เมื่อลูกโตขึ้น ก็จะมี mission บางอย่างที่ลูกคิดไว้ในใจและอยากจะทำ เพราะอยากรู้ว่าตัวเองจะทำได้หรือเปล่ามาท้าทายอยู่เรื่อยๆ นะคะ

ครั้งนี้ก็เช่นกันค่ะ
เมื่อเด็กสามขวบที่บ้านรู้ว่าเรากำลังจะเดินทาง ก็ขอกระเป๋าของตัวเอง เพื่อมาจัดของของตัวเอง แน่นอนว่า เมื่อลูกมีสิ่งที่อยากทำ และสิ่งนั้นก็ไม่ได้อยู่ในข้อห้าม 3 ข้อ คือ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายข้าวของ เราก็ไม่อยากจะห้าม
ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากให้ลูกเสียความตั้งใจ ที่อุตส่าห์เกิดความคิดแล้วว่าจะดูแลจัดการในส่วนของตัวเองอย่างไร และกล้าที่จะแสดงความคิดของตัวเองแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่หมอคิดว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือ อยากให้ลูกได้รับรู้ว่า แม่ยอมรับความคิดเห็นของลูก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง self esteem ค่ะ
Self-esteem เป็นการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งมีความหมายที่กว้างและลึกซึ้งกว่าความมั่นใจในตัวเอง หรือ self confidence นะคะ
เด็กที่มี self esteem จะมองตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็นจริงๆ และตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองว่า "ตัวฉันมีคุณค่า" "ตัวฉันมีคนรัก" และ "ฉันรักตัวเอง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดเองได้ ต้องอาศัยการสร้างให้เกิด และพัฒนาต่อยอดขึ้นภายในจิตใจของเด็กเอง
สิ่งสำคัญที่สุด เริ่มจากการที่ได้รับ "การยอมรับ" จากคนที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กๆ คือ ครอบครัวนั่นเองค่ะ
เด็กๆ จะรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับได้ตั้งแต่แรกเกิด จากการให้ความสำคัญ ให้ความรักความเอาใจใส่โดยไม่มีเงื่อนไข ตอบสนองความต้องการในทันทีที่ร้องขอ หรือแม้ในขณะที่ไม่ได้เรียกร้องก็ได้รับการดูแลในความต้องการพื้นฐานอย่างเหมาะสม เด็กทารกก็จะรับรู้ได้นะคะว่าตัวเองมีคนที่รักและสนใจ
เมื่อโตขึ้น เริ่มเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดของตัวเอง การยอมรับฟังความคิด และมอบหมายให้ทำภารกิจบางอย่าง เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า ตัวเราก็ทำได้ หรือพ่อแม่ไว้ใจและเปิดโอกาสให้ได้ทำ ก็จะเป็นการเสริมสร้าง self esteem ให้แข็งแรงขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนะคะ
เมื่อลูกต้องการจัดกระเป๋า เราก็มาช่วยกันคิดว่าจะเอาอะไรใส่ในกระเป๋าบ้าง ลูกคิดแล้วเอาของของตัวเองไปจัดวางอย่างเป็นระเบียบ
เมื่อถึงเวลาเดินทาง ลูกก็ทำหน้าที่ดูแลกระเป๋าของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องบอก เราจึงได้เห็นเด็กน้อยเข็นกระเป๋าของตัวเองตั้งแต่หน้าสนามบินจนขึ้นเครื่องบิน ลงเครื่องบินมาขึ้นรถค่ะ แน่นอนว่า การเข็นรถมีล้อทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกนะคะ แต่ถ้าทำเพราะสนุกก็อาจจะทำได้แค่ชั่วคราว สิ่งที่ทำให้เขาอยากจะทำงานให้เสร็จ คือ เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกระเป๋าใบนี้ (ที่ได้จัดเอง) และรู้สึกว่าจะต้อง "รับผิดชอบ" สิ่งของที่เป็นของตัวเองตลอดการเดินทาง ความรู้สึกนี้เองที่ทำให้ลูกสามารถทำภารกิจที่อยากทำได้จนจบตลอดทริปค่ะ ซึ่งเป็นจุดที่น่าชื่นชมมาก
อย่างไรก็ตามการพัฒนาของ self esteem ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ แม้ลูกจะวางเป้าหมายไว้ แต่ทำได้ไม่สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่า self esteem จะไม่พัฒนา เพราะระหว่างทาง ตั้งแต่เริ่มต้นที่ได้รับการยอมรับให้ลงมือทำ ได้ลองผิดลองถูกและได้ทำด้วยตัวเอง ก็เป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ เติบโต และพัฒนา รวมถึงได้เห็นคุณค่าของตัวเองเช่นกันค่ะ
เริ่มต้นจากพ่อแม่และครอบครัวยอมรับและให้โอกาส เด็กๆ มีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดเวลาจริงๆ ค่ะ
หมอเมษ์
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่