ข้อคิด 9 ข้อในการทำงานด้วยศาสตร์และศิลป์ คิดนอกกรอบเพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่ง

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

         สรุป 9 ข้อคิดสำคัญในการทำงานด้วยศาสตร์และศิลป์ จากหนังสือ เก่งด้วยศาสตร์ ชนะขาดด้วยศิลป์
ข้อคิด

1) เข้าใจความต่างของ “ศาสตร์” “ศิลป์” และ “คราฟต์”

          “ศาสตร์” คือ การคิดวิเคราะห์และประเมินอย่างเป็นระบบ ใช้ตรรกะและเหตุผล
          “ศิลป์” คือ การจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้สัญชาตญาณ และความรู้สึก
          “คราฟต์” คือ การทำงานด้วยความเชี่ยวชาญ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์และความรู้

          ถ้าเราใช้ “ศาสตร์” ทำงานเพียงอย่างเดียว เราจะสนใจแต่ตัวเลข และปฏิเสธสิ่งอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้
          ถ้าเราใช้ “ศิลป์” ทำงานเพียงอย่างเดียว เราจะอยู่ในโลกของความเพ้อฝัน 
          ถ้าเราใช้ “คราฟต์” ทำงานเพียงอย่างเดียว เราจะใช้แต่ประสบการณ์เดิม ๆ จนไม่สามารถคิดสิ่งใหม่ได้

          ดังนั้นแล้ว เราจึงต้องใช้ทั้งสามอย่างให้ผสมผสานกันอย่างลงตัว และสมดุล 

2) การตัดสินใจที่ดีที่สุดอาจมาจาก “ศิลป์” แล้วใช้ “ศาสตร์” กับ “คราฟต์” สนับสนุน

          “ศาสตร์” คือ การตัดสินใจตามการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ
          “คราฟต์” คือ การตัดสินใจจากประสบการณ์ และความล้มเหลวในอดีต
          “ศิลป์” คือการตัดสินใจตามความรู้สึก และสัญชาตญาณ

          ตามตัวอย่างในโลกธุรกิจ เราอาจเห็นว่าผู้นำสูงสุดใช้การตัดสินใจที่นำด้วย “ศิลป์” หรือตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกของตัวเองนำ และอาจอธิบายออกมาให้เป็นเหตุผลยาก เพราะการตัดสินใจสูงสุดด้วยศิลป์ มักจะก่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องการศาสตร์และศิลป์เป็นปีกซ้ายขวาคอยสนับสนุน เพื่อคอยวางแผนและตรวจสอบให้ไอเดียที่เสนอไป เกิดขึ้นได้จริง

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สองพี่น้องที่ก่อตั้ง วอลต์ ดิสนีย์ คนหนึ่งคิดค้นการ์ตูนและเรื่องเล่าสนุก ๆ อีกคนคอยซัพพอร์ตเรื่องการเงินและกฎหมาย หรือ สตีฟ จ๊อปส์ และจอห์น สกัลลีย์ ที่คนนึงคอยครีเอทไอเดียใหม่ ๆ ในขณะที่อีกคนช่วยเรื่องการบริหารองค์กรให้เติบโต

3) ถึงจะไม่ได้มีคนศิลป์เป็นผู้นำสูงสุด แต่ก็ควรมอบอำนาจให้เหล่าครีเอทีฟ ได้ทำงานอย่างเต็มที่

          ในหลายองค์กร ครีเอทีฟฝั่งศิลป์ถูกกดทับ และถูกดูแคลนจากฝ่ายอื่น ๆ สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัท เพราะบริษัทจะไม่มีงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ออกมาเลย การบริหารรวมถึงการวางโครงสร้างองค์กรที่ดีจึงต้องมีการมอบอำนาจโดยตรงให้คนสายศิลป์ ให้ไปครีเอทงานใหม่ ๆ และป้องกันไม่ให้ฝ่ายศิลป์ถูกดูแคลนจากฝ่ายศาสตร์ และคราฟต์ได้

4) ใช้ “เซ้นส์” ของเราในการตัดสินใจ

          จากการเล่นหมากรุกของนักเล่นระดับโลก สิ่งที่่ต่างกันของแชมป์หมากรุก กับนักเล่นมือใหม่ คือการใช้สัญชาตญาณ หรือ “เซ้นส์” ตัดสินการเดินหมากในแต่ละตา จริง ๆ แล้วสุดท้ายเราอาจใช้เซ้นส์ในการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่เราคิด เช่น ตัดสินใจว่า ชอบหรือไม่ สนุกหรือไม่ ดีหรือไม่ หลังจากได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ สิ่งนี้เองที่เราเรียกว่า “เซ้นส์” หรือการใช้ศิลป์ ซึ่งอาจช่วยให้เราตัดสินใจได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด

5) เพราะทุกคนอยากเป็นตัวของตัวเอง ศิลป์จึงสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

          ในโลกที่หมุนเร็ว สังคมกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่การบริโภคแสดงถึงตัวตนของแต่ละคน สินค้าและบริการจึงควรทำมาให้ตอบโจทย์รสนิยมส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน

          การตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้จึงต้องอาศัยการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าซึ่งเป็นงานฝั่งศิลป์ เช่น ทำไงให้คนรู้สึกชอบสินค้าชิ้นนี้ ใช้แล้วอยากบอกต่อ หรืออยากซื้อสินค้าชิ้นนี้ไปอวดเพื่อน ดังนั้นบริษัทไหนที่ยังยึดอยู่แต่การตัดสินใจด้วยศาสตร์ หรือเหตุและผล ก็อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้

6) มองให้ทะลุกฎเกณฑ์ของบริษัท และใช้เซ้นส์ของตัวเองให้มากขึ้น เพราะหลายครั้งที่กฎเกณฑ์ในบริษัทก็เปลี่ยนตามโลกไม่ทัน

          แน่นอนว่าการทำงานในบริษัท ยังไงเราก็ต้องอยู่ภายใต้กฎที่ยอมรับร่วมกัน แต่เราต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกฎบริษัทบีบบังคับให้ทำอะไรหุนหันพลันแล่น เราต้องเข้าใจมันให้ดีพอจนไม่ทำผิด แต่เราอาจต้องใช้เซ้นส์ของเราเพิ่มเติมในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน เพราะหลายครั้งกฎบริษัท หรือแม้แต่กฎหมายก็ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นไกด์ไลน์ในการแนะนำให้เราตัดสินใจอย่างเหมาะสม  

7) อย่าตีค่าตัวเองด้วยมุมมองแบบศาสตร์เท่านั้น แต่ให้นำอารมณ์ศิลป์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตด้วย

          เด็กเรียนเก่งหลายคนมักจะตกม้าตายตอนทำงาน เพราะคิดว่าโลกชีวิตจริง ก็เป็นเหมือนเกมที่ต้องชนะไปทีละด่าน เช่นเดียวกับตอนเรียนในโรงเรียน ที่ต้องสอบให้ได้คะแนนดี ๆ เพื่อได้เกรดดี ๆ เอาไปยื่นเข้ามหาลัย และทำเกรดดี ๆ ต่อไป เพื่อเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ การทำแบบนั้นไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะการทำงานและชีวิตของเราเองซับซ้อนกว่านั้นมาก คำแนะนำง่าย ๆ สำหรับเรื่องนี้คือการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะให้มากขึ้น อย่ามองชีวิตในมิติเดียว แบบการใช้เพียงศาสตร์ ลองมองหาเรื่องสนุกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่ช่วยให้ชีวิตมีสีสัน

8) นำเซ้นส์ความดีงามมาใช้บ้าง อย่าทำตามคำสั่งโดยไร้ความรู้สึก

          เรื่องนี้มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนหนึ่งทำเรื่องชั่วช้าและเหี้ยมโหด เพียงเพราะทำตามคำสั่ง พวกเขาปิดกั้นเซ้นความดีงามของตัวเอง และใช้ชีวิตอย่างไม่มีหลักการ เราจึงต้องตระหนักเรื่องนี้ไว้ให้ดี การเป็นส่วนหนึ่งของระบบเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็ไม่ควรไหลไปตามระบบทุกอย่าง เราควรใช้ชีวิตอย่างมีหลักการและยึดมั่นในหลักการของตัวเองอย่างแนบแน่น

9) 3 วิธีขัดเกลาการใช้เซ้นส์ และศิลป์

          1. ดูภาพวาด  ดูงานศิลปะ เพื่อฝึกทักษะการสังเกต ลองนึกถึงแพทย์ที่สามารถสังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ จากการพูดคุยกับคนไข้ ทำให้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เรื่องนี้แม้แต่ AI ก็ยังทำได้ไม่แม่นยำนัก
          2. อ่านปรัชญา ทำความเข้าใจกับเนื้อหา ขั้นตอนการคิดของนักปรัชญาแต่ละคน และท่าทีของพวกเขา
          3. อ่านวรรณกรรม และบทกวี เสริมสร้างจินตนาการ

รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ

          เป็นหนังสือที่ตอกย้ำความสำคัญของ “ศิลป์” ในการทำงานและการบริหารจัดการได้ดีมาก โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่น ที่คนส่วนใหญ่ใช้หลักเหตุผลเป็นส่วนประกอบหลักในการตัดสินใจรวมถึงให้ค่าความสำคัญกับความรู้ความเชี่ยวชาญ จนอาจมากเกินไป

         หนังสือเล่มนี้ แบ่งวิธีทำงานและตัดสินใจเป็น 3 แบบหลักคือ ศาสตร์ ศิลป์ และคราฟต์ ตามที่สรุปไว้ และเน้นย้ำความสำคัญถึงการที่คนญี่ปุ่นใช้ ศิลป์ น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับ ศาสตร์ และคราฟต์ เดี๋ยวนี้เราอาจเห็นหนังสือแนวนี้เขียนโดยคนญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกระแสเรื่อง AI เข้ามาทดแทนแรงงาน และวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่วนตัวคิดว่า เหมาะมากกับบริบทสังคมการทำงานของญี่ปุ่น

         โลกสมัยใหม่ มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เราจะต้องคิดนอกกรอบ และเลิกยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิม ๆ เข้าใจว่าการรักษามาตรฐาน และการรักษาระเบียบเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในโลกยุคนี้ สิ่งเหล่านี้อาจไม่เพียงพอให้ประเทศแข่งขันได้ ถ้าขาดความคิดสร้างสรรค์

         คอนเซ็ปต์หนังสือเข้าใจง่าย อ่านเพลิน ๆ สนุก ๆ มีตัวอย่างประกอบตลอดเล่ม ใครสนใจแนวคิดเรื่องความคิดสร้างสรรค์จากคนญี่ปุ่น เล่มนี้เหมาะที่สุดเล่มหนึ่งเลยครับ

          สนใจสั่งซื้อหนังสือ เก่งด้วยศาสตร์ ชนะขาดด้วยศิลป์ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน: ยามางูจิ ชู
  • ผู้แปล: ฉัตรขวัญ อดิศัย
  • จำนวหน้า: 208 หน้า
  • สำนักพิมพ์: บิงโก, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 2022
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อคิด 9 ข้อในการทำงานด้วยศาสตร์และศิลป์ คิดนอกกรอบเพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่ง อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2565 เวลา 16:29:26 10,425 อ่าน
TOP