15 ข้อคิดดี ๆ เรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 15 ข้อคิดเรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money: จิตวิทยาว่าด้วยเงิน
ข้อคิดดีๆ

1) สำหรับเรื่องการเงิน

          เราอาจถูกสอนมาในเชิงฟิสิกส์ด้วยกฎและข้อบังคับมากเกินไป และน้อยเกินไปสำหรับเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการรับรู้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วพฤติกรรมและการตัดสินใจทางการเงินของเรามักขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความเสี่ยง ความมั่นใจ และความสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเองก็ล้วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์

2) ไม่มีใครเป็นบ้าในโลกการเงิน

          การตัดสินใจทางการเงิน เช่น ความเต็มใจในการแบกรับความเสี่ยงการลงทุน มักขึ้นกับประสบการณ์ในอดีตมากกว่าระดับรายได้ การศึกษา หรือความฉลาดทางการเงินของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ในอดีตที่แตกต่างกันออกไป การจะเข้าใจพฤติกรรมของใครสักคนจริง ๆ ไม่สามารถทำได้จากการดูแค่ข้อมูลตัวเลขพื้นฐาน

          แม้การศึกษาอดีตจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไมคนคนนั้นถึงตัดสินใจทางการเงินแบบนั้นแบบนี้ แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในจุดที่เขาอยู่จริง ๆ เราก็อาจไม่มีวันจะเข้าใจเขา เช่น เราไม่มีทางเข้าใจคนที่สูญเสียทุกอย่างช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้เหมือนตัวเขาเอง

          ดังนั้นแล้ว เราไม่ควรตัดสินว่าใครเป็นบ้า หรือตัดสินใจโง่ ๆ ในเรื่องเงิน เพราะเราไม่มีทางเข้าใจเขาได้อย่างถ่องแท้ แม้แต่ตัวเราเองก็เหมือนกัน บางทีการตัดสินใจของเราอาจขึ้นกับประสบการณ์และปัจจัยอื่น ๆ ที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้

3) โชคและความเสี่ยงคือพลังงานแบบเดียวกัน แต่ทำงานคนละด้าน

          บิล เกตส์ คือนักเรียน 1 ในล้านคนที่ได้เรียนในโรงเรียนมัธยมปลายที่มีคอมพิวเตอร์ และทำให้เขาได้มีโอกาสใช้เวลาศึกษาคอมพิวเตอร์จนกระทั่งเชี่ยวชาญและต่อยอดเป็นบริษัท Microsoft ในขณะที่เพื่อนมัธยมปลายของเขา คือนักเรียน 1 ในล้านคนที่ประสบอุบัติเหตุตกเขาเสียชีวิตตั้งแต่มัธยมปลาย ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Microsoft ร่วมกับ บิล เกตส์

เรื่องนี้สื่อได้ว่า “โชค” กับ “ความเสี่ยง” อาจมีอยู่จริง

          เป็นพลังงานที่ทรงอิทธิพลเหมือนกัน แต่ทำงานกันคนละด้าน โชคให้ผลลัพธ์ที่ดีมากมายมหาศาล ในขณะที่ความเสี่ยงก็ทำลายชีวิตได้ในทันที
          แต่สิ่งที่เรามักพลาดไปคือ เราให้ค่ากับสองสิ่งนี้น้อยเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเราสำเร็จ เรามักชื่นชมความพยายามของตัวเอง เหมือนที่เราชื่มชม บิล เกตส์ แต่ความจริงแล้ว ทุกความสำเร็จอาจมีโชคเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ซ่อนอยู่เสมอ ไม่มีทางที่ความสำเร็จ 100% ของเรา จะเกิดจากแรงพยายามของเราเต็ม 100%

ความล้มเหลวก็เช่นกัน

          หลายครั้ง เราอาจรู้สึกท้อกับความผิดพลาดในชีวิตเรา เพราะเราคิดว่าเราต้องรับผิดชอบต่อมันทั้งหมด แต่ความจริงแล้ว ความผิดพลาดของเราก็อาจไม่ได้เกิดจากฝีมือเรา 100% แต่ความเสี่ยงก็คือส่วนประกอบที่ทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น
          ดังนั้นแล้ว ถ้าเราลงทุนล้มเหลว หรือล้มเหลวในเรื่องอื่น เราอาจต้องเปิดใจให้กว้าง และมองว่าความเสี่ยงก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เราพลาดได้เช่นกัน

4) ทักษะทางการเงินที่ยากที่สุด คือการทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่

          ระบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น นำพาทั้งความมั่งคั่งและความอิจฉามาพร้อม ๆ กัน มันทำให้คนเราไม่หยุดที่จะเปรียบเทียบ และไม่รู้จักพอ เมื่อมีถึงจุดหนึ่ง ก็ยังอยากได้มากขึ้นไปอีก
          ตัวอย่างเช่น เบอร์นี แมดอฟฟ์ ที่มีเงินอย่างมหาศาล ยังคงหาวิธีที่จะมีเงินมากขึ้นไปอีก แม้การทำสิ่งนั้นจะเป็นธุรกิจสีเทา ๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็นำมาซึ่งการหลอกลวงผู้คนเป็นจำนวนมาก เงินที่แมดอฟฟ์มีนั้นทำให้เขามั่งคั่งเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ เขามีเกียรติยศ อำนาจ อิสรภาพ ทุกอย่าง ที่คนทั้งโลกอยากมี แต่เขาก็ยังอยากมีเพิ่มขึ้นไปอีกหลายครั้ง กรณีแบบ แมดอฟฟ์ ก็สามารถทำได้เพิ่มขึ้น แต่อีกหลายคนที่โลภแบบนี้ ก็จบลงด้วยการล้มละลาย 

คำว่า “พอ” ที่อาจฟังดูเชย จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนยุคนี้

          เราต้องมองหาเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง และถ้าเราได้ถึงจุดนั้นแล้ว เราต้องรู้จัก “พอ” เงินที่มากพอที่จะนำชื่อเสียง เกียรติยศ และอิสรภาพมาให้ เงินที่จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต พร้อมเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว ถ้าเรามีเงินตามเป้าที่เราตั้งไว้แล้ว เราควรพอ อย่าขยับเป้าหมายการเงินตัวเองออกไปอีก ตามกระแสสังคม ลดอัตตาของตัวเอง และเราจะมั่งคั่งมากขึ้น

5) พลังของเวลาและการทบต้น

          วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจด้านการลงทุน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าความลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ บัฟเฟตต์ รวยมหาศาล เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ “เขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย” บัฟเฟตต์ เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ พอตอนอายุ 30 ปี เขาก็มีความมั่งคั่งสุทธิที่ 1 ล้านเหรียญ ถ้าเขาเริ่มต้นลงทุนตอนอายุ 30 ปี เขาอาจจะมีความมั่งคั่งแตกต่างจากที่เขาได้ถึง 11.9 ล้านเหรียญ
          ดังนั้นแล้วการเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยถือเป็นข้อได้เปรียบมาก เพราะมันจะทำให้พลังของการทบต้นทำงานได้เยอะ
          แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต้องรักษาผลตอบแทนระดับนี้ให้ได้ในระยะเวลานาน เพราะมันจะทำให้พลังของการทบต้นทำงานอย่างบ้าคลั่ง แต่ถ้าเราลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนก้อนใหญ่ครั้งเดียว แต่ไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้นาน พลังที่ว่าก็คงไม่มีโอกาสได้ทำงาน

6) การหาเงินได้ กับการรักษาเงินไว้ เป็นทักษะที่ต่างกัน

          การหาเงินมาได้ ต้องอาศัย การแบกรับความเสี่ยง การมองโลกในแง่ดี และการเอาตัวเองไปอยู่ให้ถูกจุด แต่การรักษาเงินนั้น ต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความหวาดกลัวว่าเงินที่หามาได้อาจหายไปอย่างรวดเร็วในวันหนึ่ง การรักษาเงินไว้ได้นาน ต้องอาศัยความตระหนี่ และการยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ได้เงินมาจากโชค ไม่ใช่การมั่นใจในตัวเองจนเกินไป และใช้วิธีการในอดีตทำซ้ำอย่างไม่จำกัด
          พูดอีกนัยก็คือ การจะรักษาเงินไว้ได้ เราต้องอยู่ให้รอดในระยะยาว เราต้อง “ฆ่าไม่ตาย” และยืนระยะมากพอให้พลังแห่งการทบต้นได้ทำงาน ตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนการลงทุนหุ้น 10% อาจยั่วยวนให้เราเอาเงินจากธนาคารที่ให้ผลตอบแทนแค่ 1% ไปซื้อหุ้น แต่ถ้าหุ้นนั้นอยู่ในช่วงขาลง เราอาจสูญเสียมากกว่าส่วนต่าง 9% ที่จะได้รับมาตอนถือหุ้นตัวนั้น การรักษาเงินของเราไว้ได้ โดยไม่บุ่มบ่าม และเสี่ยงเกินไป จึงเป็นทักษะสำคัญในการรักษาเงินไว้

7) ปลายหาง (Long tail) ขับเคลื่อนทุกสิ่ง

          ทฤษฎีเหตุการณ์ปลายหาง (tail event) นั้นท้าทายกฎพาเรโตอย่างมาก เพราะกฎพาเรโตบอกให้เราโฟกัสไปที่สินค้าไม่กี่อย่างที่สำคัญที่สุด แล้วเลือกลงทุนไปกับสิ่งเหล่านั้น ทฤษฎีปลายหางคิดต่างออกไป และบอกว่าเราควรกระจายการลงทุนไปยังสินค้าทุกอย่าง เพราะหนึ่งในสินค้าเหล่านั้นอาจกลายเป็นสินค้ายอดฮิตที่ทำกำไรให้เรามหาศาล เหมือนการซื้องานศิลปะ คนที่สำเร็จนั้นอาจเป็นคนที่ซื้องานศิลปะจำนวนมาก แล้วหนึ่งในนั้นกลายเป็นงานระดับปิกัสโซ
          ในโลกการลงทุน คนที่ลงทุนสม่ำเสมอ แล้วต่อขยายส่วนปลายหางให้ยาวออกไปที่สุด อาจเป็นคนที่มีโอกาสมากที่สุดที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด เมื่อเทียบกับคนที่เลือกลงทุนเฉพาะช่วงที่ตลาดขาขึ้น และถอนเงินออกไปตอนตลาดขาดลง เพราะมีปัจจัยเรื่องโชคและความเสี่ยงอีกมากที่อาจเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ปลายหางที่ทอดยาวออกไป
          ดังนั้นแล้วมันสำคัญตรงที่เราอาจโชคดีเจอเหตุการณ์ปลายหางที่ทำให้เราทำเงินได้มหาศาล แต่เราก็อาจโชคร้ายถ้าต้องสูญเสียเงินมหาศาล ดังนั้นแล้ว เราต้องไม่สูญเสียเงินมากเกินไปในช่วงที่โชคร้าย เราผิดพลาดได้ครึ่งหนึ่ง เพราะยังอาจมีเหตุการณ์ปลายหางที่ช่วยเราอยู่ แต่เราต้องไม่สูญเสียมากกว่าจะแก้ไข 

8) การควบคุมเวลาคือเงินปันผลสูงสุดที่เงินมอบให้

          ถ้าเราหาเงินได้มาก เราก็จะมีเวลาอิสระมากขึ้น เราจะใช้เวลาอยู่กับลูก ๆ ของเรา และคนที่เรารักได้มากขึ้น งานสมัยใหม่ ใช้หัวทำมากกว่าใช้มือ งานจึงมักติดอยู่ในหัวเราตลอดเวลา ปัญหาก็คือ เราทำงานเพื่อหาเงิน แต่งานกลับขโมยเวลาของเราไป

          ดังนั้นเปลี่ยนความคิดซะใหม่ เงินที่ปันผลจากการทำงานของเรา ที่ควรได้มากที่สุดนั้นเกิดมาจากการที่เราควบคุมเวลาของตัวเองได้

9) มั่งคั่ง ไม่เท่ากับร่ำรวย

          หลายคนใช้ชีวิตเหมือนคนรวย ขับรถหรู ใช้ของแบรนด์เนม ซื้อบ้านหลังโต แต่เงินที่พวกเขามีอาจไม่ได้มาก ความมั่งคั่งแตกต่างออกไป ความมั่งคั่งคือเงินที่ยังไม่ถูกจ่ายออกไป มันคือทางเลือกที่เราเลือกได้ว่าจะใช้เงินกับอะไร มันทำให้เรามีความยืดหยุ่น
          โลกนี้มักเต็มไปด้วยคนที่อวดความร่ำรวย โดยการซื้อรถแพง ๆ มาขับ เพื่อให้คนอื่นชื่นชม เคารพนับถือ แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่คนอื่นมองนั้นคือตัวรถที่พวกเขาฝันอยากมีบ้างในสักวัน ไม่ใช่ตัวคนที่ขับรถคันนั้นมา
          ดังนั้นแล้วจงอย่าใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพียงเพราะ เราต้องการความรู้สึกชื่นชม แต่จงออมเงินเพื่อให้ตัวเรามีความมั่งคั่งอย่างแท้จริง

10) จงออมเงิน การออมไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล

          เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายการออม เพื่อดาวน์รถ ซื้อบ้าน หรือเก็บเงินเพื่อเกษียณ แต่การออมเงินจะเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งอย่างแท้จริง การออมไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อตัวเราเองในอนาคต มันจะทำให้เรามีอิสระมากพอในการเลือกทำในส่งที่เราอยากทำ และมีความยืดหยุ่นมากพอในการรอโอกาสดี ๆ ที่อาจเข้ามาในอาชีพและการลงทุนของเราได้

11) คนเราล้วนทำทุกอย่างที่สมเหตุสมผลกับตัวเอง มากกว่าใช้เหตุผล

          แม้เหตุผลจะชนะ แต่สุดท้ายเราก็ยังตัดสินใจในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง ดังนั้นแล้ว เราควรรักการลงทุนของตัวเอง ไม่ว่ามันจะเป็นยังไงก็ตาม เพราะมันได้สะท้อนถึงค่านิยม และแบบแผนที่สมเหตุสมผลของตัวเรา

12) ประวัติศาสตร์อาจไม่สามารถใช้ทำนายอนาคตได้

          เพราะมีเรื่องไม่คาดฝันอยู่มากเกินไป และเรื่องไม่คาดฝันเหล่านั้น ก็ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก สภาวะจิตใจของแต่ละคนที่ต้องฟันฝ่าเรื่องร้าย ๆ มา อาจหล่อหลอมให้เขามีพฤติกรรมที่ยากจะคาดเดาได้ในวันนี้ และโลกใบนี้ก็มีเรื่องเซอรไพร๊สเกิดขึ้นทุกวัน เราจึงไม่ควรนำประวัติศาสตร์มาใช้ในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

13) พลังของการมองโลกในแง่ร้ายและการมองโลกในแง่ดี

          การมองโลกในแง่ร้ายนั้นมีข้อดีที่ทำให้เราลดความคาดหวังของสิ่งต่าง ๆ ลง ทำให้ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นไปได้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงลดลง เราจึงมีความสุขได้มากขึ้นกับผลลัพธ์ที่เกิด แต่ความจริงแล้ว การมองโลกในแง่ดีนั้น ก็มีประโยชน์ แต่จะส่งผลในระยะยาว เหมือนการวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษ และเรามักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป การลงทุนก็ไม่ต่างกัน ถ้าเรามองโลกในแง่ดีเข้าไว้ และเชื่อในอิทธิพลของเหตุการณ์ปลายหาง หมั่นเก็บเงินออม จนพลังทบต้นทำงาน วันหนึ่งการลงทุนของเราจะส่งผลดีต่อเราได้มหาศาล

14) จงลงทุนในแบบที่นอนหลับสนิททั้งคืน

          อย่าใช้แนวทางที่ลงทุนแล้วมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงสุด แต่จงบริหารเงินให้เราสามารถนอนหลับสนิทได้ทั้งคืน ไม่ต้องกระวนกระวาย

15) หาต้นทุนความสำเร็จให้เจอ แล้วจ่ายมันออกไป

          มองว่ามันมีต้นทุนทางการเงินบางอย่างที่เราต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมของความสำเร็จ เช่น ความลังเล ความไม่แน่นอน ความสงสัย ความเสียใจ หลายครั้งมันเป็นข้อบังคับในโลกการเงิน
          ดังนั้นแล้วทำใจยอมรับค่าธรรมเนียมเหล่านี้ เหมือนจ่ายค่าตั๋วเข้าสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ อย่ามองว่ามันคือ ค่าปรับ หรือการลงโทษที่เราควรเลี่ยง
          เนื้อหาจริงมีมากกว่านี้ และละเอียดกว่านี้มาก ต้องลองไปหยิบเล่มจริงมาอ่านกันดูนะครับ
รีวิวสั้น ๆ 
          เป็นหนังสือการเงินที่อ่านสนุกมาก และสามารถเขย่าความคิดทางการเงินที่เคยรู้มาทั้งชีวิตได้ !! เพราะสุดท้ายแล้ว เรื่องเงินมันซับซ้อนมากกว่า การพยายามนำหลักคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มาจับ แล้วสร้างเป็นโมเดล แต่มนุษย์ล้วนถูกขับเคลื่อนทางอารมณ์ และยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่เราเห็น รวมไปถึง โชค ความเสี่ยง และพลังของเวลา
          ส่วนตัวคิดว่าเป็นหนังสือที่มีความยากกำลังดี ไม่ใช่หนังสือเปลี่ยน mindset ทางการเงินแบบกลวง ๆ แต่ก็ไม่ใช่หนังสือที่อิงงานวิจัยมากเกินไป จนน่าเบื่อ และเสียอรรถรส
          หนังสือมีเรื่องเล่าและตัวอย่างที่ยกมาประกอบเยอะมาก  รวมถึงสถิติต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้หนังสือน่าสนใจมากขึ้น
          บอกได้เลยว่า เป็นหนังสือที่อ่านสนุกอันดับต้น ๆ ของปี และทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับโลกการเงินมากมาย ยังไงอยากให้ทุกคนได้ลองหาอ่านกันดูสักครั้งครับ 
          แนะนำสั่งซื้อหนังสือ Psychology Of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน : Morgan Housel
  • ผู้แปล : ธนิน รัศมีธรรมชาติ
  • จำนวนหน้า : 272 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์, บจก.
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 2022
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 ข้อคิดดี ๆ เรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2565 เวลา 22:23:51 4,599 อ่าน
TOP