10 เทคนิคการพูดเพื่อชนะ ข้อคิดจากหนังสือ วิธีพูดกับคน โดยใช้ศิลปะ "ทังก์ฟู"

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          10 เทคนิคการพูดเพื่อชนะทั้ง 2 ฝ่าย จากหนังสือ วิธีพูดกับคน โดยใช้ศิลปะ "ทังก์ฟู"
เทคนิคการพูด

1. เลือกจะเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น

          ศิลปะทังก์ฟูมีพื้นฐานอยู่ที่ เรื่องของการฝึกตนให้เป็นผู้มีเมตตาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะศิลปะทังก์ฟูเชื่อว่า การเลือกที่จะปฏิบัติต่อคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีด้วยความเห็นอกเห็นใจแทนการตอบโต้ด้วยความขุ่นเคืองจะช่วยเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร และจะทำให้เกิดความรู้สึกดีกันทั้ง 2 ฝ่าย

2. คุยกับคนผ่านปัญหาของเขา

          นักบำบัดจะพยายามถามคำถาม ให้คนไข้เล่าเรื่องออกมาให้ได้มากที่สุด และพยายามสะท้อนคำพูดของคนไข้ในรูปแบบของเขาเองเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
          เช่น คนไข้พูดว่า ‘ผมไม่มีเพื่อนเลย’ นักบำบัดก็จะพูดว่า ‘คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเพื่อนเลย’ เขาจะไม่พูดว่า ‘ไม่หรอก คุณมีเพื่อนอยู่แล้วน่า’
          สิ่งนี้คือ เทคนิคการสะท้อน ซึ่งช่วยให้อีกฝ่ายได้ลองคิดไตร่ตรองและเข้าใจถึงสิ่งรบกวนจิตใจของตัวเอง การใช้ความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้อีกฝ่ายสามารถปลดปล่อยความเครียดในจิตใจออกมา อีกฝ่ายจะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจตัวเอง และจะค่อย ๆ หาทางคลี่คลายปัญหานั้นด้วยตัวเอง

3. ใช้เทคนิค AAA จัดการกับการร้องเรียน

          เมื่อมีคนมาร้องเรียน หรือโวยวายกับสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ เราอาจลองใช้ เทคนิค AAA เพื่อทำให้อีกฝ่ายสงบลงได้บ้าง
  1. Agree - แสดงความเห็นด้วยว่าอีกฝ่ายพูดถูก
  2. Apologise - ขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
  3. Act - ลงมือแก้ไข
          สิ่งสำคัญคือ จงอย่าไปอธิบายว่าทำไมถึงเกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายยิ่งไม่พอใจเข้าไปใหญ่
เช่น ในกรณีที่มีคนไข้เดินมาโวยวายใส่เจ้าหน้าที่ที่หมอที่นัดไว้เหลด
  1. Agree - เห็นด้วยว่าเขาพูดถูก เขาได้นัดหมอไว้ตอนบ่าย 3
  2. Apologise - ขอโทษที่หมอมาช้า เพราะหมอติดเคสผ่าตัดอยู่
  3. Act – ลงมือแก้ไขโดยการโทรไปสอบถามว่าหมอใกล้เสร็จรึยัง แล้วขอบคุณที่คนไข้อดทนรอ

4. หลีกเลี่ยงการพูดเกินจริง

          คำพูดที่เกินจริง จะทำให้เกิดการตอบกลับแบบเกินจริงเช่นกัน ตัวอย่างคำพูดที่เกินจริง เช่น ‘ทุกครั้ง’ ‘ทั้งหมด’ ‘ประจำ’ ‘ไม่มีใครเลย’ เรื่องนี้มักเกิดขึ้นเวลาที่เราไม่พอใจการกระทำของอีกฝ่าย แล้วพยายามจะต่อว่า
          เราควรพูดให้เจาะจงและระบุใจความสำคัญให้ชัดเจน พร้อมทั้งถามหาสาเหตุ นอกจากจะเป็นการป้องกันการโต้กลับอย่างรุนแรงจากอีกฝ่ายแล้ว ยังเป็นการถามหาสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอีกด้วย

5. สร้างความน่าสนใจด้วยเทคนิค LLL

          เทคนิค LLL เป็นเทคนิคช่วยทำให้เรากลายเป็นผู้ฟังที่ดีมากยิ่งขึ้น 
  1. Look – มองคู่สนทนา อย่าทำอย่างอื่นไปด้วยในระหว่างที่ฟัง
  2. Lift – เลิกคิ้ว สบตาคู่สนทนา และแสดงสีหน้าที่บ่งบอกความสนใจ
  3. Lean – โน้มตัวไปข้างหน้า และแสดงท่าทางว่าเราอยู่ที่นี่เพื่อฟังอีกฝ่าย

6. กฎการประชุม 3 ข้อที่น่านำไปใช้

          การประชุมจำนวนมากมักเสียเวลาเปล่าและไม่ได้ข้อสรุปอะไร เพราะมักจะมีการพูดออกนอกเรื่อง หรือการโต้เถียงกันอย่างไม่จบไม่สิ้น การกำหนดกฎการประชุมขึ้นมาอาจช่วยให้ทุกฝ่ายบรรลุจุดประสงค์ได้ง่ายขึ้น
  1. พูดได้ทีละคน ประธานที่ประชุมต้องพยายามไม่ปล่อยให้มีการพูดแทรก และโต้เถียงกัน อาจจะใช้วิธี ผายมือไปที่คนที่กำลังพูด แล้วบอกให้หยุดรอจนกว่าทุกคนจะพร้อมฟังผู้พูด
  2. ผู้เข้าประชุมสามารถพูดได้ 1 ครั้ง ต่อ 1 วาระการประชุม เป็นการป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งครอบงำการประชุม และช่วยให้ได้ฟังความเห็นของคนอื่น ๆ ที่อาจไม่ค่อยกล้ายกมือแสดงความเห็น
  3. พูดได้ครั้งละไม่เกิน 2 นาที เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการพูดเยิ่นเย้อ นอกเรื่อง ไร้สาระ

7. ให้ทางเลือกและปล่อยให้เขาตัดสินใจ

           จงหลีกเลี่ยงที่จะยื่นข้อเสนอเพียงด้านเดียว และทำเหมือนว่าได้ตัดสินใจเลือกทางนั้นไปแล้ว เพราะถ้าเรายื่นแค่ทางออกเดียว คนที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบมักจะต่อต้านเราเสมอ นั่นก็เพราะเขาไม่ได้เป็นคนตัดสินใจทางเลือกนั้นด้วยตัวเอง
          วิธีที่ดีกว่าคือ พูดข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 ทาง แล้วให้พวกเขาตัดสินใจเอง วิธีนี้จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องชอบมากกว่า เพราะพวกเขาเป็นคนตัดสินใจเอง

8. ใช้หลักการโน้มน้าว 5 ประการ

          เวลาจะโน้มน้าวใครให้ทำตามที่เราต้องการ มีเทคนิกอยู่ 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เข้าสู่สถานการณ์นั้นด้วยความคาดหวังในทางบวก เพราะการมองโลกในแง่ลบ ไม่เคยทำให้ใครชนะในสนามรบ
  2. คาดการณ์และพูดถึงสิ่งที่เขาจะโต้แย้ง คาดการณ์ไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายอาจบอกปฏิเสธ และเตรียมข้อเสนอทางออกจากคำปฏิเสธนั้น
  3. จงลำดับขั้นตอน และให้ตัวอย่างในแต่ละขั้นตอน จะช่วยให้ผู้ฟัง เห็นภาพตามได้ง่าย และช่วยให้จดจำประเด็นข้อมูลได้ดีมากขึ้น
  4. ทำให้เขาได้ความต้องการของเขา และใช้ภาษาเดียวกับเขา หลีกเลี่ยงที่จะบอกว่า ‘ผม/ ฉันคิดว่า...’ แต่ให้เน้นไปที่ประโยชน์ที่อีกฝ่ายจะได้รับ ถ้าทำตามข้อแนะนำของเรา
  5. โน้มน้าวพวกเขาให้ลองใช้ความคิดของเรา บอกเล่า อธิบาย และตั้งคำถาม เพื่อให้อีกฝ่ายเห็นภาพเดียวกับเรา ถ้าเขามองเห็นภาพเดียวกับเราเองโดยไม่ถูกบังคับ พวกเขาก็จะไม่ต่อต้าน และกระตือรือร้นที่จะทำตามภาพที่เห็น

9. เราพาใครกลับมานั่งร่วมโต๊ะทานข้าวด้วยรึเปล่า

           ลองนึกถึงเรื่องของพยาบาลสาวคนหนึ่ง ที่วันหนึ่งเธอต้องเข้าห้องผ่าตัดร่วมกับหมอนิสัยแย่คนหนึ่ง หมอคนนั้นตำหนิเธออย่างรุนแรงต่อหน้าเพื่อนร่วมงานหลายคนและเยาะเย้ยเธอ ทั้ง ๆ ที่เธอเพียงแค่ส่งมีดให้หมอช้าไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
          พยาบาลสาวคนนั้นเก็บเอาเรื่องนี้กลับไปที่บ้าน เธอหัวเสียมากระหว่างนั่งรถกลับบ้าน และระบายเรื่องนี้ให้สามีเธอฟังตอนทั้งสองนั่งกินข้าวด้วยกัน
          สามีจึงเรียกสติเธอกลับคืนมาว่าสรุปแล้ว ใครกันแน่ที่ทำให้เธอประสาทเสีย หมอในห้องผ่าตัดเมื่อตอนเช้าวันนั้น หรือตัวเธอเอง? ดังนั้นแล้ว หลายครั้งตัวเราเองนั่นแหละที่ยินยอมให้คนแย่ ๆ กลับมานั่งทานข้าวเย็นกับเรา จงจำไว้ว่า ‘ไม่มีใครทำอะไรเราได้ ถ้าหากเราไม่ยินยอม’ ทิ้งเขาไว้ที่ตรงนั้น อย่าพาคนที่ทำให้เราอารมณ์เสียกลับบ้านเลย

10. จงตื่นขึ้นมาเพื่อรับรู้ความน่าพิศวง

           เราต้องรู้จักรักษาพลังบวกของเราเข้าไว้ เพราะมันส่งผลอย่างมากต่ออารมณ์ของเรา และการรับมือสถานการณ์ยาก ๆ
          มีหลายวิธีที่จะช่วยฝึกเราให้เป็นคนคิดบวก เราอาจซื้อปฏิทินสวย ๆ มาติดไว้บนผนังครับ เราอาจตื่นแต่เช้า แล้วออกไปเดินรับแสงแดด เราอาจเขียนบันทึกเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมื้ออาหารเช้า มันอาจเป็นเรื่องขำขันเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้เรายิ้มได้เมื่อบันทึกมันลงสมุด เราอาจเขียนบันทึกแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ที่ดู และอาจบันทึกอารมณ์ความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ
          จงหมั่นใช้เวลา 10 นาทีของทุกวัน จดเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เราต้องหมั่นเพิ่มพลังบวก เพื่อชดเชยเรื่องราวไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นที่เราต้องแบกรับเอาไว้

          แนะนำสั่งซื้อหนังสือ วิธีพูดกับคน โดยใช้ศิลปะ "ทังก์ฟู" ได้ที่ร้าน Attorney285

  • ผู้เขียน : แซม ฮอร์น
  • ผู้แปล : เสถียร เทศทอง, อมรวรรณ เทศทอง
  • จำนวนหน้า : 304 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : บี มีเดีย, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 12/2019
  • ชื่อเรื่องต้นฉบับ : Tongue Fu! : How to Deflect, Disarm, and Defuse Any Verbal Conflict
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เทคนิคการพูดเพื่อชนะ ข้อคิดจากหนังสือ วิธีพูดกับคน โดยใช้ศิลปะ "ทังก์ฟู" อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2566 เวลา 13:44:53 4,019 อ่าน
TOP