมาก เราจะมีโอกาสล้มเลิกสูง

2. คำนวณเวลาและค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า กิจกรรมบางอย่างอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ 

3. ลองทำดูก่อน ถ้าไม่เหมาะกับตัวเองค่อยเลิก อย่ายึดติดกับความสมบูรณ์แบบ ว่าเราต้องเจอกับสิ่งที่ชอบในทันที ให้ลองทำไปเรื่อย ๆ เราจะค่อย ๆ รู้จักตัวเองมากขึ้นทีละนิด และเจอสิ่งที่เหมาะจริง ๆ กับเราในที่สุด

4. ของขวัญ 4 อย่างที่ได้รับเมื่อทำกิจวัตรยามเย็น

          หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะทำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ตอนเย็นไปเพื่ออะไร ผู้เขียนเลยอยากบอกเล่าสิ่งที่ได้รับเป็นของขวัญ 4 ข้อ

1. เติมเต็มความภูมิใจในตัวเอง แม้เป็นวันที่งานพัง ค้นพบคุณค่าตัวเองนอกที่ทำงาน

2. เติมเต็มความฝันอีกอย่างที่อาจไม่ใช่งานออฟฟิศ หลายคนมีฝันที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะยังไงก็ต้องทำงานออฟฟิศ หาเลี้ยงชีพ การได้ทำตามฝันของตัวเองในตอนเย็น จึงอาจช่วยเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ได้

3. ได้มีช่วงเวลาที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางของงานและชีวิต เพราะในเวลางานเรามักต้องทำตามคำสั่งคนอื่น แต่งานของตัวเราเอง เราจะต้องรับผิดชอบและตัดสินใจเอง เราจึงมีโอกาสที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่

4. อาจได้รายได้ตามมา แน่นอนว่าอย่าให้เรื่องเงินเป็นเป้าหมายหลักในการทำกิจกรรมเสริม เพราะอาจเป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป แต่จงเชื่อว่า ถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบ รายได้ก็จะเข้ามาหาเอง
 

5. เป้าหมายไม่จำเป็นต้องสำเร็จก็มี “ความหมาย” ได้

          ไม่ใช่ว่าเราตั้งเป้าหมายแล้วต้องยึดติดตัวเองกับการทำมันให้สำเร็จ จงอย่าดำดิ่งลงไปกับเป้าหมายที่ตัวเองตั้ง
เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ มีเหตุการณ์ที่อาจเกิดขั้นมากมายระหว่างที่เราเดินทางไปสู่เป้าหมาย นอกจากนี้การยึดติดกับเป้าหมาย ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้มันมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

          และที่สำคัญที่สุดคือ การตั้งเป้าหมายมีไว้เพื่อให้เรามีความสุขกับปัจจุบัน ไม่ไหวั่นไหวไปกับเรื่องราวของคนอื่น ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วมีแต่ทำให้เรารู้สึกดาวน์และลดคุณค่าของตัวเอง การตั้งเป้าหมายอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่

6. รู้จักทำ Daily Planner

          ในที่นี้อาจใช้คำว่า Daily feedback หรือ Daily report อาจเหมาะสมกว่า เพราะเป็นการบันทึกภายหลังทำกิจกรรมนั้นเสร็จ หมายความว่าให้เราตั้ง To do list และเขียนแผนคร่าว ๆ ไว้ จากนั้นก็ให้ “บันทึกกิจกรรมที่ทำจริง ๆ ในแต่ละชั่วโมงหลังทำกิจกรรมนั้นเสร็จ”

          วิธีนี้จะช่วยสะท้อนรูปแบบการใช้เวลาที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา เราจดจ่อได้ดีช่วงไหน ช่วงไหนที่เรามีพลังงานมาก พลังงานน้อย เราเหมาะที่จะทำกิจกรรมแต่ละประเภทในเวลาไหน การบันทึกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เราใช้เวลาได้ดีมากยิ่งขึ้น

7. อย่าใช้แผนเป็น “ตัวจับผิด” หรือ “ฉุดรั้ง” เรา

          หลายคนไม่อยากเขียนแผนการในแต่ละวันขึ้นมา เพราะพอทำไม่ได้ก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง หรือการที่มีเรื่องอื่นมาแทรก แผนการที่วางไว้ก็อาจพังหมด เราจึงควรระลึกไว้เสมอว่า เราเขียนแผนขึ้นมาเพื่อช่วยให้เราจัดการตัวเองได้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง

         อย่าเริ่มต้นในวันที่ไฟแรง เพราะไฟแห่งความปรารถนาที่ลุกโชนอาจอยู่ได้ไม่นาน และพอถึงเวลาที่ไฟมอดลง เราจะรู้สึกผิดหวังกับตัวเอง ที่ยังทำอะไรไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน วิธีที่ดีกว่า คือ เริ่มทำในสิ่งเล็ก ๆ แต่ให้ทำสม่ำเสมอ แม้ในวันที่ไฟไม่ลุกโชน เราก็ยังคงทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จได้

9. ความคิดเป็นเรื่องของ “ผู้ใหญ่” แต่การลงมือทำเป็นเรื่องของ “เด็ก”

          เราอาจต้องคิดในแบบคนที่โตแล้ว แต่การลงมือทำอะไรก็ตาม “จงสนุกเข้าไว้” เสมอ ๆ

10. จงอย่าทุกข์ทรมานไปกับการไล่ตามเป้าหมาย

          เพราะความสุขที่เกิดจากการบรรลุเป้าหมายจะอยู่เพียงชั่วครู่ แล้วก็จางหายไป นอกจากนี้ตัวเราจะยังกดดันกับการทำเป้าหมายให้สำเร็จจนเป็นทุกข์ ดังนั้นแล้วจงมีความสุขไปกับการได้ลงมือทำในทุก ๆ วัน และมองเห็นตัวเองค่อย ๆ เติบโตทีละนิด สุดท้ายแล้วเป้าหมาย เป็นเพียงแค่เครื่องนำทางเท่านั้น
รีวิวสั้น ๆ

           เป็นหนังสือที่ออกมาในชุดเดียวกับเล่ม “สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเมื่อฉันลองตื่นก่อนโลก” แต่คนเขียนเป็นคนละคนกัน แม้จะเป็นคนเกาหลีเหมือนกัน จริง ๆ ก็อาจพอเดาได้ เพราะคนหนึ่งเป็นนกเช้า ชอบตื่นมาทำโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ตอนเช้า ในขณะที่อีกคนชอบทำอะไรตอนเย็น หลังเลิกงาน 

           เล่มนี้คือเล่มของคนที่ชอบทำ “โปรเจ็กต์ใหม่ ๆ” หลังเลิกงาน เพราะความจริงแล้ว ถ้าตัดเวลาทำงาน เวลานอน เวลาเดินทางกลับบ้าน และทำธุระส่วนตัวออกไป เราก็อาจมีเวลาเหลือมากถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสามารถทำอะไรได้เยอะมาก และไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเสาร์-อาทิตย์ ธีมหนังสือจึงเป็นการกระตุ้นให้เราลุกขึ้นมาเริ่มทำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย การฝึกทักษะใหม่ การเขียนบล็อก การเขียนหนังสือ การทำ Youtube อย่าเอาแต่นอนเฉื่อย ดูซีรีย์ และปล่อยให้เวลาหลังเลิกงานหมดไปโดยเปล่าประโยชน์

         หนังสือไม่ได้แค่กระตุ้นให้หันมาริเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ แต่ยังเน้นเรื่องการจัดสรรเวลา และหลักในการบริหารเวลาในแต่ละวัน ซึ่งไฮไลท์ของเล่มนี้เหมือนจะอยู่ตรง เทคนิค Daily Planner หรือ Daily Report ที่ให้เราบันทึกกิจกรรมที่ทำทุกชั่วโมง

          แล้วลองวิเคราะห์ดูว่าเราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับอะไรบ้าง คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปรึยัง พร้อมกับการย้ำอยู่เสมอว่า การมีเป้าหมายเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่ายึดติดกับมันเกินไปจนใช้ชีวิตไม่สนุก รวมถึงการบันทึกการใช้เวลาเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่อย่าไปกดดันตัวเอง จนรู้สึกเฟล ถ้าทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้

          โดยรวมแล้ว หนังสืออ่านง่าย เป็นหนังสือที่ผสมระหว่าง “สร้างแรงกระตุ้น + howto บริหารเวลา” ได้อย่างลงตัว เป็นหนังสือแปลเกาหลีอีกเล่มที่เหมือนอ่านบันทึกของผู้เขียน เรื่องราวอ่านเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน คนเขียนเคยทำงานประจำเป็นสัตวแพทย์ แต่ปัจจุบันลาออกมาทำช่อง Youtube เต็มตัว และทำงานสอนออนไลน์ด้านการออกแบบแพลนเนอร์การบริหารเวลา รวมทั้งเป็นนักแสดงละครเวที ใครชอบเรื่องบริหารเวลาอยู่แล้ว ลองไปหาอ่านกันดูได้ครับ 

สนใจสั่งซื้อหนังสือ พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น ได้ที่ร้าน Attorney285

  • ผู้เขียน: รยู, ฮันบิน
  • ผู้แปล: อาสยา อภิชนางกูร
  • จำนวนหน้า: 190 หน้า
  • สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 4/2022
  • ชื่อเรื่องต้นฉบับ: The Power of The Evening Routine The Changes The Morning

 

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บริหารเวลาให้ดีกับ 5 เทคนิค ทำตอนเย็นของทุกวันมีค่า ช่วยพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2565 เวลา 11:35:52 9,464 อ่าน
TOP