13 ข้อคิด ที่ได้จากหนังสือ Think Again: คิดแล้ว, คิดอีก ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกสเต็ป

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 13 ข้อคิดสำคัญ จากหนังสือ Think Again: คิดแล้ว, คิดอีก

1. ทักษะอีกชุดหนึ่งที่จำเป็นในโลกปัจจุบันคือ “ทักษะการละทิ้งความรู้เดิม และการคิดทบทวน”

         ในโลกอันแสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยชุดข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในทุกวัน ทักษะด้านความฉลาด สติปัญญา และการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อน อาจไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดในโลกแบบนี้อีกต่อไป

         พวกเราหลายคนมักตกอยู่ในเหตุผลวิบัติที่ชื่อว่า “first instant fallacy” หรือปรากฏการณ์ที่เรามักเชื่อว่า ความคิดแรกของเราที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณนั้นถูกเสมอ แต่ช่วงหลังมีผลการวิจัยที่ยืนยันมาแล้วว่า ความคิดแรกของเรามีแนวโน้มที่จะผิดค่อนข้างสูง และการคิดทบทวน เพื่อเปลี่ยนคำตอบ อาจทำให้เราเพิ่มโอกาสในการเลือกตัวเลือกที่ดีกว่า

         เช่น การเปลี่ยนคำตอบของนักศึกษา ที่หลายคนมักจะคิดว่า คำตอบแรกตามสัญชาตญาณดีกว่าเสมอ แต่ผลการวิจัยไม่เป็นเช่นนั้น ผลการวิจัยบอกว่า นักศึกษามีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะเปลี่ยนจากคำตอบที่ผิด ไปคำตอบที่ถูก และมีโอกาสเพียง 25% ที่จะเปลี่ยนจากคำตอบที่ถูกไปคำตอบที่ผิด หรือ การที่เราเชื่อในนิทานปรัมปราเรื่องกบที่โดนใส่ไว้ในหม้อ แล้วค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิจนกบโดนต้มทั้งเป็น ความจริงแล้ว มีงานวิจัยมายืนยันว่า กบไม่ได้อยู่ในหม้อจนโดนต้ม แต่กระโดดหนีไปทันทีที่อุณหภูมิน้ำเริ่มร้อนขึ้นจนถึงจุดหนี่ง

2. กรอบคิดที่แตกต่างกัน 4 แบบ

          การที่เราจะฝึกตัวเองให้หมั่นคิดทบทวนได้นั้น เราต้องฝึกตัวเองให้คิดแบบนักวิทยาศาสตร์ และพยายามทิ้งกรอบความคิดแบบนักเทศน์ อัยการ และนักการเมือง
  1. กรอบคิดแบบนักเทศน์ – คือตอนที่เราสวมหมวกนักเทศน์ที่เอาแต่ “พูดเทศนาความคิดของเรา” ให้คนอื่นฟัง โดยไม่ได้รับฟังสิ่งที่คนอื่นต้องการจะสื่อ
  2. กรอบคิดแบบอัยการ – คือตอนที่เราสวมหมวกอัยการที่พยายาม “จับผิดความคิดของคนอื่น” โดยใช้เหตุผลต่าง ๆ นานา มาทำให้คนอื่นผิดให้ได้
  3. กรอบคิดแบบนักการเมือง – คือตอนที่เราสวมหมวกนักการเมืองที่พยายาม “ทำยังไงก็ได้ให้คนอื่นเห็นด้วย” โดยไม่สนใจเหตุผลและวิธีการ เราเพียงแต่ต้องการให้คนอื่นสนับสนุนเรา เชื่อเรา คล้อยตามเรา
  4. กรอบคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ – คือตอนที่เราสวมหมวกนักวิทยาศาสตร์ โดย “ใช้การคิดแบบมีเหตุผล” ในการหาความจริง โหมดนี้จะทำให้เราหมั่นตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ตัวเองรู้ และค่อย ๆ หาข้อมูลความคิดเห็นใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมในสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือสิ่งที่เรายังไม่แน่ใจว่ามันยังเป็นไปในแบบที่เรารู้อยู่รึเปล่า
     
          การที่เราสวมหมวกนักวิทยาศาสตร์ จะทำให้เราหมั่นตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง และทำให้เรารับฟังความคิดคนอื่นมากขึ้น พร้อมนำชุดข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาประมวลผลเพื่อหาคำตอบใหม่อีกครั้ง หรือที่เราเรียกว่ากระบวนการ “การคิดทบทวน” นั่นเอง

3. มุ่งหาความมั่นใจในตัวเองแบบพอดี ๆ

          ในเรื่องของความมั่นใจในตัวเอง ในพวกเราทุกคนมักจะมีกลุ่มคนที่มีความสุดโต่ง 2 ฝั่ง คือฝั่ง armchair quarterback ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป โดยชื่อนี้ได้มาจากพวกคนดูอเมริกันฟุตบอลที่ชอบคิดว่าตัวเองเก่งกว่าโค้ช และชอบบอกวิธีว่าต้องเล่นแบบนั้นแบบนี้ คนกลุ่มนี้ถ้าได้มาเป็นนักบริหาร ก็อาจมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง จนนำไปสู่หายนะ ถ้าวิธีที่เขาคิดดันไม่ได้ผล

           ในทางตรงกันข้าม มีคนอีกกลุ่มที่มีอาการ imposter syndrome คือ ขาดความมั่นใจในตัวเอง คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ หรือลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ เพราะไม่ค่อยเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนอาจเคยมีอาการ armchair quarterback และ imposter syndrome ในบางช่วงเวลา ถ้าอธิบายตามปรากฏการณ์ของ Dunning-Kruger effect คนเราจะเริ่มจากการไม่มั่นใจในเรื่องเรื่องหนึ่งเพราะรู้น้อย แต่พอเริ่มรู้เรื่องนั้นมากขึ้น ก็จะเริ่มมั่นใจจนเกินพอดี และอาจเริ่มแสดงอาการ armchair quarterback

          ในจุดนี้หลายคนอาจหยุดพัฒนาตัวเอง และติดอยู่ในยอดเขาแห่งความโง่เขลา (mount stupid) จนเมื่อพวกเขาเริ่มรู้ว่ายังมีสิ่งที่ตัวเองไม่รู้อีกมาก ความมั่นใจขอพวกเขาก็อาจลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในช่วงที่แสดงอาการ imposter syndrome แต่สุดท้ายถ้าพวกเขารู้จักการคิดทบทวนความรู้ตัวเองและหมั่นหาความรู้ในเรื่องนั้นเพิ่มเติมอีกครั้ง ในรอบนี้ทั้งความรู้และความมั่นใจของพวกเขาก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กัน

          อย่างไรก็ตาม เราอาจหลีกเลี่ยงที่จะเดินตามรอยของ Dunning-Kruger effect ได้ด้วยการรู้จักมีความมั่นใจในแบบพอดี หรือที่หนังสือเรียกว่า “ความถ่อมตนแบบมั่นใจ (confident humility)” ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางที่เรามีทั้ง “การยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง” และ “การยอมรับว่าเรามีความสามารถในการเรียนรู้ที่มากพอ” ซึ่งถ้าเราสามารถหาจุดที่ลงตัวของความมั่นใจในตัวเองได้ เราอาจถูกผลักดันให้ใส่หมวกคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ และหมั่นผลักดันตัวเองให้หาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ๆ

4. จงโอบรับ และอย่ายึดติดกับความผิดพลาดในอดีต

          หลายคนมักรู้สึกผิดหวังเมื่อได้รู้ว่าตัวเองผิดพลาด แต่ความจริงแล้ว การที่เราคิดผิดไม่ได้หมายความว่าตัวเราจะต้องผิดไปด้วย เราทุกคนผิดพลาดกันได้ และสิ่งที่ผิดก็อาจเป็นเพียงความคิดเรา ณ ตอนนั้น ๆ ไม่ใช่ตัวตนของเราทั้งหมด ดังนั้นแล้ว เราอาจต้องลองแยกความคิด ออกจากตัวตนของเรา ตัวตนเป็นสิ่งที่เป็นไปตามค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์

          ส่วนความคิดนั้นควรไปตามข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราต้องระวังคือ อย่าให้ “ความทะนงตัวแบบเผด็จการ” ทางความคิดมาบงการ และปิดประตูความคิดเห็นที่โต้แย้ง เพราะมันจะปิดประตูการเรียนรู้ใหม่ ๆ ของเรา

5. นักพยาการณ์ที่ทำนายแม่นที่สุด คือนักพยากรณ์ที่อัปเดทตัวเองอยู่เสมอ

           ตัวแปรเดียวที่สำคัญต่อความแม่นยำในการทำนาย คือ การหมั่นอัปเดทความเชื่อของตัวเอง หรือ การคิดทบทวนในสิ่งที่ตัวเองรู้นั่นเอง เพราะคนที่หมั่นคิดทบทวนมักจะได้รับข้อมูลและหลักฐานใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การแก้ไขคำทำนาย ทำให้พวกเขาสรุปคำทำนายได้แม่นยำมากขึ้น

           วิธีที่จะนำไปสู่การหมั่นอัปเดทตัวเองคือ “การมีความถ่อมตนแบบมั่นใจ” ที่จะช่วยให้เราหมั่นเสาะหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับอดีต สิ่งสำคัญ คือ พยายามอย่านำข้อมูลในอดีตมาทำนายอนาคต และระวัง bias ลึก ๆ ในใจตัวเองที่อาจปิดกั้นการยอมรับข้อมูลใหม่ ๆ

6. ความขัดแย้งเรื่องงาน จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์

          หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะกลัวว่าจะไปกระทบความสัมพันธ์ แต่ถ้าเราแยกให้ชัดเจนระหว่าง ความขัดแย้งเรื่องงาน และความขัดแย้งเรื่องความสัมพันธ์ เราจะพบว่า การที่กลุ่มทำงานมีความขัดแย้งเรื่องงานมากขึ้น จะนำไปสู่การหาไอเดียใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพงานที่ได้ในตอนท้าย

          ในมุมของการคิดทบทวนนั้น ประเด็นที่นำมาโต้เถียง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องงาน จะเป็นตัวจุดชนวนให้ทุกคนในทีมได้ลองคิดทบทวน และสวมหมวกนักวิทยาศาสตร์ในการเสาะหาข้อเท็จจริง

           ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ อย่ากลัวที่จะขัดแย้ง และต้องแยกระหว่างขัดแย้งเรื่องงานและเรื่องความสัมพันธ์ กลุ่มที่ดีจะสามารถนั่งเถียงเรื่องงานกันได้เป็นชั่วโมง แต่ไปกินข้าวกันต่อได้หลังจากนั้น เราทุกคนควรหมั่นฝึกตัวเองไว้ อย่าพยายามโอนอ่อนผ่อนตามกับความเห็นที่ต่าง แต่ต้องหาจุดโต้แย้งที่สร้างสรรค์ เพื่อคำตอบที่อาจดีกว่าเดิม

7. จงเต้นรำไปกับคนที่เห็นต่าง อย่าปรากาศสงคราม

          สำหรับบางคน การต้องโต้เถียงกับคนที่เห็นต่างอาจหมายถึงการประกาศสงครามที่เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะ แต่ความจริงแล้ว ยิ่งเราโจมตีอีกฝ่ายมากเท่าไหร่ อีกฝ่ายยิ่งโต้กลับมามากเท่านั้น ทางที่ดีจึงเป็นการชวนอีกฝ่ายเข้ามาเต้นรำด้วยกัน แล้วค่อย ๆ พัฒนาข้อโต้แย้งนั้นให้กลายเป็นบทสรุปที่ลงตัว

           มีตัวอย่างถึง การขึ้น debate ของนักโต้วาทีระดับโลกกับ AI ชายหนุ่มนักโต้วาทีมีข้อมูลอันจำกัดในการมาโต้เถียง AI ที่ถูกเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ไว้ แต่สุดท้ายแล้วชายหนุ่มก็สามารถเอาชนะ AI โดยการโน้มน้าวใจผู้ฟังให้คล้อยตามมากกว่าได้แม้จะไม่ได้มีหลักฐานมาสนับสนุนความคิดเท่า AI

เทคนิคที่เขาใช้ในการโน้มน้าวใจคนฟังก็เช่น

  • การเริ่มด้วยการประกาศชัดเจนว่า เขาไม่ได้เป็นศัตรูกับอีกฝ่าย เขาอยู่ข้างเดียวกัน เห็นตรงกันหลายอย่างและกำลังพยายามช่วยกันหาทางออกของประเด็นปัญหา
  • ชวนอีกฝ่ายตั้งคำถาม และแสดงความอยากรู้อยากเห็นในข้อโต้แย้งของอีกฝ่าย
  • ชวนอีกฝ่ายให้เปิดใจ และคุยกันด้วยหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา
  • ไม่จูงใจคนฟังตรง ๆ เหมือนการขายของ แต่ตั้งคำถามทิ้งไว้ให้คนฟังไปคิดต่อเอง

    เพราะสุดท้ายแล้ว “มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะเปลี่ยนความคิดของเราได้”

8. ลองกระตุกให้คนอื่นคิดทบทวนถึงทัศนคติแบบเหมารวม (stereotype)

          เรื่องนี้เห็นผลชัดเจนอย่างมากในการเป็นแฟนทีมกีฬาที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องพรรคการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา คนที่เชียร์ทีมกีฬาทีมใดทีมหนึ่งเป็นพิเศษ ก็มักจะเผลอเกลียดคนเชียร์ทีมกีฬาฝั่งตรงข้ามโดยไม่รู้ตัว และอาจเหมารวมไปว่าคนที่เชียร์ทีมฝั่งตรงข้ามเป็นคนไม่เอาไหน

          แต่ถ้าเราลองถอยออกมาก้าวหนึ่ง แล้วลองคิดทบทวนถึงสถานการณ์ของคนที่เชียร์ทีมกีฬาอีกฝั่ง เราอาจเข้าใจในตัวพวกเขามากขึ้นว่า ข้อมูลที่เขาได้รับมาแตกต่างจากของเรา ข้อมูลที่แตกต่างก่อให้เกิดความคิดที่แตกต่างกัน และเมื่อนานเข้าก็กลายไปเป็นความเชื่อของกลุ่ม

          ดังนั้นเราอาจต้องลดอคติของตัวเองลง และลองคิดทบทวนถึงพื้นเพเรื่องราวของคนอื่นให้มากขึ้น เรื่องนี้อาจช่วยลดอคติในใจเราลง และลดความเกลียดชังที่มีต่ออีกฝ่ายได้

9. หยุดเป็นจอมข่มเหงรังแกด้วยเหตุผล และลองเปิดใจฟังคนอื่นอย่างแท้จริง เพื่อจูงใจเขา

          วิธีหนึ่งที่เรามักใช้ในการจูงใจคนแบบผิด ๆ คือ การโจมตีว่าอีกฝ่ายคิดผิด แล้วใช้เหตุผลต่าง ๆ นานา มาสนับสนุน ลองนึกถึงตัวอย่างของ แม่ที่ไม่ยอมพาลูกมาฉีดวัคซีน เพราะอาจไม่เชื่อในความปลอดภัยของวัคซีน หรืออาจเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด วิธีที่จะเปลี่ยนความคิดของคุณแม่เหล่านี้ ไม่ใช่การไปโจมตีว่าเขาคิดผิด และอธิบายเหตุผลต่าง ๆ แต่ต้องเริ่มจากการรับฟังความคิดของพวกเธอ ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี แสดงความอยากรู้อยากเห็น (อย่างแท้จริง ไม่มีวาระซ่อนเร้น) และแทรกข้อมูลที่ทำให้พวกเธอสงสัยในความคิดของตัวเอง จนกระทั่งเธอเปลี่ยนความคิดของตัวเอง และหลุดออกมาจากลูปความคิดเดิม ๆ จงจำไว้ว่าสุดท้ายแล้วคนที่เปลี่ยนแปลงความคิดของแม่ที่ไม่ยอมให้ลูกฉีดวัคซีนได้นั้น มีเพียงแต่ตัวพวกเธอเองเท่านั้น

10. ทำให้เรื่องราวซับซ้อนมากขึ้น และมองจากมุมที่ต่างออกไป

          ส่วนใหญ่แล้ว เรื่องทุกเรื่องในโลกนี้ไม่ได้มีเพียง 2 ฝั่ง แค่ขาวกับดำ แต่มีเสปกตรัมหลากสีแตกต่างออกไปมากมายขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน ดังนั้นแล้ว วิธีหนึ่งที่เราสามารถใช้จูงใจคนได้มากขึ้น คือ “การชี้ให้เห็นว่า ประเด็นนั้นมีความซับซ้อน และประกอบไปด้วยหลากหลายมุมมองที่แตกต่างกัน”

          ลองนึกถึงตัวอย่างเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) แดเนียล โกลแมน และจอร์แดน ปีเตอร์สัน มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิงในเรื่องนี้ ในขณะที่แดเนียล โกลแมน เชื่อว่า EQ ส่งผลต่อผลงานมากกว่าความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และส่งผลมากกว่า 90% ต่อความสำเร็จของผู้นำ จอร์แดน ปีเตอร์สัน เชื่อว่า EQ เป็นแนวคิดที่หลอกลวง และไม่มีอยู่จริง

          ในความจริงแล้ว เรื่อง EQ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ยังมีการถกเถียงกันอย่างมากถึงเรื่องผลกระทบของ EQ ต่อเรื่องต่าง ๆ ดังนั้น มันอาจดีกว่าถ้าเรามุ่งความสนใจไปที่อาชีพหรือสถานการณ์ที่ EQ อาจส่งผลมาก และการเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบของ EQ ในสถานการณ์ดังกล่าว

          โดยสรุปแล้ว การทำให้เรื่องราวซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นการเปิดทางให้เราได้สวมหมวกนักวิทยาศาสตร์ ในการเสาะหาข้อมูลใหม่ ๆ มาช่วยให้เราพัฒนาความคิดและการตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น
 

11. เปลี่ยนวิธีการสอนจาก การ Lecture เป็นการกระตุ้นให้เด็กฝึกคิดทบทวน

          การสอนแบบบรรยายหน้าห้อง (lecture) เป็นการปิดโอกาสที่ทำให้เด็กได้ฝึกคิดทบทวนและตกผลึกความคิดของตัวเอง แม้เด็กอาจชอบวิธีการสอนแบบนี้มากกว่า เพราะสบายกว่า เนื่องจากไม่ต้องถูกกระตุ้นให้คิดเยอะ แต่สุดท้ายแล้ว การสอนแบบปล่อยให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จะค่อย ๆ เกลาความคิดของพวกเขา ให้ต่อยอดซึ่งกันและกัน และเป็นการปลูกฝังนิสัยการคิดทบทวนให้อยู่กับพวกเขาตั้งแต่ยังเล็ก

         การส่งการบ้านก็เช่นกัน การที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ส่งแก้ไขการบ้านหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยให้เขาฝึกคิดทบทวน และค่อย ๆ พัฒนาผลงานของเขาให้ดียิ่งขึ้น

12. สำหรับองค์กร จงสร้างความปลอดภัยให้พนักงานกล้าตั้งคำถาม

          สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยานชาเลนเจอร์ และยานโคลัมเบียของ Nasa ระเบิด ก็เพราะพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเห็นของวิศวกรที่มองเห็นจุดผิดพลาดเล็ก ๆ ของตัวยาน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วิศวกร Nasa ที่อาจช่วยป้องกันโศกนาฏกรรมในการปล่อยจรวดนั้นขาดความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ (psychological safety) ในการจุดประเด็นปัญหาของตัวจรวด พวกเขาอาจรู้สึกว่าถ้าพูดความกังวลดังกล่าวออกไปในห้องประชุม อาจทำให้ตัวเองดูโง่ และคนอื่นอาจตั้งคำถามในความเป็นผู้เชี่ยวชาญของตน

          ดังนั้นแล้ว องค์กรที่ดีจะต้องใช้การบริการที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัยในการตั้งคำถาม และชวนคนอื่นให้กลับมาคิดทบทวน ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นถูกต้องแล้วรึยัง วิธีที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ คือให้หัวหน้าลองแชร์เรื่องที่ตัวเองไม่รู้ เรื่องที่ตัวเองพลาด เรื่องที่ตัวเองล้มเหลวออกมาก่อน คนอื่น ๆ จะได้กล้าพูดแบบเปิดอกมากขึ้น

13. Best practice อาจไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป

          เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วมีข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา อาจถึงเวลาที่เราต้องเริ่มคิดทบทวนถึง Best practice หรือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดขององค์กรกันอีกครั้ง องค์กรที่ดีจึงควรหมั่นทบทวนแนวทางการทำงานของตัวเองอยู่เสมอ

          ถ้าในระดับบุคคล การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อเนื่องกันอย่างยาวนานนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Grit แต่อย่างไรก็ตาม การยึดติดกับ Grit แบบเดิมไปตลอดอาจไม่ใช่ทางที่ดีเสมอไป เพราะแม้แต่คนเราเองก็เปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การหมั่นคิดทบทวนถึงเป้าหมาย และการลงแรงพยายามของเรา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเราควรทำอยู่เสมอ ๆ

รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ

          เล่มนี้คงขอเขียนสั้น ๆ ว่าเป็นหนังสือต้องอ่านประจำปี 2022 เพราะเนื้อหาเหมาะกับยุคสมัยนี้มาก และนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการทำงาน และการตัดสินใจในชีวิตอีกหลาย ๆ เรื่อง จุดเด่นคือ เล่มนี้อ่านสนุก เป็นหนังสือเชิงจิตวิทยา ที่เข้าใจง่าย ไม่ได้มีการอ้างงานวิจัยซับซ้อน (แม้จะมีบ้าง) แต่เน้นการเล่าเรื่องง่าย ๆ ให้เห็นภาพ และให้คนอ่านเอาไปคิดต่อเอง

          หนังสือ 300 กว่าหน้า แต่อ่านเพลินตลอดเล่ม บางเรื่องอาจจะแอบยาวไปนิด ก็อ่านข้าม ๆ ไปได้ ส่วนตัวคิดว่าอ่านสนุกกว่าหนังสือเล่มก่อนของ Give and Take

          ยังไงเล่มนี้มีคนแนะนำกันเกลื่อนแล้ว ตั้งแต่ท่านผู้ว่ากทม. ชัชชาติ จนไปถึง Bill Gates เพจหลังอ่านขอเป็นอีก 1 เสียง ให้นักอ่านทุกคนลองอ่าน Think Again กันดูสักครั้งครับ 

  • สนใจสั่งซื้อหนังสือ Think Again ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน: Adam Grant
  • ผู้แปล: วิโรจน์ ภัทรทีปกร
  • จำนวนหน้า: 424 หน้า
  • สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 2022
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
13 ข้อคิด ที่ได้จากหนังสือ Think Again: คิดแล้ว, คิดอีก ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกสเต็ป อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2565 เวลา 11:29:00 3,896 อ่าน
TOP