6 แนวคิดการเงินที่ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งได้เปรียบ จากหนังสือ พ่อรวยสอนลูก (Rich Dad Poor Dad)
แนวคิดที่ 1: คนรวยไม่ทำงานเพื่อเงิน
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างคนรวย และคนจนคือ คนจนทำงานเพื่อได้เงิน แต่คนรวยทำงานเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ เมื่อได้เงินมาจึงนำเงินไปต่อยอดซื้อหรือสร้างทรัพย์สินสะสมไว้ และเมื่อทรัพย์สินตัวเองงอกเงยจนสร้างกระแสเงินสดมากพอ ก็จะใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นผลิตเงินมาทำงานแทน
เรื่องที่ต้องรู้คือ ความรู้เรื่องการเงินเป็นสิ่งที่ต้องเรียนกันตลอดชีวิต โดยเราต้องเริ่มจากการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อตัวเงิน เช่น ถ้าเราเชื่อว่าการมีเงินเยอะเป็นเรื่องไม่ดี หรือคนรวยขี้โกง เราก็คงจะเกลียดเงินเยอะอยู่วันยังค่ำ
แนวคิดที่ 2: จงหมั่นเพิ่มพูนความรู้ทางการเงิน
ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องไม่มีสอนในโรงเรียน เพราะโรงเรียนมักจะสอนให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเข้าทำงานโดยเป็นฟันเฟืองในองค์กรขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศ การเงินจึงอาจเป็นเรื่องที่ต้องเรียนกันเอาเอง
ดังนั้นแล้ว ถ้าอยากรวย เราต้องหาความรู้ทางการเงินให้ครบทุกด้าน รวมถึง การหารายได้ การใช้จ่าย การลงทุน และการเก็บออม
อีกคอนเซ็ปต์สำคัญที่ควรรู้คือ ความแตกต่างระหว่าง ‘ทรัพย์สิน’ และ ‘หนี้สิน’ ทรัพย์สิน คือ เงินที่ไหลเข้ากระเป๋า หนี้สิน คือ เงินที่ไหลออกจากกระเป๋า
คำถามคือ แล้วบ้านคืออะไร ระหว่างหนี้สิน หรือทรัพย์สิน
คำตอบคืออาจเป็นไปได้ทั้ง 2 ข้อ
- บ้านจะเป็น ทรัพย์สิน ก็ต่อเมื่อ บ้านสร้างกระแสเงินสดให้ไหลเข้ากระเป๋าเรา เช่น เรานำบ้านไปปล่อยเช่า
- แต่บ้านจะเป็น หนี้สิน ก็ต่อเมื่อ บ้านสร้างแต่กระแสเงินสดไหลออกจากกระเป๋าเรา เช่น เราอยู่อาศัยเอง แล้วต้องผ่อนเงินกู้จากธนาคารอยู่เรื่อย ๆ การแยกให้ออกว่าสิ่งใดคือหนี้สิน หรือทรัพย์สิน เป็นสิ่งสำคัญมาก
เราสามารถนำทรัพย์สิน และหนี้สินมาแจกแจงความแตกต่างระหว่าง คนจน คนชั้นกลาง และคนรวย
1. กระแสเงินสดของคนจน ตรงไปตรงมา เงินเดือนไหลเข้ามาแล้วไหลออกไปกับรายจ่าย ค่ากิน ค่าอยู่ และภาษี ไม่มีเงินเก็บมาถึงช่องทรัพย์สินและหนี้สิน
2. กระแสเงินสดของคนชั้นกลาง คนชั้นกลางมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ทำให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาในช่องทรัพย์สินและหนี้สิน แต่สุดท้ายเงินก็ไปกองอยู่ในช่องหนี้สินเสียหมด เมื่อพวกเขาซื้อบ้าน ซื้อรถ และผ่อนบัตรเครดิต
3. กระแสเงินสดของคนรวย คนรวยไม่มีเงินเดือน แต่จะใช้ ทรัพย์สินที่มีผลิตเงินออกมาเป็นรายได้อัตโนมัติทุกเดือน
โดยทรัพย์สินดังกล่าว อาจเป็นได้ตั้งแต่ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น กองทุน และทรัพย์สินทางปัญญา
ส่วนรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สิน ก็ไล่ตั้งแต่ เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ
สิ่งสำคัญคือ คนรวยเอารายได้ที่ผลิตได้กลับไปลงทุนในช่องทรัพย์สินให้ผลิตเงินออกมาอย่างต่อเนื่องต่อไปเรื่อย ๆ
แนวคิดที่ 3: จงหมั่นเพิ่มพูนทรัพย์สิน และลองสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง
ไม่ได้แปลว่าเราต้องลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจโดยทันที หลายคนสามารถเรียนรู้การทำธุรกิจไปพร้อมทำงานประจำได้นอกจากนี้ การทำงานประจำควบคู่ไปกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่อาจปลอดภัยกว่า
แม้ธุรกิจจะช่วยทำให้เกิดกระแสเงินสดไหลเข้ามาก แต่ก็ยังมีอีกหลายทางเลือกนอกจากการทำธุรกิจ ที่สามารถเป็น เครื่องผลิตเงิน ให้เราได้ เครื่องผลิตเงินดังกล่าว คือการที่สิ่งนั้นสร้างทรัพย์สินของเราให้งอกเงยขึ้นเรื่อย ๆ เช่น
- การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า
- การลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) และกองทุน เพื่อเงินปันผล
- ทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ เช่น สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์เพลง และงานเขียนต่าง ๆ
แนวคิดที่ 4: เข้าใจที่มาของภาษี และบริหารภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วิธีหนึ่งที่ผู้เขียนแนะนำคือ การลงทุนในรูปแบบนิติบุคคล เพราะเมื่อโดนเก็บภาษี เราจะสามารถนำรายจ่ายทางธุรกิจมาหักเพื่อลดหย่อนภาษีต่อเนื่องต่อจากการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคล นอกจากนี้แล้วคนรวยยังสามารถจ้างทนายเก่ง ๆ มาช่วยดูแลลดการหย่อนภาษีอย่างถูกกฎหมายได้อีกด้วย
แนวคิดที่ 5: คนรวยสร้างเงินเองได้
การสร้างเงินเองได้ในที่นี้หมายถึง การลงมือเปลี่ยนไอเดียที่มีให้กลายเป็นกระแสเงินสด นั่นก็คือ การใช้ไอเดียช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่น ในชีวิตจริงแล้ว คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนฉลาดแต่เป็นคนกล้า คนที่จะกล้าที่จะลงมือทำไอเดียให้เกิดขึ้นจริง และต้องใช้ไหวพริบทางด้านการเงินที่มากพอในการเปลี่ยนเงินก้อนเล็กให้เป็นเงินก้อนใหญ่
ไหวพริบทางการเงิน ประกอบไปด้วย 4 ทักษะใหญ่ ๆ นั่นคือ
1. ความสามารถในการอ่านตัวเลข งบการเงินของบริษัท
2. กลยุทธ์ในการลงทุน
3. ความเข้าใจตลาด ทั้งอุปสงค์และอุปทาน
4. ความเข้าใจกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งระบบบัญชี
แนวคิดที่ 6: จงทำงานเพื่อเรียนรู้ อย่าทำงานเพื่อเงิน
การเรียนรู้ที่ว่านี้ไม่ใช่การเรียนรู้แบบสะเปะสะปะ หรือแค่เรียนให้เก่ง แบบเรียนในโรงเรียน แต่มันคือการ เรียนรู้ทักษะสำคัญในการหาเงิน ซึ่งรวมถึงความรู้ด้านการเงินพื้นฐาน เรื่องหลักและวิธีการลงทุน เรื่องความเข้าใจในการเลือกทรัพย์สิน การทำบัญชี ภาษี กฎหมายต่าง ๆ เรื่องระบบ รวมทั้งเรื่องคนและตลาด
ความรู้อีกเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องการขาย ตัวอย่างเช่น คุณโรเบิร์ต คิโยซากิ ก็เคยลองไปทำงานเป็นพนักงานขายที่บริษัทซีร็อกซ์ เพื่อเพิ่มทักษะการขายให้ตัวเอง ทั้ง ๆ ที่งานที่ทำอยู่ตอนแรกก็มั่นคงดีแล้ว ในตอนแรกเขาขายของไม่ได้เลย แต่เพราะการหมั่นเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ๆ ไม่นานเขาก็ไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นท็อปเซลส์ของบริษัท และยังได้ทักษะการขายติดตัวไปใช้ตอนลงทุนอสังหาริมทรัพย์อีกต่างหาก
แม้เราอาจกลัวและขี้เกียจออกไปหาทักษะใหม่ ๆ แต่ลองคิดถึงการออกกำลังกาย ช่วงแรกเราอาจขี้เกียจออกกำลังกาย แต่พอออกเสร็จเราจะรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก การขายก็เช่นเดียวกัน ถ้าขายได้มันคือความภูมิใจในตัวเอง
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน ‘หนังสือในตำนาน
ที่เปลี่ยนความคิดเรื่องเงินของคนทั่วโลก ไปแบบสิ้นเชิง’
ไม่อยากจะเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 1997 เกินกว่า 20 ปีแล้ว นับว่าไอเดียเรื่องการเงินในหนังสือเป็นสิ่งแปลกใหม่มากในตอนนั้น แต่ในปัจจุบัน แทบจะกลายเป็นนอร์มของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ความเชื่อหลาย ๆ อย่างของพ่อรวยสอนลูก เรียกได้ว่าปฏิวัติโลกของการทำงาน และการวางแผนชีวิตของใครหลายคน หลายคนไม่อยากทำงานเป็นลูกจ้าง ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ หลายคนผันตัวมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ หลายคนเลิกเรียนหนังสือ และพยายามสร้างระบบธุรกิจของตัวเอง ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ และหลายคนกลายเป็นหนี้ ก็เพราะอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่เอาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตามนับว่าแนวคิดในหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้ แต่การประยุกต์ใช้ ต้องไปว่ากันอีกที ถ้าดูจากลิสต์หนังสือเปลี่ยนชีวิต ในโพลคือเห็นพ้องต้องกันอย่างชัดเจนว่า พ่อรวยสอนลูก มักจะมาเป็นเล่มแรก ๆ เสมอในโพลของกลุ่มหนังสือควรอ่านก่อนอายุ 30 ก็เช่นกัน หนังสือพ่อรวยสอนลูก มาเป็นที่หนึ่ง ทิ้งห่างอันดับสองแบบไม่เห็นฝุ่น
พ่อรวยสอนลูก เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องแนวคิดทางการเงินของ คุณโรเบิร์ต คิโยซากิ ผ่านพ่อของเขา 2 คน คนแรกคือ พ่อแท้ ๆ ของเขา ที่โรเบิร์ตเรียกว่า ‘พ่อจน’ เขาเป็นนักวิชาการ เรียนจบปริญญาเอก มีการศึกษาสูง รับราชการ และค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นไปจนทำงานให้ภาครัฐในระดับสูง แต่สุดท้ายเขาก็ล้มเหลวด้านการเงิน อาจเพราะเขามีแนวคิดเรื่องเงินไม่ถูกต้อง และไปลงเล่นการเมืองในฝั่งที่ปราชัย
คนที่สอง คือ พ่อของเพื่อน ที่โรเบิร์ตเรียกว่า ‘พ่อรวย’ เขาเป็นคนที่เรียนจบเพียงชั้นมัธยม แต่ด้วยความรู้ความสามารถทางการเงิน และการมีแนวคิดทางการเงินที่ถูกต้อง พ่อคนนี้จึงได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์และร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ในหมู่เกาะฮาวาย ถิ่นที่อยู่ของโรเบิร์ต
หนังสือชุดนี้ก็จะเล่าความแตกต่างของแนวคิดทางการเงิน ผ่านพ่อทั้ง 2 คนนี้ ซึ่งเป็นคนฟูมฟักโรเบิร์ตขึ้นมา จนตกผลึกเป็นไอเดียในหนังสือเล่มนี้
จริง ๆ แล้วหนังสือพ่อรวยสอนลูกมีต้นกำเนิดมาจากการที่ ผู้เขียน โรเบิร์ต คิโยซากิ พยายามจะขายเกมกระดาน ที่ชื่อว่า เกมกระแสเงินสด (cash flow) ที่ให้ผู้เล่นแต่ละคนเลือกอาชีพ 1 อย่าง และเดินไปเรื่อย ๆ เหมือนเกมเศรษฐี ซึ่งแต่ละช่องที่ตกก็จะกลายเป็น ช่องทรัพย์สิน และหนี้สิน เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าคนใดคนหนึ่งจะหาทางออกจากวงล้อหนูถีบจักร แล้วได้ขึ้นทางด่วนแห่งอิสรภาพทางการเงิน นั่นก็คือการมี Passive income ที่มากกว่ารายจ่ายประจำ อาจจะเล่นจนกว่าทุกคนจะขึ้นทางด่วนกันหมดก็ยังได้
แต่เพราะว่าเกมกระดานที่ว่านั้นขายไม่ดีเลย สุดท้ายคุณโรเบิร์ตจึงเปลี่ยนมาขายคู่มือเล่นเกมกระดาน นั่นก็คือหนังสือ พ่อรวยสอนลูก (Rich Dad Poor Dad) แล้วก็ไม่รู้เป็นอีท่าไหน หนังสือตระกูลพ่อรวยสอนลูกก็ดังเป็นพลุแตกขึ้นมา ทำให้เกมกระแสเงินสดก็ดังไปด้วย สุดท้ายแล้ว หนังสือชุดพ่อรวยสอนลูก ก็เลยคลอดออกมาต่อเนื่องกว่า 20 กว่าเล่ม เป็นซีรี่ย์หนังสือสีม่วงทางการเงินที่โด่งดังไปหลายประเทศ รวมถึงในไทยด้วย
แต่หนังสือก็ประสบกับคำวิจารณ์มากกว่าที่คาด เพราะมีความสุดโต่งทางความคิดพอสมควร เริ่มตั้งแต่การที่ผู้เขียนเรียกพ่อแท้ ๆ ของตัวเองว่าพ่อจน และเรียกพ่อคนอื่นว่าพ่อรวย หรือการที่หนังสือเน้นความคิดที่ต้องสร้าง passive income และเป็นอิสรภาพทางการเงิน แต่ไม่ได้พูดถึงมิติด้านความสุขในการทำงาน รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์
หนังสือเล่มนี้จึงมีความเป็นดาบสองคม ในหลาย ๆ แง่ หนังสืออาจเป็นเหมือนตัวช่วยสำคัญที่จะสร้าง mindset ใหม่สำหรับเรื่องการเงินสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ก็อาจสร้างความเครียด และความกดดันให้กับคนอีกหลายคน เนื่องจากโอกาสในการลงทุนของแต่ละคนอาจมีไม่เท่ากัน และการเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคตลอดทาง
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวผมเอง มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย นับเป็นหนังสือที่เปิดโลกการเงินของจริง แนวคิดหลาย ๆ อย่างในหนังสือก็ยังส่งอิทธิพลมาถึงการเลือกอาชีพและการทำงานในปัจจุบัน ตอลดเวลานั้น ผมได้หยิบหนังสือมาอ่านซ้ำหลายครั้ง เพราะบางทีก็จำรายละเอียดไม่ได้ และประสบการณ์ในการทำงานที่มากขึ้น ก็ช่วยให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ของหนังสือได้ดีขึ้นด้วย
สุดท้ายนี้จึงอยากแนะนำให้คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือตระกูลพ่อรวยสอนลูกเลย ได้ลองอ่านกันดูสักครั้งนะครับ แต่ไม่ต้องตามเก็บครบทุกเล่ม เพราะมันเยอะมาก และเนื้อหาก็มีความซ้ำซ้อนกันพอควร (ผมเองก็อ่านแค่ไม่กี่เล่ม แต่ได้ยินมาแบบนั้น จากหลาย ๆ คนครับ) เล่มที่แนะนำให้อ่านก็คือ เล่มนี้ พ่อรวยสอนลูกเล่มแรก เพราะเป็นการปูแนวคิดพื้นฐานทางการเงินของโรเบิร์ต และ เล่มที่ 2 เรื่องเงิน 4 ด้าน ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์หลักที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย เล่มอื่น ๆ ถ้ามีโอกาสค่อยไปตามเก็บกันทีหลังครับ
- ผู้เขียน: Robert T. Kiyosaki
- ผู้แปล: จักรพงษ์ เมษพันธุ์, ธนพร ศิริอัครกรกุล
- จำนวนหน้า: 376 หน้า
- สำนักพิมพ์: ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.
- เดือนปีที่พิมพ์ (ปกใหม่): 2022
- ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Rich Dad Poor Dad
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตาม
กติกา สามารถคลิก
แจ้งปัญหาได้ที่นี่