15 ข้อคิดจากหนังสือ TRIZ คิดออกทุกอย่างด้วยตาราง 9 ช่อง

หลังอ่าน

Create and Share Inspiration from Reading

          สรุป 15 ข้อคิด จากหนังสือ TRIZ คิดออกทุกอย่างด้วยตาราง 9 ช่อง
TRIZ

1. TRIZ (ทรีซ) = Theory of Innovation Problem Solving หรือทฤษฎีแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรม

          มีถิ่นกำเนิดมาจากภาษารัสเซีย ซึ่งถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 1950 โดย เกนริค อัลทชูเลอร์ และบรรดาลูกศิษย์ โดยได้ศึกษาจุดร่วมของศาสตร์แขนงต่าง ๆ จากสิทธิบัตรกว่าสองแสนฉบับ
          TRIZ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ไขปัญหาในเชิงนวัตกรรม และส่วนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ตารางเก้าช่อง

2. ตารางเก้าช่อง แบบ TRIZ คืออะไร

          ตารางเก้าช่องแบบ TRIZ คือผัง 3 x 3 หรือแกนนอน 3 ช่อง แกนตั้งอีก 3 ช่อง
          โดยแกนนอน = ลำดับเวลา
          ไล่จากซ้าย – ขวา
          ตั้งแต่ อดีต – สถานการณ์ในปัจจุบัน – ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 
          ส่วนแกนตั้ง = แกนระบบ ที่บอกความใหญ่ – เล็ก 
          ไล่จากบน – ล่าง
          คือระบบใหญ่ที่สุด อาจเป็นสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ใหญ่กว่าตัวเรา อยู่ด้านบน บริษัทของเรา ตัวเรา ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นที่เราสนใจ อยู่ตรงกลาง และส่วนประกอบ หรือปัจจัยในสิ่งที่เราสนใจ อยู่ด้านล่าง

3. การทำตาราง 9 ช่องแบบ TRIZ มีประโยชน์อย่างไร

          การทำตาราง 9 ช่องจะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ได้เข้าใจง่ายมากขึ้น ทำให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้ชัดเจน และตรงประเด็น และยังทำให้เราจัดระเบียบความคิดของตัวเองได้ดีขึ้นด้วย
          นอกจากนี้ การทำตารางแบบ TRIZ ยังช่วยให้เรานำเสนอผลงานได้อย่างเข้าใจง่าย และมีระเบียบแบบแผน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ตาราง 9 ช่อง สามารถถูกปรับแต่งได้หลายแบบ ขึ้นกับการประยุกต์ใช้งาน

4. ข้อดีของการทำตาราง 9 ช่องแบบ TRIZ เมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ

          ไม่ว่าจะเป็น การเขียนเป็นข้อ ๆ การแบ่งส่วน หรือการคิดเชิงตรรกะ คือ การที่เราทุกคนสามารถฝึกฝนเองได้อย่างไม่ยากเย็นนัก การคิดในมุม ความสัมพันธ์แบบรวมกลุ่ม x เส้นเวลา ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถลองคิดหาไอเดีย และตั้งสมมติฐานของตัวเองได้ และช่วยให้เราถ่ายทอดความคิดของเราให้คู่สนทนาได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

5. หลักการสำคัญในการแบ่ง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

          สิ่งสำคัญสำหรับแกนนอน – เส้นเวลา ในตาราง 9 ช่องแบบ TRIZ คือ การแยกให้ออกระหว่าง ข้อเท็จจริง (fact) กับการคาดคะเน (guess) 
  • อดีตเป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้
  • ปัจจุบันเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเราสามารถลงมือทำได้
  • อนาคตเป็นเรื่องสมมติที่เกิดจากการคาดคะเน และความตั้งใจในการทำปัจจุบันให้ดี 

6. การใช้ตารางแนวนอนด้วย ประวัติ -> สถานะปัจจุบัน -> อนาคต

          เช่น สินค้าตัวแรก สินค้าที่เคยนิยม ผู้ก่อตั้ง (ประวัติ) -> สินค้าหลัก ยอดขาย ผลกำไร (สถานะปัจจุบัน) -> ภารกิจ สิ่งที่บริษทกำลังพัฒนา แผนการลงทุนในอนาคต (อนาคต)

7. การใช้ตารางแนวนอนด้วย ของเดิม -> ของใหม่ -> การคาดคะเน

          ในการประยุกต์ใช้ตารางแนวนอนแบบนี้มีพื้นฐานมาจากเทคนิคแบบ โฮเรนโซ (Hourensou) ซึ่งหมายถึงการบอกเล่าที่แยกระหว่างข้อเท็จจริง (ของเก่า และของใหม่) กับข้อสังเกต (การคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้น) เทคนิคนี้สามารถใช้โฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ เช่น น้ำยาซักผ้าแบบเก่าขจัดคราบฝังแน่นไม่ออก ต้องใช้น้ำยาซักผ้าแบบใหม่ที่ช่วยขจัดคราบฝังแน่นจนผ้าขาวสะอาดเหมือนซื้อใหม่ !

          หรืออาจใช้กับการคาดการณ์ทิศทางธุรกิจในอนาคต เช่น ละครทีวีทั่วไป (ของเดิม) -> เกมส์โชว์ที่ทางบ้านมีส่วนร่วมได้ (ของใหม่) -> ละครสั้นที่ตัวละครเปลี่ยนได้ตามทิศทางของผู้ชม (การคาดคะเน)

8. การใช้ตารางแนวนอนด้วย ข้อเท็จจริง -> นามธรรม -> รูปธรรม

          เป็นการใช้ข้อมูลในอดีตที่เป็นข้อเท็จจริงมาเป็นกรณีศึกษาหาลักษณะพิเศษที่ต่อยอดเป็นไอเดียธุรกิจใหม่ได้ เช่น ช็อกโกแลตแท่งที่หักได้ (ข้อเท็จจริง) -> ทำให้คนกิน/ใช้ หักสินค้าได้เอง (นามธรรม) -> ใบมีดคัตเตอร์ที่ทำร่องไว้ให้หักได้เอง (รูปธรรม)

9. การใช้ตารางแนวนอนด้วย ความสำเร็จ -> ของขวัญ -> เป้าหมาย

          ใช้สำหรับตอนที่ต้องแนะนำตัวเองภายใน 30 วินาที โดยอาจเล่าให้เป็นลำดับดังต่อไปนี้ เรื่องที่ทำมาในอดีต จนสำเร็จ (ความสำเร็จ) -> บทเรียนที่ได้ หรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน (ของขวัญ) -> สิ่งที่อยากจะทำต่อไปในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายที่สูงกว่า (เป้าหมาย)

10. ตารางแกนตั้งมีวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาเรื่องแต่ละเรื่องอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่มองเห็นภาพรวมกว้าง ๆ จนไปถึงรายละเอียด
  2. แยกปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ออกจากกัน
  3. ปรับแต่งรายละเอียดของสิ่งที่คิดได้ดีขึ้น 

11. วิธีในการคิดวิเคราะห์ตารางแกนตั้ง

  1. มองหาระบบเป้าหมาย ช่องตรงกลาง จากสิ่งที่อยู่รอบตัว และระบุขอบเขตของระบบเป้าหมายให้ชัดเจน (ระบบเป้าหมาย)
  2. มองหาขอบเขตที่ระบบเป้าหมายเป็นส่วนหนึ่ง (ระบบบน)
  3. มองหาส่วนประกอบของระบบเป้าหมาย (ระบบล่าง)

12. การใช้ตารางแนวตั้งด้วย ระบบบน -> ระบบเป้าหมาย-> ระบบล่าง

  • กาแล็กซี่ (ระบบบน) -> ระบบสุริยะ (ระบบเป้าหมาย)-> โลกกับดวงจันทร์ (ระบบล่าง)
  • ระบบบริหารจัดการ (ระบบบน) -> ระบบบัญชี (ระบบเป้าหมาย)-> ระบบคำนวณค่าเดินทาง (ระบบล่าง)

13. การใช้ตารางแนวตั้งด้วย ความต้องการของลูกค้า -> ผลิตภัณฑ์/สินค้า -> องค์ประกอบและเทคโนโลยีของสินค้านั้น ๆ

          เริ่มจากการระบุสินค้าที่จะพิจารณาก่อน เช่น พัดลม ให้ความเย็น ช่วยคูลดาวน์หลังกลับจากข้างนอก (ความต้องการของลูกค้า) -> พัดลม (ผลิตภัณฑ์/สินค้า) -> มีขนาดกะทัดรัด พกพาได้ มีช่องเสียบ USB แบตเตอรี่อยู่ได้นาน 6 ชั่วโมง (องค์ประกอบและเทคโนโลยีของสินค้านั้น ๆ)

14. การใช้ตารางแนวตั้งด้วย สภาพแวดล้อม -> บริษัท -> องค์ประกอบ

          เอาไว้ใช้วิเคราะห์สภาพการณ์บริษัท ณ จุดเวลาหนึ่ง คู่แข่ง ลูกค้า ผู้ถือหุ้น (สภาพแวดล้อม) -> คุณค่าที่บริษัทนำเสนอ (บริษัท) -> เทคโนโลยี ระบบการผลิต บริษัทในเครือ (องค์ประกอบ)

15. การใช้ตารางแนวตั้งด้วย Why -> What -> How

          เป็นการนำเสนอไอเดียอย่างเป็นระบบ เหมาะกับการพูดคุยกันในลิฟต์ โดยเริ่มจาก ทำไม What ถึงเกิดผล (Why) -> สิ่งที่อยากนำเสนอ (What) -> องค์ประกอบที่เป็นรูปธรรม (How)
          สุดท้ายแล้วเมื่อเราเอาทั้งแกนนอนและแกนตั้งมาเขียนรวมกันก็จะได้ออกมาเป็นตารางเก้าช่องแบบ TRIZ
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

          แนะนำให้ลองซื้อเล่มจริงมาอ่าน หรือลองเปิด Youtube เพื่อให้เห็นรูปตาราง TRIZ จริง ๆ เพราะอธิบายผ่านตัวหนังสือค่อนข้างยาก แต่โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าตารางแบบ TRIZ ก็คือเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้เราเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบนั่นเอง โดยมองแกนเวลา – ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น กับแกนระบบจากเล็กไปใหญ่ โดยเราสามารถดีไซน์ให้ตาราง 9 ช่องนี้ เป็นหัวข้ออื่น ๆ ก็ยังทำได้

          สุดท้ายมองว่าตาราง 9 ช่องแบบ TRIZ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับแทบทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราล้วน ๆ แต่ตอนแรกคงต้องค่อย ๆ ฝึกจัดระเบียบความคิดให้เข้าที่เข้าทางก่อน

          สำหรับตัวหนังสือ มองว่าเล่มนี้หนาเกินไป เทียบกับเนื้อหาหลักที่หนังสือต้องการนำเสนอ ส่วนตัวคิดว่า สามารถเปิดอ่านข้าม ๆ ได้ และเน้นทำความเข้าใจส่วนสำคัญของตาราง 9 ช่อง และลองเปิดดูตัวอย่างให้เห็นภาพก็น่าจะเพียงพอแล้ว

          พิกัดสั่งซื้อ : https://shope.ee/6Uo2f7r9iD
  • ผู้เขียน : Takagi Yoshinori (ทาคางิ โยชิโนริ)
  • ผู้แปล : ธนัญ พลแสน
  • จำนวนหน้า : 426 หน้า
  • สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ How To, สนพ.
  • เดือนปีที่พิมพ์ : 5/2022
Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ หลังอ่าน
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 ข้อคิดจากหนังสือ TRIZ คิดออกทุกอย่างด้วยตาราง 9 ช่อง อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2566 เวลา 08:32:43 3,325 อ่าน
TOP