5 วิธีฝึกสมาธิ เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้เราไม่ต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้าน

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          5 เทคนิคเพิ่มพลังสมาธิ ที่ช่วยให้เราไม่ต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้าน จากหนังสือ ความลับของคนที่ไม่เคยเอางานกลับไปทำที่บ้าน
ฝึกสมาธิ

1) ประโยชน์ของพลังสมาธิ
          การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เคลียร์งานได้เยอะ หรืออ่านหนังสือจบหลายเล่มในเวลาไม่นานล้วนมาจากการฝึกใช้พลังสมาธิ ตัว Mentalist Daigo อ่านหนังสือได้วันละ 20 เล่ม มากกว่าคนอื่นถึง 200 เท่า เพราะการฝึกฝนพลังสมาธินี่เอง
          ดังนั้นแล้วถ้าเรามีเทคนิคการควบคุมพลังสมาธิแล้ว ถึงแม้จะรู้สึกเหนื่อย แต่เราก็ยังจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้ต่ออยู่ดี
          โดยหลักสำคัญของการควบคุมพลังสมาธิคือ ‘การโฟกัสกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เร็วที่สุด’ แล้วปล่อยให้ตัวเองทำอะไรไปตามอัตโนมัติโดยไม่ใช้พลังสมาธิ แล้วเก็บพลังสมาธิที่เหลือไปใช้กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อื่น ๆ

ประโยชน์จากการฝึกสมาธิมีมากมายเช่น

  • มีพลังสมาธิเพิ่มขึ้น
  • ผ่อนคลาย กังวลหรือประหม่าลดลง
  • ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
  • ไขมันในร่างกายลดลง หุ่นดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น
  • ประสิทธิภาพในการนอนหลับสูงขึ้น
2) กฎ 3 ข้อที่ใช้ควบคุมพลังสมาธิ

กฎข้อที่ 1

          คนที่มีสมาธิสูงจะเข้าใจวิธีการฝึกฝนพลังสมาธิ เพราะพลังสมาธิไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เนื่องจากพลังสมาธิถูกสร้างมาจากจุดสำคัญในสมองเพียงจุดเดียวนั่นก็คือ สมองกลีบหน้า ที่มีพลังในการควบคุมความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ ปริมาณของแหล่งกักเก็บสมาธิจึงมีจำกัด
          ในภาษาจิตวิทยาที่หนังสือใช้เรียกว่า ‘อำนาจจิต’ โดยอำนาจจิตดังกล่าวมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ประการคือ
  1. อำนาจจิตมีปริมาณจำกัด และจะหมดไปตามจำนวนครั้งที่ใช้พลังสมาธิ
  2. อำนาจจิตถูกปล่อยออกมาจากเพียงจุดเดียว

          ดังนั้นแล้วเมื่อเราเข้าใจหลักการของอำนาจจิต เราจึงสามารถเพิ่มพลังสมาธิได้โดย

  1. เพิ่มอำนาจจิต ด้วยการฝึกฝน มีหลายวิธีที่เราสามารถลองใช้ฝึกเพิ่มอำนาจจิตได้ เช่น การปรับบุคลิกภาพ ยืดหลังตรงเมื่อนึกขึ้นได้
  2. ประหยัดอำนาจจิต โดยการเปลี่ยนกิจวัตรในแต่ละวัน เช่น การตัดสินใจให้น้อยลง หรือรวมการตัดสินเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ทำให้เสร็จในครั้งเดียว เพราะทุกครั้งที่เราตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น จะกินอะไรดีเช้านี้? จะไปออกกำลังกายดีมั้ย? จะพกร่มไปด้วยเผื่อฝนตกดีมั้ย? เราจะใช้พลังสมาธิเสมอ คนเรารู้สึกเหนื่อยล้า เพราะ ‘การตัดสินใจ’ ไม่ใช่การกระทำ

กฎข้อที่ 2

          คนที่มีพลังสมาธิสูง ไม่ใช่คนที่ใช้สมาธิได้นาน แต่เขาจะใช้พลังสมาธิในช่วงสั้น ๆ แต่ใช้บ่อย ๆ เนื่องจากเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้พลังสมาธิได้นาน ๆ ตามธรรมชาติ มันจึงอาจดีกว่าที่เราจะแบ่งการใช้สมาธิออกเป็นรอบ ๆ เช่น การแบ่งช่วงเวลาทำงานเป็นรอบละ 15 นาที หรือ 30 นาที แล้วพักก่อนเพื่อชาร์จพลังสมาธิใหม่ จึงกลับมาทำงานอีก 15 นาที หรือ 30 นาที แล้วแต่เวลาที่กำหนด จำไว้ว่า ความสามารถในการทำงาน = พลังสมาธิ x เวลา

กฎข้อที่ 3

          คนที่มีพลังสมาธิจะควบคุม ‘ความเหนื่อย’ ด้วยสมอง แท้จริงแล้วการที่เรารู้สึกเหนื่อยและไม่มีสมาธิ คือภาพมายาของสมองนี่เอง กายเหนื่อย อาจไม่เท่ากับสมองเหนื่อย ให้นึกถึงตอนนักกีฬาฝึกซ้อม แล้วรู้สึกเหนื่อย ไม่ไหว อยากกลับบ้าน แต่โค้ชยังให้ฝึกซ้อมต่อไปเพราะตัวโค้ชรู้ดีว่า จริง ๆ แล้วนักกีฬายังไหวอยู่ ถ้าสมองบอกว่าไหว วิธีการฝึกเพิ่มประสิทธิภาพของนักกีฬาจึงเป็นการฝึกแบบอัลติจูดเทรนนิ่ง หรือการฝึกในสภาวะออกซิเจนต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สมอง หรือถ้าเอาให้ง่ายคือการฝืนตัวเองทำต่อ เมื่อรู้สึกร่างกายเหนื่อย แต่สมองยังไหว
3) เครื่องยนต์ 7 อย่างที่ช่วยควบคุมพลังสมาธิ

1. สถานที่

          แยกสถานที่ที่ใช้ทำกิจกรรมแต่ละอย่างออกจากกัน เช่นห้องไหนใช้ทำงาน ห้องไหนใช้พักผ่อน พยายามอย่าทำกิจกรรมเหล่านี้ในสถานที่เดียวกัน

          ส่วนสีที่ควรใช้เพื่อเพิ่มพลังสมาธิในการเรียนและการทำงาน คือ ‘สีฟ้า’ ดังนั้นควรจัดโต๊ะทำงาน ปากกา และสภาพแวดล้อมให้มีสีฟ้าเป็นองค์ประกอบเยอะ ๆ

          นอกจากนี้ควรนำของที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณที่ต้องการโฟกัสกับการทำงานให้มากที่สุด เทคนิคหนึ่งคือการหยิบของเหล่านั้นใส่ ‘กล่องเอาไว้ก่อน’ แล้วเอากล่องดังกล่าวไปวางไว้ในที่ที่ไกล ๆ เราจะได้มีสมาธิลุยงานตรงหน้าได้เต็มที่

2. บุคลิกภาพ

          นั่งหลังตรง ลุกขึ้นยืนบ่อย ๆ ทุก 10-15 นาที เพราะคนที่นั่งติดต่อกันนาน ๆ สมองจะเสียการโฟกัสได้ง่าย

3. การรับประทานอาหาร

          อาหารที่ช่วยเพิ่มพลังสมาธิเช่น พวกอาหารที่ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช และอาหารที่มีไฟเบอร์สูง และหาเวลาทานอาหารว่าง ช่วงที่สมาธิตกลง ซึ่งโดยปกติจะเป็นช่วง 2 ชั่วโมงหลังทานอาหารกลางวัน เราจึงควรเพิ่มมื้ออาหารว่างนี้เข้าไป โดยผู้เขียนแนะนำให้กินพวกถั่วชนิดต่าง ๆ

4. อารมณ์

          จัดตารางกิจวัตรที่ใช้ประโยชน์จากอารมณ์แต่ละแบบ รวมถึงความโกรธ ความเศร้า ความเอนจอย

5. กิจวัตร

          ลดการตัดสินใจที่ไม่จำเป็น ทำเป็นกิจวัตรให้หมด เช่นการเลือกเสื้อผ้า การจัดข้าวของในห้องให้เรียบร้อย

6. การออกกำลังกาย

          หลังออกกำลังกาย 20 นาที ภายใน 3-4 ชั่วโมง เราจะมีพลังปัญญา ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และพลังสมาธิเพิ่มมากขึ้น เราจึงควรหาเวลาออกกำลังกายระหว่างวัน ง่ายสุดคือการเดินไปเดินมา เดินขึ้นบันไดบ้าง อ่านหนังสือก็ลองอ่านแบบออกเสียงดู และพยายามเดินไปหาพื้นที่สีเขียวที่สวนหย่อมใกล้ ๆ บ้านให้ตัวเองสดชื่น

7. การฝึกสมาธิ

          เรื่องนี้ตรงไปตรงมา คือการฝึกนั่งสมาธิ และการกำหนดลมหายใจเข้าออก
4) วิธีการบำบัด 3 แบบที่ช่วยรีเซตความเหนื่อยล้า

1. การนอนหลับ

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตัวเองเป็นคนต้องการนอนมากน้อยแค่ไหน มีคน 3 ประเภท คือ
  • ต้องการนอนเยอะ มากกว่า 9 ชั่วโมง (แบบไอสไตน์)
  • ต้องการนอนน้อย 3-4 ชั่วโมง (แบบนโปเลียน)
  • ต้องการนอนแบบปกติ 6-8 ชั่วโมง
          ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ประเภทสุดท้าย คือนอน 6-8 ชั่วโมง เมื่อรู้แล้วเราจึงควรจัดเวลาการนอนให้พอกับตัวเอง นอกจากนี้เราควรนอนให้ถูกตามหลักชีววิทยาในร่างกาย คือนอนช่วง สี่ทุ่ม ถึง ตีสอง เพราะเป็นช่วงที่ growth hormone หลั่ง และนอนในที่ที่มืด ตื่นเมื่อเจอแสงอาทิตย์ และหาเวลางีบช่วงกลางวัน ประมาณ 20 นาทีเพื่อหยุดพักและเพิ่มพลังสมาธิให้ตัวเอง

2. การบำบัดจากประสาทสัมผัส

          มีเทคนิคมากมายที่ช่วยบำบัดประสาทสัมผัสส่วนต่าง ๆ รวมถึง ตาและจมูก เช่น การหลับตาเมื่อเพ่งกับอะไรนาน ๆ การเอามือสองข้างอังตา การประคบด้วยผ้าอุ่น ๆ หรือการใช้กลิ่นหอม ๆ โรสแมรี่มาช่วยบำบัดประสาทการรับกลิ่น

3. การเขียนความกลุ้มใจออกมา

          ลดการใช้งานความจำชั่วคราว (working memory) โดยการเขียนทุกอย่างออกมา เมื่อเราเขียนความกังวลลงในกระดาษ ก็เหมือนเราดึงความกังวลเหล่านั้นออกจากตัวด้วย
5) เทคนิคการใช้เวลา 5 ข้อ ที่ช่วยเพิ่มพลังสมาธิ

1. เทคนิคโพโมโดโร

          ทำงาน 25 นาที สลับกับพัก 5 นาที

2. อัลตราเดียนริทึ่ม (Ultradian Rhythm)

          การหลอกสมองด้วยการงีบหลับ 20 นาที (power nap) เพราะปกติเวลาเราหลับลึก เราใช้เวลา 90 นาที และหลับตื้นอีก 20 นาทีก่อนตื่น สมองจึงรู้สึกเหมือนเราได้หลับพักผ่อนมาแล้ว เป็นการรีเฟรชตัวเองให้มีสมาธิ

3. วิธีการของไอวี่ ลี (Ivy Lee Method)

          ทำ To do list 6 อย่าง ของสิ่งที่สำคัญในวันนั้นตั้งแต่ 2 ชั่วโมงแรกที่ตื่นนอน และเริ่มลงมือทำโดยเรียงตามลำดับความสำคัญ ถ้าทำไม่เสร็จ ก็ยกยอดไปวันรุ่งขึ้นต่อไป

4. สร้างที่ว่างลงในกำหนดการ

          เพื่อลดความกังวล และทำให้โฟกัสกับสิ่งที่ทำได้เต็มที่
          แนะนำสั่งซื้อหนังสือ ความลับของคนที่ไม่เคยเอางานกลับไปทำที่บ้าน ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน : Mentalist DaiGo
  • ผู้แปล : กมลวรรณ เพ็ญอร่าม
  • จำนวนหน้า : 236 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : Shortcut
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 9/2019
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 วิธีฝึกสมาธิ เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้เราไม่ต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้าน อัปเดตล่าสุด 5 ตุลาคม 2565 เวลา 15:38:27 3,123 อ่าน
TOP