สรุป 10 บทเรียนจากหนังสือ Feel the Fear and Do It Anyway วิธีเปลี่ยน ความกลัวที่มีอยู่ในใจ เพื่อรับมือกับปัญหา และกล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง

1. ความกลัวมี 2 แบบคือ ความกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น กับ ความกลัวเมื่อต้องทำบางอย่าง
ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระดับดังนี้
ระดับที่ 1 : เป็นเหตุการณ์รอบตัวเราที่บอกเล่าได้ด้วยคำพูด เราทุกคนต่างเคยกลัวเรื่องเหล่านี้ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่มากก็น้อย
ตัวอย่าง ความกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น
- การเปลี่ยนแปลง
- ความแก่ชรา
- การอยู่คนเดียว
- ความเจ็บป่วย
- ความตาย
- ความไม่มั่นคงทางการเงิน
- การสูญเสียคนรัก
ตัวอย่าง ความกลัวเมื่อต้องทำบางอย่าง เช่น
- การเปลี่ยนงาน
- การตัดสินใจ
- การไปเรียนต่อ
- การสร้างความผูกพันกับใครสักคน
- การไปพบแพทย์
- การพูดต่อหน้าชุมชน
ระดับที่ 2 : เป็นเรื่องสภาพจิตใจที่สะท้อนความรู้สึกเรื่องตัวตน และความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ความกลัวในระดับนี้อยู่ลึกกว่าระดับที่ 1 และมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้าน
ตัวอย่าง ความกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น
- การถูกปฏิเสธ
- ความล้มเหลว
- ความสำเร็จ
ตัวอย่าง ความกลัวเมื่อต้องทำบางอย่าง เช่น
- การไม่ได้รับการยอมรับ
- การถูกหลอก
- การอับจนหนทาง
- การเสื่อมเสียภาพลักษณ์
ระดับที่ 3 : เป็นความกลัวระดับลึกที่สุด แต่ล้วนเป็นที่มาของความกลัวอื่น ๆ ทั้งปวง นั่นคือ ความกลัวว่าเราจะไม่สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องเจอในชีวิตได้
ตัวอย่างเช่น
- เราจะไม่สามารถจัดการกับการถูกปฏิเสธได้แน่ ๆ
- เราจะไม่สามารถรับมือกับความแก่ชราได้แน่ ๆ
- เราจะไม่สามารถจัดการกับการสูญเสียคนรักได้แน่ ๆ
- เราจะไม่มีวันรับมือกับความล้มเหลวได้
- หรือเราจะไม่สามารถออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความสำเร็จได้
2. สัจธรรมของความกลัว 5 ข้อ
- ถ้าชีวิตเราจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ความกลัวจะไม่มีทางหายไปเลย เมื่อเราออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เราจะได้พบเจอกับความกลัวหน้าใหม่เสมอ
- หนทางเดียวที่เราจะรับมือกับความกลัวได้ คือการออกไปเผชิญหน้ากับมัน ออกไปต่อสู้กับความเป็นจริง และลงมือทำ
- ถ้าอยากรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้น เราต้องลงมือทำบ่อย ๆ จนค่อย ๆ เพิ่มความมั่นใจภายในใจ และเกิดความรู้สึกว่าตัวเองดีพอ
- เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความกลัว ไม่ว่าคนคนนั้นจะเก่งและเข้มแข็งสักเพียงไหน
- จงยอมรับความกลัว เพราะมันจะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวได้ราบรื่น กับชีวิตที่มีความกลัว แต่พยายามเก็บซ่อนมันไว้ภายในตลอดเวลา เพราะถ้าเราไม่ยอมสู้ความกลัวเลย เราจะไม่มีทางเชื่อในความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้เลย
3. วิธีเริ่มต้นในการขจัดความกลัว คือการเปลี่ยนความรู้สึกต่อความกลัว
- จากผู้ทุกข์ทรมาน - ที่อับจนหนทาง สลดหดหู่ และไม่ลงมือทำอะไรเลย
- ไปเป็นผู้มีอำนาจ - มีทางเลือก มีพลัง และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
โดยอาจใช้การคิดบวกต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ แม้จะแย่เพียงไหน การคิดว่าตัวเองคือผู้ส่งมอบความรักให้คนอื่นได้ การคิดว่าตัวเองคู่ควรกับสิ่งดี ๆ ที่ชีวิตมอบให้และการลงมือทำเรื่องใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิม และอาจเสี่ยงบ้างเพื่อให้ตัวเองได้เติบโต และเป็นการค่อย ๆ สะสมความมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
4. เทคนิคเรียกความมั่นใจและเพิ่มอำนาจในการควบคุมชีวิตตัวเอง
ต้องเริ่มจากการเลิกโทษปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เลิกโทษว่าตัวเองคุมอะไรไม่ได้เลย และเลิกโทษว่าตัวเองคือผู้ถูกกระทำ แต่ให้ลองมองหาข้อดีของสภาพที่ตัวเองเผชิญอยู่ คิดถึงสิ่งที่ตัวเองอยากได้ให้ชัดเจนและลองคิดใหม่ว่าตัวเองมีทางเลือกอันหลากหลาย ทั้งในแง่ความรู้สึกและการกระทำจนสามารถพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ได้
5. มองผู้คนในชีวิตให้เหมือนการฝึกฝน
การจะเพิ่มความมั่นใจ เผชิญความกลัว และค่อย ๆ เติบโตนั้นเราต้องค่อย ๆ ลงมือทำในสิ่งที่อาจแตกต่างออกไปจากสิ่งที่ทำอยู่ ทำให้คนรอบตัวเราหลายคนไม่เข้าใจ และอาจพยายามฉุดรั้งเราไม่ให้เติบโตได้
การฝึกรับมือกับคนเหล่านี้จึงเป็นบททดสอบอย่างหนึ่งที่เราต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือพยายามเลือกสรรคำพูดที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย “มีแต่ได้กับได้” นั่นคือการพูดให้คนอื่นมั่นใจว่าตัวเราเองทำได้ และจะส่งผลดีต่อทั้งเราและคนรอบตัว และจงหลีกเลี่ยงคำพูดชวนทะเลาะ ที่เหมือนจะมองแต่ตัวเราเพียงอย่างเดียวหรือยอมให้คนอื่นมาฉุดรั้งไม่ให้เราได้เดินไปข้างหน้า
6. คิดว่าการตัดสินใจของตัวเอง “ยังไงก็ไม่พลาด”
คนส่วนใหญ่ชอบเสียใจกับการตัดสินใจของตัวเองและมองว่าการเลือกเส้นทางที่ตัวเองไม่ได้เลือก (ทางเลือก B) น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าทางเลือก A ที่ตัวเองเลือก
แต่ความจริงแล้ว การจะตัดสินว่าทางเลือกไหนดีกว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับชีวิตเราเลย
ถ้าเราลองมองหาสิ่งดี ๆ ในทางเลือกที่เราเลือก เราอาจรู้สึกขอบคุณตัวเองที่เลือกทางเลือกนี้มากขึ้นก็ได้ นอกจากนี้เรายังไม่มีทางรู้เลยว่าชีวิตเราถ้าเลือกอีกทางหนึ่งจะลงเอยยังไง ดังนั้นแล้วไม่มีอะไรต้องเสียใจ ถ้าได้ตัดสินใจเลือกไปแล้ว
7. ทริคในการยอมรับทางเลือกที่ตัวเองตัดสินใจไป
ก่อนตัดสินใจ
- ลบภาพความคิดลบ ๆ และเติมตัวเองด้วยความคิดบวก อย่าไปคิดว่าตัวเองจะต้องเจอกับทางเลือกที่แย่
- เตรียมข้อมูล คุยกับคนไว้เยอะ ๆ เพิ่มโอกาสให้เราตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น
- จัดลำดับความสำคัญ คิดให้ดี ๆ ว่าเราต้องการอะไร จะได้เลือกได้ถูก
- เชื่อในลางสังหรณ์ของตัวเอง
- ยิ้มร่าเริงเข้าไว้ พร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจเลือกไปแล้ว
หลังตัดสินใจ
- สลัดภาพที่ตัวเองคาดหวังทิ้งไป และอยู่กับความเป็นจริง
- แสดงความรับผิดชอบ ว่าเราคือคนที่ตัดสินใจเอง ลงมือทำเอง เลิกโทษสิ่งแวดล้อมรอบตัว
- เดินหน้าปรับปรุงแก้ไข ให้ทางเลือกที่เราเลือกดีขึ้นเรื่อย ๆ
8. คิดอยู่เสมอว่าชีวิตมีหลายด้าน
และเราสามารถสร้างคุณค่าพื้นฐานในชีวิตเราให้ตอบโจทย์ชีวิตหลาย ๆ ด้านได้โดยถ้าเราต้องสูญเสียด้านใดด้านหนึ่งไป เช่นเลิกรากับแฟนเราก็ยังมีชีวิตด้านอื่น ๆ ที่เราสามารถสร้างคุณค่าได้ เช่น หน้าที่การงาน การเติบโตของตัวเอง และการสร้างคุณประโยชน์ให้สังคม
9. น้อบรับสิ่งที่จักรวาลมอบให้ด้วย “จิตใจที่ยินดี”
อย่าพยายามรับด้วยใจที่ขัดขืนเพราะใจที่ยินดีจะสร้างพลังในการต่อสู้กับความกลัวได้มากกว่า มันจะทำให้ร่างกายเราผ่อนคลาย จนเราสามารถค่อย ๆ คิดพิจารณาวิธีในการแก้ปัญหาได้
10. ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
นอกจากจะช่วยลดความคาดหวัง และความผิดหวังแล้วยังทำให้ความกลัวในใจเราลดน้อยลงอีก ดังนั้นจงทำตัวเป็นผู้ให้ที่รายล้อมไปด้วยคนรักในแบบที่เราอยากให้คนอื่นทำกับเรา
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน
เป็นหนังสือพัฒนาตัวเองกึ่ง life coach แต่อ่านแล้วก็ได้รู้จักความกลัว และการเผชิญหน้ากับมันมากขึ้นเหมือนสิ่งที่เคยเป็นประสบการณ์มา ถูกนำมากลั่นกรองเป็นทฤษฎีที่ถูกต่อยอดออกมาเป็นคำแนะนำแบบเป็นขั้นเป็นตอน
เนื้อหามีความยืด ผู้เขียนใส่น้ำมาพอสมควร แต่ถ้าใครชอบอ่านแล้วให้ลื่นไหล มีการใส่น้ำลงไปหน่อย ให้ไม่เบื่อ ก็เข้าทาง ใครอยากได้แต่เนื้อหาเน้น ๆ ก็อ่านข้าม ๆ ได้ส่วนหลัง ๆ เนื้อหาอาจมีความซ้ำกับ howto เล่มอื่นบ้างก็ลองเลือกอ่านเฉพาะตรงที่ชอบพอครับ
พิกัดการสั่งซื้อ : https://shope.ee/407oCzxoS4
- ผู้เขียน : Susan Jeffers
- ผู้แปล : วุฒินันท์ ชุมภู
- จำนวนหน้า : 256 หน้า
- สำนักพิมพ์ : บี มีเดีย, สนพ.
- เดือนปีที่พิมพ์ : 4/2022
- ชื่อเรื่องต้นฉบับ : Feel the Fear and Do It Anyway : Dynamic Techniques For Turning Fear, Indecision, and Anger Into Pow
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่