เผย 10 นิสัยของคนเก่งระดับท็อป 5% ที่ทุกบริษัทต้องการตัว

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          10 นิสัยของคนเก่งระดับท็อป ที่ทุกบริษัทต้องการตัว จากหนังสือ นิสัยคนเก่งระดับท็อป 5% ที่ AI ค้นพบ
รีวิวหนังสือ

1) ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ

          คนเก่งระดับท็อป 5% จะคำนึงถึงแต่เป้าหมาย พวกเขาจะไม่เสียเวลาไปกับวิธีการที่ล้มเหลว แต่จะควานหาบทเรียนจากความล้มเหลวนั้น ๆ

2) เปิดเผยจุดอ่อนของตัวเองออกมาเพื่อสร้างความเชื่อใจ

          คนเก่งระดับท็อป 5% ไม่ได้ต้องการแสดงจุดอ่อนเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเรียกคะแนนความสงสาร แต่ใช้จุดอ่อนเป็นเครื่องมือในการเข้าไปนั่งในใจคนอื่นทำให้พวกเขาเปิดใจ และแสดงความคิดเห็นออกมาแลกเปลี่ยนกัน

3) ท้าทายตัวเองอยู่เสมอ ๆ

          คนเก่งระดับท็อป 5% มองว่าความท้าทายคือการเรียนรู้ ถ้าพวกเขาได้เลือกให้ทำงานที่ยาก พวกเขาจะดีใจ เพราะเป็นโอกาสอันดีในการได้พัฒนาตัวเอง พวกเขาเน้นการพัฒนาทักษะแบบทวีคูณ ไม่ใช่แค่ค่อย ๆ บวกเพิ่ม เพื่อกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านในด้านหนึ่ง

4) มองย้อนกลับจากเป้าหมาย สู่จุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน

          คนเก่งระดับท็อป 5% จะมองเป้าหมายเป็นหลัก แล้วมองกลับมา เพื่อคำนวณหา “ช่องว่างที่เหลืออยู่” ในการเติมเต็มวิธีนี้ต่างจาก 95% ของคนที่เหลือที่มักมองไปข้างหน้าทีละก้าว การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้พวกเขาทำงานได้เร็ว และแก้ปัญหาได้ถูกจุด

5) มักทำงานที่ สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน และแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันอย่างชัดเจน

          คนเก่งระดับท็อป 5% จะมุ่งทำงานที่สำคัญทุกงาน ไม่ว่างานนั้นจะเร่งด่วนหรือไม่ เพราะถ้าเขาจัดการได้ดี จะไม่มีงานไหนกลายเป็นงานด่วน ส่วนเวลาพัก เขาก็จะพักอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสัปดาห์ถัดไป

6) ตั้งเป้าไว้ที่ 80% แล้วลงมือทำ

          คนเก่งระดับท็อป 5% จะไม่ตั้งเป้าที่ 100% แต่จะเน้นการลงมือทำและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง การตั้งเป้าที่ 100% อาจเป็นการนิยมความสมบูรณ์แบบเกินไป จนบั่นทอนกำลังใจและทำให้เราไม่ได้เริ่มทำอะไรสักที การเว้นที่ให้ความผิดพลาดยังก่อให้เกิดโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้และเติบโตอีกด้วย

7) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ไม่คิดไปเองว่าตัวเองกำลังโดนดูถูก

          คนเก่งระดับท็อป 5% จะทำตัวสบาย ๆ และพูดคุยทักทายกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอยู่เป็นประจำ เขาจะชวนคุยเล่น เรื่องทั่วไป แต่จะรักษาระยะห่างไว้อย่างพอดี เพราะการที่เรารู้สึกคุ้นเคยกับคนคนไหน เราก็จะรู้สึกดีตามไปด้วย ถ้าเราไม่คุ้นเคย เช่น สื่อสารกันผ่านช่องทาง Online อย่างเดียว หลายครั้งเราอาจคิดว่าคนอื่นไม่ชอบ หรือดูถูกเราอยู่ วิธีแก้จึงเป็นการหมั่นเข้าไปสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นอยู่เสมอ ๆ

8) ทุกการประชุมให้เริ่มต้นด้วย “Yes” และจบด้วย “Yes”

          เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการประชุมคือ การทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นกว่าตอนเริ่มประชุม การพูดในแง่บวกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก การเปิดการประชุมด้วยการแสดงการยอมรับในตัวอีกฝ่าย และปิดท้ายด้วยการกล่าวชมอีกครั้ง จะทำให้คนเข้าร่วมประชุมรู้สึกดีขึ้น ส่วนเนื้อหาที่จะให้เอาไปพัฒนานั้น สามารถใส่ไว้ตรงกลางได้

9) ใช้เวลานั่งติดโต๊ะเพียงแค่ 20%

          เพราะคนเก่งระดับท็อป 5% จะลงไปที่หน้างาน เดินพูดคุยสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานต่างแผนก การพูดคุยต่าง ๆ ล้วนค่อย ๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและทำให้ทำงานร่วมกันง่ายขึ้น นอกจากนี้ การเข้าไปดูปัญหาที่หน้างานจริง ๆ จะทำให้เขาเห็นวิธีจริง ๆ ว่าจะแก้ไขงานยังไง วิธีการลุกขึ้นเพื่อไปลงมือปฏิบัติจริง ยังช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำคนอื่นด้วย

10) เปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่เร็วกว่าคนอื่น 2 เท่า

          คนเก่งระดับท็อป 5% จะเปิดรับตัวเองต่อประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ๆ พวกเขาจะซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ มาลองใช้ เพื่อหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เรื่องที่จะทำในสัปดาห์ถัดไปก็เช่นกัน คนเก่งระดับท็อป 5% จะพยายามคิดกิจกรรมใหม่ ๆ ที่จะสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เขาจึงเตรียมตัววางแผนทำกิจกรรมเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

รีวิวสั้น ๆ

          สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือ ข้อมูลในหนังสือมาจากการทำวิจัยของผู้เขียน โดยผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมาจากพนักงานในบริษัทญี่ปุ่นกว่า 18,000 คน จาก 25 บริษัท เขาศึกษาการทำงานของพนักงานเหล่านี้ แล้วแบ่งพนักงานออกเป็น 2 กลุ่มคือ คนเก่งระดับท็อป 5% และที่เหลืออีก 95% จากนั้นเขาก็นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วย AI จาก Amazon, Microsoft, Google และ IBM ทำให้ข้อมูลที่สรุปมามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
          โดยรวมแล้ว หนังสือไม่ได้มีความแปลกใหม่มาก เคล็ดลับต่าง ๆ ที่ผู้เขียนรวบรวมมา ก็เป็นเรื่องที่เคย ๆ อ่าน ๆ กันมาบ้างแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เล่มนี้เหมือนเป็นการยืนยันเทคนิคเหล่านั้นด้วยข้อมูล และการวิเคราะห์จาก AI ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น
          ใครอยากรู้ว่าผลงานของ AI เป็นยังไงกันบ้าง ลองหาอ่านกันดูครับ
  • ผู้เขียน: ชินจิ โคชิคาวะ
  • ผู้แปล: อาคิรา รัตนาภิรัต
  • จำนวนหน้า: 190 หน้า
  • สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์: 5/2022
          สั่งซื้อหนังสือได้ที่ : https://bit.ly/39basT6
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผย 10 นิสัยของคนเก่งระดับท็อป 5% ที่ทุกบริษัทต้องการตัว อัปเดตล่าสุด 6 มกราคม 2566 เวลา 14:21:31 18,312 อ่าน
TOP