สรุป 20 ข้อคิดจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของตัวเอง จากหนังสือ Money Mindset

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 20 ข้อคิดการเงินส่วนบุคคล จากหนังสือ Money Mindset
วางแผนการเงิน

1. ปลายทางคือความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นคงทางการเงิน (financial stability) จะเกิดก็ต่อเมื่อ

  1. มีรายได้ที่พอกินพอใช้ มีสภาพคล่องทางการเงินที่โอเค ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้หมด 
  2. สะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามแผนที่วางไว้
  3. มีความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยง เมื่อเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น ก็ไม่ทำให้ชีวิตการเงินพังทลาย

2. มีสูตรบริหารเงินเป็นของตัวเอง

          สามารถปรับอัตราส่วนเงินออม: เงินใช้จ่ายได้ตามใจชอบเช่น 5:95 หรือจะเป็น 10:90 หรือ 50: 50 ก็ได้ เอาที่พอไหว
          นอกจากนี้ควรแบ่งตะกร้าเงินออกเป็น 
  • ตะกร้าเงินสำรองฉุกเฉิน ที่ควรมีไว้ขั้นต่ำสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือน
  • ตะกร้าเกษียณรวย ค่อย ๆ สะสมความมั่งคั่งอย่างปลอดภัย
  • ตะกร้าเกษียณเร็ว ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อเพิ่มโอกาสเกษียณเร็วขึ้น 

3. รายได้มาก ไม่ได้หมายความว่าจะมีความมั่งคั่งมาก

          เพราะหลายคนเมื่อรายได้เยอะ ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะตามไปด้วย ความมั่งคั่ง เป็นเรื่องของการสะสมรายได้ที่เข้ามา และค่อย ๆ ต่อยอดลงทุนให้งอกเงย

          แท้จริงแล้วรายได้คือ สิ่งที่เรามอบมูลค่าบางอย่างให้กับสังคมด้วยทักษะของเรา แล้วได้ตอบกลับมาเป็นตัวเงิน รายได้จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่า รายได้ที่มากยังช่วยให้เรามีโอกาสใช้ชีวิตได้ตามไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเครดิตทางการเงินที่สูงขึ้น และนำไปสร้างหนี้ก้อนโตเพื่อลงทุนระยะยาวได้มากขึ้น

4. เก็บเงินไม่ต้องเยอะ แต่เน้นความสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความรู้สึก “ดีต่อใจ” ให้ตัวเอง

          ออมเดือนละ 2% หรือ 3% ไม่สำคัญ แต่ถ้าเราทำได้อย่างต่อเนื่อง เราจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น รู้สึกภูมิใจที่เราเก็บออมเงินได้ ถ้าใครเป็นหนี้และต้องออมเงินเพื่อแก้หนี้ ความรู้สึกดีต่อใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันจะสร้างกำลังใจในระยะยาว

5. ตัดออมอัตโนมัติ 10% ในทันทีที่ได้เงินเดือน

          อย่าใช้ก่อนแล้วออมทีหลัง

6. ก่อนจะตัดสินใจกู้หนี้ก้อนใหญ่เพื่อสร้างตัว เช่น กู้ซื้อบ้าน

          ให้ลองถามตัวเองก่อนว่าเงินกู้ก้อนนี้จำเป็นจริง ๆ รึเปล่า เช่น ถ้าเราจะกู้ซื้อบ้าน เราจะยังอาศัยอยู่บ้านเช่าไปก่อนได้มั้ย ถ้าจะซื้อรถ เราจำเป็นต้องซื้อรถราคาแพงจริงมั้ย
          และต้องถามตัวเองด้วยว่าเราพร้อมที่จะชำระคืนได้หมดรึเปล่า ถ้าเรามีรายได้ทางเดียวอยู่ เราควรจะหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มมั้ย 

7. อย่าแก้ปัญหาทางการเงิน ด้วยการใช้อารมณ์ว่าอยาก “ตบหน้า” ใครบางคน

          หลายคนโดนดูถูกว่าไม่มีทางหาเงินได้มาก ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ต้องพึ่งญาติคนนั้นคนนี้ เลยเกิดความรู้สึกอยากแก้แค้น ตบหน้าคนพวกนั้น เมื่อตัวเองยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ และประสบความสำเร็จกว่าคนพวกนั้นแล้ว
          จากประสบการณ์ตรงของโค้ชหนุ่มที่โดนมาแบบเดียวกัน ตอนที่สำเร็จแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้อยากไปตบหน้าคนพวกนั้นอยู่ดีเพราะความสุขจากความสำเร็จของตัวเองนั้นหอมหวานพออยู่แล้ว ดังนั้นจงโฟกัสกับความสุขของตัวเองและครอบครัวของตัวเองดีกว่า อย่าไปทำให้การอยากตบหน้าใคร มาทำให้ชีวิตการเงินของเราพังเลย

8. อย่าสร้างภาระหนี้ให้ลูก เพียงเพราะคำว่าอยากทิ้งมรดกไว้

          เพราะถ้าตัวเองซื้อบ้านที่เป็นหนี้ระดับ 30-40 ปี แล้วผ่อนไม่ไหว สุดท้ายลูกตัวเองจะลำบาก คุยเปิดอกกันตรง ๆ ดีกว่า ลูกอาจไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายจากพ่อแม่ก็ได้

9. ทำความรู้จักกับ 5 วิธีคิดชนะหนี้

  1. เชื่อเสมอว่าชีวิตไม่ได้เลวร้ายทุกวัน แม้ในวันที่มีหนี้ เราก็ยังมีความสุขได้จากเรื่องอื่น ๆ มีงานทำ ค้าขายได้ แฟนตอบรับรัก
  2. คิดว่าปัญหามันคุ้ม ที่จะสู้เพื่อเอาชนะมันได้
  3. คิดไปข้างหน้า และคิดแบบมีความหวังเสมอ อย่าไปคิดแต่ว่า ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเป็นเรา
  4. พาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมที่สิ้นหวังบ้าง
  5. เป็นนักฝัน แต่ฝันอย่างมีแผนการ

10. อย่าปล่อยให้หมดวัน โดยที่เราไม่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์อะไรเพิ่มเติมเลย

          เมล็ดพันธุ์หลายชนิดต้องอาศัยช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่าง แสงแดด น้ำ แร่ธาตุต่าง ๆ เราต้องรู้จักรอเวลาที่เมล็ดพันธุ์ที่เราหว่านไว้จะงอกงาม แต่จงอย่าปล่อยเวลาทิ้งไปเฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย จงคิดหาอะไรใหม่ ๆ และลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ในทุกวัน

11. อย่าเอาหินในกระเป๋าคนอื่นมาใส่ในกระเป๋าเรา

          การเดินทางสู่อิสรภาพทางการเงินเป็นการเดินทางอันยาวไกล อย่าแบกของหนักโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะหินหนัก ๆ ที่เป็นของคนอื่น

12. ตระหนักอยู่เสมอว่า โชคร้ายอาจเกิดกับเราได้ในสักวัน

          จงวางแผนเตรียมรับมือเรื่องร้าย ๆ ไว้เสมอ ถ้าเกิดวันไหนเราโชคร้ายจริง จะได้ไม่มากระทบกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของเรา

13. กล้าใช้เงินบ้าง เพราะเงินคือปัจจัยสนับสนุนการมีชีวิตที่ดี ไม่ใช่เป้าหมาย

          การสะสมเงินจึงเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อให้เรามีชีวิตในแบบที่ต้องการได้ ดังนั้นระหว่างทางจงใช้เงินบ้าง อย่าให้เรากลายเป็นคนกลัวไม่กล้าใช้เงินมากเกินไป
          เงินที่หามาได้ ลองจัดสรรและวางแผนดี ๆ บางส่วนก็เอามาตอบ Want ของเราได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องตอบเฉพาะ Need อย่างเดียว และเมื่อใช้ไปแล้วก็อย่าไปคิดมาก จงมีความสุขกับการใช้จ่ายของตัวเองอย่างเต็มที่

14. เมื่อถึงนาทีวิกฤต หรือในจังหวะที่โอกาสเข้ามา

          จงอย่าปิดโอกาสด้วยความคิดและคำพูดของตัวเอง ถ้าลองทำได้ จงลอง เริ่มเท่าที่ทำได้ และคว้าโอกาสนั้นมาให้เป็นของเรา

15. คุณสมบัติร่วมของคนสำเร็จในการเงิน 3 อย่างได้แก่

  1. ความรับผิดชอบทางการเงิน (Money Responsibility) รับผิดชอบต่อทุกปัญหาทางการเงินด้วยตัวเอง รวมไปถึงเป้าหมายของตัวเอง ไม่โทษปัจจัยแวดล้อม
  2. ความรู้ทางการเงิน (Money Literacy) ทั้งเรื่องการบริหารค่าใช้จ่าย การหารายได้ การออม การลงทุน การประกันความเสี่ยง รวมถึงเรื่องภาษี
  3. วินัยทางการเงิน (Money Discipline) ลงมือทำตามแผนการที่ตัวเองวางไว้อย่างสม่ำเสมอ

16. รู้แล้วไม่ทำ มีค่าเท่ากับไม่รู้

          พวกคำคมที่เราเห็นตามโซเชียลมีเดีย จะสำคัญจริงก็ต่อเมื่อเราได้ลงมือทำตาม

17. การลงทุนไม่มี Best solution หรือคำตอบที่ดีที่สุด

          มีแต่ Optimum solution ที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตแต่ละคน ตามเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน

18. อะไรที่เหมาะกับตัวเรา ใช้แค่การเล็ง การมองอย่างเดียวไม่พอ

          ต้องอาศัยการลองทำด้วย เราถึงจะได้รู้หัวใจตัวเองอย่างแท้จริง

19. สนุกไปกับการมีทั้ง Active Income และ Passive Income

          อย่าเอาแต่สนใจสร้าง Passive Income จนปล่อยให้ชีวิตเป็นไปอย่างน่าเบื่อ เพราะบางครั้ง Active Income ก็ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจได้จากคุณค่าที่เราได้สร้างด้วยการทำงานเพื่อผู้อื่น ส่วน Passive Income ก็เป็นเครื่องทุ่นแรงเอาไว้ช่วยให้ชีวิตของเราไปต่อได้ ในวันที่เราเหนื่อยและอยากพัก

20. หมั่นเป็นกำลังใจให้กันและกัน

          ในวันที่เราลำบาก สิ่งที่ต้องการมากที่สุดอาจเป็นกำลังใจดี ๆ จากคนรอบข้าง ดังนั้นในวันที่เราเห็นคนอื่นลำบาก ก็จงอย่าลืมที่จะส่งกำลังใจดี ๆ ให้คนรอบข้างด้วยเช่นกัน
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน
          เป็นหนังสือโค้ชหนุ่มอีกเล่มที่แนะนำให้ทุกคนลองซื้ออ่านกันดู เล่มนี้เป็นการเล่าเรื่องปรับ mindset ทางการเงินจากเคสการเงินต่าง ๆ ที่โค้ชหนุ่มเคยเจอมา หนังสือมี 40 บท เป็น 40 เรื่องราวที่ให้ข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับ mindset ทางการเงิน
          ถ้าถามว่าเล่มนี้ต่างจาก Money 101 ยังไง ต้องบอกว่า เล่ม Money 101 ค่อนข้างเป็นพื้นฐานด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลมากกว่า เล่ม Money Mindset เน้นไปที่เคสต่าง ๆ ซะมากกว่า และเป็นการเรียนรู้ผ่านเคสตัวอย่าง ที่มีทั้งล้มเหลว และน่าชื่นชม
          ความยาว 400 กว่าหน้า แต่อ่านแล้วไม่เบื่อเลย หลายบทอ่านแล้วสร้างกำลังใจทางการเงินอย่างดีมาก จนอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการออกและการลงทุนของตัวเอง สุดท้ายเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้ทุกคนลองอ่านหนังสือแนวนี้ดูสักครั้งครับ
  • ผู้เขียน : จักรพงษ์ เมษพันธุ์
  • จำนวนหน้า : 424 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 2022
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 20 ข้อคิดจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของตัวเอง จากหนังสือ Money Mindset อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2566 เวลา 08:40:06 4,030 อ่าน
TOP