ความรู้มีอยู่รอบตัว เด็กๆเรียนรู้จากการตั้งคำถาม

ในช่วงวัยเตาะแตะและวัยอนุบาล ลูกๆ ของเราจะเริ่มมีคำถาม หลายคนเรียกช่วงวัยนี้ว่าวัยเจ้าหนูจำไม
อย่าเพิ่งรำคาญคำถามของลูกนะคะ เพราะนั่นคือโอกาสเรียนรู้ของลูกค่ะ
บทสนทนาบนโต๊ะอาหารของเราในมื้อที่มีไข่ต้ม เด็กน้อยถามแม่ว่า
- R: แม่ครับ ไข่แดงจะกลายเป็นลูกไก่เหรอ
- M: ไข่แดงไม่ได้กลายเป็นลูกไก่นะคะ แต่เป็นอาหารของลูกไก่ค่ะ
- R: ลูกไก่กินไข่แดงตอนอยู่ในไข่เหรอ
- M: ใช่ค่ะ เหมือนหนูเลยรู้ไหม (แม่ได้โอกาสช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้จากคำถามของลูก)
- R: ยังไงอ่ะครับ
- M: ตอนที่หนูอยู่ในท้องแม่ ช่วงที่ยังเล็กๆ (ระดับ embryo หรือตัวอ่อน) จะมีไข่แดงด้วย หนูก็กินอาหารจากไข่แดงของหนู พอหนูโตขึ้นสักสองเดือนกว่าๆ หนูก็กินไข่แดงหมด
- R: กินหมดแล้ว มากินทางปากแทนเหรอครับ
- M: ไม่ใช่ค่ะ ตอนอยู่ในท้องหนูกินทางสายสะดือแทนค่ะ หนูจำได้ไหม สายสะดือที่หนูเคยถามแม่ว่า ทำไมตอนคลอดคุณหมอต้องตัดสายที่เชื่อมระหว่างหนูกับแม่ไงครับ สายนั้นแหละที่แม่ส่งอาหารให้หนู
แล้วเราก็คุยกันว่า ค่อยมาเปิดหนังสือดูกัน
จะเห็นว่าคำถามของลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้แล้วยังเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยกันเพิ่มมากขึ้นด้วย บางครั้งเราก็คุยกันไปเรื่อยๆ จนแทบไม่ต้องใช้จอมาฆ่าเวลาทั้งบนโต๊ะอาหาร และขณะเดินทางเพื่อแก้เบื่อเลยค่ะ
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นจะต้องตอบได้ทุกคำถามที่ลูกถามนะคะ ถ้าคำถามไหนที่หมอไม่รู้คำตอบ เราก็ขอตัวช่วยค่ะ ถามคุณพ่อบ้าง ถามคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายบ้าง หรือไม่ก็ชวนกันไปเปิดหนังสือ ชวนกันไปค้นจาก internet เพื่อหาคำอธิบาย ซึ่งลูกก็จะได้เรียนรู้กระบวนการหาคำตอบของคำถามด้วย เป็นการทำ problem based learning แบบง่ายๆ ที่บ้าน
บางคำตอบหาไม่เจอ เราก็ติดไว้ก่อน บางครั้งต้องออกไปหาคำตอบนอกสถานที่เราก็คุยกัน ก่อนจะไปก็มาทบทวนคำถามของลูกอีกครั้ง เพื่อจะได้ remind ว่าเรากำลังต้องการคำตอบแบบไหน ซึ่งเนื่องจากเป็นการเรียนรู้แบบเป็น child center ตามความสนใจของลูกทำให้ลูกสนุก และเชื่อมโยงข้อมูลได้ค่อนข้างดีค่ะ
วันหยุดนี้ขอให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกันอย่างมีความสุขนะคะ ก่อนจะเริ่มงานสัปดาห์ใหม่ในวันพรุ่งนี้ค่ะ
หมอเมษ์
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่