12 ข้อคิดให้ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ จากหนังสือ “ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ทิ้งเป็น”

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          12 ข้อคิดให้ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ จากหนังสือ ฝึกตัวเองให้เป็นคนทิ้งเป็น
ข้อคิด

1) จง “ทิ้ง” สิ่งที่เคยทำมาในอดีต แม้มันจะเคยได้ผลก็ตาม

          เพราะไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่า สิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้ จะยังพาเราไปยังจุดหมายข้างหน้าได้ กับดักที่คนเรามักจะพลาดคือการยึดติดตัวเองกับอดีต และไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ลองถามตัวเองให้ดีว่า มันอาจถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องรู้จัก “ทิ้ง” แล้วเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนใหม่

2) อย่ายึดติดกับ “สิ่งที่เคยพูดในอดีต” มากจนเกินไป

          เพราะตัวเราล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในอดีตเราอาจเคยพูดว่า “เราเกลียดการกินผัก” แล้วพูดออกไปให้คนอื่นฟัง ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับคำพูดนี้ เราก็อาจไม่กล้าพูดออกไปว่า ตอนนี้เราเปลี่ยนไปแล้ว เราชอบกินผักแล้ว เช่นเดียวกันกับเรื่องสำคัญอื่น ๆ เมื่อก่อนมันอาจสำคัญ แต่ตอนนี้เรื่องนั้นอาจไม่สำคัญแล้วก็เป็นได้ ดังนั้น ลองพิจารณาว่าเราเป็นยังไงในปัจจุบัน แล้วปล่อยคำพูดในอดีตทิ้งไปซะ

3) ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงได้ ต้องออกจากสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ

          มีสถิติที่บ่งชี้ว่า 90% ของคนที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้สักที คือคนที่อยู่กับพ่อแม่ เพราะเราล้วนเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมบ้านเดียวกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก เราอาจติดนิสัยรักสบาย ขี้เกียจ แม้จะออกไปทำงานข้างนอก แต่พอกลับมาบ้านพ่อแม่ ก็อาจกลับมาอยู่ใน “โหมดบ้านเกิด” ดังนั้นถ้าเราอยากเปลี่ยนตัวเองได้ เราอาจต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อม พยายามออกมาให้ไกลจากจุดจุดเดิมให้มากที่สุด

4) วิธีที่รับประกันได้เลยว่าจะล้มเหลว คือ การทำทุกอย่างให้ “สมบูรณ์แบบ”

          ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง เช่น การที่จะทำให้ทุกคนรัก มักเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คนที่ตั้งใจจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ จึงมักพบกับความล้มเหลว ดังนั้นแล้ว เราจึงควรเลิกใส่ใจความสมบูรณ์แบบ แล้วหันมาสนใจสิ่งที่เป็นไปได้จะดีกว่า 

5) เป้าหมายของเราต้องไม่ใช่ “การไม่เป็น....” แต่ต้องเขียนออกมาให้ชัดเจน

          การที่เราแค่รู้ว่าเราไม่ชอบอะไร หรือไม่อยากเป็นอะไร ไม่นับว่าเป็นเป้าหมายที่แท้จริง เราต้องทำเป้าหมายของตัวเองให้ชัดก่อน แล้วเรายังคอยหมั่นตรวจดูว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นประตูที่จะนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ รึเปล่า

6) คนที่เราควรจะทำให้มีความสุขที่สุดคือ “ตัวเราเอง”

          ไม่ใช่คู่ชีวิตของเรา ไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่ลูก เพราะมีแต่ตัวเราที่มีความสุขเท่านั้น ที่จะส่งผ่านความสุขนี้ไปหาคนรอบข้างได้ ดังนั้นแล้ว เราควร “เลิกรู้สึกผิด” เวลาที่เรากำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อตัวเอง

7) ถ้าเรากำลังไขว่คว้าหาความสำเร็จให้คิดว่า “จะทำอะไร” แต่ถ้ากำลังไขว่คว้าหาความสุข หรือตัวตนของตัวเองให้คิดว่า “จะไม่ทำอะไร”

          เพราะหลายครั้งเราต้องเลือกโฟกัสให้ถูกจุด และต้องเลือกทำซ้ำในสิ่งที่เป็นตัวเอง การที่เรารู้จักตัดตัวเลือกอื่นที่อาจเข้ามา และมุ่งโฟกัสไปที่ตัวเอง อาจเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่ตัวเองทำ ดังนั้นแล้ว จงเลือกสนามแข่งของตัวเองที่เราจะโฟกัสได้ แล้วอย่าแหย่เท้าเข้าไปในสนามแข่งที่ไม่ใช่ของเรา

8) การพัฒนาความสามารถนั้นสำคัญ แต่ถ้าอยากขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุด เราต้องใส่ “ความเป็นตัวเอง” เข้าไปด้วย

          คนที่มีทักษะสูง ทำงานเก่ง อาจไม่ได้หารายได้เท่าคนที่ขายความเป็นตัวเองได้มาก เช่น นักกีตาร์ที่เล่นโชว์ในทีวี อาจเล่นกีตาร์ไม่ได้เท่าลุงเซียนกีตาร์ที่เปิดร้านขายเครื่องดนตรี แต่นักกีตาร์ที่ออกทีวี หาเงินได้มากกว่าลุงร้านเครื่องดนตรีมาก เพราะเขามี “จุดขาย” และใส่ “ความเป็นตัวเอง” เข้าไปในการแสดงแต่ละครั้ง ดังนั้นแล้ว จงอย่าหนีความเป็นตัวเอง ลองหาวิธีผสานมันเข้าไปร่วมกับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ

9) ยอมจำนนกับความเป็นตัวเอง

          หลายคนอยากหนีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะเคยมีตัวตนที่ไม่เอาไหนมาก่อน แต่แท้จริงแล้ว การหนีจากตัวเองนั้นอาจทำไม่ได้จริง และอาจไม่ทำให้เราได้ค้นพบตัวตนที่ใช่ ทางที่ดีกว่าจึงเป็นการ “ยอมจำนน” หรือ “โอบรับ” ความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ให้อภัยตัวเองและยอมให้ค่ากับส่วนที่ไม่ดี พร้อมมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าเดิม

10) บทถัดไปของชีวิตเราอาจอยู่ “นอก comfort zone”

          หลายครั้งเราไม่กล้าลองทำอะไรสักอย่างที่เราอยากทำ ไม่ใช่เพราะไม่อยาก แต่เพราะ “กลัว” กลัวว่าจะทำสิ่งนั้นไม่ได้ดี ถ้าเราเอาแต่กลัว สุดท้ายก็คงไม่ได้เริ่มลงมือทำสิ่งใหม่สักที ดังนั้นวิธีที่ดีคือ การรวบรวมความกล้าแม้จะน้อยนิด เอาชนะความกลัวนั้นให้ได้ แล้วลงมือทำ !

11) ศักยภาพของเรามักซ่อนอยู่ในหัวใจของ “เด็กน้อย” ลึก ๆ ในตัวเรา

          ทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว แต่หลายคนเลือกที่จะปิดกั้นมันไว้และยอมใช้ชีวิตตามมาตรฐานสังคมน่าเบื่อ ๆ แบบผู้ใหญ่ แต่แท้จริงแล้ว เสน่ห์ของตัวเรานั้นมักอยู่ในตัวตนเด็กน้อยของเรา ดังนั้น เราควรปลดปล่อยตัวตนนี้ออกมาอย่างตรงไปตรงมา รู้จักสนุกสนานกับสิ่งที่ทำบ้าง อย่าเอาแต่ทำตัวแข็งทื่อตามแบบผู้ใหญ่อย่างเดียว

12) เราทำได้เพียงสัญญากับตัวเองว่าจะพาตัวเองไปยังจุดจุดนั้น ที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของ “พลังภายนอก”

          หลายครั้งเราต้องรู้จักไหลลื่นไปตาม “กระแสของชีวิต” และ “ความสัมพันธ์ของผู้คน” ซึ่งสุดท้ายอาจพาเราไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับตัวเราเองในที่สุด

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

          เป็นหนังสือแปลญี่ปุ่น แนว howto ที่ฉีกแนวคิดเดิม ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการรู้จักทิ้งตัวตนในอดีต ซึ่งแม้เราจะเคยสำเร็จมาแค่ไหน แต่ถ้าถึงจุดหนึ่ง เราก็อาจต้องเปลี่ยนแปลง คนเขียนกลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตตัวเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาเรียนจบแค่ ม.3 และกลายมาเป็นเซียนปาจิงโกะ นั่งเล่นแต่เกมปาจิงโกะทั้งวัน แต่ก็ยังหาช่องทางมาเปิดธุรกิจตัวเอง จนประสบความสำเร็จใหญ่โตได้
          ด้วยประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร แนวคิดการใช้ชีวิตที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ จึงแตกต่างจากหนังสือแปลญี่ปุ่นเล่มอื่น ๆ ถ้าใครอยากได้แนวคิด howto ที่แตกต่างจากเดิม เล่มนี้ก็พอตอบโจทย์ได้ครับ
          แนะนำสั่งซื้อหนังสือ ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ทิ้งเป็น ได้ที่ร้าน Attorney285
  • ผู้เขียน: ชิฮาระ ทากาชิ
  • สำนักพิมพ์: Be(ing) 
  • จำนวนหน้า: 208 หน้า
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 ข้อคิดให้ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ จากหนังสือ “ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ทิ้งเป็น” อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2565 เวลา 23:16:11 7,111 อ่าน
TOP